เมื่อหญิงคนงานสิ่งทอในอินเดียรวมกลุ่มต้านความไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน

ในอินเดียมีผู้หญิงจำนวนมากทำงานในโรงงานสิ่งทอซึ่งมีทั้งผลิตใช้ในประเทศและส่งออกต่อให้แบรนด์ดัง เว็บไซต์ Waging Non Violence รายงานเรื่องราวของผู้หญิงอินเดียที่รวมกลุ่มต่อสู้กับการจ้างงานไม่เป็นธรรมและการถูกล่วงละเมิดในที่ทำงาน ซึ่งแม้จะมีอุปสรรคหลายอย่างแต่ก็อาศัยการช่วยเหลือกันเพื่อฟันฝ่าไปได้

16 ม.ค. 2558 รัฐราชสถานเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ผู้คนรู้จักรัฐนี้ในฐานะที่มีวังอยู่หลายแห่ง มีทะเลทรายและศิลปะพื้นฐานที่มีชื่อเสียง แต่รัฐนี้ยังเป็นที่รู้จักในแง่ลบเรื่องที่มีผู้คนแต่งงานกับเด็กและการที่ผู้หญิงมีสถานะทางสังคมที่อัตคัด นอกจากนี้ในช่วงกลางปี 2557 รัฐบาลอินเดียยังออกกฎหมายใหม่อีกหลายฉบับที่จำกัดสิทธิของแรงงาน ส่งผลกระทบต่อคนงานสิ่งทอซึ่งต้องตกอยู่ในสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ไร้มนุษยธรรม

เว็บไซต์ Waging Non-violence ระบุว่าทางการอินเดียเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างมากขึ้นแทนที่จะคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของแรงงาน โดยมีการจำกัดการตั้งสหภาพแต่กลับผ่อนผันลดการมีพันธะสำหรับนายจ้างในกรณีที่สั่งเลิกจ้างงาน

หญิงอายุ 38 ปีรายหนึ่งจากรัฐกรณาฏกะเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอว่า เธอต้องแต่งงานตั้งแต่อายุ 15 ปี ให้กำเนิดลูกคนแรกในปีถัดมา เธอต้องไปทำงานที่โรงงานสิ่งทอที่มีการกดขี่ขูดรีดแต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อหาเลี้ยงชีพเพราะเธอขาดทักษะฝีมือ เธอเป็นหนึ่งในคนงาน 400,000 คนจากเมืองบังกาลอร์ที่ทำหน้าที่อยู่ในสายการผลิตทำหน้าที่ผลิตเสื้อผ้าทั้งแบรนด์ในประเทศและแบรนด์นอกประเทศ มีทั้งที่ขายในประเทศและส่งออก คนงานสิ่งทอส่วนใหญ่ในอินเดียจะเป็นผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 80

ในแง่สภาพการทำงานคนงานสิ่งทอต้องเย็บผ้าราว 150 ชิ้นต่อชั่วโมง และต้องอยู่ทำให้ครบตามจำนวนเป้าหมายต่อวันโดยที่ไม่ได้รับค่าล่วงเวลาโดยไม่สนใจว่าจะกำลังตั้งครรภ์หรือไม่สบายอยู่ ถ้าหากคนงานไม่สามารถทำผลผลิตได้ตามเป้าก็จะมีการสั่งลดเงินเดือนและอาจจะถูกเลิกจ้าง ส่วนค่าแรงของคนงานอยู่ที่ราว 252 รูปีต่อวัน (ราว 130 บาท) นอกจากนี้นายจ้างส่วนใหญ่ยังหักค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันสังคมซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12 ของเงินเดือนลูกจ้าง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้บริหารงานที่เป็นผู้ชายล่วงละเมิดต่อคนงานหญิงทั้งทางกาย ทางวาจา และทางเพศ

คนงานสิ่งทอในรัฐกรณาฏกะมักจะเป็นผู้หญิงอายุ 18-25 ปี มีทักษะฝีมือแรงงานน้อยและมาจากครอบครัวที่ฐานะยากจนในชนบทหรือในเมืองเล็กๆ พวกเขาถูกใช้งาน 9 ชั่วโมงต่อวัน ต้องเดินทางไปทำงานท่ามกลางความแออัดยัดเยียดของเมืองบังกาลอร์ ในที่ทำงานพวกเขาต้องยืนหรือนั่งเย็บผ้าในที่มีแสงและการระบายอากาศน้อย มีการหยุดพักงานให้ไปเข้าห้องน้ำและทานอาหารเพียงเวลาสั้นๆ คนงานมักจะมีปัญหาคือรู้สึกคันตัว ปวดหลัง และมีอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ

ต่อมาโรงงานดังกล่าวก็ปิดตัวลงเนื่องจากความผิดพลาดในการบริหารการเงินและมีการจ้างงานอย่างไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่มีการจ่ายเงินค่าจ้างที่ติดค้างอยู่ให้กับคนงานก่อนที่จะปิดโรงงานลง

แรงงานคนหนึ่งชื่อ 'นาการัตนา' เล่าว่าตอนที่เธอประสบอุบัติเหตุไฟฟ้าช็อตเมื่อราวสิบปีก่อนหน้านี้เธอได้รับค่าชดเชยน้อยมาก นอกจากนี้ทางบริษัทยังบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้รอดพ้นจากการลงโทษ นอกจากนี้บริษัทบอมเบย์ รายอนส์ ผู้ผลิตสินค้าป้อนแบรนด์อย่าง จีเอพี, เทสโก้ และ เอชแอนด์เอ็ม ยังถูกไต่สวนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิทางเพศสภาพเนื่องจากการกักขังตัวคนงานหญิงที่เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าจ้างและสภาพการทำงานที่ดีขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค. 2551 แต่ก็ไม่เคยขอโทษหรือชดเชยให้ลูกจ้างจากการกระทำผิดของตัวเองเลย

อย่างไรก็ตามในเมืองบังกาลอร์มีองค์กรเอ็นจีโอแห่งหนึ่งชื่อองค์กร 'ศิวิเทพ' สามารถช่วยสนับสนุนคนงานสิ่งทอให้สามารถต่อสู้กับการล่วงละเมิดของผู้บริหารจนสามารถเอาชนะได้ นอกจากนี้ยังมีองค์กรแรงงานจากเนเธอร์แลนด์คือมูลนิธิเพื่อสิ่งทอที่เป็นธรรมและจากสหรัฐฯ คือสมาคมแรงงานที่เป็นธรรม ร่วมกับตัวแทนจากอินเดียช่วยกดดันสายการจำหน่ายเสื้อผ้ารวมถึงผู้บริโภคร่วมเรียกร้องให้โรงงานผู้ผลิตจ้างงานลูกจ้างอย่างเป็นธรรม จากการตรวจสอบของพวกเขาพบว่ามีบางแบรนด์ที่ละเมิดกฎหมายแรงงาน

องค์กร 'ศิวิเทพ' ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 เพื่อให้ความรู้คนงานสิ่งทอ คนงานอิเล็กทรอนิกส์ และคนงานในไร่ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิด้านเพศสภาพ สิทธิแรงงาน รวมถึงสิทธิความชอบธรรมทางสังคม นอกจากนี้ยังสอนให้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิในการรวมกลุ่มกันต่อรองและใช้ประโยชน์จากโครงการของรัฐ นอกจากนี้ศิวิเทพยังร่วมมือองค์กรอื่นๆ ในอินเดียและระดับนานาชาติเพื่อจัดกิจกรรม วิจัย ให้ความรู้ และรณรงค์ส่งเสริมการตรวจสอบบรรษัท มีการเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ เปิดเผยถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน การส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การกระทำทุจริตคอร์รัปชัน และการละเมิดสิทธิของแรงงาน

ศิวิเทพศึกษาสภาพการจ้างงานของคนงานและเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างงานให้ดีขึ้นโดยขอให้บรรษัทข้ามชาติปฏิบัติตามแนวทางอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แนวทางบรรษัทขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และหลักแนวทางการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เพื่อช่วยเหลือให้ภาคประชาสังคมและองค์กรแรงงานเรียกร้องสิทธิ

เมื่อปี 2555 ศิวิเทพเผยแพร่งานวิจัยชื่อ "การดูแลธุรกิจ" ซึ่งระบุถึงประสิทธิภาพของแหล่งรับดูแลเด็กในโรงงานอุตสาหกรรมของบังกาลอร์ โกปินาธ ปาราคูนี เลขาธิการของศิวิเทพเปิดเผยว่ามีโรงานน้อยแห่งที่มีสถานดูแลเด็กที่มีประสิทธิภาพ และในโรงงานบางแห่งก็มีน้อยเกินไปไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ศิวิเทพยังเคยจัดให้มีการเจรจาโต๊ะกลมระหว่างตัวแทนจากแบรนด์ใหญ่ๆ ตัวแทนผู้ผลิต ตัวแทนรัฐ ตัวแทนจากสหภาพแรงงาน ตัวแทนเอ็นจีโอ และนักวิจัยอิสระ เพื่อแลกเปลี่ยนในหลายประเด็นเมื่อช่วงระหว่างปี 2554-2556 การแลกเปลี่ยนดังกล่าวส่งผลให้ผู้หญิงได้รับการส่งเสริมให้เป็นผู้บริหารเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีการชี้ประเด็นให้เล็งเห็นถึงสิทธิสตรีอีกทั้งยังมีการวิจัยเชิงสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการล่วงละเมิดคนงานและจัดให้มีสายด่วนคนงานเพื่อร้องทุกข์ได้โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อ

อย่างไรก็ตาม ในการจัดตั้งสหภาพแรงงานเมื่อช่วงราวเกือบ 10 ปีที่แล้ว มีประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่จากผู้นำสหภาพที่มีลักษณะชายเป็นใหญ่ จนทำให้ผู้หญิงในโรงงานต้องจัดตั้งสหภาพกลุ่มใหม่ขึ้นมาเอง รุขมิณี ประธานสหภาพแรงงานเสื้อผ้าจีแอลยูเปิดเผยว่ามีการจัดตั้งสหภาพจีแอลยูซึ่งมีแต่สมาชิกเป็นผู้หญิงในปี 2555 หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการล่วงละเมิดทางเพศโดยหัวหน้าสหภาพแรงงานเสื้อผ้าและสิ่งทอซึ่งเป็นสหภาพที่จัดตั้งเมื่อปี 2549

ในปัจจุบันสหภาพจีแอลยูมีสมาชิกราว 2,000 คน มีความพยายามปกป้องสิทธิของคนงานและทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับสายงานการผลิตดีขึ้นด้วยวิธีการปรึกษาหารือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคนงานช่วยทำให้คนงานคำนึงถึงศักดิ์ศรี ความปลอดภัย และสิทธิในสังคมของตัวเองมากขึ้น

รุขมิณีเปิดเผยว่าพวกเธอใช่วิธีการพบปะกับคนงานทั้งโดยส่วนตัวและจากการรวมกลุ่ม มีการเผยแพร่กิจกรรมด้วยใบปลิว จัดการแสดงละครนอกโรงงานตัดเย็บและใกล้กับที่อยู่ของคนงานเกี่ยวกับเรื่องสหภาพจีแอลยู เรื่องประเด็นกฎหมายและนโยบายแรงงาน จัดให้มีการรายงานและแจ้งเรื่องปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ

"เมื่อพวกเราพยายามให้ข้อมูลกับผู้หญิงเกี่ยวกับเรื่องของพวกเราเอง กลุ่มผู้ชายก็พยายามข่มขู่เราด้วยวิธีทางการเมือง แม้กระทั่งกับคนงานที่มีความรู้สึกร่วมกันก็มีความกลัวเรื่องการแบ่งแยก การถูกห้ามจัดตั้งสหภาพ บางครั้งก็มีการละเมิดสิทธิแรงงานและสั่งปลดคนงาน" รุขมิณีกล่าว

งานของจีแอลยูนอกจากจะร่วมมือกับสหภาพอื่นๆ และองค์กรภาคประชาสังคมในการส่งเสริมสภาพการทำงาน ค่าแรง และสวัสดิการสังคมที่ดีกับคนงานแล้วยังช่วยเหลือด้านคำแนะนำทางกฎหมายและคดีความต่างๆ แก่คนงาน ในบางกรณียังยื่นมือเข้าช่วยเหลือเรื่องปัญหาภายในครัวเรือน การเลี้ยงดูเด็ก การศึกษาและการฝึกทักษะแรงงานให้กับลูกๆ ของคนงานด้วย

อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาที่กีดกันผู้หญิงไม่ให้เข้าร่วมสหภาพ ยโชธา รองประธานสหภาพจีแอลยูเปิดเผยว่าคนงานหญิงในโรงงานสิ่งทอยังกลัวการปรึกษาปัญหาการทำงานแม้ว่าจะอยู่ภายนอกที่ทำงาน ครอบครัวและนายจ้างของพวกเขาก็ไม่ส่งเสริมให้เข้าร่วมสหภาพ อีกทั้งการทำงานหนักรวมถึงความรับผิดชอบงานบ้านยังทำให้พวกเธอมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพได้ไม่มากนัก

อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องความยากจนของคนงานทำให้สหภาพจัดกิจกรรมได้ไม่มากนัก สหภาพจีแอลยูเก็บค่าสมัครสมาชิก 10 รูปี (ราว 5 บาท) และมีค่าสมาชิกรายปีคนละ 60 รูปี (ราว 30 บาท) ทางจีแอลยูจัดตั้งกลุ่มช่วยเหลือตัวเองเป็นผลสำเร็จโดยมีผู้หญิงรวมกลุ่มกันกลุ่มละ 15-20 คนเก็บออมเงินรายได้ต่อเดือนทีละน้อยเพื่อเอาไว้ช่วยเหลือเรื่องการดึงคนเข้าสหภาพ การตั้งกลุ่มย่อยยังนำมาใช้เป็นที่ปรึกษาหารือเรื่องปัญหาในที่ทำงานและปัญหาที่บ้าน โดยในตอนนี้มี อยู่ราว 20 กลุ่มย่อยและมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 395 คน นอกจากนี้นักกิจกรรมสหภาพยังคอยช่วยเหลือจัดการทางการเงินให้กับผู้นำกลุ่มช่วยเหลือตนเองด้วย

มีนักกิจกรรมของสหภาพบางคนได้รับการศึกษาด้านสุขภาพจิตและเคยฝึกฝนเรื่องการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา พวกเขาจะเป็นผู้ช่วยเหลือคนงานหญิงเวลามีปัญหาที่เกี่ยวกับจิตใจ และในบางกรณีถ้าจำเป็นก็จะส่งตัวไปบำบัดรักษาต่อกับผู้เชี่ยวชาญหรือสถาบันสุขภาพ

ในด้านกฎหมาย มีทนายแรงงานคอยช่วยเหลือคนงานต่อสู้กับการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ช่วยเหลือเรื่องการทวงค่าจ้าง ช่วยเรียกร้องเมื่อจัดการสวัสดิการสังคมไม่เป็นไปตามระบบ ช่วยเหลือเมื่อถูกปฏิเสธการขอลาพักหรือสวัสดิการของผู้เป็นมารดา รวมถึงช่วยเหลือเมื่อมีเหตุล่วงละเมิดทางเพศหรือการล่วงละเมิดอื่นๆ โดยมีสหภาพจีแอลยูคอยติดตามผลของคดีเพื่อให้ลูกจ้างได้รับความเป็นธรรม

สหภาพจีแอลยูยังเคยเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าจ้างต่อวันเป็น 500 รูปี (ราว 260 บาท) แต่ฝ่ายเจ้าของอุตสาหกรรมต่อต้านความคิดนี้

รุขมิณีเปิดเผยว่าในตอนนี้ทางสหภาพกำลังให้ความรู้แก่คนงานหญิงเกี่ยวกับความสำคัญของกฎหมายป้องกัน ห้ามปราม และแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศของผู้หญิงในที่ทำงาน ปี 2557 และสนับสนุนให้คนงานหญิงเข้าหาสหภาพจีแอลยูเพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาทางบ้านหรือปัญหาในที่ทำงาน

เรียบเรียงจาก

Women garment workers organize against inhumane conditions in India, Pushpa Achanta, Waging Non Violence, 12-01-2015
http://wagingnonviolence.org/feature/women-garment-workers-organize-inhumane-conditions-northwest-india/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท