สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8-14 ม.ค. 2558

ลูกจ้างชั่วคราว สพฐ. วอน สนช.ผลักดันด้านสวัสดิการให้ได้รับความเป็นธรรม
 
นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหนังสือจากนายอมรัตน์ ทองสาดี นายกสมาคมสมาพันธ์บุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทยและคณะ เพื่อขอให้ สนช.ช่วยเหลือเกี่ยวกับสวัสดิการและสวัสดิภาพลูกจ้างชั่วคราวสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  โดยนายอมรัตน์ กล่าวว่า ลูกจ้างชั่วคราว สพฐ. ต่างปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถมาโดยตลอด สร้างคุณประโยชน์ให้กับทางราชการ แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐให้มีความก้าวหน้า มั่นคงในการปฏิบัติหน้าที่ มีความภาคภูมิใจให้สมกับคำว่าผู้ทำหน้าที่ผู้พัฒนาการศึกษาทำให้บุคลากรทางการศึกษาดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการต่อสัญญาจ้าง การได้รับค่าจ้างล่าช้า ทำให้ขาดความมั่นคงในการดำรงชีวิต จึงขอเรียกร้องให้ สนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือลูกจ้างชั่วคราวกลุ่มดังกล่าวด้วย อาทิ มอบอำนาจให้โรงเรียนเป็นผู้พิจารณาจ้างได้ตามความเหมาะสม และควรเป็นระยะยาวสัญญาจ้างไม่น้อยกว่า 3 ปี และเมื่อปฏิบัติงานครบ 3 ปี ควรพิจารณาคัดเลือกโดยการประเมินผลงานให้บรรจุเป็นครูผู้ช่วยหรือพนักงานราชการ เพื่อความมั่นคงและเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่พัฒนาการศึกษาของประเทศไทย
 
(โทรทัศน์รัฐสภา, 9-1-2558)
 
เร่งสำรวจแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
 
(9 ม.ค.) เวลา 10.00 น. กระทรวงแรงงาน นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเป็นประธานพิธีมอบนโยบายและปล่อยแถวชุดปฏิบัติการตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ว่า หลังสิ้นสุดการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557 มีแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม 3 สัญชาติ ทั้ง พม่า กัมพูชา และ ลาว มาจดทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 1,626,235 คน แต่มีนายจ้างจำนวนหนึ่งยังใช้แรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย ดังนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีคำสั่งตั้งคณะทำงานติดตามและตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานและต่างจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยผลการดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีเกี่ยวกับการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 จนถึงวันที่ 6 มกราคม 2558 ในกรุงเทพฯ ตรวจสถานประกอบการได้ 65 แห่ง แรงงานต่างด้าวผ่านการตรวจ 992 คน ดำเนินคดีนายจ้าง 6 ราย และแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ และสัญชาติอื่นๆ หลบหนีเข้าเมืองรวม 44 คน ขณะที่ต่างจังหวัดตรวจสถานประกอบการได้ 327 แห่ง แรงงานต่างด้าวผ่านการตรวจ 9,341 คน ดำเนินคดีนายจ้าง 26 รายและแรงงานต่างด้าวรวม 182 คน สรุปภาพรวมทั่วประเทศพบนายจ้างกระทำผิด 32 ราย แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 226 คน
       
“การปล่อยขบวนครั้งนี้เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการกวาดล้าง ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีกับนายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่ยังฝ่าฝืนกฎหมายโดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จัดเจ้าหน้าที่ชุดตรวจ 3 ชุดแบ่งเป็นชุดละ 10 นาย ออกปฏิบัติการในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในกิจการก่อสร้าง ร้านอาหาร คาราโอเกะ และตลาดที่คาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองลักลอบทำงานจำนวนมาก” นายนคร กล่าว
       
ด้านพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวว่า การดำเนินการตรวจสอบแรงานต่างด้าวยึดตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ตุลาคม 2557 โดยให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดลงโทษอย่างเด็ดขาดและสถานประกอบการกระทำผิดกฎหมายจะถูกสั่งปิดชั่วคราว ซึ่งในส่วนของสถานประกอบการจะต้องดูว่ามีเจตนากระทำผิดหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหัวหน้าชุดตรวจ ส่วนในต่างจังหวัดทางผู้ว่าฯจะเป็นผู้ตรวจสอบ นอกจากนี้ ได้ให้อธิบดี กกจ. เป็นหัวหน้าชุดตรวจเสริมให้แก่ผู้ว่าฯโดยช่วงเดือนมกราคมนี้ อธิบดี กกจ. จะลงพื้นที่ไปตรวจ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา รวมถึงได้ให้อธิบดี กสร. ลงพื้นที่ไปตรวจสอบการใช้ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร สงขลา ชุมพร ปัตตานี และ ชลบุรี
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9-1-2558)
 
ค้านใช้งบแสนล้านอุ้มผู้ใช้แร่ใยหิน ชี้ควรให้ผู้ประกอบการทยอยยกเลิก
 
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการให้ นายเดนิส แมนทูรอฟ รมว.อุตสาหกรรมและการค้า สหพันธรัฐรัสเซีย เข้าพบ ว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการกระเบื้องที่ใช้วัสดุแร่ใยหินในกระบวนการผลิตเพียง 2 ราย แม้จะเป็นจำนวนน้อย แต่หากจะยกเลิกการใช้ทันทีตามข้อเรียกร้องขององค์กรภาคประชาชน ด้วยการแก้ไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จะส่งผลให้รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนกระเบื้องที่มีแร่ใยหินทั่วประเทศมูลค่าหลายแสนล้านบาท
 
ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ต่างจากประเทศอื่นๆที่สามารถยกเลิกการใช้ได้ทันที ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด จึงควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยขณะนี้ผู้ผลิตกระเบื้องทั่วโลก รวมถึงไทย ต่างก็ทยอยยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้ว อีกทั้งยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตจากการใช้แร่ใยหินตามที่มีกระแสข่าว
 
โดยจากสถิติการนำเข้าแร่ใยหินของไทยระหว่างปี 2550-2557 พบว่าอยู่ที่ 50,000-100,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 800-1,400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มการนำเข้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากสหพันธรัฐรัสเซีย, บราซิล, แคนาดา และจีน
 
“ตอนนี้ภาคเอกชนส่วนใหญ่ที่เคยใช้แร่ใยหิน ก็เริ่มปรับตัวโดยการยกเลิกใช้ไปเกือบหมดแล้ว แม้ยังไม่มีผลการศึกษาที่บ่งชี้ชัดเจนว่าแร่ใยหินส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่เนื่องจากผู้นำเข้าในหลายๆ ประเทศ ต่างกีดกันการใช้แร่ใยหิน ในขณะที่ไทยเหลือเพียงบริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง 2 ราย ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงกระบวนการผลิต และหันไปใช้วัสดุอื่นทดแทน ซึ่งกระทรวงอยากให้ผู้ประกอบการทยอยเลิกไปดีกว่าจะมาประกาศยกเลิกเลย แล้วจะต้องเอาเงินของรัฐมาชดเชยผู้ใช้ ซึ่งกระทรวงไม่เห็นด้วย แต่ถ้าผลการศึกษาชัดเจนว่าอันตราย กระทรวงก็เห็นควรให้ยกเลิกเลย” นายจักรมณฑ์ กล่าว
 
นายจักรมณฑ์กล่าวถึงปัญหาค่าเงินรูเบิลของสหพันธรัฐรัสเซียตกต่ำ ว่าไม่กระทบการนำเข้าและส่งออกสินค้าของไทย และเพื่อให้มูลค่าการค้าระหว่างกันขยายตัวขึ้น สหพันธรัฐรัสเซียพร้อมที่จะขยายตลาดในลักษณะการร่วมทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งสหพันธรัฐรัสเซียมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
 
ส่วนสิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผู้ประกอบการสหพันธรัฐรัสเซียให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย แต่จะคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานและทักษะแรงงานมากกว่า สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทย-สหพันธรัฐรัสเซียช่วง 10 เดือนแรกปี 2557 อยู่ที่ 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 14% จากช่วงเดียวกันของปี 2556
 
“แม้ตอนนี้ค่าเงินรูเบิลของสหพันธรัฐรัสเซียตก แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมไทยในภาพรวมมากนัก เพราะไทยได้มีการหารือกับสหพันธรัฐรัสเซีย โดยจะเพิ่มการค้าและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งสหพันธรัฐรัสเซียชวนไทยไปลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนไทยเองก็อยากให้สหพันธรัฐรัสเซียเข้ามาลงทุนด้านอุตสาหกรรมยาและการแพทย์” นายจักรมณฑ์ กล่าว
 
(แนวหน้า, 10-1-2558)
 
แนวโน้มไทยใช้แรงงานเด็กลดลง กสร.จับตาธุรกิจสิ่งทอ แนวชายแดนใช้เด็กต่างด้าวทำงาน
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานเด็กในรอบปี 2557 ที่ผ่านมาว่า จากรายงานสภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 3 ประจำปี พ.ศ.2557 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่าปัจจุบันมีเด็กอายุ 15-17 ปี จำนวน 5.5 แสนคน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ในจำนวนนี้ทำงานในภาคเกษตร ร้อยละ 49 ภาคบริการ ร้อยละ 33 และภาคการผลิต ร้อยละ 10 ซึ่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้นายจ้างที่จ้างเด็กอายุตั้งแต่ 15-18 ปี ต้องแจ้งต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ และต้องไม่ใช่งานที่เป็นอันตราย เช่น งานเกี่ยวกับสารเคมี งานในสถานที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป นอกจากนี้ กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในภาคเกษตร กำหนดให้ต้องจ้างเด็กที่อายุ 15 ปีขึ้นไป และในกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเล กำหนดให้จ้างเด็กอายุ 18 ปีขึ้นไป หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามมาตรา 44 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ในรอบปี 2557 พบว่ามีการจับกุมนายจ้างที่ใช้แรงงานเด็ก และจ้างงานเด็กอายุ 15-17 ปี โดยไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ จำนวน 8 ราย แบ่งเป็นการใช้แรงงานเด็ก จำนวน 13 ราย และจ้างงานไม่ถูกต้อง จำนวน 7 ราย รวมทั้งหมด 20 ราย มีทั้งสัญชาติพม่า ลาว และไทย โดยพบในกิจการประมง บริการ ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม การผลิตทองรูปพรรณ ทำงานบ้าน และทำงานในโรงงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ ในกิจการที่ถูกกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาจับตามองว่ามีการใช้แรงงานเด็กใน 4 อุตสาหกรรม คือ กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม พบว่า กุ้ง ปลา และอ้อย มีการจัดการดูแลเด็กที่ดีขึ้น มีความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ กสร. แยกเด็กออกจากสถานประกอบการอย่างชัดเจน ส่วนเครื่องนุ่งห่มนั้นยังต้องจับตามอง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการจ้างงานตามแนวชายแดน ซึ่งแนวโน้มใช้แรงงานเด็กต่างด้าวเพิ่มขึ้น ส่วนมาตรการแก้ปัญหานั้น กสร.จะเฝ้าระวังเป็นรายพื้นที่โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 50 คน และจะออกตรวจอย่างเข้มข้น บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และให้รายงานผลการปฏิบัติการทุกเดือน รวมทั้งส่งเสริมให้นายจ้างใช้แนวปฏิบัติที่ดีในสถานประกอบการ (จีแอลพี) ในการใช้แรงงานอย่างถูกกฎหมาย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-1-2558)
 
สภานายจ้างฯ ชงหม่อมอุ๋ย แจกคูปอง 2 พันกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ
 
นายธนิต โสรัตน์ ประธานกลุ่มบริษัท วี-เซิร์ฟ กรุ๊ป ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ครบวงจร รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า แม้ในปีงบประมาณ 2558 ภาครัฐจะตั้งวงเงินงบลงทุนไว้ในจำนวนสูง แต่การเบิกจ่ายกลับล่าช้ากว่าปีก่อนหน้า โดยเฉพาะการจ่ายเงินลงหน่วยงานในต่างจังหวัดและงบประมาณที่จัดทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะ เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท ที่ปัจจุบันภาครัฐมีเงินงบประมาณไว้แล้ว 8,500 ล้านบาท แต่การเบิกจ่ายทำได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณ เพราะติดเรื่องการสำรวจคุณสมบัติ การติดต่อระหว่างหน่วยงานของรัฐ และขั้นตอนการเบิกจ่าย
 
"ระเบียบและวิธีการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐควรได้รับการปฏิรูปแบบควิกวินหรือแบบรวดเร็ว เช่น ลดระเบียบการเบิกจ่ายโดยไม่ละทิ้งการตรวจสอบเรื่องคอร์รัปชั่น เพราะไม่เช่นนั้นในปี 2558 การเบิกจ่ายงบประมาณจะไปกระจุกตัวช่วงปลายปี หน่วยงานรัฐต้องจัดงานสัมมนานอกสถานที่เพื่อเร่งใช้งบประมาณ และบางส่วนเบิกจ่ายไม่ทัน ต้องกันไว้เบิกเหลื่อมปีเหมือนเช่นที่ผ่านมา ทั้งที่ในปี 2558 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ต้องมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ เพราะการส่งออกทำได้ไม่ดีหลังเศรษกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว สังเกตจากคำสั่งซื้อการส่งสินค้าของลูกค้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด" นายธนิตกล่าว
 
"ภาครัฐควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แม้จะคล้ายกับนโยบายประชานิยมแต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ต้องกลับไปลงเลือกตั้ง จึงไม่เรียกโครงการประชานิยม สำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เสนอคือ การออกคูปองวงเงินประมาณ 2,000 บาท แจกให้ประชาชนนำไปใช้จ่าย หรือโครงการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าเป็นส่วนลดซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายและมีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น แม้ภาครัฐจะเร่งเบิกจ่ายผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ส่วนตัวเชื่อว่ากว่าจะเห็นเงินลงระบบจำนวนมากคงเป็นปี 2559 และเงินไม่ได้กระจายลงสู่ระบบอย่างทั่วถึง เพราะจะกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ประกอบการบางรายเท่านั้น นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวควรเร่งประชาสัมพันธ์สร้างเทศกาลท่องเที่ยวใหม่ๆ จูงใจนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ประเทศไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติ การรอให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเองคงเป็นเรื่องยาก" นายธนิตกล่าว และว่า ได้เสนอในนามสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมผ่านนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งมอบให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา และยังมีข้อเสนออื่นๆ เช่น รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นการจ้างงานในชนบทเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย เป็นต้น 
 
(มติชนออนไลน์, 11-1-2558)
 
มติวิปรัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.ขึ้นเงินเดือน 5 ฉบับเข้า สนช.
 
วันที่ 12 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) ครั้งที่ 2/2558 ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
 
จากนั้นนายสุวพันธุ์ เปิดเผยผลการประชุมว่า มติวิปรัฐบาลเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ 5 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อย ตำรวจ ทหาร รัฐสภา ครู 4% และปรับเพดานให้สูงขึ้น 10% ตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีการอนุมัติไปแล้ว ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอเพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามขั้นตอนเพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไปในการขึ้นเงินเดือน ก.พ.ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการพิจารณาการปรับระบบเงินเดือนของข้าราชการทั้งระบบให้ยุติธรรมเป็นธรรมมากขึ้นในอนาคต
 
นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ในการขึ้นเงินเดือนรัฐบาลได้คำนวณการแบกรับภาระงบประมาณที่สำนักงบประมาณได้ชี้แจงกับคณะรัฐมนตรีไว้แล้ว อีกทั้งข้าราชการไม่ได้เงินเดือนสูง และครั้งนี้ปรับขึ้น 4% ก็ไม่ได้ช่วยได้เต็มที่ แต่ยังพอบรรเทา และช่วยให้ข้าราชการดำรงชีพได้ดีขึ้นมาหน่อย การจับจ่ายใช้สอยอาจจะทำได้มากขึ้น เพราะจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
 
ถามว่าการพิจารณากฎหมายสำคัญ ๆ ของรัฐบาลถูกมองว่ายังล่าช้า นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ก็มีการดำเนินการไปเยอะแล้ว และในสัปดาห์นี้จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ... ที่จะเข้า สนช. และมีอีก 3-4 ฉบับที่ทยอยพิจารณาในวาระ 2-3 ของ สนช. อีกทั้ง ครม.ได้จัดลำดับความสำคัญของกฎหมายเอาไว้แล้วจะช่วยทำให้เดินได้ดีขึ้น แต่ถ้าเร่งรัดมากความรอบคอบก็จะไม่มี ดังนั้นต้องทำกฎหมายให้สมดุลทั้งความรวดเร็วและรอบคอบ
 
ถามว่าแต่ดูเหมือนการพิจารณากฎหมายของ สนช.มีแต่ สนช.ที่เป็นตำรวจทหาร ข้าราชการ ไม่มีผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า เท่าที่ตนสังเกตเห็นว่าวิปที่เป็นทหารชั้นผู้ใหญ่ค่อย ๆ มีความรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว และกฎหมายฉบับไหนที่มีปัญหาทางพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้มอบหมายให้ตน ประสานกับ สนช.แล้วว่าในชั้นของกรรมาธิการให้รับฟังความคิดเห็นรอบด้านมากขึ้น
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 12-1-2557)
 
อพยพคนงานนิคมฯบางปะอิน ควันพิษไฟไหม้แผงวงจรยังพุ่ง เจ็บ 18 ราย
 
(12 ม.ค.) นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 11.30 น. ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณชั้น 4 บริษัท เอพีซีบี ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีลูกจ้าง 1,800 คน ล่าสุด สามารถควบคุมเพลิงได้วงจำกัด แต่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีข้อมูลว่าในบางพื้นที่ของตึก มีสารเคมีประเภทตัวทำละลาย (Solvent) กรดเกลือ (Hydrogen Chloride) ที่เก็บไว้จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นไม่มีลูกจ้างได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตโดยจะตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ต่อไป 
 
นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตนได้รับรายงานเรื่องนี้แล้ว มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุไฟไหม้บริษัทผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินประมาณ 15-16 คน ส่วนใหญ่มีอาการสำลักควัน โดยขณะนี้มี 1 รายต้องนอนพักรักษาตัวที่ รพ.บางปะอิน 1 คน แต่ไม่ได้มีอาการรุนแรง เพียงแค่เฝ้าสังเกตอาการเท่านั้น ทั้งนี้ ในบริษัทดังกล่าวมีสารเคมีที่เป็นกรดเกลือในการทำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่งต้องระมัดระวัง เพราะหากสูดกรดเกลือเข้าไปโดยตรงส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจอุดตัน บวม หายใจหอบ หากสูดเข้าไปมากจนมีอาการรุนแรงกรดเกลือก็จะไปทำลายปอด นอกจากนี้ หากกรดเกลือสัมผัสผิวหนังก็จะกัดทำให้ผิวหนังเป็นแผลด้วย แต่ขณะนี้ไม่มีผู้ป่วยรายใดที่ได้รับสารเคมีดังกล่าวโดยตรง
       
นพ.เลิศชัย จิตต์เสรี ผู้อำนวยการ รพ.บางปะอิน กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยจากเหตุการณ์ไฟไหม้มาที่ รพ.บางปะอิน จำนวน 16 ราย ไม่มีผู้ป่วยมารับการรักษาเพิ่มแล้ว อย่างไรก็ตาม พบว่ามี 1 ราย ที่มีอาการสำลักควันเล็กน้อย ทำให้หายใจไม่สะดวก ประกอบกับมีความตื่นตระหนก เลยให้นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ส่วนอีก 15 คนที่เหลือ แพทย์ได้เอกซเรย์ ตรวจร่างกาย และให้ยากรักษาจนอาการดีขึ้นทุกคน สามารถกลับบ้านได้ทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยไปรับการรัษาที่ รพ.การุญเวช อยุธยา อีก 2 คน แต่อาการไม่รุนแรงเช่นกัน
 
นพ.เลิศชัย กล่าวว่า รพ.บางปะอิน ได้ประสานกับ รพ.วังน้อย ประสานส่งทีมเจ้าหน้าที่ไปประจำบริเวณหน้านิคมอุตสาหกรรมบางปะอินตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุแล้ว นอกจากนี้ ยังส่งเจ้าหน้าที่ประสานกับสื่อทางเทศบาลประกาศมาตรการป้องกันตัวเองจากควันของการเผาไหม้สารเคมีแก่ประชาชนบริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมทราบ โดยเฉพาะไฮโดรคลอริกแอซิด หรือกรดเกลือ เนื่องจากขณะนี้ทราบว่าไฟยังไม่ดับสนิท เนื่องจากเป็นตึกสูง แต่เทศบาลไม่มีเครื่องดับไฟสำหรับตึกสูงเช่นนี้ ทำให้ควันจำนวนมากต่างกระจายตัวไปด้านหลังนิคมอุตสาหกรรมฯ จึงต้องมีการเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ เพราะสารดังกล่าวมีฤทธิ์เป็นกรด อาจทำให้เกิดการกัดกร่อน แต่ถ้าไม่สูดควันโดยตรง ก็ไม่น่าจะมีอาการรุนแรงอะไร ทั้งนี้ ได้ประสาน ผอ.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินแล้ว พบว่า ทางนิคมฯได้อพยพคนในเขตนิคมฯ รอบๆ ออกแล้ว 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-1-2558)
 
สปส.มึน ผู้ประกันตน แห่ลาออก′กองทุนชราภาพ′ หวังรับเบิ้ลเงินรัฐจ่ายสมทบ
 
กรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 (สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ) เป็นกรณีพิเศษ เป็นเวลา 1 ปี และเปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 โดยมียอดสมาชิกกว่า 3 แสนคนนั้น
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2558 มีผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินเข้ากองทุน 100 บาท รัฐสมทบอีก 100 บาท เริ่มทยอยเดินทางไปที่สำนักงานประกันสังคมสาขา เพื่อยื่นความจำนงขอลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนหวังรับเงินคืนทั้งส่วนของตัวเองและรัฐจะสมทบให้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุมัติ โดยพยายามทำความเข้าใจกับผู้ประกันตนให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของมาตรา 40 ต้องการให้สะสมเงินออมไว้ใช้ยามชรา แต่หากรายใดต้องการจะลาออกเจ้าหน้าที่แจ้งว่าสามารถจ่ายให้เฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนจ่ายตามจริงเท่านั้น ส่วนเงินสมทบของรัฐยังไม่สามารถจ่ายได้ เนื่องจากยังไม่ได้ตั้งเรื่องขอเบิกจากรัฐบาล
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ โฆษก สปส.กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ สปส.ได้ให้สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศจ่ายเงินเฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนสมทบเท่านั้น ส่วนที่รัฐจ่ายสมทบนั้นยังไม่มีการจ่าย เนื่องจาก สปส.อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า หากผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ลาออกเพื่อขอรับเงินสมทบเป็นก้อนในเวลารวดเร็ว จะเข้าข่ายผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ และการจ่ายเงินสมทบในส่วนของรัฐควรจะดำเนินการอย่างไร รวมทั้งจะต้องออกกฎหมายลูก เพื่อจัดทำเงื่อนไขมารองรับเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ อาทิ อาจจะกำหนดให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 เป็นผู้ประกันตน 1-2 ปี จึงจะสามารถลาออกและรับเงินสมทบทั้งสองส่วนได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมกราคมนี้
 
นายโกวิทกล่าวถึงความคืบหน้าร่างแก้ไขพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2554 (มาตรา 40) เพื่อขยายเวลารับสมัครผู้ประกันตนที่มีอายุเกิน 60 ปี ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ได้ส่งร่างดังกล่าวให้นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน พิจารณาเพื่อเสนอต่อ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่นายนครได้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ สปส.ทบทวนเนื้อหา เนื่องจากมีหนังสือท้วงติงจากหลายฝ่ายว่ามาตรา 40 ยังมีช่องโหว่ในหลายเรื่อง เช่น การให้ผู้ที่มีสิทธิประโยชน์ได้รับเงินบำนาญจากกองทุนอื่นๆ สามารถสมัครได้ การเปิดให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบย้อนหลังและไม่กำหนดระยะเวลาการเป็นผู้ประกันตนก่อนลาออก ทำให้รัฐบาลจะต้องจ่ายสมทบเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่องบประมาณของรัฐ นอกจากนี้ จะศึกษาว่าการเปิดรับสมัครรอบใหม่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ จะเปิดให้จ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้หรือไม่
 
"สปส.ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาทบทวนร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว เพื่ออุดช่องโหว่ตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกต และเพื่อให้เนื้อหากฎหมายเป็นไปอย่างรัดกุม และจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย โดยจะเร่งจัดทำร่าง พ.ร.ฎ.ให้แล้วเสร็จ และเสนอต่อปลัดกระทรวงแรงงานอีกครั้งภายในเดือนมกราคมนี้" นายโกวิทกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของ สปส.พบว่าขณะนี้มีผู้ประกันตนมาตรา 40 ทุกทางเลือกทั่วประเทศ จำนวน 2,471,116 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 สิทธิประโยชน์เฉพาะกรณีชราภาพ จำนวน 359,000 คน การเปิดรับสมัคร
 
ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 อายุเกิน 60 ปี ไประหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2556-วันที่ 8 ธันวาคม 2557 โดยเปิดให้สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้ถึงเดือนพฤษภาคม 2555 เป็นเวลา 32 เดือน โดยที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาต้องเป็นผู้ประกันตนก่อนจะลาออกและรับเงินสมทบทั้งส่วนของตัวเองและรัฐ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและทำให้มีผู้ประกันตนบางส่วนหวังจะได้เงินก้อนจากการสมทบของรัฐบาลมายื่นลาออกเพื่อขอรับเงินดังนั้นในการเปิดรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 รอบใหม่ สปส.จึงมีแนวคิดจะปิดไม่ให้มีการจ่ายเงินสมทบย้อนหลัง เพราะหากคำนวณเฉพาะในทางเลือกที่ 3 ที่มีผู้ประกันตนประมาณ 300,000 คน จะทำให้รัฐต้องจ่ายเงินสมทบประมาณเดือนละ 900 ล้านบาท เป็นเงินจำนวนมากและอาจส่งผลกระทบต่อกองทุน
 
นายสินชัย วงศ์สังข์ทอง อายุ 72 ปี หนึ่งในผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 กล่าวว่า สมัครทางเลือกที่ 3 ส่วนภรรยาสมัครทางเลือกที่ 5 จ่ายเอง 200 บาท รัฐสมทบให้ 150 บาท เลือกจ่ายย้อนหลังคนละ 2,300 บาท เพื่อตั้งใจเก็บไว้เป็นเงินก้อนฉุกเฉิน เวลาเจ็บป่วยจะได้ไม่ต้องรบกวนลูก ส่วนเรื่องเงินบำนาญไม่ได้หวัง เพราะมีเงื่อนไขว่าต้องส่งนานถึง 35 ปี จึงจะได้สิทธิ
 
"ผมคงไม่อยู่นานถึงขนาดนั้น อีกอย่างเจตนารมณ์ของประกันสังคมเป็นเรื่องดี ต้องการให้คนออมเงิน แต่ก็ต้องประชา สัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจชัดเจน อย่าทำแบบคลุมเครือแล้วปล่อยให้ไปคิด ไปถามกันเอง เพราะข้อมูลจะคลาดเคลื่อน และอย่าเอาเรื่องเงินก้อน รัฐจ่ายสมทบอีกเท่าตัวมาล่อให้คนแห่ไปสมัครเหมือนที่ผ่านมา และมีคนบางกลุ่ม ตั้งใจจะไปสมัครเพื่อรอถอนเงินออกมาใช้ รู้มาว่าตอนนี้มีคนเริ่มไปถอนกันบ้างแล้ว แต่ประกันสังคมก็ยังเงียบ" นายสินชัยกล่าว
 
(มติชนออนไลน์, 13-1-2558)
 
ให้อำนาจ “ทหารเรือ” จับกุมนายจ้างละเมิด กม.คุ้มครองแรงงานประมงทะเล
 
นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กสร. มีแผนแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กและบังคับ ในปี 2558 โดยจะเน้นการตรวจแรงงานอย่างเข้มข้น ซึ่งในส่วนแรงงานบนบกได้สั่งการให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดต่างๆ ออกสุ่มตรวจตามสถานประกอบการต่างๆ หากพบว่ามีการกระทำผิด เบื้องต้นเจ้าพนักงานจะออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามแต่หากไม่ยอมปฏิบัติตามอีกก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากพบว่าหากมีการจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานทันที ส่วนแรงงานประมงจะบูรณาการการตรวจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง เป็นต้น โดย กสร. ได้ตั้งให้ทหารเรือเป็นเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน มีอำนาจในการจับกุมนายจ้างที่กระทำผิดได้ หากไม่มีสัญญาจ้างและจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี พร้อมสั่งให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล ชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างถึงกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในประมงทะเล
       
“นอกจากนี้ กสร. ยังมีแนวคิดจะคัดเลือกพนักงานราชการที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวน 100 คน มาเป็นพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งต้องให้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกเป็นคำสั่งและกำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจน ซึ่งต้องมาอบรมและผ่านการทดสอบจึงจะสามารถออกปฏิบัติงานได้ ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 9 - 30 มกราคม นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ออกตรวจเรือประมงทุกวันและให้รายงานผลทุกวันศุกร์ เพื่อรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีในที่ประชุมระดับชาติต่อไป โดยผลการตรวจสัปดาห์ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มกราคม ได้ตรวจเรือประมงไป 75 ลำ มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 2,753 คน ไม่พบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมาย” อธิบดี กสร. กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 13-1-2558)
 
ครม.อนุมัติจ่ายค่าตอบแทนพิเศษพนักงาน กฟผ.
 
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติการจ่ายเงินตอบแทนพิเศษให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างขั้นสูงสุดของระดับหรือตำแหน่ง โดยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี คิดเป็นวงเงิน 152 ล้านบาท ในการจ่ายเงินตอบแทนพิเศษดังกล่าว ทั้งนี้ จะใช้เงินของทาง กฟผ. เองในการจ่ายเงินดังกล่าว
 
(ไอเอ็นเอ็น, 13-1-2558)
 
นายกฯ สั่งศึกษา 1 เดือนต้องรู้ผล เทียบกองทุนออม-ม.40 ประกันสังคม
 
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีมีผู้ประกันตนมาตรา 40 กลุ่มที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ทยอยลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 กรณีสิทธิประโยชน์ชราภาพเพื่อต้องการเงินสมทบจากรัฐบาลว่า ปัญหานี้เกิดจากนโยบายของ 2 รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ตรงกันจนเกิดผลกระทบต่อประชาชนในปัจจุบัน จึงต้องทำความเข้าใจว่ารัฐบาลนี้เข้ามาแก้ปัญหา ไม่ได้ตกเป็นจำเลย
 
"เราเป็นรัฐบาลยุคปฏิรูป สิ่งไหนไม่ถูกต้องเราต้องปฏิรูป และสิ่งไหนมีปัญหาเรื่องความคลุมเครือต้องทำให้ชัดเจน วันนี้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องออกมาชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเรื่องประกันสังคมนั้น ขนาดผมเป็นรัฐมนตรียังสับสนเลย แล้วชาวบ้านจะไม่สับสนได้อย่างไร อะไรที่ประชาชนต้องรู้ ต้องตอบคำถามให้หมด อย่าปล่อยให้คลุมเครือ และอะไรเป็นความผิดพลาด ก็ต้องยอมรับ ยอมเจ็บครั้งเดียว เพื่อให้ทุกอย่างกระจ่าง คลายข้อสงสัยได้" พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว และว่า ส่วนการแก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2554 (มาตรา 40) เพื่อขยายเวลารับสมัครผู้ประกันตนที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี ที่อยู่ระหว่างการทบทวนนั้น สปส.ต้องพิจารณาให้รอบคอบ จัดการปัญหาและศึกษาว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร เช่น การจ่ายเงินสมทบย้อนหลังยังควรมีอยู่หรือไม่ เพราะมีบางส่วนมองว่าหากกลุ่มแรกได้ แต่กลุ่มรอบหลังไม่ได้ จะเป็นสองมาตรฐาน ควรมีเงื่อนไขว่าให้ผู้ประกันตนเป็นสมาชิกระยะเท่าใดก่อน จึงจะสามารถรับเงินสมทบส่วนของรัฐบาลได้ ส่วนกรณี สปส.ไม่จ่ายเงินสมทบส่วนของรัฐบาลนั้น ยืนยันว่าอย่างไรก็ต้องจ่าย เพราะเป็นสิทธิของผู้ประกันตน
 
นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ประกันสังคมกำหนดกรอบและระบุระเบียบไม่ชัดเจนว่าใครบ้างจะสามารถเข้าสู่มาตรา 40 ได้ เป็นความผิดพลาดเชิงนโยบาย ควรจะระบุให้ชัดเจน การเปิดให้จ่ายเงินย้อนหลังประกอบกับการระบุไม่ชัดนั้น ทำให้คนแห่มาสมัครเข้ามาตรา 40 เพื่อหวังจะได้รับเงินสมทบจากรัฐ จำนวนมากเป็นข้าราชการเกษียณ เป็นคนที่มีฐานะหรือลูกหลานสมัครให้ เพราะเห็นว่าได้เงินสมทบจากรัฐเพิ่ม โดยไม่มีการระบุว่าต้องอยู่ในประกันสังคมเป็นระยะเวลาเท่าใด เป็นความผิดพลาดของประกันสังคม หากไม่มีการกำหนดระยะเวลาไว้ว่าต้องเป็นผู้ประกันตนนานเท่าใดจึงจะลาออกได้ หากผู้ประกันต้องการจะลาออกเพื่อรับเงินสมทบทั้งหมด แต่ไม่จ่ายเงินในส่วนของรัฐ ถือเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน แต่เป้าหมายมาตรา 40 มุ่งให้ออมเงิน
 
ส่วนกรณีแนวคิดนำประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ไปรวมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) นั้น นางสุจินกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะนำไปรวมกับ กอช. เพราะเป็นคนละกองทุนกัน ผู้รับผิดชอบคนละหน่วยงาน การที่มีทั้ง 2 กองทุนจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกที่มากขึ้น
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯสั่งการในที่ประชุม ครม.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของกองทุนการออมแห่งชาติ ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล กับการออมตามมาตรา 40 ของ สปส. เพื่อเป็นแนวทางการลดเงินอุดหนุนให้ผู้สูงอายุในอนาคตที่จะมีจำนวนสูงขึ้นมาก จะได้ไม่เป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 14-1-2558)
 
นครปฐมประชุมพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย “โรงงานทอผ้า”
 
(14 ม.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครปฐม นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และนายวิชัย มหามงคล อายุ 59 ปี เจ้าของโรงงานทอผ้า เอ็ม.เค.เท็กไทล์ หรือโรงงานทอผ้ามหามงคลเฮียบเชียง เลขที่ 15/1 ซอยปัญญามิตร หมู่ 6 ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่รวมทั้งหมด 13 หลัง บนพื้นที่ 5 ไร่ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหาข้อสรุปถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น และพิจารณาเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย
       
โดยที่ประชุมได้สรุปถึงความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้กว่า 30 ล้านบาท โดยไฟได้ลุกไหม้อย่างหนัก 2 โรง ล้วนเป็นเครื่องจักรทั้งสิ้นกว่า 100 เครื่อง ส่วนที่ไม่ได้ไหม้เสียหายแต่ก็ต้องเสียหายไปด้วยเนื่องจากโดนน้ำที่ใช้ควบคุมเพลิงอัดฉีดเข้าไปในตัวเครื่องทั้งหมดก่อให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ มีคนงานที่ปฏิบัติงานในส่วนนี้ จำนวน 97 คน เป็นแรงงานไทย 9 คน แรงงานพม่า 88 คน
       
ทั้งนี้ จากการประชุมได้ลงความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามตามกฎหมาย พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม มาตรา 39 ได้สั่งการให้โรงงานหยุดทำการเป็นเวลา 60 วัน ขณะที่ทางอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และ อปท. ในพื้นที่จะเข้าไปตรวจสอบความเสียหายว่าต้องประกาศเหตุเพลิงไหม้หรือไม่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย หากยังดำเนินกิจการได้ก็อาจจะให้หยุดกิจการเฉพาะบางส่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพนักงาน ส่วนสาเหตุของการเกิดเหตุเพลิงไหม้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเกิดจากสาเหตุใด
       
โอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ลงพื้นที่ดูแลประชาชนด้านสุขอนามัยในพื้นที่ใกล้เคียงสถานที่เกิดเหตุ และมอบหมายให้สำนักงานแรงงานจังหวัดนครปฐม เตรียมจัดอบรมฝึกซ้อมแผนป้องกันภัยภายในโรงงาน หลังจากโรงงานดำเนินกิจการตามปกติ เพื่อให้พนักงานมีองค์ความรู้ในการป้องกันอัคคีภัยในเบื้องต้นเพื่อไม่เกิดความเสียหายมากขึ้น
       
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมเสนอแผนป้องกันสาธารณภัย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากจังหวัดนครปฐม มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 3,000 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันสาธารณภัยในระยาวต่อไป 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 14-1-2558)
 
“บิ๊กเต่า” อ้างแก้ค้ามนุษย์ไม่สำเร็จ เหตุยังขาดการวิจัย
 
(14 ม.ค.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง สาเหตุที่ลงมาดูแลและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้วยตนเอง จนทำให้ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ถูกมองว่าขาดความสันทัดในเรื่องนี้ ว่า งานที่ กสร. ทำสำเร็จคือเรื่องการแก้ปัญหาแรงงานเด็ก ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาชื่นชมในการแก้ปัญหา แต่ยังเหลือการดำเนินการอีก 2 เรื่อง คือ การทำวิจัยและการเพิ่มเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ซึ่งทางการสหรัฐจะเข้ามาร่วมทำงานนี้กับไทยด้วย ทั้งนี้ต้องทำงานในเรื่องที่ไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กแรงงานบังคับในรูปแบบที่เลวร้าย ในอันดับ 3 จากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ที่ถูกกล่าวหามาตั้งแต่ปี 2552 และกระทรวงแรงงานได้พยายามแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถออกกฎกระทรวงมาบังคับใช้ ทั้งการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานภาคการเกษตร และห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานประมง ที่เหลือคือการทำวิจัยว่ามีการตรวจการใช้แรงงานเด็กจำนวนเท่าใด
       
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนแรงงานประมง ต้องร่วมกันทั้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและกรมการจัดหางาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของเรือประมง ทำให้การตรวจสอบยากขึ้น แต่ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เรือทุกลำต้องจดทะเบียนแล้ว ซึ่งจะทำให้การตรวจเรื่อประมงง่ายยิ่งขึ้น ส่วนสาเหตุที่มีเรือประมงมาจดทะเบียนน้อย เพราะบางส่วนอยู่ในน่านน้ำ ซึ่งต้องผ่อนผันเปิดให้จดทะเบียนอีกครั้ง
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 14-1-2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท