เครือข่ายชุมชนฯเทือกเขาบูโด แถลงจี้รัฐบาล แก้ปัญหาที่ทำกินไม่คืบ เตรียมเดินเท้าขึ้นเทือกเขา 25 ม.ค. นี้

เครือข่ายชุมชนเทือกเขาบูโด แถลงจี้ 3 นายพล ลงพื้นที่รับฟังปัญหา พร้อมหาแนวทางแก้ไขภายใน 1 เดือน ด้านชาวบ้านเตรียมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ครั้งใหญ่ในพื้นที่ 25 ม.ค. นี้

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2558 ที่ อาคารเคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เครือข่ายชุมชนการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด ได้ร่วมกันแถลงข่าว “ปฏิบัติการโค่นยางพาราของเรา เขาบูโดยั่งยืน” เพื่อชี้แจงถึงการปฏิบัติการที่ชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโดกว่า 2,000 คน เตรียมที่จะเดินเท้าขึ้นเขาไปตัดโค่นต้นยางที่หมดอายุ ซึ่งเป็นกิจกรรมเคลื่อนไหวแสดงออกถึงความเดือนร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ประสบปัญหาด้านที่ดินทำกินและกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า

สิโรตม์ แวปาโอะ ประธานเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี พ.ศ.2542 ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส 7 อำเภอ ปัตตานี 1 อำเภอ และยะลา 1 อำเภอ รวม 25 ตำบล 89 หมู่บ้าน ทับซ้อนที่ดินทำกินของประชาชนได้รับความเดือนร้อนว่า 20,926 ราย 23,015 แปลงที่ดิน เป็นเนื้อที่รวมกว่า 127,612 ไร่ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ไม่สามารถเข้าไปทำการเกษตรสวนผลไม้และสวนยางพารา และไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง อันก่อให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม กระทบต่อวิถีชีวิต รวมทั้งอาจกลายเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลต่อสถานการณ์ความไม่ไว้วางใจรัฐใน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

สิโรตม์ กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ.2551 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ขณะนั้น ได้นำเสนอกระบวนการแก้ไขปัญหาซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2551 นำมาซึ่งความหวังของชาวบ้าน ต่อมาภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ส่งผลกระทบให้การแก้ปัญหาตามกระบวนการเป็นไปอย่างล่าช้าล่วงเลยมากว่า 7 ปี จนกระทั่ง คสช.มีคำสั่ง 64 และ 66 รวมถึงแผนแม่บทการพิทัพษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นแนวทางที่ขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรี 14 ต.ค. 2551 และไม่สอดคล้องต่อกระบวนการที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เครือข่ายฯ และชาวบ้านผู้เดือนร้อนจึงเห็นพ้องว่า จำเป็นต้องมีการแสดงออกต่อความไม่เป็นธรรม จึงกำหนดปฏิบัติการโค่นยางพาราของเรา เขาบูโดยั่งยืน ที่จะมีชาวบ้านกว่า 2,000 คน พร้อมใจกันเดินเท้าขึ้นเทือกเขาบูโด เพื่อโค่นต้นยางพาราเก่าที่หมดอายุและปลูกใหม่ทดแทนตามมติคณะรัฐมนตรี 14 ต.ค. 2551 ในวันที่ 25 ม.ค. 2558 ตั้งแต่เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป ณ มัสยิด บ้านมาแฮ ต.ปาลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความเดือนร้อนของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

ด้านมะนาวี เด็งโด ชาวบ้านผู้เดือนร้อน กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ 3 นายพล ได้แก่ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงมารับฟังปัญหาของชาวบ้านในวันที่ 25 ม.ค. เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงต่อการแก้ปัญหาที่ดิน รวมทั้งชาวบ้านจะได้ทวงถามถึงมติคณะรัฐมนตรี 14 ต.ค. 2551 โดยมีการเตรียมที่จะยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล เร่งให้มีการกำหนดแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนออกมาภายในวันที่ 25 ก.พ. ไม่เช่นนั้นชาวบ้านผู้เดือนร้อนจะรวมตัวเคลื่อนไหวขึ้นเขาบูโดเพื่อโค่นต้น ยางอีกครั้ง เพื่อขอคืนความเป็นธรรมให้แก่ชุมชน

“ปฏิบัติการครั้งนี้เราจะตัดต้นยางที่หมดอายุไม่มีน้ำยางแล้วเพียงร้อยละ 4 ของพื้นที่เป้าหมาย 2 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิม และจะมีการปลูกทดแทน จึงจะไม่กระทบต่อระบบนิเวศ โดยชาวบ้านได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว หากมีเจ้าหน้าที่จะนำกำลังเข้าจับกุมพวกเรา” มะนาวี กล่าว

ด้านประยงค์ ดอกลำไย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พี-มูฟ) กล่าวว่า ปัญหาพื้นที่ป่าทับซ้อนที่ดินชาวบ้านสะท้อนความล้มเหลวของมติคณะรัฐมนตรี 14 ต.ค. 2551 ที่ได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ.2548 และมีคณะกรรมการแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งหน่วยงานระดับพื้นที่ และชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับและสามารถพิสูจน์ว่าชาวบ้านเกือบทั้งหมดครอบ ครองที่ดินมาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ แต่เมื่อมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 64 และ 66 ออกมา ประกอบกับการปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าตามแผนแม่บทป่าไม้ฯ ทำให้แนวทางแก้ปัญหาที่ดินของชาวบ้านแถบเทือกเขาบูโดกลับไปใช้มติคณะ รัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2541 ที่ยึดภาพถ่ายทางอากาศเก่าปี 2508 ซึ่งปรากฏการครอบครองที่ดินเพียงไม่ถึง 200 แปลง ซึ่งถือเป็นแนวทางพิสูจน์สิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน

นอกจากนี้ ประยงค์กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นปัญหาร่วมกันของชาวบ้านทั่วประเทศ โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าการทวงคืนผืนป่าเมื่อ 13 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่มีความกังวล และต้องการให้มีการทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ฯ เนื่องจากปฏิบัติการจับกุมที่ผ่านมาเป็นการจับกุมชาวบ้านกว่า 1 พันคดี และที่ดินที่ถูกทวงคืนกว่าร้อยละ 80 เป็นที่ทำกินของชาวบ้านผู้ยากจน ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนที่เดือนร้อนเตรียมที่จะไปทวงถามความคืบหน้าเรื่อง นี้ในวันที่ 23 ม.ค. ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท