นักยุทธศาสตร์ต่างชาติวิเคราะห์เหตุใดความไม่สงบภาคใต้ของไทยจึงยึดเยื้อ

จอห์น แบล็กซ์แลนด์ นักยุทธศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียชี้ว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เหตุความขัดแย้งในภาคใต้มีความยุ่งยาก ทั้งการเปลี่ยนวิธีการวางเป้าหมายของกลุ่มติดอาวุธ ความไม่เข้าใจจากส่วนกลางในเรื่องเชื้อชาติ และการกระทำที่ผิดพลาดหลายเรื่องจากฝ่ายรัฐเอง

ภาพประกอบ: Mahamasabree Jehloh

19 ม.ค. 2558 จอห์น แบล็กซ์แลนด์ นักวิชาการอาวุโสจากศูนย์วิจัยด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เขียนบทความวิเคราะห์สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย ซึ่งแม้ว่าหลังจะเกิดรัฐประหารในช่วงกลางปี 2557 ที่ผ่านมาแต่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ยังคงก่อเหตุรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตราว 50 คนต่อเดือน

มีข้อสงสัยว่าเหตุใดความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องควบคุมไม่ได้และมีความยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน และทำไมทางการไทยถึงมีความยากลำบากในการหาทางออกต่อปัญหานี้ และเหตุใดปัญหานี้ถึงเป็นเรื่องเข้าใจยาก แบล็กซ์แลนด์ระบุว่าเป็นเพราะปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้มีปัจจัยจากหลายเรื่องมาบรรจบกัน

แบล็กซ์แลนด์ระบุว่าปัจจัยหนึ่งคือเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่รัฐจัดการกับชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติและศาสนาในภาคใต้ของประเทศด้วยการพยายามใช้วิธีการปกครองแบบรัฐหนึ่งเดียวแทนระบบกึ่งสมาพันธ์รัฐซึ่งถือว่าไม่ได้ผล เพราะชาวมาเลย์มุสลิมในภาคใต้มีแนวคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากกลุ่มชาวพุทธเถรวาทในพื้นที่ศูนย์กลางจึงไปกันไม่ได้กับวิธีการปกครองแบบรัฐรวมศูนย์หนึ่งเดียว อีกทั้งกลุ่มชนชั้นนำในเมืองหลวงก็มีท่าทีกดเหยียดชนชาติถ้าไม่ใช่ด้วยความเกลียดชังก็ด้วยความสงสาร

ในช่วงราว 50 ปีที่ผ่านมามีกลุ่มกองกำลังในไทยหลายกลุ่มเช่นกลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มขบวนการปลดปล่อยสหปัตตานีหรือพูโล แม้ว่ารัฐไทยจะใช้วิธีการต่อต้านการก่อการร้ายในการปราบปรามกลุ่มกบฏจนทำให้ดูเหมือนจะเกิดสันติภาพในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่แบล็กซ์แลนดืก็ระบุว่ากลุ่มกองกำลังได้เรียนรู้วิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองตกเป้นเป้าหมายที่สามารถระบุได้ชัดเจนทั้งในแง่โครงสร้างการนำกลุ่มและในแง่ทรัพยากร ด้วยวิธีการที่ไม่มีการนำหรือการมีโครงสร้างอำนาจภายในกลุ่มที่ชัดเจน

แบล็กซ์แลนด์ระบุว่า การได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และช่วงที่มหาอำนาจเรียกร้องให้มีสงครามต่อต้านการก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ 911 ทำให้ดุลยภาพของสถานการณ์เปลี่ยนไป แม้ว่านานาชาติจะเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการค้นหาความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายมากขึ้นแต่ก็เป็นวิธีการที่ใช้กับกลุ่มหัวรุนแรงของอัลกออิดะฮ์ซึ่งเป็นสายซาลาฟี เป็นสิ่งที่แตกต่างนำมาใช้ไม่ได้กับพลวัติที่เกิดขึ้นในทางภาคใต้ของไทยที่มีลักษณะเฉพาะตัว

ในบทความของแบล็กซ์แลนด์มีการวิจารณ์กรณีที่ทักษิณใช้วิธีการโอนอำนาจความรับผิดชอบเรื่องความมั่นคงในภาคใต้ให้กับตำรวจในพื้นที่ทำให้สูญเสียวงจรการข่าวของกองทัพที่มีเครือข่ายเชื่อมต่อกับทางการกลางจนสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ก่อนเกิดเหตุบานปลาย แต่พอสูญเสียวงจรการข่าวที่มีอยู่เดิมแล้วทำให้ทางการขาดความสามารถในการคาดการณ์เหตุร้ายล่วงหน้า นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่กลุ่มกองโจรสามารถปล้นอาวุธของกองทัพจำนวนมากในปี 2547 ซึ่งทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม

แบล็กซ์แลนดฺ์ยังได้วิจารณ์กรณีที่เจ้าหน้าที่ทางการใช้วิธีการรุนแรงขึ้นกับฝ่ายต่อต้านทั้งการทำร้ายร่างการ การจับกุมและการสังหาร ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจ อีกทั้งผู้บัญชาการทหารของไทยยังรู้สึกว่าตนมีเกียรติยศศักดิ์ศรีในการต้องปกป้องลูกน้องจากกระบวนการตรวจสอบนอกกองทัพทำให้มีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำการโหดร้ายน้อยมาก ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปยิ่งรู้สึกว่าไม่มีความยุติธรรม

ในพื้นที่ภาคใต้มีเหตุร้ายจากกลุ่มอาชญากรเพิ่มมากขึ้นมาเป็นเวลาสิบปีแล้ว ขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานตำรวจ ทหาร และกองกำลังผสม ซึ่งต่างก็พยายามรักษาภาพลักษณ์ของตนเอง แต่แบล็กซ์แลนด์ก็ระบุว่ามีเรื่องราวซับซ้อนมากกว่ากลุ่มอาชญากรและความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐ ความซับซ้อนอย่างหนึ่งมาจาการที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบสามารถผลิตอาวุธระเบิดได้เองและมีการวางเป้าหมายในแบบที่ไม่มีรูปแบบแน่นอน คาดเดาไม่ได้

มีชาวมุสลิมจำนวนมากในพื้นที่ภาคใต้ที่ถูกสังหารเพื่อแก้แค้น แต่แบล็กซ์แลนด์เชื่อว่าเป้าหมายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโดยหลักๆ คือเพื่อข่มขู่ชาวพุทธ การโต้ตอบทำให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรง มีชาวพุทธบางคนถืออาวุธออกลาดตระเวณตามหมู่บ้านหรือเมืองใหญ่ๆ แม้ว่ารัฐบาลพยายามจะส่งเสริมให้ชาวพุทธอาศัยอยู่ในพื้นที่แต่พวกเขาก็ถูกเบียดขับออกไปจากหลายๆ ส่วนของทางภาคใต้

หลังจากการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 รัฐบาลไทยมีความพยายามจัดการต่อต้านการก่อความไม่สงบให้มีประสิทธิภาพขึ้นแต่ความพยายามเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นก็ไม่เป็นผลเพราะฝ่ายบีอาร์เอ็นเห็นว่าพวกตนมีอิทธิพลในการเจรจาน้อยเกินไป อย่างไรก็ตามแบล็กซ์แลนดืชี้ว่ากลุ่มติดอาวุธในยุคปัจจุบันไม่เหมือนในยุคก่อน เนื่องจากในยุคก่อนมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน แต่กลุ่มติดอาวุธในปัจจุบันมีวาระทางการเมืองน้อยเกินไปที่จะใช้เจรจาอีกทั้งยังหลีกเลี่ยงการออกแถลงการณ์กลุ่ม นอกจากนี้การไม่มีผู้นำที่ชัดเจนทำให้ฝ่ายรัฐไม่สามารถระบุได้ว่าจะต้องดำเนินการเจรจากับใคร

"ฝ่ายกองกำลังมีความสามารถในเชิงนวัตกรรม มีการปรับตัว และมีความคาดเดาได้ยาก แต่ในทางการเมืองแล้วพวกเขาก็ยังคงระมัดระวังในเชิงยุทธศาสตร์ มีความอนุรักษ์นิยมและยึดติดในเชิงอุดมการณ์ ไม่ได้มีแรงผลักดันเชิงอุดมการณ์ที่สร้างขึ้นมาแบบในอิรักและซีเรีย" แบล็กซ์แลนด์ระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

Thailand’s simmering security crisis gathers steam, East Asia Forum, 13-01-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท