Skip to main content
sharethis

ค้นหารากเหง้า ‘มลายูกรุงเทพ มุสลิมบางกอก’ ผ่านมุมมองของ ‘ศุกรีย์ สาเร็ม’ เลขาธิการสโมสรมลายูแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา 20 ปีกับการตามหาร่องรอยที่มาของบรรพบุรุษในอดีตตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พบสายตระกูลมาจากภาคใต้ แต่มลายูกรุงเทพ-ปาตานีส่วนใหญ่ยังนับญาติกันไม่เจอ ทว่ายังมีจุดเชื่อมต่อ เผยวางเป้าตั้งสภาวัฒนธรรมมลายูแห่งประเทศไทย ใช้โลกมลายูเชื่อมอาเซียน

คนมลายูมุสลิมในกรุงเทพมาจากไหน อาจยังเป็นคำถามคาใจให้คนส่วนหนึ่งหวนนึกถึงเรื่องราวหรือเรื่องเล่าอันโหดร้ายจากอดีต ใครที่จะให้คำตอบได้บ้าง คนมลายูมุสลิมในกรุงเทพเองอธิบายเรื่องนี้อย่างไร
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) คุยกับ ศุกรีย์ สะเร็ม เพื่อหาคำตอบ

ศุกรีย์ สะเร็ม เป็นเลขาธิการสโมสรมลายูแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา (Persatuan Melayu Lumbah Chaopraya, Bangkok) และประธานคณะทำงานสภาศิลปวัฒนธรรมมุสลิมสยาม (Muslim Siam Forum for Art and Culture, Thailand) หรือที่คนรู้จักกันในชื่อ “บังยีติ๊ก/Bangyee Tik”

ยีติ๊กเป็นลูกหลานคนมลายูบางกอกที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร เขาพยายามศึกษาค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับร่องรอยต่างๆ ของคนมลายูและชาวมุสลิมในกรุงเทพมหานคร เชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ในประเทศ เพื่ออธิบายเรื่องนี้ และต้องการให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ และรู้สึกภาคภูมิใจต่อเกียรติคุณอันยาวนานของชาวมุสลิมในประเทศไทย

ยีติ๊กได้ก่อตั้งสโมสรมลายูแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาขึ้นมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับคนมลายูและมุสลิมทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีทีมงานประมาณ 10 คน

มลายูที่จมหายในประวัติศาสตร์กรุงเทพ?
เขาอธิบายว่า คนมลายูเป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่มีบทบาทด้านต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลามที่ใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร

เขาพบว่า ข้อมูลเกี่ยวกับคนมลายูถูกบิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพราะมีการบันทึกว่าพวกเขาเป็นชาวจาม ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติพันธุ์มลายูหนึ่งในสาย“ Malayu Polinician” ทำให้เข้าใจว่าเป็นคนที่อาศัยอยู่มาแต่เดิมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งที่ไม่ใช่

ยีติ๊กบอกว่า ในสมัยพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา หัวหน้ากองอาสาจาม คือพระยาราชบังสัน ซึ่งเป็นบุตรของสุลต่านสุลัยมาน ชาร์ เจ้าเมืองมลายูแห่งอาณาจักรสิงฆูรา (สงขลา) ได้รวมเอามลายูเข้าไปอยู่ในกรมกองนี้ด้วย

ถูกเหมารวมเรียกเป็นแขกมะหง่ล
ต่อมาปลายสมัยรัตนโกสินทร์ คำว่า “เปอร์เซีย” มีการแปลเอกสารฝรั่งคำว่า “Moors” หรือแขกมัวร์ หรือมะหง่ล (อ่านว่า มะ-หงน) ว่าเป็นแขกเจ้าเซ็น ซึ่งหมายถึงชีอะห์ที่เป็นชาวเปอร์เซีย ทั้งที่คำเรียก “Moors” หรือแขกมัวร์ ในบันทึกของฝรั่งในภูมิภาคนี้ มักหมายถึงมุสลิมอินเดียจากอาณาจักรโมกุล หรือบันทึกสยามเรียกแขกมะหง่ล และใช้คำนี้เรียกชาวมลายูบางกลุ่มด้วย โดยมิได้เจาะจงนิกายชีอะห์หรือซุนนี

คำว่า “Moors” เป็นคำที่ฝรั่งยุโรปใช้ในการเรียกมุสลิม ชาวอาหรับอันดาลุสในยุโรปใต้และแอฟริกาเหนือ ต่อมาใช้คำนี้เรียกชาวอาหรับและชาวออตโตมันด้วย

ขอตั้งข้อสังเกตว่าหาก “ชาติพันธุ์เปอร์เซีย ” มีบทบาทหรือมีอิทธิพลจนเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่เดิม ทำไมไม่มีคำว่าเปอร์เซียในการบันทึกของ “โคลงภาพคนต่างภาษา” ซึ่งเป็นโคลงประกอบภาพวาดชนชาติต่างๆ จำนวน 32 ชาติพันธุ์ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นภาพวาดเพื่อบันทึกชนชาติต่างๆ ในอดีตในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ขณะเดียวกันโลกมลายูในตอนนั้นไม่สามารถที่จะอ้างอะไรได้ เนื่องจากยุคนั้นโลกมลายูกำลังตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของตะวันตกทั้งหมด ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ทั้งที่เป็นยุคที่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ยุคใหม่

จัดมลายูและมุสลิมกรุงเทพในอดีต
นายศุกรีย์ เล่าถึงข้อมูลที่ค้นพบเกี่ยวกับเรื่องคนมุสลิมที่มีบทบาทในสยามประเทศในอดีต พบว่ามี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มแรกคือมุสลิมที่มาจากโลกมลายูกับอินเดีย กลุ่มต่อมา คือ คนเติร์ก คนอาหรับและคนเปอร์เซีย แต่สำหรับคนเปอร์เซียมีข้อมูลอ้างอิงถึงน้อยมาก แต่สามารถแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มย่อยๆ ได้แก่ 1.มุสลิมจีน 2.จาม 3.มลายู 4.โมกุล (อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ) 5.เปอร์เซีย 6.อาหรับ และ 7.เติร์ก

สโมสรมลายูแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เขาเล่าต่อไปว่า ก่อนที่จะตั้งสโมสรมลายูแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้ตั้งชมรมมลายูบางกอกมาก่อน แต่จากการศึกษาพบว่า ร่องรอยของมลายูไม่ได้อยู่เฉพาะในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ยังพบในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เช่น คุณย่าของผมเป็นคนเชื้อสายชาวมอญ อาศัยอยู่ที่ จ.ปทุมธานี ส่วนยายทวด (โต๊ะหญัง) เป็นแขกกรุงเก่าเชื้อสายมลายูที่มาจากชุมชนกฎีขาว คลองบางหลวง จ.สมุทรปราการ

“ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผมจึงนึกถึงคำว่า “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” เนื่องจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาครอบคลุมพื้นที่ จ.อยุธยา จ.นครนายก จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ และย่านธนบุรี กรุงเทพมหานคร บริเวณนี้เป็นพื้นที่ใจกลางของประเทศไทยในรอบ 500 ปีที่ผ่านมา เพราะมีเมืองหลวงถึง 3 เมืองด้วยกัน คือ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และ กรุงรัตนโกสินทร์”

ที่สำคัญบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยามีชุมชนต่างชาติจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ ชุมชนมลายู ดังนั้นคนมลายูจึงเป็นคนมุสลิมส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“คนมลายูที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครบางคนมีบรรพบุรุษอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา บางคนถูกนำตัวมาจากทางภาคใต้ไปขึ้นอยู่กรุงเทพด้วยเหตุผลทางสงครามในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป กรุงเทพกลายเป็นเมืองที่เจริญขึ้นทางเทคโนโลยีและการศึกษา จึงทำให้คนมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินทางขึ้นมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพด้วยความสมัครใจมากขึ้น ทั้งเพื่อการศึกษาและการประกอบอาชีพ"

ด้วยเหตุนี้จึงตั้งชื่อว่า “สโมสรมลายูแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา”

บันทึกสายตระกูล ตัวอย่างที่มามลายูกรุงเทพ
“ต้นตระกูลของผมมีการบันทึกสายตระกูลไว้ด้วย ทำให้ทราบว่าต้นตระกูลของผมอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นก่อตั้งกรุงเทพมหานคร โดยสายหนึ่งเป็นคนมลายูมาจากปัตตานี ถูกนำขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2329 ส่วนอีกสายหนึ่ง คือยายทวดเป็นคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี เป็นแขกเก่า

ในสมัยนั้น ยายทวดสามารถพูดภาษาไทยปนภาษามลายูได้ เช่น คำว่า “กาเตาะ” แปลว่าคางคก กาก “ซาโบ๊ะ” แปลว่า เปลือกมะพร้าว “ซูดู” แปลว่า ช้อน เป็นต้น

เมื่อปี 2515 มัสยิดอัลอิสตีกอมะฮ์ หรือสุเหร่าอาจารย์เซ็ง ถ.ประชาอุทิศ 69 เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และมัสยิดบ้านปากลัด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ยังอ่านคุตบะห์ (ธรรมเทศนา) ด้วยภาษามลายู ซึ่งใช้มาเป็นร้อยๆ ปีมาแล้ว เพิ่งเปลี่ยนมาใช้ภาษาไทยเมื่อประมาณ 30 ปีมานี้เอง

สมัยนั้นภาษามลายูเป็นภาษาวิชาการ เพราะคนสมัยก่อนนิยมเรียนกีตาบ (ตำราเรียนศาสนา) ด้วยภาษามลายูอักษรยาวี ทั้งที่กรุงเทพฯ หรือที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย”

กรุงเทพ-ปาตานียังนับญาติไม่เจอ แต่มีจุดเชื่อม
“บางคนถามผมว่า ข้อมูลคนมลายูและมุสลิมในกรุงเทพเชื่อมเชื้อสายกันคนมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร ผมพยายามเชื่อมกันอยู่แต่มีข้อมูลคนละชุดกัน เช่น เมื่อมีการนับญาติกันก็หาจุดเชื่อมต่อกันไม่เจอ เพราะตั้งแต่คนมลายูถูกนำตัวขึ้นกรุงเทพกับระยะเวลาจนถึงปัจจุบัน มันห่างกันถึง 200 ปี

แต่อย่างไรก็ตามผมลงมาในพื้นที่บ่อยเพื่อร่วมสัมมนา หรือค้นหาข้อมูลต่างๆ ในพื้นที่ บางครั้งข้อมูลที่เจอสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลที่มีอยู่ในกรุงเทพได้บ้าง เช่น เมนูอาหาร การแต่งกาย ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมนูอาหารหลายชนิด เช่น พริกหยวกยัดไส้ (ซอเลาะ) เป็นต้น หรือในความเป็นจริง แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด แกงกะทิ เป็นแกงมลายู ไม่ใช่แกงสยาม”

อิทธิพลมุสลิมใครครัวสยาม
“เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงสมัยรัชกาลที่ 5 ทางราชสำนักได้ทำเมนูอาหารชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ประเทศสยาม เพราะอยากรู้ว่าเมนูอาหารในสมัยนั้นมีอะไรบ้าง พบว่ามี 3 เมนู ได้แก่ 1.เมนูจีน 2.เมนูฝรั่ง 3.เมนูราชสำนัก สิ่งที่น่าสนใจคือในเมนูราชสำนัก ปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นอาหารมุสลิม เช่น แกงเขียวหวาน แกงมัสมั่นและขนมอื่นๆ เป็นต้น ตามความหลากหลายของคนมุสลิมเชื้อชาติต่างในสมัยนั้น

“ให้มันรู้ไปว่า เรามีอิทธิพลไปถึงในครัวของสยามเลยล่ะ”

นอกจากนี้ แม่นมของพระมหากษัตริย์และขุนนางในสมัยก่อน ส่วนใหญ่ก็เป็นมุสลิม เพราะคนมุสลิมตัวสูง ผิวพรรณดี น้ำนมเยอะ และเป็นคนที่มีความสะอาด มีหลัก “ตอฮาเราะห์” เนื่องจากปฏิบัติตามหลักศาสนาเป็นประจำ

จากการที่ได้ศึกษาร่องรอยมุสลิมและมลายูในกรุงเทพ ก็มีส่วนทำให้คนกรุงเทพและคนไทยยอมรับคนมุสลิมมากขึ้น และเคารพในอัตลักษณ์ของคนมุสลิมมากขึ้นด้วย ในขณะที่กระแสการตื่นตัวต่อมุสลิมทั้งในแง่ดีหรือไม่ดี โดยเฉพาะกระแสของมุสลิมคือผู้ก่อการร้ายนั้น ผมขออธิบายว่า มุสลิมก็มีส่วนสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ไทยด้วยเช่นเดียวกัน ตามหลักฐานต่างๆ ที่ยกมาประกอบ”

ผลงานที่นำเสนอ
“ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจะนำไปติดบอร์ด รวมถึงทำเป็นแผ่นพับ และนำบางส่วนไปทำเป็นสื่อดิจิตอล เพื่อนำไปแสดงตามงานทั่วไป เช่น งานรับเสด็จสมเสด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยปี 2557 นอกจากนี้ยังใช้ในการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จงานมุสลิมบนแผ่นดินไทยของสถาบันเอเชียศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2557

นอกจากนี้ ยังใช้แสดงในงานของดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรก ภายในงานเฉลิมฉลองครบรอบ 72 ปี โรงเรียนประทีปศาสน์ (ปอเนาะบ้านตาล) อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจัดที่เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2555 ครั้งที่ 2 ในงานรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเยี่ยมโรงเรียนประทีปศาสน์ เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา

จากการที่ศึกษาเรื่องคนมลายูและมุสลิมในกรุงเทพฯ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชิญผมจัดงานมุสลิมในแผ่นดินไทยที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดงาน ต่อมาผมเป็นหนึ่งในคณะเขียนงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนหนังสื่อชื่อ “สถาบันพระมหากษัตริย์กับมุสลิมบนแผ่นดินไทย”

นอกจากนี้ทุกๆ ปี ผมไปบรรยายเรื่องร่องรอยมลายูในแผ่นดินไทยกับมลายูในบางกอก ให้แก่นักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษามลายู ที่จุฬาลงกรณ์มาหาวิทยาลัย”

วางเป้าตั้งสภาวัฒนธรรมมลายู
“ในอนาคต ผมวางแผนไว้ว่าอยากจะตั้งศูนย์ข้อมูลมุสลิมในกรุงเทพ และก่อตั้งสภาวัฒนธรรมมลายูแห่งประเทศไทย เพื่อให้คนมลายูในประเทศไทยสามารถติดต่อโดยตรงกับรัฐมลายูที่อยู่รอบๆ ประเทศไทยได้ ซึ่งสำคัญมากเพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคนมลายูจำนวนมากและจะเป็นโอกาสของประเทศไทยทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว เหมือนกับคนจีนที่อยู่ในประเทศไทยไปจับมือกับคนในประเทศจีน ทำค้าขาย การท่องเที่ยว และอื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย”


ศุกรีย์ สาเร็ม
สำหรับนายศุกรีย์ สะเร็ม นอกจากเป็นเลขาธิการสโมสรมลายูแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา (Persatuan Melayu Lumbah Chaopraya, Bangkok) แล้วยังมีตำแหน่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ได้แก่

  • ประธานคณะทำงานสภาศิลปวัฒนธรรมมุสลิมสยาม (Muslim Siam Forum For Art & Culture,Thailand)
  • กรรมการบริหารมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามเพื่อการศึกษาและพัฒนา (วกพ.) ดูแลกองทุนไอดีบี ประเทศไทย หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งอิสลาม
  • อนุกรรมการ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร
  • กรรมการผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม – มลายูบ้านปากลัด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
  • ที่ปรึกษา กลุ่มภาคีสถาปัตยกรรมปาตานี
  • คณะกรรมการทำหนังสือสถาบันพระมหากษัตริย์กับมุสลิมในแผ่นดินไทย ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
  • หัวหน้างานนิทรรศการ งานเมาลิดกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประจำปี 2557
  • ประธานโครงการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานีฯ มูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation, USA)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net