Skip to main content
sharethis
แรงงานไทย โพสต์เฟซฯ อยากกลับไทย หลังหลบหนีจากเรือประมงใช้ชีวิตอยู่ในมาเลเซีย กว่า 6 ปี 
 
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 15 ม.ค. 58 ผู้สื่อข่าวประจำ จ.อุบลราชธานี เดินทางไปที่บ้านเลขที่ 35 ม.2 บ้านขามป้อม ต.ขามป้อม อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี หลังมีการแชร์ภาพชาย พร้อมจดหมายในโซเชียล เขียนข้อความขอความช่วยเหลือ ใจความในจดหมายเขียนถึงท่านรักษาการเอกอัคราชทูตประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ แจ้งว่า เจ้าของจดหมายชื่อ นายวน กุคำพุทธ อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35 ม.2 บ้านขามป้อม ต.ขามป้อม อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี ไม่มีพาสปอร์ต หนีจากเรือประมง อยู่มาเลเซีย ต้องการกลับไทย
 
เมื่อผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังบ้านหลังดังกล่าว พร้อมด้วย นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว นายอำเภอสำโรง จ.อุบลราชธานี พบนายทองป่น กุคำบุตร อายุ 43 ปี และนายสมร สุพันธมาศ อายุ 42 ปี พี่ชายและพี่เขยของ นายวน และนายดำ นาคำนวน ผู้ใหญ่บ้านข้ามป้อม ทั้ง 3 ยืนยันว่า ภาพชายพร้อมจดหมายในโซเชียลนั้น คือ นายวน กุคำพุทธ จริง โดยนายวนได้เดินทางไปทำงานสัมปทานตัดต้นไม้ใหญ่ออกจากเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ มี.ค. 51 กระทั่ง ส.ค. ปีเดียวกัน นายวนได้โทรบอกที่บ้านว่ากำลังขึ้นรถไฟเดินทางกลับบ้าน จนกระทั่งผ่านไป 3 วัน นายวนยังเดินทางมาไม่ถึง และติดต่อไม่ได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ญาติจึงไปแจ้งความคนหายที่ สภ.สำโรง จ.อุบลราชธานี พร้อมทำบุญหาตลอดมา เนื่องจากคิดว่านายวนคงเสียชีวิตแล้ว
 
จนกระทั่งวันที่ 6 ม.ค. 58 ได้มีคนแชร์ภาพนายวนในโซเซียล พร้อมจดหมายขอความช่วยเหลือ ประกอบกับได้มีชายคนหนึ่ง อ้างชื่อ นายเกษพล สุวรรณโสภา ชาว อ.เชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ โทรมาหานายดำ นาคำนวน ผู้ใหญ่บ้าน แจ้งว่าเป็นกุ๊กร้านอาหารในเมืองชิบู รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ได้รู้จักนายวน ซึ่งหลบหนีเข้าประเทศมาเลเซีย มาทำประมง ต้องการกลับบ้านโดยให้ญาติช่วยเหลือ พร้อมให้พูดคุยกับนายวน
 
หลังทราบเรื่องวันที่ 9 ม.ค. 58 นายทองป่นและนายสม ได้เดินทางไปที่กระทรวงต่างประเทศ เพื่อขอความช่วยเหลือ หลังจากนั้นนายเกษพล ติดต่อกลับมาอีกครั้งแจ้งว่า ได้ติดต่อสอบถามไปส่วนทางราชการของประเทศมาเลเซียแล้ว หากนายวนจะกลับไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 25,000 บาท เป็นค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเอกสาร และค่าปรับ วันที่ 10 ม.ค. ญาติๆ นายวนตัดสินใจโอนเงินให้นายเกษพล
 
ล่าสุด นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว นายอำเภอสำโรง จ.อุบลราชธานี โทรไปสอบถามความคืบหน้ากับนายเกษพล ทราบว่า ตอนนี้นายวนปลอดภัยดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการทำเอกสาร และสถานทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ กำลังให้การช่วยเหลือ คาดว่าจะเสร็จภายใน 3 วัน นายวนสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ สร้างความดีใจให้กับบรรดาญาติพี่น้องของนายวนเป็นอย่างมาก หลังจากไม่ได้เจอกันนานกว่า 6 ปี 
 
(ไทยรัฐ, 15-1-2558)
 
องค์กรพัฒนาเอกชนกว่า 40 องค์กร ร่วมกันยื่นหนังสือถึงรัฐบาลขอให้ยุติโครงการให้นักโทษทำงานในเรือประมง
 
องค์กรพัฒนาเอกชนรวมทั้งองค์กรด้านสิทธิ์ 45 แห่ง ร่วมลงนามในหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขอให้ยุติโครงการให้นักโทษในเรือนจำที่กำลังจะพ้นโทษไปทำงานในเรือประมง เนื่องจากเห็นว่าจะยิ่งสร้างปัญหาให้แก่อุตสาหกรรมประมง ละเมิดสิทธิของนักโทษ และไม่ได้แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมงอย่างแท้จริง แต่จะยิ่งโหมกระพือปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง
 
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ประกาศแผนจะส่งนักโทษที่กำลังจะพ้นโทษภายในหนึ่งปี จำนวน 176 คน และสมัครใจไปทำงานในเรือประมงที่สมุทรปราการ แหล่งทำประมงใหญ่ของไทย โดยมีนักโทษชาย 2,830 คนที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ
 
ก่อนหน้านี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เคยชี้แจงว่าโครงการนี้เป็นการให้ทางเลือกในการมีอาชีพก่อนพ้นโทษ และไม่ได้บังคับ ผู้ต้องขังที่ไปทดลองทำงานบนเรือแล้วชอบสามารถทำงานบนเรือประมงได้ เมื่อพ้นโทษ ผู้ต้องขังก็อาจจะมีอาชีพหลักและเชื่อว่าการให้ทางเลือกในการมีอาชีพก่อนพ้นโทษจะสามารถลดจำนวนการกลับไปทำผิดกฎหมายของผู้พ้นโทษกระทั่งนำไปสู่การต้องโทษจำคุกอีกครั้งได้มาก
 
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และมีการจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมประมงกว่า 3 แสนคน หลายคนเป็นแรงงานผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลไทยเพิ่งหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกมิติ โดยในแง่ของประมง รัฐบาลระบุว่าจะเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมงและการทำประมงผิดกฎหมาย
 
(บีบีซีไทย, 16-1-2558)
 
ก.ต่างประเทศแจงกรณีมีข่าวว่าทางการไทยมีแผนจัดให้ผู้ต้องขังทำงานบนเรือประมง
 
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2558 นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะกรรมการผู้ได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ (ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่าทางการไทยมีแผนจะจัดให้ผู้ต้องขังทำงานบนเรือประมง สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
 
1. จากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในชั้นนี้ หลังจากได้รับฟังข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยเฉพาะภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมง จะไม่มีการนำแนวคิดเรื่องการจัดให้ผู้ต้องขังทำงานบนเรือประมงไปสู่การปฏิบัติ
 
2. แนวคิดดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “คืนคนดีสู่สังคม” กล่าวคือ การอำนวยความสะดวกและจัดฝึกอบรมอาชีพให้ผู้ที่พ้นโทษ เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี และเป็นพลเมืองที่ดีต่อไป โดยไม่จำกัดเฉพาะเพียงอาชีพประมงเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงอาชีพอื่นๆ ด้วย
 
3. ไทยตระหนักดีถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงพันธกรณีต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ และกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิรูปกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ ซึ่งถือเป็นการค้าทาสยุคใหม่ ในส่วนของแนวคิดดังกล่าว มีความโดยคร่าวว่า
 
- ผู้สนใจจะเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับแต่อย่างใด
- การจ้างงานจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีสัญญาการจ้างงานที่ชัดเจนเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองและสิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
 
- ผู้สนใจจะได้รับการจ้างงานโดยบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมประมงไทยเท่านั้น ซึ่งภายใต้ระบบของสมาคมฯ จะกลไกการตรวจสอบและติดตามบริษัทสมาชิก เพื่อให้มั่นใจว่า เป็นการทำประมงอย่างถูกกฎหมาย
 
(กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, 16-1-2558)
 
เปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย
 
รัฐบาลเปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ โดยผู้มาใช้บริการใช้แค่บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดเพียงใบเดียวเข้ารับบริการได้เลย
 
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย บอกว่าศูนย์นี้จะช่วยให้คนไทยทุกคนมีงานทำ ทำให้อัตราการว่างงานลดลง 
 
ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ภายในกระทรวงแรงงาน แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะให้บริการค้นหาตำแหน่งงานว่าง และติดต่อบริษัทต่างๆ ขณะที่ส่วนที่ 2 จะค้นหาผู้ที่จะมาทำงานตามตำแหน่งที่ว่าง จึงสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั้งกลุ่มที่มีงานทำอยู่แล้ว ต้องการเปลี่ยนงาน กลุ่มตกงาน หรือ ผู้ที่เพิ่งจบการศึกษา รวมทั้ง ผู้ที่กลับมาจากการทำงานต่างประเทศแต่หางานในไทยไม่ได้ และ ผู้ต้องขังที่พ้นโทษ
 
โดยมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการหางานแบบครบวงจร ที่สำคัญยังมีห้องสัมภาษณ์พูดคุยกับนายจ้างผ่านระบบสไกป์ ซึ่งจะทำให้เกิดการพูดคุยระหว่าง 2 ฝ่ายได้ในทันที ทั้งนี้ คาดว่าศูนย์แห่งนี้จะสามารถเปิดบริการได้สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
 
และในวันนี้ กระทรวงแรงงาน ยังจัดงาน ’กระทรวงแรงงานพบประชาชน มหกรรมสร้างอาชีพ นัดพบแรงงาน เพื่อความสุขของประชาชน ที่บริเวณชั้นล่างอาคารกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้ประกอบการมารับสมัครและสัมภาษณ์งานโดยตรง อาทิจากเครือซีพีออลล์ เซ็นทรัล ล็อกซเล่ย์ ทีพีไอ คอนกรีต เป็นต้น ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางไปได้ ซึ่งงานจะมีไปจนถึงเวลา 16.30 น.
 
(ครอบครัวข่าว, 19-1-2558)
 
แอลจี-ซัมซุงโยกผลิตทีวีไปเวียดนาม
 
นายอลงกรณ์ ชูจิตร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลจี อีเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทเตรียมย้ายฐานการผลิตโทรทัศน์ไปยังประเทศเวียดนาม ตามนโยบายของบริษัทแม่ที่ประกาศเรื่องนี้ตั้งแต่กลางปี 2557 เพราะต้องการจะเพิ่มกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มทีวีสำหรับรองรับความต้องการของตลาดในประเทศอาเซียน และเป็นการเพิ่มกำลังผลิตโรงงานในเวียดนามให้ได้อีโคโนมีออฟสเกล โดยจะย้ายไลน์การผลิตทีวีไปยังเวียดนามในปลายไตรมาส 2 นี้ 
 
เช่นเดียวกับซัมซุงที่มีการขยายการลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโรงงานในเวียดนาม 4 แห่ง ทั้งที่เปิดสายการผลิตแล้ว และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 พื้นที่ คือ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นครโฮจิมินห์, จังหวัดบั๊กนิง และจังหวัดท้ายเงวียน
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 19-1-2558)
 
ทูตฟิลิปปินส์ เข้าพบ รมว.แรงงาน หารือประเด็นเปิดโอกาสจดทะเบียน คุ้มครองแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานในไทย “บิ๊กเต่า” ยันไม่เปิดจดทะเบียนจดชาติอื่นเพิ่ม
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่านางจอสลิน เอส บาทูน - การ์เซีย (H.E. Mrs. Jocelyn S. Batoon-Garcia) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย ได้มาหารือประเด็นการขยายโอกาสในการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวของแรงงานฟิลิปปินส์ ซึ่งนอกเหนือจากแรงงาน 3 สัญชาติ ที่จดทะเบียนไปก่อหน้านี้รวมถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะแรงงานประมง ซึ่งประเด็นการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่กระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินการกับสัญชาติพม่า ลาว และ กัมพูชา นั้น มีหลักการดำเนินการอยู่ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. มีนายจ้าง 2. แรงงานต่างด้าวต้องมีประเทศต้นทางยอมรับ และ 3. เมื่อตกงานหรือไม่มีนายจ้างแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นจะต้องกลับประเทศของตนเอง หากไม่กลับถือว่าเป็นผู้ทำผิดกฎหมายจะต้องถูกผลักดันกลับประเทศ ทั้งนี้ ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมีมานานนับสิบปีโดยในขณะนั้นประเทศไทยมองปัญหาเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศพยายามที่จะควบคุม ขณะเดียวกัน เมื่อประเทศไทยได้มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยต้องการแรงงานจำนวนมาก ทำให้มีความต้องการแรงงานจำนวนมากเช่นเดียวกัน ประกอบกับแรงงานไทยจำนวนหนึ่งหันมาทำอาชีพส่วนตัว แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจึงเป็นแรงงานที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ แต่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีนโยบายในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาไม่ถูกกฎหมายให้เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายให้มากที่สุด
       
“ในภาพรวมนับว่าการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวของไทยประสบความสำเร็จ โดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาก็ให้ความชื่นชมโดยจะเอารูปแบบการดำเนินการของไทยเป็นต้นแบบเพื่อกระจายสู่ภูมิภาคอื่นๆ แม้ว่าการปฏิบัติจริงถือได้ว่าเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะว่าความสามารถในการตรวจสัญชาติและการรับรองสัญชาติจากประเทศต้นทางมีข้อจำกัดเนื่องจากผู้ที่ต้องการตรวจสัญชาติมีจำนวนมาก รวมถึงการเข้ามาทำหนังสือเดินทาง (Passport) ในช่วงเวลาจำกัดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกประเทศจึงจะเป็นในลักษณะหนังสือเดินทาง (Passport) ชั่วคราว ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการหรือสิ่งที่ดีที่สุด แต่อาจเป็นสิ่งที่เราทำได้ในขณะนี้ และจะทำอย่างไรให้ยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวนอกเหนือจากที่ประเทศไทยได้ดำเนินการอยู่จะต้องคำนึงถึงความมั่นคง ของชาติ ไม่แย่งอาชีพของคนไทยและความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ หลักมนุษยธรรม แต่ทั้งนี้นโยบายสำคัญในการจ้างแรงงานต่างด้าว คือการจ้างแรงงานโดยถูกต้องในลักษณะการนำเข้าแบบรัฐต่อรัฐโดยมีข้อตกลงร่วมกันในลักษณะ MOU
       
“นอกจากนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ ยังกล่าวถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะแรงงานประมง ว่า ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการใช้กฎกระทรวงในการคุ้มครองแรงงานประมง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อมาดูแลแรงงานประมงทุกสัญชาติที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม 2558 จะมีการเข้มงวดเรื่องการตรวจและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อปฏิรูประบบการทำงานในการคุ้มครองแรงงานของประเทศไทยด้วย 
       
“แรงงานต่างด้าวสัญชาติฟิลิปปินส์ที่เข้ามาทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมายก็จะได้รับความคุ้มครองในการทำงานในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเช่นเดียวกับคนต่างด้าวทุกสัญชาติ” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว
        
ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวสัญชาติฟิลิปปินส์เข้ามาทำงานในไทยแบบถูกต้องตามกฎหมายจำนวน 12,196 คน เป็นคนต่างด้าวเข้ามาประเภททั่วไป ตามมาตรา 9 จำนวน 11,314 คน และคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามกฎหมายพิเศษ (กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายอื่น) มาตรา 12 จำนวน 882 คน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2557) สำหรับการทำงานระดับไร้ฝีมือหรืองานกรรมกรที่คนไทยไม่ทำ รัฐบาลมีนโยบายในการจ้างงานแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (ลาว กัมพูชา พม่า) ทำงานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แรงงานต่างด้าวสัญชาติอื่นยังไม่มีการพิจารณาให้เข้ามาทำงาน นอกจากนี้เพื่อให้มีการจัดระบบแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง เพื่อป้องกันข้อกล่าวหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายและกีดกันทางการค้ากับประเทศไทย และปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 
       
ด้าน นางจอสลิน กล่าวว่า การเปิดจนทะเบ้ยนและแนวปฏิบัติที่ดี นับว่าประสบความสำเร็จ จึงขอทราบรายละเอียดในการรับจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายและขอความร่วมมือทางการไทยในการให้ความดูแลคุ้มครองแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานในประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคประมงและหวังว่าการเปิดประชาคมอาเซียนปลายปี 2558 จะเป็นอาเซียนที่สงบ สันติ และเกิดการบูรณาการในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีต่อไป
 
(19-1-2558, ASTV ผู้จัดการออนไลน์)
 
สำนักงานประกันสังคม มั่นใจ มีโรงพยาบาลเพียงพอรองรับนักศึกษาสำเร็จใหม่ที่จะเข้าตลาดแรงงาน 
 
นางเพ็ชรา ถาวระ ผู้อำนวยการ สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวกรณีผู้ประกันตนกลุ่มใหม่ ไม่สามารถเลือกใช้บริการโรงพยาบาลในพื้นที่ทำงาน หรือ ใกล้ที่พักอาศัยได้ เนื่องจากโควตาของโรงพยาบาลเต็มแม้จะอยู่ในช่วงที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม - 31 มีนาคมนี้ ว่า ปกติ สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนเลือกเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ 3 แห่ง เพื่อเป็นตัวเลือกสำรอง แต่หากทั้ง 3 แห่งเต็มต้องเลือกแห่งใหม่
 
ส่วนกรณีที่สถานพยาบาลอยู่ไกลจากที่พักทำให้ผู้ประกันตนไม่เดินทางไปใช้บริการนั้น ผู้ประกันตนสามารถเลือกใช้สถานพยาบาลเครือข่ายที่มีกว่า 2 แห่งได้ โดยเข้าไปดูในเว็บไซต์ www.sso.go.th ว่ามีแห่งใดที่ผู้ประกันตนสะดวกบ้าง รวมถึงได้แจกจ่ายให้สถานประกอบการช่วยประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างรับทราบด้วย 
 
ขณะที่ การเตรียมโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม รองรับนักศึกษาสำเร็จใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ยืนยันว่า ขณะนี้ สปส. มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 241 แห่งและสถานพยาบาลเครือข่ายอีกกว่า 2,000 แห่ง
 
ผู้อำนวยการ สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ สปส. พยายามเชิญชวนโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมมากขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของกำลังแรงงาน ซึ่งมีโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมอยู่แล้วหลายแห่งที่ผู้ประกันตนสามารถเลือกเข้าไปใช้บริการได้
 
(ไอเอ็นเอ็น, 20-1-2558)
 
พนง.บางจาก ร่อนจดหมายถึง ‘ประยุทธ์’ ให้คัดค้านการขายหุ้นบางจากของปตท. อ้างเป็นสมบัติชาติ 
 
พนักงานบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกด (มหาชน) หรือ BCP ได้ส่งหนังสือคัดค้านการขายหุ้นบางจากของปตท. ให้กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
 
โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้มีการดำเนินการขายหุ้นบริษัทบางจากปิโตรเลียม ในส่วนของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT นั้น ในนามของพนักงานบริษัท บางจากไม่เห็นด้วย
 
เนื่องจากบริษัทบางจากถูกก่อตั้งมาในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อปฏิบัติตามภารกิจ 2 ข้อ คือ ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
 
ซึ่งการขายหุ้นบริษัทบางจากนั้น จะทำให้ บางจาก ซึ่งเป็นสมบัติชาติ ตกไปอยู่ในมือนักลงทุนที่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง ทำให้ไม่สามารถเป็นกลไกของรัฐฯ
 
โดยมีความหวังเดียวคือท่านนายกรัฐมนตรีที่จะหยุดยั้งการดำเนินการดังกล่าวและขอเป็นกำลังใจให้ท่านเพื่อประกอบภารกิจเพื่อชาติต่อไป
 
ทั้งนี้การประกาศขายหุ้นบางจาก ที่บริษัทปตท.ถืออยู่กว่า 27% เนื่องจากนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการบริษัท ปตท. ต้องการสร้างความโปร่งใสในธุรกิจน้ำมัน
 
และลดปัญหาการผูกขาดตลาดลง โดยมองว่าที่ผ่านมาปตท.ถือหุ้นในตลาดค้าส่งน้ำมันมากเกินไป จากนั้นบอร์ดปตท.ก็มีมติให้ขายหุ้นบริษัทบางจากทั้งหมดที่ถืออยู่ 27.22%
 
โดยจะมีการเปิดประมูลซื้อหุ้นภายในเดือน ม.ค.58 ขณะนี้มีผู้สนใจที่จะเข้าร่วมประมูลแล้ว 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มอดีตผู้บริหารบริษัท ปตท.
 
(Mthai, 21-1-2558)
 
ฮิวแมนไรต์สวอชท์แฉ “แรงงานไทย” ในอิสราเอลถูกนายจ้าง “กดค่าแรง - ใช้งานเกินคุ้ม”
 
องค์การสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมนไรต์สวอชท์” (HRW) ระบุในรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ (21 ม.ค.) ว่า แรงงานไทยที่ทำงานในไร่เกษตรของอิสราเอลนั้น ได้ค่าแรงต่ำทั้งที่ต้องทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง ทั้งยังต้องเผชิญสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เสี่ยงอันตราย 
       
รายงานที่มีชื่อว่า “สัญญาจ้างอยุติธรรม: การเอารัดเอาเปรียบแรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมของอิสราเอล” (A Raw Deal: Abuses of Thai Workers in Israel's Agricultural Sector) ที่มีความยาว 48 หน้า ระบุว่า มีแรงงานไทย 25,000 คนในรัฐยิวต้องตรากตรำทำงานในสภาพแวดล้อมที่ขัดต่อหลักกฎหมายอิสราเอล
       
คนงานต้องอดทนกับ “ค่าแรงต่ำ ทั้งที่ต้องตรากตรำทำงานนานหลายชั่วโมง และเผชิญสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เสี่ยงอันตราย และมีสภาพความเป็นอยู่ไม่ได้มาตรฐาน”
       
องค์การสิทธิมนุษยชน ที่มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กแห่งนี้ระบุว่า “อุตสาหกรรมการเกษตรของอิสราเอลต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติชาวไทยเป็นอย่างมากเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ แต่อิสราเอลแทบไม่ได้ปกป้องสิทธิ และคุ้มครองพวกเขาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบเลย”
       
“หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของอิสราเอลต้องมีความกระตือรือร้น ในการควบคุมชั่วโมงการทำงาน และตรวจสอบสภาพแวดล้อมในการทำงาน อีกทั้งต้องควบคุมพวกนายจ้างที่ละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเด็ดขาดจริงจังมากกว่านี้”
       
ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ได้เข้าสัมภาษณ์แรงงานไทย 173 คนจากชุมชนเกษตร 10 แห่งทั่วอิสราเอล
 
“ทั้งหมดพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย ทั้งยังถูกบังคับให้ทำงานนานกว่าที่กฎหมายอนุญาต ต้องเผชิญสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และพบพานอุปสรรคปัญหาต่างๆ หากต้องการขอเปลี่ยนนายจ้าง”
       
รายงานของ HRW ระบุด้วยว่า แรงงานที่อาศัยในชุมชน 9 ใน 10 แห่งต้องอาศัยอยู่อย่างอัตคัดขัดสนในสถานที่ซึ่งไม่มั่นคงแข็งแรง
       
กระทรวงเศรษฐกิจอิสราเอล ซึ่งรับผิดชอบด้านการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศ ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อรายงานฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม องค์กรเอ็นจีโอ “สายด่วนแรงงาน” ของอิสราเอลชี้ว่า ข้อมูลในรายงานฉบับนี้ตรงกับสิ่งที่ทางองค์กรได้พบเห็น
       
องค์กรคุ้มครองสิทธิแรงงานของรัฐยิวเจ้านี้ระบุว่า “ภาคเกษตรกรรมของอิสราเอลเป็นแหล่งฟูมฟักการละเมิดสิทธิแรงงาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
       
การที่ทางการอิสราเอลละเลยไม่เอาผิดนายจ้าง ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในภาคการเกษตรของอิสราเอลน่าหวั่นเกรง ดังเสียงสะท้อนจากรายงานของฮิวแมนไรต์สวอชท์ฉบับนี้  
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21-1-2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net