Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส กรณี Charlie Hebdo นั้น เป็นเหตุการณ์ที่สร้างข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของตะวันตก ไม่แพ้กรณี หนังสั้นอื้อฉาว “Innocence of Muslim” ที่มีเนื้อหาหมิ่นนบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม จนกระทั่งก่อให้เกิดโศกนาฏกรรม การสังหารหมู่นักการฑูตสหรัฐอเมริกา ๔ คนในประเทศลิเบีย ในวันครบรอบ 9/11 เมื่อ ปี 2012 อีกทั้งผู้นำมุสลิมในหลายประเทศก็ประกาศ “fatwa” ให้ชาวมุสลิมตามสังหารนักแสดงที่มีส่วนร่วมในหนังสั้นดังกล่าวทุกคน ซึ่งทำให้นักการเมืองสหรัฐฯ เช่น นางฮิลลารี คลินตัน และ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ออกมาประนามการโจมตี และเนื้อหาของวิดีโอ แต่กลับปฏิเสธที่จะกดดันให้ กูเกิ้ล ซึ่งเป็นเจ้าของ YouTube เอาวิดีโออื้อฉาวนั้นออก ปล่อยให้ Cyndy Lee Garcia นักแสดงประกอบสาวที่ไม่รู้เนื้อหาหมิ่นเหม่ของหนังสั้น ต้องใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ (ของนักแสดง) กดดันให้ YouTube เลิกเผยแพร่วิดีโอดังกล่าว ซึ่งก็ยังเป็นคดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์มาจนปัจจุบัน[1] โดยชนชั้นนำในสหรัฐ เช่น นักกฎหมายลิขสิทธิ์ และนักวิชาการต่างๆ ก็ไม่ได้สนใจ หรือแสดงความเห็นใจจะช่วยเหลือ ต่อคดีของนางการ์เซียแต่อย่างใด

ในขณะที่ทุกคนดูจะเห็นพ้องว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ” มีความสำคัญเหนือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (รวมทั้งสิทธิตามกฎหมายลิขสิทธิ์) ของนักแสดงตัวเล็กๆอย่างการ์เซีย[2] แต่กลับไม่มีปรากฎการณ์ Je Suit Charlie ออกมาเป็นวาระดราม่าแห่งชาติ เหมือนกับกรณีของฝรั่งเศส ที่คนจำนวนมากส่วนหนึ่ง ออกมาแสดงแนวร่วมยืนหยัดเพื่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น (และไว้อาลัยผู้ตาย) ในขณะที่คนอีกส่วนก็ตั้งคำถามกับขอบเขตของเสรีภาพในการย่ำยีลัทธิความเชื่อของผู้อื่น

แน่นอนว่าดราม่าแบบเดียวกันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในอเมริกา

คำถามจึงมีอยู่ว่า ทำไมอเมริกาจึงมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากกว่ายุโรป? เพราะฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายหัวก้าวหน้าในอเมริกา มีอิทธิพลมากกว่าในยุโรปหรือ?

คำตอบก็คือ อาจจะไม่ใช่ และในการที่เราจะเข้าใจการเมืองและเสรีภาพทางความคิดของสังคมตะวันตก เราต้องเข้าใจว่าเสรีภาพในทางความคิด ไม่ใช่แค่สิทธิที่ถูกผลักดันโดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายหัวก้าวหน้าเท่านั้น แต่ฝ่ายขวา หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมเองก็ มีส่วนได้เสียที่จะผลักดัน ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีความเข้มแข็ง เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเช่นกัน

ตลอดประวัติศาสตร์ของอเมริกา (และในยุโรปเอง) เสรีภาพทางความคิด สามารถทำให้ฝ่ายขวาสามารถที่จะดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มน้อยได้ ในสังคมตะวันตกซึ่งมีผู้อพยบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอเมริกา ความสามารถของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่จะพูดหมิ่น เสียดสี รังควาน ทั้งในเรื่อง สีผิว เชื้อชาติและศาสนาของคนกลุ่มน้อย (เช่นยิว หรือคนดำ) มีความสำคัญในทางการเมืองมาตลอด และได้รับการปกป้องจากศาลและรัฐธรรมนูญโดยเข้มแข็ง ทำให้ในแง่หนึ่ง เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของสังคมตะวันตก เป็นเสมือน “reaction” หรือปฏิกริยา ของฝ่ายขวาต่อหลักสิทธิมนุษยชน และ civil rights สมัยใหม่ ที่พัฒนาขึ้นหลังสงครามโลก และห้ามการเหยียด หรือเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มน้อยไม่ว่าทางเชื้อชาติ หรือความเชื่อ เป็นอาวุธทางการเมืองของชนผิวขาวส่วนมากในสังคม

ซึ่งถ้าจะมีข้อแตกต่างระหว่างสองซีกแอตแลนติก ก็คงจะเป็นการที่ประเทศใหญ่ๆในยุโรป (ยกเว้นรัสเซีย) ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ทำต่อชาวยิวเป็นพิเศษ ทำให้เสรีภาพการแสดงออกของฝ่ายขวาไม่แข็งแรง เนื่องจากการเมืองในประเทศถูกกลุ่มล๊อบบี้ยิว เช่น LICRA หรือ CRIF กดดันให้มีการออกกฎหมายที่รุนแรง เพื่อลงโทษการหมิ่นยิว แสดงความคิดเห็นเป็นปฏิปักษ์ต่อยิว (ในทุกๆด้านไม่เฉพาะเรื่องเชื้อชาติ) หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมของยิว จนฝ่ายขวาแทบไม่สามารถกระดิกตัวได้ ดังที่ Marine Le Pen ผู้นำพรรค National Front ของฝรั่งเศสพูดตอบโต้กับนักข่าว BBC ไว้อย่างเปิดเผยในประเด็นนี้ (ดูนาทีที่ 4 เป็นต้นไป)[3]

ซึ่งถ้าเทียบกับอเมริกาแล้ว สิทธิตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแสดงความคิดเห็น (First Amendment) ของอมเริกามีกำลังมาก ไม่เปิดช่องให้มีกฎหมายลงโทษทางความคิดได้อย่างในกรณีฝรั่งเศส หรือเยอรมันนี ทำให้ชนกลุ่มน้อยในอเมริกามีฐานะ (ที่จะถูกหมิ่นได้) ตามกฎหมายเท่าๆกัน แต่สำหรับชาวยิวที่มีกำลังทรัพย์ และอำนาจการเมืองมากหน่อย ก็มีกลุ่มล๊อบบี้ยิวอย่าง ADL (Anti-Defamation League) ออกปฏิบัติการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทประเภทต่างๆเข้าตอบโต้ การแสดงความคิดเห็นในทางที่ต่อต้านยิว หรืออิสราเอล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าชนผิวขาวที่เป็นอนุรักษ์นิยม/ชาตินิยมฝ่ายขวา ในอเมริกาก็ยังมีพื้นที่หายใจมากกว่า คนกลุ่มเดียวกันในยุโรป

Eugene Volokh ศาตราจารย์ทางกฎหมายชื่อดังของอเมริกา ให้ความคิดเห็นว่า การมีกฎหมายหมิ่น แบบครึ่งๆกลางๆสไตล์ยุโรป ที่ปกป้องชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม (เช่นยิว) ในขณะที่คนกลุ่มน้อยอีกกลุ่ม ถูกเล่นหัวได้ตามใจชอบ ก่อให้เกิดปรากฎการณ์ “Censorship Envy”  ซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้ากัน ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยม/ชาตินิยมข้างมาก กับคนกลุ่มน้อยอย่างชาวมุสลิม ซึ่งไม่พอใจการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน[4] ซึ่งทฤษฎีของ Volokh ออกจะเอื้อไปในทางให้ฝ่ายขวา หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมพ่นพิษตามใจชอบได้อย่างชัดเจน … แต่เหตุผลของ Volokh ก็ม่ความเป็นจริงไม่น้อยเพราะ ว่าหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรง Charlie Hebdo เกิดขึ้นแล้ว กลุ่มฝ่ายขวาจัดต่างๆในยุโรป รวมทั้ง Pegida กลุ่มต่อต้านมุสลิมในเยอรมัน ออกมารวมตัวกันทันที เพื่อแสดงพลังภายใต้สโลแกน PEGIDA = CHARLIE[5] ทำให้น่าคิดเป็นอย่างยิ่งว่า “Charlie” จริงๆแล้วเป็นมันใครกันแน่

การรวมตัวกันเดินขบวนในปารีส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา แม้เบื้องหน้า จะมีนัยยะเป็นการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก  แต่เบื้องหลังมีความสลับซับซ้อน ซึ่งฝ่ายที่มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ไม่พลาดโอกาสที่จะมามีส่วนร่วม รวมทั้งนาย เบนจามิน เนตานยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ที่ก็มา “party crash” กับเขาด้วย ทั้งๆที่ นาย ฟร็องซัว ออลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสขอร้องไม่ให้มา เพราะยุโรปกำลังมีความสัมพันธ์ง่อนแง่นกับอิสราเอลจาก ความรุนแรงในปาเลสไตน์ช่วงซัมเมอร์ปีที่แล้ว ซึ่งเชื่อกันว่าการปรากฎตัวของผู้นำอิสราเอล ก็เพื่อเป็นการ “ย้ำเตือน” ไม่ให้ฝรั่งเศสและยุโรปที่กำลังฮึกเหิม ออกนอกลู่นอกทางในท่าที เรื่องการจำกัดการแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับยิวนั่นเอง[6]


ชาร์ลี เอ็บโด เป็นแค่ดราม่าของฝ่ายขวาหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เราน่าจะตั้งคำถาม  แต่ที่แน่ๆ คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น มีนัยซ่อนเร้นทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา และไม่ใช่เรื่องเฉพาะของฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายหัวก้าวหน้าเท่านั้น ที่มีหน้าที่จะให้คำตอบกับการแสดงความคิดเห็นที่ “หมิ่นเหม่” หรือ “กระทบจิตใจ” ของผู้อื่น เพราะในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น เสรีภาพเป็นเรื่องสองมาตรฐานมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การตั้งคำถามว่า “เสรีภาพ จริงๆมีไว้เพื่อใคร?” จึงมีความสำคัญมาก

 

 

อ้างอิง

[1] http://en.wikipedia.org/wiki/Garcia_v._Google,_Inc.

[2] ดูเอกสารแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการในฐานะ amicus curia ได้ที่ http://www.ca9.uscourts.gov/content/view.php?pk_id=0000000725

[4] Eugene Volokh, Censorship Envy, Volokh Conspiracy (Jan. 16, 2015), http://www.washingtonpost.com/news/volokh-conspiracy/wp/2015/01/16/censorship-envy/

[6] Barak Ravid, Hollande asked Netanyahu not to attend Paris memorial march, http://www.haaretz.com/news/diplomacy-defense/.premium-1.636557

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net