Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

3 ปีผ่านมา ‘บางละเมิด ดินแดนที่เราไม่เคยเป็นเจ้าของ’ ถูกนำกลับมาแสดงอีกครั้ง และซีนแรกของการแสดงครั้งนี้ก็ต้องตัดออกเพราะแรงกดดันจากภายนอก-ความกลัวจากภายใน เช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว

อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ หรือ กอล์ฟ ศิลปินด้านการละครจากกลุ่มบีฟลอร์ (B-floor) ผู้มีผลงานมายาวนานและคว้ามาหลากหลายรางวัล ตัดสินใจแสดงเรื่องนี้อีกครั้งภายใต้บรรยากาศขมุกขมัวทางสังคมที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย

“เชื่อมั้ยว่า เราไม่เคยได้แสดงอย่างที่ตัวเองอยากทำอย่างเต็มที่สักครั้ง ครั้งนี้ก็เหมือนครั้งที่แล้ว” กอล์ฟเกริ่นในซีนแรกของการแสดง

ความกลัว ความกังวล ต่อการตีความงานศิลปะซึ่งมีบุคคลทักท้วงในการแสดงครั้งแรกปี 2012 ทำให้เธอตัดสินใจตัดบางฉากออก แล้วนำสถานการณ์การทักท้วงและความลำบากใจนั้นมาเป็นซีนแรกเสียเอง เช่นกันกับคราวนี้ เธอนำคำทักท้วงของเพื่อนและการบุกมาพบของทหารเพื่อให้ทีมงานทำเรื่องขออนุญาตก่อน มาปรับสดๆ แสดงเป็นซีนแรกเสียเอง และอย่างตลกโปกฮา

นับเป็นทางออกในการนำความขมขื่นที่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมาบอกเล่าอย่างเฉียบแหลม

“เราไม่ได้คิดอะไรมากมายขนาดนั้นเลย แต่บรรยากาศและการทักท้วงต่างๆ มันสร้างความกลัวว่าจะเกิดการตีความที่ทำให้เราและทีมงานเดือดร้อน” นักแสดงกล่าว

การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ทหารและการสั่งให้ต้องทำเรื่องเพื่อขออนุญาตสำหรับละครเวทีเรื่องนี้ นับเป็นครั้งแรกๆ ที่ทำให้คนทำงานศิลปะหลายคนตื่นตัว บ้างระลึกได้ว่า “อ๋อ นี่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกนี่หว่า ลืมไปเลย” ขณะที่บางคนแสดงความกังวลใจเมื่อรัฐเริ่มรุกเข้ามาในพื้นที่ของละครเวที ซึ่งเป็นที่มั่นท้ายๆ สำหรับเสรีภาพในการแสดงออก เพราะเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการตีความมากกว่างานประเภทอื่น

“นี่เป็นเรื่องแรกที่ต้องขออนุญาตทหาร” “เราเชิญทหารมาดูด้วยเพื่อความสบายใจและทำเรื่องขออนุญาตไปแล้ว ตอนนี้เขายังเงียบ เราก็ยังยืนยันการแสดงตามกำหนดเดิม จนกว่าจะมีเหตุเปลี่ยนแปลงทำให้เราจัดไม่ได้นั่นแหละ” ธีระวัฒน์ มุลวิไล หรือ คาเงะ หนึ่งในทีมบีฟลอร์กล่าว

การแสดงในรอบสื่อมวลชนดำเนินไปอย่างราบรื่นในคืนวันที่ 20 ม.ค.เรื่องราวที่นำมาแสดงยังคงเปิดให้ตีความได้อย่างกว้างขวาง เผ็ดร้อน เน้นการเคลื่อนไหวร่างกาย ปะปนทั้งอารมณ์ขำขัน ขึงขัง ขมขื่น เพียงแต่ตัวแทนผู้ถูกกระทำอันเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินนำมาแสดงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น

เสน่ห์สำคัญของละครเวทีเรื่องนี้คือ สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ชมอย่างสูงระหว่างการแสดง แถมท้ายหลังจบการแสดงด้วยวงสนทนาระหว่างศิลปินและผู้ชม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้สึก การตีความ แนวคิด ทั้งที่เหมือนและแตกต่าง

ในความสงบราบคาบของยามนี้ ‘บางละเมิด’ อาจ ‘คืนความสุข’ ให้ผู้คนได้เคลื่อนไหวความคิดและอารมณ์ความรู้สึกอีกครั้ง (หากมันเองไม่ถูกละเมิดเสียก่อน)
 


กลุ่มละครร่วมสมัยบีฟลอร์

เสนอ

‘บางละเมิด’

“ดินแดนที่เราไม่เคยได้เป็นเจ้าของ”

จัดแสดงครั้งแรกในปี 2012  ‘บางละเมิด’ เป็นละครเวทีฟอร์มเล็กๆ หากประเด็นไม่เล็กน้อยเลย เนื่องจากพูดถึงเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยการจัดแสดงครั้งแรกนั้นได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมทั้งจากผู้ชมและนักวิจารณ์ ในแง่การนำเสนอประเด็นทางสังคมที่แสนจะใกล้ตัว มาท้าทายให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในการขบคิดได้อย่างเปิดกว้าง เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลายครบรส ได้รับ ‘รางวัลบทละครดั้งเดิมยอดเยี่ยม’ จากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงแห่งประเทศไทย

‘บางละเมิด’ สร้างสรรค์และแสดงเดี่ยวโดย ‘อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์’ ศิลปินการละครจากกลุ่มบีฟลอร์ผู้มีผลงานโดดเด่นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นเจ้าของรางวัล ได้แก่ รางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากเทศกาลละครกรุงเทพ ปี 2009, รางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมในภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘แหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน’ จากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 18 

ทั้งนี้การรีสเตจบางละเมิดในพ.ศ. 2558 นี้ได้มีการปรับปรุงพัฒนาเนื้อหาและการแสดงขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน

จัดแสดงที่ Thong Lor Art Space Sukhumvit 55 ระหว่างวันที่ 22 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 20.00 น. บัตรเข้าชม 500 บาท สำรองที่นั่งโทร สำรองที่นั่งโทร. 095-542-4555 หรือ 095-924-4555 ข้อมูลเพิ่มเติม Facebook : Thong Lor Art Space และ B-Floor Theatre

_______________________________

เกี่ยวกับผู้สร้างสรรค์การแสดง ‘อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์’

สมาชิกหลักของกลุ่มบีฟลอร์ มีผลงานโดดเด่นในวงการละครร่วมสมัยในฐานะนักแสดงมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี นอกจากทำงานร่วมกับกลุ่มบีฟลอร์แล้วอรอนงค์ยังเป็นนักแสดงอิสระที่ร่วมงานกับผู้กำกับฯ อีกมากมาย  ผลงานที่โดดเด่นของอรอนงค์ได้แก่ ‘นางนากเดอะมิวเซียม’ โดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์, Sunflower โดยนพพันธ์ บุญใหญ่, ‘สาวชาวนา’ โดยนิกร แซ่ตั้ง ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากเทศกาลละครกรุงเทพ ปี 2009, รางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมในภาพยนตร์ สั้นเรื่อง ‘แหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน’ จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 18 ทั้งยังเคยได้รับคำชื่นชมจากหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ว่าเป็น “นักแสดงละครเวทีผู้เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์เมื่อยามอยู่บนเวที”

นอกเหนือจากบทบาทนักแสดงผู้โดดเด่นแล้ว ‘บางละเมิด’ ยังเป็นผลงานที่อรอนงค์ทั้งเขียนบท กำกับฯ และแสดงเดี่ยวด้วยตัวเอง  ภายหลังการแสดงในปี 2012 เธอได้รับรางวัลบทละครดั้งเดิมยอดเยี่ยม (Best Original Script of a Play / Performance) โดยชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงแห่งประเทศไทย (IATC Awards โดย International Association of Theatre Critics Thailand) 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net