Skip to main content
sharethis

ภายหลังจากถูกจับกุม 98 ชาวโรฮิงญาต้องเข้าสู่กระบวนการคัดแยก เพื่อดำเนินการต่อในทางกฏหมาย และการให้ความช่วยเหลือต่อไป เส้นทางชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องน่าจับตา

 

เช้ามึดของวันที่ 11 ม.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ได้ควบคุมตัวชาวโรฮิงญา รวม 98 ราย ในสภาพอิดโรยอย่างหนัก เพราะถูกอัดแน่นอยู่ในรถยนต์กะบะเพียง 5 คัน ขณะที่กำลังใช้เส้นทางสายนครศรีธรรมราช-สงขลา ช่วงหมู่ที่ 2 ตำบลทรายขาว อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ขับขี่รถยนต์ไว้ได้ 2 คน ส่วนที่เหลืออีก 3 คนจอดรถทิ้งชาวโรฮิงญาไว้ในรถและหลบหนีไปได้

ขณะจับกุมและเคลื่อนย้ายชาวโรงฮิงชาว เพื่อนำตัวมายังสถานีตำรวจภูธรหัวไทร พบว่ามีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย เป็นเพศหญิง ขณะที่อีกราว 20 รายมีสภาพอ่อนเพลียอย่างมาก เจ้าหน้าจึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลหัวไทรอย่างเร่งด่วน ล่าสุดเมื่อวานนี้มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย เนื่องจากถูกทับอัดแน่นจากขาดอากาศหายใจ เบื้องต้นทราบว่า ทั้ง 98 คนอยู่ในสภาพอดอาหารมาไม่ต่ำกว่า 2 วัน และการจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่มีการจับกุมได้จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเส้นทางจากฝั่งตะวันตกของภาคใต้มายังฝั่งอ่าวไทย เพื่อหลบเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่

ด้านผู้ขับขี่ 2 คนซึ่งถูกจับกุมได้ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติการค้ามนุษย์แล้ว และอยู่ระหว่างการขยายผลโดยใช้ พรบ.มาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปยังนายทุนผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งตำรวจพบหลักฐานที่เชื่อมโยงไปยังนายทุนรายนี้แล้ว

ขณะที่ขั้นตอนต่อไปสำหรับชาวโรงฮิงญาที่ถูกสลัดจับกุมได้นั้น พล.ต.ต.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ ผบก.ภ.นครศรีธรรมราช ได้สั่งการให้ตำรวจ สภ.หัวไทร ร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนครศรีธรรมราช ทำการบันทึกประวัติ รวมรวมข้อมูลชาวโรฮิงญาที่ถูกจับอย่างละเอียด เพื่อสรุปที่มาที่ไปของกลุ่มโรฮิงญาดังกล่าว โดยกำหนดว่า ผลสรุปจะต้องแยกออกเป็น 2 กรณีคือ

กรณีแรก หากเป็นการลักลอบเข้ามา เพื่อจะไปทำงานยังประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มชาวโรฮิงญาจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมใช้มาตรการส่งกลับไปยังถิ่นเดิม

กรณีที่สอง หากตรวจสอบ และเชื่อได้ว่า กลุ่มคนดังกล่าวถูกกระทำเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ทางตำรวจจะประสานหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มารับตัวไปทำการคัดแยกโดยผู้หญิงแยกไปอยู่ที่สถานคุ้มครองชั่วคราว จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ชายส่งไปสถานคุ้มครองใน จ.ระนอง และสงขลา ส่วนเด็กจะต้องดูแลเป็นพิเศษ ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสรุปสำนวนของตำรวจ และการร่วมวินิจฉัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด

ด้านศิววงศ์ สุขทวี เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรได้ให้ความเห็นว่า การคัดแยกผู้เสียหายครั้งนี้ควรที่จะทำด้วยความระมัดระวังในการจำแนกที่มาจากต้นทาง เพราะไม่ได้ส่งผลเพียงแค่การดำเนินการต่อในการกฏหมายเท่านั้นแต่ยังส่งต่อการให้ความช่วยเหลือด้วย  กรณีที่พบว่าเป็นเหยือของการค้ามนุษย์ และเป็นชาวบังคลาเทศ ก็ต้องมีการประสานทางสถานทูตบังคลาเทศเข้ามาพิสูจน์สัญชาติ ดำเนินการและดำเนินการส่งกลับประเทศ แต่ในกรณีเป็นชาวโรฮิงญาซึ่งอาจจะจะมีได้ทั้งสองกรณีคือ เป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง เพราะใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า และอีกกรณีคือ เป็นเหยือของขบวนการค้ามนุษย์ ก็ถือเป็นภาระหน้าที่ของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งประชาชาติ(UNHCR ) ที่ต้องทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่ามีคุณสมบัติเป็นผู้ลี้ภัยจริง ก็ประสานส่งต่อไปประเทศที่สาม หากมีคนในครอบครัวอยู่ในประเทศที่3 และประสงค์ไปหาครอบครัวก็ต้องช่วยดำเนินการให้เดินทางไปหาครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ศิววงศ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หากชาวโรฮิงญาไม่มีครอบครัวอยู่ในประเทศที่สาม หรือไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้ลี้ภัย พวกเขาก็จะถูกกักตัวอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลานาน ก่อนที่จะถูกส่งกลับทางเรือไปยังประเทศต้นทาง แต่มีการสำรวจพบหลายครั้งว่าชาวโรฮิงญามักจะไปไม่ถึงที่หมาย และจะวนเวียนกลับมาถูกจับกุมอีกครั้งแล้วครั้งเล่า มีบางรายเคยถูกจับมาแล้ว 3 ครั้ง

ศิววงศ์ให้ความเห็นว่าสิ่งที่ รัฐบาลไทยควรจะทำคือ รัฐบาลไทยก็ควรจะยอมให้ตรวจคนเข้าเมืองใช้อำนาจตามมาตรา 54 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้มีการประกันตัวชาวโรฮิงญาออก และให้อาศัย และทำงานในพื้นที่กำหนดไว้ อย่างน้อยยังสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีกว่า ถึงกักตัวอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง และเรื่องของกระบวนการคัดแยกนั้นควรที่จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดไม่ควรเร็วเกินไป และให้ทีมสหวิชาชีพเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบคัดแยกด้วย ซึ่งขณะนี้ทีมสหวิชาชีพ และผู้แทนของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งประชาชาติได้ลงเข้าไปในพื้นที่แล้ว

 

เรียบเรียงจาก : ไทยรัฐออนไลน์ , ASTV ผู้จัดการออนไลน์ , เว็บไซด์สำนักข่าวไทย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net