Skip to main content
sharethis

คลิปการนำเสนอของ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ หัวข้อ "ความเป็นสมัยใหม่ในวรรณกรรมของคณะสุภาพบุรุษ" วิจารณ์โดย สรณัฐ ไตลังคะ

 

 

19 ม.ค. 2558 - เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ห้อง ศศ.107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการประชุมประจำปีครั้งที่ 1 โครงการวิจัยพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงทางความคิดว่าด้วยความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่ในสังคมไทย (สกว.) วันเสาร์ที่ 17 มกราคม 2558 โดยช่วงสุดท้าย  ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอหัวข้อ "ความเป็นสมัยใหม่ในวรรณกรรมของคณะสุภาพบุรุษ" วิจารณ์โดย สรณัฐ ไตลังคะ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยการอภิปรายของชูศักดิ์ เป็นการวิเคราะห์สถานะ นัยยะ และความหมายของนักเขียน "คณะสุภาพบุรุษ" โดยเป็นการปรับปรุงจากบทความ "ปริศนาข้างหลังภาพ คณะสุภาพบุรุษ" พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสารคดี เดือนมิถุนายน 2544 และเพิ่มเติมข้อมูลใหม่จากการค้นไมโครฟิล์มที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา และจากข้อมูลของสุชาติ-วรรณา สวัสดิ์ศรี ที่ค้นพบเพิ่มเติมในหนังสือ "เพื่อนพ้องแห่งวันวาร เรื่องสั้นสุภาพบุรุษ" ตีพิมพ์ในปี 2553

ชูศักดิ์ เริ่มต้นนำเสนอว่า ศึกษาช่วง 2475 หัวข้อใหญ่คือ "ภาพเสนอความเป็นเมืองและชนบทในวรรณกรรมไทยช่วง 2475 – 2500" โดยปีแรกนี้จะศึกษาช่วง 2475 พอทำเรื่อง 2475 ถ้าจะทำก็เลยขยับเวลานิดหน่อยมาดูในช่วงรอยแต่ ทั้งนี้มีคำพูดของ เบนเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ที่เขียนไว้ในบทนำของ "ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน" ตีพิมพ์ พ.ศ. 2553 ที่เป็นงานวิเคราะห์วรรณกรรมไทย รวมดานสังคมวัฒนธรรม และเจอข้อความท่อนหนึ่งที่อาจจะนำมาเป็นกรอบใหญ่ๆ ในการพูดคือ แอนเดอร์สันพูดว่า "และดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเสมอมา พายุใหญ่ทางการเมืองนั้น มักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า จากเสียงฟ้าลั่นคำรามมาแต่ไกลของวรรณกรรม"

โดย "เสียงฟ้าลั่นคำรามมาแต่ไกลของวรรณกรรม" ที่ผมจะพูดถึงนี้ ผมจะเจาะไปดูการเกิดขึ้นของนักเขียนที่เรียกตัวเองว่า "คณะสุภาพบุรุษ" ซึ่งงานเขียนของคนกลุ่มนี้ได้เผยให้เห็นความใฝ่ฝัน ความปรารถนาของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมสยามที่มุ่งหวังจะเห็นสังคมแห่งความเสมอภาค ดังเช่นที่ปรากฏในคำประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่ว่า "ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริยะ" นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า"

ในความรู้สึกของผมก็คือว่า เราอาจจะมองหรือจับ หรือสามารถนึกภาพได้ว่า 2475 ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่มีสัญญาณบางอย่างที่ อ.เบน ใช้คำเสียหรูหราว่า "เสียงฟ้าลั่นคำรามมาแต่ไกล" ผมจะดูเสียงฟ้าลั่นคำรามนี้ จากงานของคณะสุภาพบุรุษ ถ้าเทียบกับช่วง 14 ตุลา ในงานที่ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ ศึกษา จะเห็นว่าความเคลื่อนไหวด้านวรรณกรรมทางการเมือง มีความคึกคักชัดเจน เดิมผมนึกว่าจะเป็นแบบนั้นในคณะสุภาพบุรุษ แต่ก็ไม่เป็นเท่าไหร่ ไม่มีความเป็นการเมืองในนั้นเลย ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ศึกษาในการค้นหาความเป็นการเมืองในความไม่เป็นการเมืองของคณะสุภาพบุรุษ

หัวข้อหลักๆ ชูศักดิ์อภิปรายประกอบด้วย "1. สถานะทางประวัติศาสตร์ของคณะสุภาพบุรุษ และนิตยสารสุภาพบุรุษ และ 2. ความเป็นเมืองและชนบทในงานเขียนของคณะสุภาพบุรุษ"

คณะสุภาพบุรุษคือใคร คนที่อยู่ในวงการวรรณกรรมก็จะคุ้นเคยดี เป็นกลุ่มคณะที่ได้รับการพูดถึงมากเป็นพิเศษในประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยสมัยใหม่ เป็นนักเขียนหนุ่มที่มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา เป็นผู้ชักชวนพรรคพวกเพื่อนฝูงมาทำนิตยสารรายปักษ์ชื่อ "สุภาพบุรุษ" เล่มแรกออกวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ฉบับสุดท้ายวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 เวลาประมาณ 18 เดือน กลุ่มนักเขียนที่เราคุ้นชื่อเช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), อบ ไชยวสุ (ฮิวเมอร์ริสต์), มาลัย ชูพินิจ (แม่อนงค์, เรียมเอง), โชติ แพร่พันธุ์ (ยาคอบ), จรัญ วุธาฑิตย์ (ร. วุธาฑิตย์), สนิท เจริญรัฐ (ศรีสุรินทร์), ชิต บุรทัด (แมวคราว), ฉุน ประภาวิวัฒน (นวนาค), โพยม โรจนวิภาต ("อ.ก.รุ่งแสง")

กลุ่มนี้ก็เรียกว่าเป็นกลุ่มที่เป็นคนหนุ่ม ที่ก่อตัวผ่านระบบเครือข่าย ส่วนหนึ่งรวมตัวกันผ่านนักเรียนเก่าเทพสิรินทร์มาด้วยกัน หรือทำงานด้วยกันในนามนักแปล คณะสุภาพบุรุษนั้น ในช่วงทศวรรษ 2470 เกิดความเฟื่องฟูของยุคทุนนิยมการพิมพ์ ในยุคนั้นมีทุนนิยมการพิมพ์แพร่หลาย มีสื่อสิ่งพิมพ์ออกมาเยอะมาก กลุ่มคณะสุภาพบุรุษก็เป็นหนึ่งในหลายๆ กลุ่มในตอนนั้น โดยคณะนักเขียนร่วมสมัย เช่น กุลสัตรี ประตูใหม่, อุตริวิทยา, สยามมวย, ผดุงวิทยา, ศรีกรุง, ไทยเอื้อ, เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์, ศัพท์ไทย, ไทยเขษม, สารานุกูล, หนังสือพิมพ์นักเรียน, สตรีไทย, สยามยุพดี, โฟแท๊กซ?, สมานมิตรบรรเทอง, เฉลิมวุฒิ, เริงรมย์, สวนอักษร ฯลฯ

"ในความเห็นของผม ผมรู้สึกว่าก็จริงอยู่ ว่าพวกนี้เป็นหลายๆ กลุ่มที่มีอยู่ แต่คณะสุภาพบุรุษ มีลักษณะพิเศษบางอย่าง ที่เราไม่สามารถที่มองเขาว่าเป็นหนึ่งในหลายกลุ่มในยุคนั้นได้ เพราะคณะสุภาพบุรษมีความโดดเด่นบางประการที่ทำให้คณะสุภาพบุรษแตกต่างออกไป หนึ่ง เป็นการรวมตัวของคนรุ่นหนุ่มสาวที่มีอายุประมาณ 20 กว่าๆ กุหลาย สายประดิษฐ์ ที่เป็นบรรณาธิการขณะนั้นอายุ 24 ปี มาลัย ชูพินิจ อายุ 23 ปี สนิท เจริญรัฐ อายุ 22 ปี จรัญ วุธาทิตย์ อายุ 21 ปีเท่านั้นเอง คนที่ดูจะอาวุโสที่สุดคือ อบ ไชยวสุ ผู้ใช้นามปากกา "ฮิวเมอริสต์" ซึ่งเป็นครูโรงเรียนเทพสิรินทร์ อายุ 28 ปี เทียบกับคนสมัยนี้ คุณจะรู้สึกว่า "โอ้โห ทำไมคนพวกนี้คิดการใหญ่" ซึ่งน่าทึ่งมากในความรู้สึกของผม" ชูศักดิ์กล่าว

"คณะสุภาพบุรุษมีลักษณะพิเศษ ที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านทางสังคม คือช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ข้อเสนอที่ผมคิด ผมคิดว่าคณะสุภาพบุรุษเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่พยายามทำสองอัน จากการประมวลที่ผมอ่านงานของเขาและเอกสารที่เกี่ยวข้อง คือ หนึ่ง พยายามสร้างอัตลักษณ์ความเป็นนักเขียนอาชีพ และ สอง วัฒนธรรมใหม่ของการเขียน"

ในเรื่องความเป็นนักเขียนอาชีพ อย่างที่เราได้ยินได้ฟังมาแต่เช้า ประเด็นหนึ่งของความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทย เกิดการปะทะหรือเกิดความพยายามที่จะชิงกันนิยามสิ่งที่ตัวเองทำ ในแต่ละสาขาวิชามีความพยายามชิงการนิยามวิชาชีพตัวเอง ลักษณะของสิ่งที่ตัวเองทำ ในวงการวรรณกรรมก็เกิดสิ่งนี้ขึ้น มีธรรมเนียมการเขียนสมัยใหม่ที่ไม่ใช่การเขียนนิทาน คำกลอน หรือร้อยกรองแบบเก่า แต่เป็นการเขียนที่เรียกว่า ร้อยแก้วแนวใหม่ หรือเรื่องเล่าแบบร้อยแก้ว ซึ่งเข้ามาผ่านการแปลนวนิยายฝรั่ง ในแง่วงการงานเขียนช่วงนี้จะเป็นช่วงที่มีงานเขียนแนวใหม่เกิดขึ้นเยอะแล้ว แต่ก็เหมือนกับอีกหลายสาขาวิชา คือส่วนใหญ่ความเป็นสมัยใหม่ทางวรรณกรรม ก็ตกอยู่ในสภาวะเดียวกันคือ เจ้านายชั้นสูงเป็นผู้นำเข้ามาใช้ เอามาเล่น ซึ่งผมคิดว่าประเด็นนี้สำคัญเพราะคณะสุภาพบุรุษเองก็ตระหนักเรื่องนี้ผมสมควร ก็มีความพยายามจะช่วงชิง นำเสนอ สถานะของนักเขียนที่ต่างจากระบบเดิม

"ในความเห็นผมมองว่า ความเป็นสมัยใหม่ในหลายด้านที่เพิ่มเข้ามา เมื่อชนชั้นสูงนำเข้ามาแล้ว จะมีวิธีการที่เขานำเข้ามาเพื่อให้อยู่ภายใต้โครงสร้างของระบบชนชั้น หรือระบบช่วงชั้นเดิมของสังคมที่คงสถานะเดิมไว้ ความเป็นนักเขียนก็เช่นกัน เมื่อเขามา ผมคิดว่าสถานะตรงนี้ทำให้คณะสุภาพบุรุษมีความแตกต่างจากงานกลุ่มอื่น คือพยายามเสนอโปรเจกต์ที่ใหม่กว่า หรือสลัดตัวเองออกจากอุปถัมภ์เจ้านายชั้นสูง"

เริ่มจากคำประกาศในฉบับปฐมฤกษ์ กุหลาบ เสนอว่า "คณะสุภาพบุรุษของเราต้องเลยขั้นสมัครเล่นกันแล้ว ต้องอาชีพทีเดียวละ ในการร่วมงานกับเรา ต้องเป็นผลงานขั้นอาชีพ ต้องดีที่สุดที่จะวางออกขายแก่สาธารณะที่เขาจะพอใจซื้อ" นี่เป็นข้อความที่ฮิวเมอร์ริสต์นำมาเล่าภายหลัง การเสนอของกุหลาบ ไม่ได้เสนอขึ้นมาลอยๆ ในขณะนั้นมีหลายคณะ ผมอยากโฟกัสไปที่คณะหนึ่งซึ่งสำคัญมากในยุคนั้นคือ "ไทยเขษม" ซึ่งเป็นนิตยสารที่เจ้านายชั้นสูงลงไปเล่น

"โดยบทความในนิตยสารสุภาพบุรุษ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนว่า "การประพันธ์ของชาวเราทุกวันนี้เป็น 'เล่น' เสียตั้ง 90 เปอร์เซ็นต์ ที่จัดว่าเป็น 'งาน' เห็นจะได้สัก 10 เปอร์เซ็นต์ดอกกระมัง บัดนี้จึงควรเป็นเวลาที่เราจะช่วยกันเปลี่ยนโฉมหน้าการประพันธ์ให้หันจาก 'เล่น' มาเป็น 'งาน' อีกสักอย่างหนึ่ง" ซึ่งถ้าคิดในกรอบทุนนิยม การเปลี่ยนจากกรอบ "เล่น" มาเป็น "งาน" แบบกระฎุมพีเลยละคือเห็นเป็นงาน เป็นอาชีพ"

"แต่ผมคิดว่าเป็นส่งข้อความไปถึงกลุ่มนักเขียนในยุคเดียวกับเขา เพราะภายหลังผมพบข้อความของ น.ม.ส. ในหนังสือประมวญมารค เล่าให้ฟังถึงยุคไทยเขษม ซึ่งมีลักษณะโต้ตอบกุหลาบอยู่ โดย น.ม.ส. เล่าฟื้นความหลังว่า หนังสือไทยเขษมต้องจบไปเพราะ "ต้องเลิกเพราะนักเขียนเปนข้าราชการมีตำแหน่งสูงขึ้นไป งานในน่าที่รับผิดชอบมากขึ้นก็ต้องเลิก "เล่น" นั้นเปนความจริง ถ้าไทยเขษมลดตัวลงไปรับเอาหนังสือสำหรับ "รุ่นใหม่" มาพิมพ์ก็คงจะได้นักเขียนเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ที่ไม่ลดตัวลงไปนั้นเราอนุโมทนา"

ผมคิดว่าประเด็นนี้ ในการเสนอเรื่องเล่น หรือเรื่องงานของกุหลาบไม่ได้เสนอมาลอยๆ แต่เพื่อฉีกขนบของการเขียนที่เจ้านายชั้นสูงผูกขาดด้วยการเอาหนังสือมาเขียนเล่นกัน หรือเล่นกับงานเขียนร้อยแก้วแนวใหม่ จึงทำให้คณะสุภาพบุรุษดูเด่น คือการพยายามนิยามนักเขียนอาชีพ ซึ่งไม่ต้องอยู่ภายใต้สังกัดหรือระบบอุปถัมภ์อย่างที่ทำๆ กันอยู่ แต่ว่าอาศัยกลไกการตลาดคือ จ่ายค่าเรื่อง คือเขาจ่ายค่าเรื่องให้งานเขียน ทำให้นักเขียนดำรงชีวิตอยู่ได้ จริงๆ ก็อยู่ได้ลำบากนะ แต่กุหลาบก็พูดว่า "คงต้องใช้เวลา 10-20 ปีถึงจะเป็นไปได้ แต่ก็ต้องเริ่มต้น ณ บัดนี้" ซึ่งผมคิดว่าเป็นสำนึกที่น่าสนใจ

ส่วนคำว่า "สุภาพบุรุษ" ก็มีนัยยะพอสมควร ที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ สร้างขึ้นมา เพื่อสู้กับ หรือว่ามาแข่งขันนิยามกับเรื่อง "ผู้ดี" โดยในบทความฉบับแรกกุหลาบ ก็ตระหนักดีว่าคำว่า "สุภาพบุรุษ" ก็คือผู้ดีในภาษาไทย ที่อิงกับชาติกำเนิด โดยกุหลายเขียนว่า "ชาวอังกฤษยังถือกฎที่พิสดารอยู่อีกอย่างหนึ่งที่ว่า "Three generations make a gentleman" เนื้อความดูจะกระเดียดๆ มาข้าง 'ผู้ดีแปดสาแหรก' ของเรา ... สุภาพบุรุษดูเหมือนจะมีรูปร่างหน้าตาใกล้เข้าไปทางขุนนางเป็นอันมาก เพราะอาศัยบารมีของผู้อื่นช่วย และก็ในหมู่พวกขุนนางอาจมีคนชั่วรวมอยู่ได้ ฉะนั้นในหมู่สุภาพบุรุษก็เห็นจะต้องมีคนชั่วรวมอยู่ได้ด้วยอีกกระมัง?"

"นี่คือแกพยายามที่จะหักล้าง หรือปฏิเสธว่าเรื่องสุภาพบุรุษ เป็นผู้ดี หรือยึดกับชาติกำเนิด เพราะวิธีแบบนี้ไม่เป็นหลักประกันว่าสุภาพบุุรุษจะเป็นคนดี" ชูศักดิ์ อภิปราย และกล่าวด้วยว่ากุหลายได้นิยามคำว่าสุภาพบุรุษ โดยยึดการกระทำมาเป็นตัวกำหนด ซึ่งเป็นแนวคิดแบบกระฎุมพี แนวคิดสุภาพบุรุษที่กุหลาบนิยาม ก็เป็นการแย่งชิงการนิยามมาจากชนชั้นสูง โดยกุหลาบเสนอว่า "หัวใจของ 'ความเป็นสุภาพบุรุษ' อยู่ที่การเสียสละ เพราะการเสียสละเป็นบ่อเกิดของคุณความดีร้อยแปดอย่าง หากผู้ใดขาดภูมิธรรมข้อนี้ ผู้นั้นยังไม่เป็นสุภาพบุรุษโดยครบครัน ถ้าจะอธิบายความของสุภาพบุรุษให้กะชับเข้า ก็จำต้องยืมถ้อยคำที่ว่า 'ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น' ซึ่งข้าพเจ้าได้แต่งไว้ในหนังสือเรื่องหนึ่งมาใช้"

ขณะที่มีการปะทะโต้ตอบกันอยู่ในทีของคณะสุภาพบุรุษกับเจ้านายชั้นสูง โดยดอกไม้สด ในหนังสือผู้ดี ที่พยายามรวมถึงการกระทำด้วย แต่ดอกไม้สดก็คือดอกไม้สด แกก็อดไม่ได้ โดยดอกไม้สดกล่าวในหนังสือ "ผู้ดี" ว่า "การกำเนิดดี ... หาใช่เป็นสิ่งไร้ประโยชน์ดังบุคคลบางจำพวกชอบกล่าว แท้จริงการมีกำเนิดดีเป็นปัจจัยให้บุคคลเป็นผู้ดีได้ง่ายขึ้น" จะเห็นว่ามีการปะทะโต้ตอบกันอยู่ในทีระหว่างกลุ่มของคณะสุภาพบุรุษกับเจ้านายชั้นสูง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net