เสวนา 10 ปีสื่อทางเลือก ทบทวนและท้าทาย (1) 'สื่อทางเลือก'


 

22 ม.ค. 2558 ในเวทีเสวนา '10 ปี สื่อทางเลือก: ทบทวนเพื่อก้าวต่อ' ที่ห้องเทอร์ควอยซ์ โรงแรมเอทัส ลุมพินี ดำเนินรายการโดยพิณผกา งามสม บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท

สุชาดา จักรพิสุทธิ์
ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)

สื่อทางเลือกในความหมายที่ตัวเองคิดและทำอาจต่างจากนักวิชาการหรือนักปฏิบัติ โดยในอดีต สื่อทางเลือก คือ สื่อเล็กสื่อน้อยที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาว่าตัวเองไม่มีสิทธิมีเสียง สื่อกระแสหลักไม่มีพื้นที่ให้ส่งเสียงปัญหาของประชาชนนอกเมืองที่ถูกกระทำจากรัฐหรือทุน อย่างมากก็เพียงพื้นที่ข่าวภูธรเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข่าวผู้ว่าฯ เปิดงาน ความอึดอัดเหล่านี้ประกอบกับการเติบโตของเอ็นจีโอยุค 20 ปี ที่ผ่านมา ทำให้เกิดสื่อทางเลือกขึ้น แต่ยังมีลักษณะที่คิดว่า คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน หรือพยายามทำให้คนเล็กคนน้อยกล้ายืนขึ้นบอกปัญหาของตัวเอง เน้นสื่อสารในกลุ่มผู้ประสบปัญหา สื่อสารแนวราบ เฉพาะในเครือข่ายที่เอื้อมมือถึง ยังเข้าไม่ถึงศูนย์กลางนโยบายคือส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ อยู่ดี อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังคาดหวังว่าเรื่องของเขาจะเตะตานักข่าวบ้าง เห็นได้จากการที่เอ็นจีโอและชาวบ้านพยายามมีสายสัมพันธ์อันดีกับนักข่าวสื่อกระแสหลักบางคน

ยุคต่อมา ด้วยเทคโนโลยีประกอบกับปัจจัยสถานการณ์การเมือง หลังรัฐประหาร 2549 ที่มีกลุ่มประชาชนกลุ่มใหญ่เกิดขึ้น เป็นเหลือง แดง หรือสีต่างๆ และการเลือกข้างของสื่อกระแสหลัก ที่สร้างความอึดอัดให้คนอีกฝ่าย หรือคนที่ไม่มีสี คนรุ่นใหม่ซึ่งได้รับแนวคิดของโลกเสรี ทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยนจากผู้เสพกลายเป็นผู้สร้าง เป็นผู้ส่งสาร

นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ของกลุ่มคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเป็นมืออาชีพอย่างนักข่าวที่อึดอัดกับระบบเดิม ออกมาสร้างสื่อเอง กลายเป็นผู้นำกลุ่มแอคทีฟที่อยากสื่อสาร ตัวอย่างเช่น ประชาไท ไทยพับลิก้า คนเหล่านี้อยากทำงานสื่ออย่างมีเสรีภาพมากขึ้น และทุนในสื่อทำให้ไม่อาจมีบทบาทหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางของสังคมได้อีก

อนาคตของสื่อทางเลือก มองว่า จะมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นพร้อมความตายของสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อกระดาษ นอกจากนี้ยังพบความพยายามของสื่อทางเลือกที่จะจัดตั้งตัวเองมากขึ้น เข้าถึงคนและทุนมากขึ้น พยายามตั้งตัวเป็นสถาบันเช่นเดียวกับสื่อในระบบทุน เห็นได้จากความพยายามสร้างองค์ความรู้ ถอดบทเรียน สร้างงานวิจัย เพื่อยกระดับสื่อทางเลือกไปด้วยกัน ไม่ว่าจะถูกเรียกว่าอะไรก็ตาม

สฤณี อาชวานันทกุล
ผู้ร่วมก่อตั้งและคณะบรรณาธิการสำนักข่าวไทยพับลิก้า

ส่วนตัว ไม่ชอบคำว่า "สื่อทางเลือก" เหมือนเวลาพูดถึงพลังงานทางเลือก เพราะให้ความรู้สึกเป็นนัยว่า ยังไงเขาก็ไม่เลือก คนที่สนใจจะเป็นวงเล็กแคบ มีวิถีชีวิตต่างจากคนทั่วไป ตอนนี้อาจถึงเวลาที่คนจะเลิกเรียก "สื่อทางเลือก" แต่เป็น "สื่อ" ไทยพับลิก้าเป็นสำนักข่าวสืบสวนสอบสวน ก็อยากได้รับการประเมินผลงานเช่นเดียวกับสื่ออื่นที่ทำเรื่องสืบสวนสอบสวน

เรื่องความท้าทาย สฤณียกทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านสื่ออย่าง Ethan Zuckerman จาก Media Lab สหรัฐอเมริกา ซึ่งเตือนว่า ในโลกที่ทุกคนสร้างสื่อเองได้ เรารับข่าวสารจากโซเชียลมีเดียทั้งจากสื่ออาชีพและเพื่อนของเรา สิ่งที่อาจจะหายไปจากโลกแบบนี้คือ ลักษณะของหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ที่เป็นข่าวที่กองบรรณาธิการเห็นว่าสำคัญที่สุดที่ประชาชนควรรู้ แม้อาจไม่ใช่ข่าวที่เราสนใจหรือติดตาม พอตอนนี้หน้าหนึ่งหายไป ใครก็พูดเอง จะเกิดการจำกัดโลกทัศน์ของตัวเอง ไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น จึงท้าทายว่าทำอย่างไรให้รักษาคุณค่าของการนำเสนอประเด็นสำคัญถึงประชาชนได้จริง ขณะที่วิธีนำเสนอก็ต้องโดนใจและดึงดูดคน เพราะตอนนี้ มุมหนึ่งเมื่อใครก็เป็นสื่อได้และต้นทุนต่ำ ทำให้มีทางเลือกเยอะมาก ขณะที่เวลาในแต่ละวันเท่าเดิม จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนมาเห็นข่าวเรา

สำหรับไทยพับลิก้า ซึ่งเกิดจากความพยายามเพิ่มข่าวที่ตัวเองชอบอ่านและเห็นว่าควรมี โดยเฉพาะข่าวสืบสวนสอบสวนเชิงเศรษฐกิจ จึงชวนนักข่าวจากประชาชาติธุรกิจมาร่วมงานด้วย โดยเน้นประเด็นสืบสวนสอบสวน คอร์รัปชันโดยรัฐ โดยเอกชน ความโปร่งใสและความยั่งยืน พบความท้าทายในการทำงานเมื่อนักข่าวค่ายใหญ่โดดมาทำสื่อเอง ซึ่งต้องทำเองทั้งการระดมทุน กราฟิก ตรวจปรู๊ฟ

นอกจากนี้ อีกความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้คนทำงานในทีม ซึ่งประกอบด้วยคนที่มีอาวุโสในวงการสื่อที่เจนสนามและการจับประเด็น กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความคุ้นเคยกับโซเชียลมีเดีย มาทำงานด้วยกัน โดยใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายและช่วยกันยกระดับคนทั้งทีม นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญคือ เรื่องที่เมื่อนักข่าวเริ่มมีแหล่งข่าวที่ไว้ใจ จึงท้าทายที่นักข่าวจะรักษาความไว้วางใจของแหล่งข่าว โดยไม่เลยเส้นจนเป็นความสนิทสนมและกระทบการรายงานข่าว ต้องหาเส้นแบ่งให้ดี แนวนโยบายของกอง บ.ก. จึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่การกำกับดูแลกันเองก็มองว่าทำไม่ได้จริง เพราะบางสื่อ เมื่อไม่สบายใจกับการสอบสวน ก็แค่ลาออก จึงเสนอว่าอาจต้องเป็นการกำกับดูแลร่วมหรือไม่ 

การทำงานของสื่อทางเลือกหลายประเด็นท้าทายไม่ต่างจากสื่อกระแสหลัก เพราะสื่อก็อยากสร้างผลกระทบ เข้าถึงคนอ่าน อย่างไรสื่อกระแสหลักยังเข้าถึงคนหมู่มากได้อยู่ ทำอย่างไรให้สื่อกระแสหลักหยิบไปใช้

ส่วนการยกระดับในอนาคต มีเรื่องใหญ่ที่ต้องคิด คือ เรื่องโมเดลธุรกิจ ว่าจะอยู่รอดทางการเงินระยะยาวอย่างไร ไทยพับลิก้ารับโฆษณาเพราะอยากสร้างบรรทัดฐานว่า การรับโฆษณาไม่ส่งผลต่อการรายงานข่าว ในต่างประเทศมีโมเดลที่น่าสนใจ เช่น เปิดคาเฟ่ขายกาแฟ มีการเชิญ บ.ก.มาคุย จัดเสวนา จัดทริปวงปิด นำเนื้อหาในเว็บมาทำอีบุ๊ค นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกับสื่ออื่นและการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ทั้งนี้ พบว่าสื่อทุกค่ายยังใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร ยังไม่มี data journalism  จึงควรศึกษาอย่างเป็นกิจลักษณะ ถึงจะสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจน และเพิ่มความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น
 

รอมฎอน ปันจอร์
บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) 

ตั้งแต่ 2547 ซึ่งเกิดความรุนแรงรอบใหม่ในภาคใต้ ทำให้เห็นปัญหาการนำเสนอของสื่อที่ให้น้ำหนักกับแหล่งข่าวที่เป็นทางการ เพราะนักข่าวหลักไม่เข้าใจความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ ต่อมาเกิดการตั้งศูนย์ข่าวอิศราขึ้น เมื่อ ส.ค. 48 ใช้ระบบ บ.ก.คู่ จากกรุงเทพฯ และในพื้นที่ และมีการทำงานร่วมกับนักวิชาการ พัฒนาเป็นศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เพื่อสนับสนุนข้อมูลวิเคระห์ให้นักข่าว

ต่อมาในปี 50 สถานการณ์เปลี่ยน กลุ่มองค์กรที่นำโดยคนในพื้นที่เติบโตขึ้น เกิดการถ่ายอำนาจในการกำหนดวาระตัดสินใจมาในพื้นที่ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เกิดสื่อกระแสรอง หรือสื่อทางเลือก เช่น สำนักข่าวอามาน ที่ดึงคนในพื้นที่ที่สื่อสารภาษามลายู นำเสนอสามภาษา ไทย อังกฤษ มลายู เกิดบุหงารายา เกิดวาตานี บางที่เกิดมาแล้วหายไป แต่ก็เป็นพื้นที่ที่พยายามสะท้อนเสียงที่ต่างไปจากสื่อกระแสหลัก แต่ยังมีข้อจำกัด คือทักษะในการจัดการ ประกอบกับนักข่าวที่เคยทำงานด้วยถูกเรียกกลับส่วนกลาง เนื่องจากสถานการณ์การเมืองช่วง 54-55  จึงเกิดไอเดียโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ เพื่อสร้างนักข่าวในพื้นที่ที่มีทักษะมากพอในการสื่อสาร

ต่อมา เมื่อปี 56 ที่มีการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้น จึงทำให้มีการพูดถึงประเด็นใจกลางปัญหามากขึ้น สื่อทางเลือกเช่นวิทยุชุมชน ยกประเด็นทางการเมืองเหล่านี้มาพูดโดยตรง พูดถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างตรงไปตรงมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้้เป็นเรื่องยากที่จะพูดแม้แต่ในสื่อกระแสหลัก

โดยสรุป มองว่าสิ่งที่ต้องเผชิญ คือ หนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกระแสหลักและกระแสรองหรือสื่อทางเลือก ไม่ได้ขัดแย้งกัน และจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน

สอง การกำหนดวาระข่าวสารปัญหาภาคใต้ ถ่ายโอนไปสู่สื่อในพื้นที่มากขึ้น เพราะมิติการมองจากกรุงเทพฯ ต่างจากในพื้นที่ การให้ความสำคัญกับแต่ละประเด็นต่างกัน

สาม การต่อสู้กันระหว่างไอเดีย "กระบอกเสียง" กับ "พื้นที่กลางในการสื่อสาร" ท่ามกลางความขัดแย้ง สื่อทางเลือกเกิดเพราะอึดอัดใจกับสื่อหลัก สะท้อนเสียงออกมาผ่านข่าว บทความ จึงเลือกประเด็นที่ชาวบ้านถูกกระทำ ไม่เป็นข่าวในสื่อกระแสหลักมานำเสนออย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่จะถูกรัฐมองว่าหมิ่นเหม่เข้าข้าง "โจรใต้" ขณะที่อีกฝั่งคิดว่า ต้องนำเสนอพร้อมคำอธิบายแบบอื่น ทำให้ความจริงมีหลายชุดในพื้นที่เดียวกัน

ตอนนี้ ภาคใต้ตกตะกอน เลิกใช้ "สื่อทางเลือก" โดยเลือกใช้ "สื่อสันติภาพ" เพราะมองว่า เมื่อสื่อสาร ฟังเสียงต่างมากขึ้น สู้กันด้วยความคิด ข้อเท็จจริง เหตุผลหรือความจำเป็นในการใช้กำลังจะน้อยลง

สี่ เวลาพูดถึงการเปลี่ยแปลงเชิงนโยบาย มักเสนอต่อผู้กำหนดนโยบาย แต่ในภาคใต้ เวลาเสนอจะเสนอฝ่ายเดียวไม่ได้แล้ว ต้องเสนอต่อคู่ขัดแย้งหลักด้วย เช่น หากเสนอลดการใช้กำลังต้องเสนอต่อสองฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายที่อยู่ในเงามืด

สุชัย เจริญมุขยนันท
เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี

มูลนิธิสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ทำสองประเด็น คือ ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งได้รับทุนจาก สสส. และการสื่อสารสาธารณะ ซึ่งทำงานร่วมกับ USAID ปัญหาคือ ทุนที่ได้รับเป็นแบบปีต่อปี เป็นความท้าทายในการอยู่รอด เพราะส่วนตัวไม่ถนัดหาเงิน

ที่ผ่านมา เคยมีประสบการณ์ที่นักการเมืองใหญ่ในพื้นที่มาทำชวนไปทำทีวีดาวเทียมและวิทยุชุมชน แต่ปฏิเสธไป เพราะกลัวว่า หากรับเงินอาจไม่สามารถรายงานข่าวธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองคนนั้นได้ จนล่าสุด หลังศูนย์ข่าวอิศราทำข่าวเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองในพื้นที่ สื่อสร้างสุขได้นำมาเสนอในโซเชียลมีเดีย รวมถึงอ่านในรายการวิทยุและโทรทัศน์ ปรากฏว่าเมื่อไม่กี่วันก่อน มีการส่งข้อความในกลุ่มไลน์ของผู้บริหารว่า สื่อสร้างสุขฯ นั้น นำเสนอข่าวไม่เป็นผลดี ขอให้งดให้ความร่วมมือ นี่ทำให้เห็นว่า การครอบงำโดยนักการเมืองเป็นปัญหา เป็นความท้าทายในการทำงาน

นอกจากนี้ คนที่ไม่ได้อยู่ในสื่อมักพูดกันว่าให้ขอทุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องนี้ตนเองมองว่าไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ ทำให้แยกบุคคลไม่ออกจากองค์กร จึงไม่ได้ขอทุนจากตรงนี้

สอง การเข้าถึงทรัพยากร ปัจจุบัน แม้จะมีโซเชียลมีเดีย แต่อินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึงชนบท ขณะที่ทีวีดิจิทัลชุมชน ซึ่งเดิมตามโรดแมปของ กสทช. ธ.ค.ปีที่ผ่านมาต้องเกิดแล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่ปรากฏ ทราบมาว่านายทุนได้ไปหมดแล้ว คงต้องรอให้ช่องอนาล็อกหยุดออกอากาศ จึงจะนำคลื่นมาใช้ได้ ก็คงต้องรออีกปี สองปี นอกจากนี้ ในยุคที่มีความพยายามครอบงำการสื่อสาร ก็ไม่แน่ใจว่า ในอนาคตทีวีดิจิทัลชุมชนยังจะมีอยู่ไหม
 

ธีรมล บัวงาม
บรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

ประชาธรรม เกิดจากนักกิจกรรมในภาคเหนือ เพื่อช่วงชิงพื้นที่การสื่อสาร และผลักดันประเด็นของตัวเอง โดยนอกจากการนำเสนอข่าวแล้ว ยังพยายามทำงานกับเครือข่าย สื่อ วิทยุชุมชน และสถาบันการศึกษามากขึ้น เพราะมองว่าองค์ความรู้การสื่อสารจากการทำงานที่ผ่านมาน่าจะถูกผ่องถ่ายไป จนตอนนี้ผลักดันหลักสูตรสื่อทางเลือกในมหาวิทยาลัย รวมถึงมีการอบรมผู้สื่อข่าวหลากหลายกลุ่ม ก็ประสบความสำเร็จพอสมควร

สิ่งที่เห็นเป็นความท้าทาย คือ การสร้างดีเบตใหม่ ประชาธรรมอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ และอยู่ติดกับ กป.อพช.ภาคเหนือ ทำให้เกิดประเด็นว่าเป็นกระบอกเสียงของเอ็นจีโอหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ประชาธรรมทำงานด้วยไม่ใช่เอ็นจีโออย่างเดียวอีกแล้ว มีเสียงวิจารณ์ว่าประชาธรรมเป็นสำนักข่าวที่ภาคประชาชนระดมทุนให้ ทำไมไม่นำเสนอประเด็นของเขา

ความท้าทายสำคัญ ข้อต่อมาคือ เดิมที่สื่อทางเลือกเป็นเหมือนการนำเสนอด้านเดียว พูดบอกว่าไม่ต้องสนใจความเป็นกลาง สนใจแต่ความเป็นธรรม สร้างการถ่วงดุลข้อมูล ช่วงนึงอาจจะโอเค แต่พอสังคมหลากหลายขึ้น ทุกคนทำแบบนั้นไม่ได้ ไม่ใช่เขาเป็นกรด เราเป็นด่าง มันมีเบกกิ้งโซดา เราจะสร้างตัวนี้ได้อย่างไร โยงกับประเด็นใหญ่ คือ จะทำข่าวสารข้ามเครือข่ายได้หรือไม่ ไม่ใช่ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน และกดไลค์ในเฟซบุ๊ก เพราะแรงกระเพือมในเรื่องนั้นมันไม่พอ จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุยกันได้ ต้องอดทน เมื่อพยายามสร้างดีเบต ท้าทายเรื่องใหม่ๆ ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

เรื่อง data journalism ทำอย่างไรให้การสื่อสารยุคปัจจุบัน ที่มีการสื่อสารเต็มไปหมด ทำให้เกิดการเชื่อมโยงของข้อมูลที่คนทำงานต้องคิดมากขึ้น

การจัดการฐานข้อมูล ประชาธรรมพยายามจะทำตรงนี้เพราะมองว่า งานที่ทำเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ก็อยู่ระหว่างพัฒนาฐานข้อมูล เนื่องจากหลังรัฐประหาร เว็บประชาธรรมถูกปิด ทำให้ข้อมูลหายไปบางส่วน

เรื่องความเร็ว ความลึก ประเด็นนี้ท้าทายคนทำงาน ไม่ใช่แค่สื่ออย่างเรา สื่อกระแสหลักก็ท้าทายว่าทำอย่างไรจะพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ให้ใช้เครื่องมือสื่อสารได้ พัฒนาศักยภาพของทีมงานในการผลิตสื่อหลากหลาย มองว่าจะสื่อสารอย่างไร เพื่อทำให้โต้ตอบกับสังคมได้ จะใช้คนน้อย งบจำกัดอย่างไรเพื่อใช้โอกาสจากเทคโนโลยีที่เปิดขณะนี้

การพัฒนาศักยภาพองค์กร ที่จะเห็นต้นทุนของตัวเอง ไม่วิ่งตามโปรเจคต่อโปรเจค ทำงานส่งของไปเรื่อยๆ จนลืมภารกิจที่ผลักดันข้อมูลข่าวสาร ดีไซน์เรื่องการหาต้นทุน ตอนนี้ประชาธรรมก็เริ่มรับจ็อบ ผู้ผลิตอิสระ ขายคอนเทนต์

ในยุคสื่อหลอมรวม ขณะนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพยายามผลักดันกฎหมายที่มีมิติเรื่องความมั่นคง ต้องต่อสู้ว่าจะทำให้โปร่งใสได้อย่างไร จะสร้างสมดุลระหว่างฝ่ายรัฐกับประชาชนได้อย่างไร เพื่อรักษาพื้นที่ในการสื่อสารในอนาคต จะต้องผลักดันและมอนิเตอร์อย่างมาก 

 

การเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของเวที "10 ปี สื่อทางเลือก ทบทวนและท้าทาย" จัดโดย มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน โครงการศูนย์การเรียนรู้สื่อ และเว็บไซต์ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท