Skip to main content
sharethis

6 องค์กรภาคประชาสังคมค้านชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ ชี้ละเมิดสิทธิหลายด้าน อ้าง 'เศรษฐกิจ' แฝงประเด็น 'ความมั่นคง' เปลี่ยนหลักการปฏิรูปสื่อ ดึงกลับไปที่รัฐ-กองทัพ ไม่แก้ปัญหาเก่า ซ้ำรวบรัดเสนอกฎหมาย

14 ม.ค. 2558 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีการแถลงข่าวหลังการประชุมของเครือข่ายภาคประชาสังคม 6 องค์กร กรณี ครม.อนุมัติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ. เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล จำนวน 8 ฉบับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ เกี่ยวกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2557

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต แถลงข่าวในนามเครือข่ายภาคประชาสังคม 6 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มูลนิธิโลกสีเขียว FTA Watch กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน และเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งข้อสังเกตต่อว่า ชุดกฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพในหลายด้าน ผูกขาดทรัพยากร และไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้เป็นการใช้ข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนออกมาในร่างกฎหมายที่ให้อำนาจภาครัฐมากขึ้นในการจัดสรรทรัพยากร สัดส่วนของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตัดกรรมการด้านสิทธิเสรีภาพและผู้แทนภาคประชาชนออกไปและแทนที่ด้วยกรรมการจากฝ่ายความมั่นคง การไม่พูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภค การรับประกันการเข้าถึงโดยผู้ด้อยโอกาสในสังคม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกต่อไป อีกทั้งไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรกำกับ แต่กลับสร้างองค์กรที่อาจมีปัญหาแบบเดียวกันเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ กระบวนการเสนอกฎหมายยังทำไปด้วยความรวบรัด ขาดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ข้อสังเกตจากภาคประชาสังคมทั้ง 6 องค์กร

  1. ชุดกฎหมายเหล่านี้โดยเนื้อแท้ ไม่ใช่กฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” แต่เป็นชุดกฎหมายความมั่นคง
  2. เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.กสทช. เป็นการถือโอกาสดึงคลื่นความถี่กลับมาอยู่ในมือภาครัฐและกองทัพ  ซึ่งจะกลับไปเหมือนในสมัยก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 กฎหมายชุดนี้ทำลายหลักการที่ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อ ประโยชน์สาธารณะ และทำลายกลไกการแข่งขันเสรีเป็นธรรม จนกล่าวได้ว่าเป็นกฏหมายเพื่อ “เศรษฐกิจและกองทัพ”
  3. ร่างพ.ร.บ.กสทช.ทำลายความเป็นองค์กรอิสระของกสทช.
  4. ที่ผ่านมาภาคประชาชนเห็นร่วมกันว่ากสทช.จำเป็นต้องพัฒนาระบบธรรมาภิบาลให้ดี ขึ้น ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณและการใช้อำนาจ แต่ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ไม่ได้แก้ปัญหาดังกล่าว และยังมีร่างกฎหมายใหม่อีกหลายฉบับที่จะสร้างหน่วยงานที่มีโครงสร้างงบประมาณและการบริหารลักษณะคล้ายกันขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
  5. กองทุนที่มา จากรายได้ของกสทช. ถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมเป็นอย่างมาก วัตถุประสงค์เดิมในการเป็นกองทุนวิจัยพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมจริยธรรมการประกอบวิชาชีพได้หายไปหมด และกลายสภาพเป็นกองทุนเพื่อให้รัฐและเอกชนกู้ยืม
  6. ร่างกฎหมายหลายฉบับไม่ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างที่อ้าง อีกทั้งคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัวที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และกระทบการประกอบธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสาร
  7. ร่างกฎหมายทั้งหมดขาดกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคที่ชัดเจน อีกทั้งสัดส่วนของคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นชัดที่สุดคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีการตัดกรรมการด้านสิทธิและผู้บริโภคออกไป 3 ตำแหน่ง และเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามา 2 ตำแหน่ง
  8. ความไม่ชัดเจนของสถานะทางกฎหมายของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็น “หน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ” ว่าสำนักงานและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจะมีความรับผิดตามกฎหมายอย่างไร มีกลไกร้องเรียนตรวจสอบได้ทางไหน


อาทิตย์ระบุว่า ขณะนี้ที่ทางกลุ่มเห็นร่วมกันคือ อาจไม่สามารถดูแยกรายมาตราหรือรายกฎหมายได้ เพราะทั้งสิบฉบับทำให้โครงสร้างการใช้อำนาจเปลี่ยนไปหมด และจะทำให้หลักคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกลุ่มที่ทำเรื่องปฏิรูปสื่อทำกันมาตั้งแต่ก่อน 2540 ต้องกลับไปนับหนึ่งกันใหม่

สำหรับการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ อาทิตย์ กล่าวว่า เบื้องต้น จะรวบรวมข้อเสนอไปทั้งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยจะทำหนังสือถึง สปช. ภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องใช้วิธีแถลงข่าวก็เพราะอยู่ใต้กฎอัยการศึก ใน สนช. เราไม่มีผู้แทนราษฎรเป็นปากเสียงให้ร้องเรียนได้ จึงต้องอาศัยช่องทางสื่อมวลชนเพื่อให้ไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ย้ำว่า ไม่ได้ค้านการพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ค้านเรื่องการใช้เศรษฐกิจเป็นข้ออ้างด้านความมั่นคงมากกว่า อาทิ ประเด็นเรื่องการขอข้อมูลที่ทำได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล ส่วนตัวแม้ยอมรับว่ามีบางกรณีที่อาจจำเป็นต้องขอข้อมูลเพื่อความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่รัฐบาล หรือเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย แต่มองว่าเรื่องนี้มีเขียนไว้อยู่แล้วใน พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากศาลก่อน แต่ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์นี้ไม่ต้องขอเลย นอกจากนี้ ยังมีความกังวลจากผู้ประกอบการเว็บโฮสติ้งด้วยว่า เมื่อกฎหมายออกมาจะทำให้ผู้ใช้บริการในประเทศไม่มั่นใจว่า ข้อมูลที่ฝากไว้ที่เซิฟเวอร์ในไทยจะปลอดภัยไหม อาจทำให้มีการย้ายไปต่างประเทศ ถามว่า หากลูกค้าย้ายไปจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอย่างไร

อาทิตย์ระบุด้วยว่า แม้ที่ผ่านมา เครือข่ายพลเมืองเน็ตเองจะสนับสนุน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาตลอด เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครอง และรองรับการประกอบธุรกิจในยุคนี้ที่หลายประเทศต่างก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของตัวเอง และที่ผ่านมา มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อ 7 ต.ค. 57 ซึ่งร่างก็พอโอเค แต่เมื่อมีการเสนอร่างเมื่อ 6 ม.ค. มีการตัดกรรมการสามคนด้านคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออก แล้วเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามาแทน ก็ยากจะสนับสนุนเหมือนกัน

ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีมีความพยายามเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติม มีบทเรียนจากเกาหลีใต้ ซึ่งเคยมีความพยายามออกกฎหมายคล้ายๆ กันเรื่องเก็บเลขบัตรประชาชน โดยหลังใช้นโยบายนี้ได้สองปีครึ่ง ก็เกิดตลาดมืดในการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล จากความตั้งใจไม่อยากให้อาชญากรปลอมตัว ก็กลายเป็นมีการใช้เลขบัตรคนอื่น จับตัวใครไม่ได้ และสร้างปัญหาใหม่ทำให้เจ้าของบัตรตัวจริงเดือดร้อนไปด้วย ซึ่งสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีก็ยกเลิกเรื่องนี้ไป เมื่อมีบทเรียนแบบนี้ ถามว่า ไทยจะทำซ้ำรอยเขาไหม

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) แสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข ว่า มีการแก้ไขให้ดีขึ้นหลายมาตรา อาทิ มาตรา 14(1) เพิ่มว่า การนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ต้องเป็นข้อมูลเท็จเพื่อหลอกลวงให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น ทำให้ตัดเรื่องการหมิ่นประมาท ซึ่งมักถูกทำมาใช้ฟ้องคู่กับกฎหมายหมิ่นประมาทออกไป รวมถึงมีการลดโทษการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกลง จาก 5 ปีเหลือ 3 ปี รวมถึงมาตรา 15 เรื่องความรับผิดของตัวกลาง เพิ่มเรื่องการแจ้งเตือน โดยระบุว่า ถ้าผู้ให้บริการดำเนินการตามกระบวนการแจ้งเตือนแล้ว จะไม่มีความผิด แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่ากระบวนการแจ้งเตือนเป็นอย่างไร และทั้งหมดยังขึ้นกับผู้ให้บริการในการใช้ดุลยพินิจ

ยิ่งชีพกล่าวว่า โดยรากฐานของปัญหายังไม่ถูกแก้ไข แก้ที่ปลายปัญหาเท่านั้น แต่ไอลอว์ไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายฉบับนี้ กฎหมายที่เสนอแบบปุบบับ ขาดการรับฟังความคิดเห็น ขาดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่างๆ และภาคประชาชน แล้วออกมาในสถานการณ์ที่หน่วยงานที่มีอำนาจออกกฎหมายมาจากการแต่งตั้งโดยทหาร เป็นกฎหมายที่เราไม่สนับสนุน แม้จะมีเนื้อหาบางอย่างดี แต่ก็ไม่ได้ดีทั้งหมด  ยังมีปัญหา เช่น การเพิ่มความผิดเรื่องโป๊เด็ก ที่ค่อนข้างเข้มงวด มีโทษสูงสุดจำคุก 6 ปี ซึ่งยังขาดนิยามเรื่องลามกอนาจารว่าเป็นอย่างไร เด็กอายุสามเดือนไม่ใส่เสื้อผ้าเป็นไหม การ์ตูนจะเป็นไหม กฎหมายเขียนว่า "รูปภาพลามกอนาจาร" ไม่รู้รวมถึงวิดีโอด้วยไหม หรือเรื่องการครอบครองเพื่อเผยแพร่เป็นความผิด ถามว่าเราจะรู้ได้ไงว่าใครมีเพื่อเผยแพร่หรือไม่ มันชี้เจตนาลำบาก และอาจเกิดการยัดข้อหาได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net