Skip to main content
sharethis

วิดีโอการนำเสนอหัวข้อ  "ชนบท (เพิ่ง) เปลี่ยนไป?: ว่าด้วยปัญหา “ชนบทศึกษาไทย” หลังปี 2540" โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ วิจารณ์การนำเสนอโดย อัจฉรา รักยุติธรรม

 

 

18 ม.ค. 2558 - เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้อง ศศ.107  คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการประชุมประจำปีครั้งที่ 1: โครงการวิจัยพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงทางความคิดว่าด้วยความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่ในสังคมไทย (สกว.) โดยในช่วงบ่าย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้นำเสนอหัวข้อ "ชนบท (เพิ่ง) เปลี่ยนไป?: ว่าด้วยปัญหา “ชนบทศึกษาไทย” หลังปี 2540" โดย อัจฉรา รักยุติธรรม อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้วิจารณ์การนำเสนอ

เริ่มต้นเก่งกิจ อภิปรายว่า งานวิจัยของเขา อยู่ในธีมวิจัยเรื่องความเป็นสมัยใหม่ และความไม่เป็นสมัยใหม่ในเรื่องต่างๆ ส่วนที่ทำการศึกษานั้นสนใจว่า นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยา ชอบพูดเรื่องชนบทเยอะ ศึกษาเรื่องชนบท และเรียกว่า ชนบทศึกษา คำถามคือชนบทมันยังมีอยู่ไหม และพบว่าในงานเขียน งานวิจัย หรือรวมถึงวิทยานิพนธ์จำนวนมากของนักสังคมวิทยาและมานุษยา โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ "สำนักเชียงใหม่" เชื่อว่าชนบทยังศึกษาได้ และการศึกษาชนบทมีพื้นที่กว้างขวางมาก อาจจะ 90% ของงานวิชาการของมานุษยวิทยา-สังคมวิทยาไทยเป็นงานเกี่ยวกับชนบท

สิ่งที่สนใจนอกจากนี้คือ แล้วความเปลี่ยนแปลงของสังคม การเมือง ตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมานี้ นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ต่อสู้ที่จะรักษาชนบท ในฐานะที่เป็นหน่วยวิเคราะห์หรือพื้นที่การศึกษาอย่างไร แม้ว่าเราจะยอมรับว่าชนบทเปลี่ยนไปตลอดเวลา หรือ อาจจะพึ่งเปลี่ยน อย่างที่ลองตั้งคำถามดู

โดยมี 4 เนื้อหาใหญ่ๆ ที่นำเสนอคือ หนึ่ง ชนบทศึกษาไทยหลัง 2540 สอง กระแสที่ขอเรียกว่า "ชนบทเปลี่ยนไป" ซึ่งเราอาจจะคุ้นกับคำนี้หลังปี 2553 ที่มีนักวิชาการพูดว่า "ชนบทเปลี่ยนไปแล้ว" "ชนบทไม่ได้ โง่ จน เจ็บ" โดยเฉพาะเน้นศึกษางานของแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อนักสังคมวิทยา-นักมานุษยวิทยาไทย สาม ศึกษางานวิจัยของ ยุกติ มุกดาวิจิตร, นิติ ภัครพันธุ์, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, อภิชาต สถิตนิรามัย ซึ่งเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับชนบทไทยที่ร่วมสมัยที่สุด โดยเป็นงานวิจัยที่ตั้งคำถามว่า "คนเสื้อแดงคือใคร" โดยกลับไปที่งานชนบทศึกษา และสี่ ข้อสังเกตและคำถามที่ผู้ศึกษามีต่อพัฒนาการศึกษาชนบทไทย

ข้อเสนอของบทความของเก่งกิจคือ งานวิจัยชนบทศึกษาในกระแสชนบทเปลี่ยนไป และงานวิจัยคนเสื้อแดง มิได้ไปไกลกว่างานชนบทศึกษาก่อนหน้านี้มากนัก แต่วางอยู่บนสมมติฐานเก่าที่มีข้อจำกัดและค่อนข้างโรแมนติกในตัวเอง เกี่ยวกับการมีอยู่ของชนบทและคนชนบท/ชาวบ้านในประเทศไทย ซึ่งละเลยความเปลี่ยนแปลงที่มีมาตลอดของชนบทไทย โดยทำเสมือนว่า "ชนบทเพิ่งเปลี่ยนไป" ทั้งๆ ที่งานของนักวิชาการต่างชาติจำนวนมากชี้ให้เราเห็นมาหลายทศวรรษแล้วว่าชนบทเปลี่ยนแปลงไปและมีความขัดแย้งภายในสังคมชนบทไทยมาเป็นร้อยปี ในแง่นี้ กระแสชนบทเปลี่ยนไปและงานวิจัยเสื้อแดงค่อนข้างเข้าใจชนบทไทยแบบตัดตอน ไม่สนใจประวัติศาสตร์และมีแนวโน้มจะวางการศึกษาและข้อค้นพบของตนเองอยู่บนวาระทางการเมืองที่ไปในทิศทางที่เห็นใจขบวนการเสื้อแดงและต่อต้านการสถาปนาอำนาจทางการเมืองของระบอบเผด็จการทหาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net