‘ประชาสังคมที่เข้มแข็งมีส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพ’ บทเรียนจากพม่าและมินดาเนา

เวทีเรียนรู้กระบวนสันติภาพ ทั้งชายแดนใต้/ปาตานี พม่าและมินดาเนา เผยมุมมองต่อสันติภาพมีทั้งด้านบวก-ด้านลบ ดร.โนเบิร์ตชี้ปัจจัยสู่ความสำเร็จและความสำคัญของฝ่ายที่สาม ด้านผอ.Non-Violence Peaceforce ยกตัวอย่างบทบาทภาคประชาสังคมและผู้นำศาสนาแก้ความขัดแย้งในพม่า ฝ่ายที่สามและบทบาทพลเรือนในการตรวจสอบหยุดยิงในมินดาเนา พร้อมย้ำภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็งเพื่อให้สองฝ่ายยอมรับ ชี้มีส่วนลดการละเมิดข้อตกลงหยุดยิง

สโมสรโรตารีเซนต์พอล ภาค 5960 สหรัฐอเมริกา และ สโมสรโรตารีควนลัง-หาดใหญ่ ภาค 3330 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เรื่องการสันติภาพและมิตรไมตรีที่ยั่งยืนในประเทศไทย” (Peace Process : Building Sustainable Peace and Goodwill in Thailand) ครั้งที่ 1 เมื่อวันเสาร์ที่ 10 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี โดยมีสมาชิกสโมสรโรตารี ผู้นำศาสนา นักวิชาการและภาคประชาสังคมเข้าร่วม

การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 วันที่ 11 มกราคม 2558 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ และครั้งที่ 3 วันที่ 13 มกราคม 2558 ณ ศูนย์โรตารีประเทศไทย กรุงเทพมหานคร โดยร่วมกับ Nonviolent Peaceforce (NP) Peace Resource Center (PRC) และคณะวิทยาการสื่อสาร สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) และสถาบันสันติศึกษา ม.อ.
 

มุมมองต่อสันติภาพด้านบวก-ด้านลบ
การประชุมเริ่มด้วยกิจกรรมแสดงจุดยืนต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ โดยให้ผู้เข้าร่วมเลือกยืนบนเส้นตรงกลางห้องประชุมที่สมมติว่า ด้านหนึ่งของกำแพงห้องคือด้านบวก และด้านตรงข้ามคือด้านลบ พบผู้เข้าส่วนใหญ่เลือกยืนตั้งแต่ตรงจุดบวกสุดกำแพง ไปจนถึงลบกลางๆ แต่ไม่มีใครเลือกยืนตรงจุดลบสุดกำแพง

จากนั้นได้สุ่มเลือกถามบางคนว่า ทำไมถึงเลือกยืนตรงจุดนั้น โดยผู้เข้าร่วมบางคนที่เลือกยืนด้านลบให้เหตุผลว่า คนที่แสดงตัวในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพยังมีอยู่น้อย เพราะยังเจอแต่คนหน้าเดิมๆ ที่มาร่วมประชุมลักษณะนี้

ส่วนผู้เข้าร่วมที่เลือกยืนตรงกลาง แสดงความเห็นว่า หากจะเปรียบเทียบกระบวนการสร้างสันติภาพเหมือนกับการเมืองไทย จะเห็นได้ว่าการเมืองไทยมีความพยายามใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดการปรองดอง แต่ก็ยังไม่สำเร็จเพราะมีเงื่อนไขอื่นๆ อีกมาก

ในขณะที่ผู้เข้าร่วมที่เลือกยืนด้านบวก กล่าวว่า เราเชื่อมั่นว่ากระบวนการสร้างสันติภาพจะเกิดขึ้นได้จริง หากพวกเราทุกคนศรัทธา
 

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ-ความสำคัญของฝ่ายที่สาม
หลังจากนั้นมีการบรรยายหัวข้อ “การเริ่มต้นใหม่ของกระบวนการสร้างสันติภาพ” โดยนางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระและ ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) โดยนางสาวรุ่งรวีได้อธิบายปรากฏการณ์ที่ผ่านมา เพื่อปูพื้นฐานให้ผู้เข้าร่วมได้มีพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างใกล้เคียงกัน

นางสาวรุ่งรวีตั้งข้อสังเกตบางประการต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ เช่น การริเริ่มการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางนโยบายที่สำคัญอย่างยิ่ง และการที่ขบวนการ BRN ยินยอมที่จะพูดคุยสันติภาพภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะประนีประนอมและแสวงหาทางออกร่วมกับรัฐไทย

“ที่สำคัญเมื่อดูสถิติเหตุการณ์ในช่วงต้นเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า BRN สามารถควบคุมกองกำลังได้อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น”

ในขณะที่ ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส กล่าวถึงบทเรียนพื้นฐานจากการสร้างสันติภาพว่า ไม่มีความขัดแย้งใดที่ไม่มีทางออก แต่คำถามคือจะต้องมีเหยื่ออีกสักกี่ราย และทุกฝ่ายมักจะเชื่อว่าตัวเองถูก ดังนั้นฝ่ายที่สามจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการสันติภาพ ที่สำคัญยิ่งคือความขัดแย้งยืดเยื้อนานเพียงใด ก็จะทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องระบบที่ถาวรยิ่งขึ้น และความขัดแย้งที่รุนแรงเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการพัฒนา

ดร.โนเบิร์ต ยังกล่าวอีกว่า ความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพจะต้องอาศัยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความกล้าหาญ และต้องมีการล็อบบี้ที่เข้มแข็งอย่างไม่ลดละ และสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้หากทั้งสองฝ่ายไม่ยอมประนีประนอม

“สุดท้าย ในการสร้างสันติภาพจะต้องทำทั้งใน “เชิงลบ” (negative peace) คือ การลดความรุนแรงและใน “เชิงบวก” (positive peace) คือ การจัดการกับปัญหารากเหง้าและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น”
 

ตัวอย่างบทบาทภาคประชาสังคม-ผู้นำศาสนาในพม่า
หลังจากนั้น มีการบรรยายหัวข้อ “กระบวนการสันติภาพในพม่า” (Myanmar Peace Process) โดย ชาดาบ มันซูรี ผู้อำนวยการ Non-Violence Peaceforce ประจำประเทศพม่า โดย Mansoori กล่าวว่า กลุ่มติดอาวุธในพม่ามีมากกว่า 30 กลุ่ม ใน ค.ศ. 1995 เคยมีการลงนามหยุดยิงมาแล้วแต่ก็สู้รบกันต่อมาอีกกว่า 15 ปี จน ค.ศ. 2010 ก็เริ่มมาคุยกันใหม่และมีการตกลงกันว่ารัฐบาลจะคืนอำนาจให้กับพลเรือน

เขากล่าวต่อไปว่า ภาคประชาสังคมจำเป็นจะต้องเข้ามามีบทบาทและคอยตรวจสอบเพราะทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีความไว้ใจกันเลย โดยเขาได้ยกตัวอย่างกรณีรัฐคะฉิ่นซึ่งนักธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นคนกลางเพื่อช่วยสร้างสันติภาพ และด้วยความพยายามของนักธุรกิจเหล่านั้น ทำให้รัฐคะฉิ่นเริ่มหันมาสนใจกระบวนการสร้างสันติภาพมากขึ้น

อีกตัวอย่างที่เขา ยกตัวอย่างถึงกรณีที่ผู้นำศาสนาเข้ามาช่วยในการเป็นคนกลางในการทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการหยุดยิงระหว่างชนกลุ่มน้อยชาวคริสต์กับรัฐบาลพม่า
 

ฝ่ายพลเรือนกับการตรวจสอบหยุดยิงในมินดาเนา
หัวข้อสุดท้ายของการบรรยายคือเรื่อง “บทเรียนกระบวนการสันติภาพมินดาเนา” (Learning From Mindanao Peace Process) โดย อาติฟ ฮามีด ผู้อำนวยการ Non-Violence Peaceforce ประจำประเทศฟิลิปปินส์ โดยเขากล่าวถึงกองกำลังติดอาวุธกลุ่มใหญ่ๆ หลายกลุ่มในประเทศฟิลิปปินส์ เช่น Moro Islamic Liberation Front (MILF), Moro Nationa Liberation Front (MNLF), Bangsamoro Islamic Freedom, Abu Sayyaf

เขากล่าวว่า การดำเนินการเรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ เหล่านั้นมีความซับซ้อน

เขากล่าวต่อไปว่า ในการเจรจาระหว่างกลุ่ม MILF กับรัฐบาลนั้น ใน ค.ศ.2000 มีการเปิดศึกกันครั้งใหญ่ จนทั้งสองฝ่ายเห็นว่าน่าจะต้องมีฝ่ายที่สามเข้ามาช่วย ซึ่งรัฐบาลได้เชิญประเทศมาเลเซียเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและทำหน้าที่ในการติดตามการละเมิดข้อตกลงการหยุดยิง

เขากล่าวต่ออีกว่า ตั้งแต่ ค.ศ. 2009 มีฝ่ายพลเรือนเข้ามามีส่วนร่วมในช่วงสุดท้ายของข้อตกลงในการสร้างสันติภาพมากขึ้น ภายใต้กลไกที่เรียกว่า International Contact Group โดยพวกเขาได้เข้าไปสร้างกลไกเพื่อทำงานร่วมกับรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธ (Track1) ตลอดจนมีผู้แทนเข้าไปตรวจสอบการหยุดยิงและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชน
 

ภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็งเพื่อให้สองฝ่ายยอมรับ
อาติฟอธิบายว่า ในช่วงแรกๆ ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมรับบทบาทของภาคประชาสังคม แต่ภาคประชาสังคมก็ใช้เวลาหลายปีในการพยายามเสริมสร้างศักยภาพของตัวเอง จนเมื่อมีทักษะที่ดีขึ้นก็สามารถเข้าไปมีบทบาทในการตรวจสอบความรุนแรงที่กระทำโดยทั้งสองฝ่ายได้

อาติฟอธิบายต่อไปว่า ปัจจุบันภาคประชาสังคมมีกลไกที่เข้มแข็งมาก ซึ่งพวกเขาก็ใช้เวลานานนับสิบปีในการสร้างเครือข่าย เมื่อมีเครือข่ายแล้วจะรู้สึกว่ามีอำนาจมากขึ้น และมีการขยายการสร้างเครือข่ายออกไปเรื่อยๆ นอกจากนั้นแล้วภาคประชาสังคมยังทำงานแบบเข้าถึงจริงๆ เช่น จะเข้าไปนั่งตรงจุดตรวจหรือด่านพร้อมกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยลดการละเมิดข้อตกลงในการหยุดยิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท