"รัฐสร้างผี" : ว่าด้วยการจัดการความสัมพันธ์ภายในสังคมของรัฐและชุมชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

        

         

การปรากฏตัวขึ้นของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ออกมาให้ข่าวว่า "...เป็นห่วงเศรษฐกิจประเทศไทยกำลังแย่ เห็นใจผู้มีรายได้น้อย เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน คนหาเช้ากินค่ำจะลำบากมาก อีกทั้งยังมีแรงกดดันจากต่างประเทศจะทำให้ลำบากมากขึ้น ฉะนั้นจะต้องใช้คนมีความรู้ความสามารถจริงๆแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม คงต้องเปิดโอกาสให้รัฐบาลทหารทำงานเต็มที่ คนในพรรคเพื่อไทย (พท.) คนเสื้อแดง อย่าไปขัดขวาง เพราะลำพังปัญหาในปัจจุบันก็หนักมากอยู่แล้ว หากแก้ไขไม่ได้เดี๋ยวจะถูกกล่าวโทษว่าไปสร้างปัญหา..."[1]

จากคำกล่าวนี้แน่นอนว่าทักษิณนั้นจะยิ่งกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนอีกต่อไปแล้วในกลุ่มของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย เพราะเนื่องจากไม่มีถ้าทีจะต่อต้านยังกลับไปสนับสนุนเผด็จการ แต่สำหรับฝ่ายตรงข้ามที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือผู้สนับสนุนทหารกลับมองมากไปกว่านั้น พวกเขามองทักษิณนั่นแหละที่เป็นตัวการของปัญหาความวุ่นวายทั้งหมดของบ้านเมือง ซึ่งถึงแม้ทักษิณจะพูดอย่างไรพวกเขาก็คิดว่าคงไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมาได้ ซ้ำร้ายอาจจะมีนัยยะทางการเมืองซ่อนอยู่ด้วยก็เป็นได้ เป็นความหวาดกลัว ระแวง และเกลียดชัง ที่แฝงอยู่ในความคิดของคนกลุ่มดังกล่าวนี้[2]

หากย้อนกลับไปในช่วงปลายปีที่แล้วก็ได้มีข่าวที่ถูกปล่อยออกมาสู่สังคมเกี่ยวกับต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ โดยมีการกล่าวหาว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้อยู่เบื้องหลังวิกฤติเศรษฐกิจ โดยไปปั่นหุ้นให้หุ้นตกอย่างรุนแรงและต่อเนื่องหลายวัน จนไปสร้างความไม่มั่นใจต่อนักลงทุน ด้วยการกล่าวหานี้ได้ทำให้รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยต้องออกมาชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง[3]ทำให้ชวนสังเกตว่าข่าวลือดังกล่าวนี้มีความสำคัญและแรงสะท้อนขนาดที่รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยต้องออกมาชี้แจงเลยหรือ

ด้วยเหตุนี้เองชวนให้เห็นได้ว่าผู้คนในสังคมไทยและกลุ่มการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้มองทักษิณเป็นนักการเมืองที่ฉ้อฉลหรือเป็นบุคคลที่ทุจริตคอรัปชั่นแต่เพียงเท่านั้น แต่กลุ่มคนเหล่านี้เลือกที่จะมองทักษิณ เป็นเสมือน "ผี" ที่คอยดลบันดาลให้สังคมไทยประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ตลอดมา

จากที่ได้กล่าวมานี้ได้ทำให้นึกถึงงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง "การเมืองเรื่องผีทักษิณ"[4]งานชิ้นดังกล่าวได้อธิบายถึงสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงปี พ.ศ. 2550-2551 ซึ่งนิธิได้กล่าวเอาไว้ว่าในทางการเมืองนั้น ทักษิณ ชินวัตร ตายไปแล้ว ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ก็คือ คนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่กลุ่มกระฎุมพีหรือชนชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ ไว้วางใจว่าจะรักษาสมดุลแห่งผลประโยชน์ให้ลงตัว ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ต้องโดนทำให้ออกจากตำแหน่ง ดังนั้นนายกฯที่ถูกรัฐประหารไปแล้ว ไม่อาจที่จะรับความไว้วางใจนั้นได้อีก[5] ดังนั้นทักษิณจึงเป็นเพียงแค่ผีสำหรับแวดวงการเมืองไทย นิธิ ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่าถึงแม้ทักษิณจะตายไปแล้วในทางการเมืองและหมดประโยชน์ทางการเมืองกลับกลุ่มชนชั้นนำ แต่ผีทักษิณยังคงอยู่ และสามารถใช้ได้ ก็ถูกปลุกขึ้นมาให้สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจในกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี[6]

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าผีทักษิณถูกปลุกครั้งแล้วครั้งเล่าจากกลุ่มกระฎุมพีหรือชนชั้นนำที่เสียผลประโยชน์จากนโยบายของทักษิณ และด้วยความต้องการที่จะสยบและควบคุมมวลชนที่กำลังตื่นตัวขึ้นอยู่ตลอดเวลาของรัฐ การสร้างผีทักษิณจึงเป็นกระบวนการของการจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐใหม่ เป็นการโน้มน้าว(บังคับ)ให้กลุ่มมวลชนที่นิยมในตัวของทักษิณหมดความศรัทธาในตัวเขา และเมื่อมีผี ก็จำเป็นที่จะต้องมีเทวดา(ซึ่งก็คือผี)เพื่อปราบผี ทางภาครัฐและกลุ่มกระฎุมพีจึงต้องยกเอาอุดมการณ์กษัตริย์นิยมขึ้นเป็นเทวดาเข้ามาควบคุมมวลชนไปพร้อม ๆ กับการใช้ผีทักษิณ เพื่อโน้มน้าวให้มวลชนหวาดกลัวทักษิณและเดินเข้าหาอุดมการณ์กษัตริย์นิยม

อย่างไรก็ตามกลุ่มกระฎุมพีหรือชนชั้นนำก็ต้องประสบกับปัญหาในการใช้ผีทักษิณ เพราะเนื่องจากมวลชนที่เคยได้รับผลประโยชน์จากนโยบายของทักษิณได้ตื่นขึ้นมาหลังการรัฐประหาร 2549 และกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่โง่ จน เจ็บอย่างที่กลุ่มชนชั้นนำหรือคนชั้นกลางเข้าใจกัน พวกเขารู้ว่าอะไรเป็นอะไรและมีการเปิดกว้างมากกว่ากลุ่มคนชั้นกลางเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นผีทักษิณจึงไม่สามารถที่จะไปสร้างความหวาดกลัวให้กับกลุ่มมวลชนได้ แต่ขณะเดียวกันผีทักษิณได้ย้อนกลับไปสร้างความหวาดกลัวให้กับคนชั้นกลางแทน จนทำให้พวกเขานั้นหลงคิดไปว่าปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นเป็นเพราะผีทักษิณดลบันดาลให้เกิด เป็นการหวาดกลัวที่ออกจะเกินความเป็นจริงแต่ก็เป็นผลมาจากการที่ชนชั้นนำต้องการจัดการความสัมพันธ์ภายในเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน

การปลุกผีทักษิณนั้นก็ไม่ได้มีแค่เพียงแต่ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายทักษิณแต่เพียงเท่านั้น แต่ภายในขบวนการคนเสื้อแดงเองก็ยังคงปลุกผีทักษิณให้กลายเป็นเทวดาพิทักษ์คนจน เพื่อจัดการกับความสัมพันธ์ภายในขบวนการให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อใช้ต่อรองกับอำนาจของฝ่ายชนชั้นนำ ถึงแม้ว่าภายหลังกลุ่มคนเสื้อแดงเองจะปรับเปลี่ยนการต่อสู้ของตนให้มีความหมายที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าประชาธิปไตยดังกล่าวนี้มีทักษิณ ชินวัตรรวมอยู่ในนั้นด้วย

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าการ "สร้างผี" เป็นการสร้างการจัดการความสัมพันธ์ภายใน เพื่อที่จะใช้จัดความสัมพันธ์ในสังคมว่าควรจะเป็นอย่างไร สัมพันธ์กันแบบไหน สิ่งไหนควรและไม่ควรกระทำ หรือเป็นส่วนหนึ่งของ "การสร้างอัตลักษณ์" เพื่อใช้จัดการต่อรองหรือรักษาผลประโยชน์ร่วมของกลุ่มการเมือง ซึ่งการสร้างผีดังกล่าวนี้ไม่ใช่ผีทักษิณจะเป็นผีรายแรกของรัฐ แต่หากมองย้อนกลับไปเราก็จะพบว่าในช่วงหนึ่งรัฐบาลของไทยก็ได้สร้างผีต่าง ๆ ขึ้นมามากมายเพื่อจัดการความสัมพันธ์ภายในประเทศและเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มรัฐบาลในขณะนั้น

แต่อย่างไรก็ตามหากจะบอกว่าการสร้างผีเป็นการจัดความสัมพันธ์ภายในของรัฐสมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คงจะไม่ถูก เพราะการสร้างผีเพื่อการจัดการความสัมพันธ์ภายในนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่การอยู่รวมกันเป็นชุมชนเกษตรกรรมซึ่งเป็นชุมชนการผลิตแบบยังชีพ หรือก่อนที่รัฐหรือเศรษฐกิจแบบเงินตราจะเข้ามาแทรกแซงเสียด้วยซ้ำ

บทความชิ้นนี้ต้องการที่จะกล่าวถึงกระบวนการจัดการความสัมพันธ์ภายในของชุมชนด้วยการใช้ผี เพื่อที่จะเข้าไปจัดการความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของชุมชนจนมาถึงช่วงที่รัฐได้เข้ามาแทรกแซง รัฐก็ได้สร้างกระบวนการจัดการความสัมพันธ์ดังกล่าวใหม่เพื่อให้ชุมชนนั้นขึ้นตรงต่อรัฐ การสร้างผีก็ยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง กินเวลามาจนถึงปัจจุบันการสร้างผีก็ยังคงเป็นอีกกลไกในการจัดการความสัมพันธ์ภายในได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งในสังคมไทยนั้นได้เกิดผีขึ้นอย่างมากมาย เราจะเห็นได้ว่าตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่การศึกษา สื่อ องค์กรรัฐและเอกชน เป็นต้น ก็จะมีผีของตนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดการและกำกับความสัมพันธ์ภายในพื้นที่ของตน ดังนั้นการสร้างผีจึงเป็นกลไกที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งทางสังคมที่เราไม่ควรจะมองข้าม ดังคำกล่าวของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ว่า เพราะความน่ากลัวของผีนั้นจะมีอยู่ได้ ก็ตรงที่ไม่รู้อันตรายของมันที่แน่ชัด[7]ดังนั้นผีมันจึงสามารถที่จะพาสังคมไปสู่ความสงบสุขได้มากพอ ๆ กับความวุ่นวาย ตามแต่ใจปรารถนาของผู้ที่สามารถจะก้าวขึ้นมาใช้มันเพื่อผลประโยชน์ของตน

ชุมชนกับการสร้างผี

การอยู่รวมกันของชุมชนเกษตรกรรมในระบบการผลิตเพื่อยังชีพก่อนที่ทุนนิยมจะเข้ามาหรือเกิดการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สิ่งที่สำคัญในการดำรงชีพของชุมชนนั้นเงินตราหาใช่สิ่งสำคัญแต่ทีเดียว ความสำคัญของชุมชนในระบบการผลิตเพื่อยังชีพนั่นก็คือป่าไม้ ที่ดิน และแหล่งน้ำ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ดังนั้นหากขาดปัจจัยดังกล่าวก็เท่ากับขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการย้ายถิ่นฐานเพื่อไปหาที่ทำกินซึ่งมักจะปรากฏอยู่ในบันทึกเรื่องราวของการกำเนิดชุมชนต่าง ๆ ในปัจจุบันที่บรรพบุรุษของชุมชนมักจะอพยพโยกย้ายถิ่นฐานอันเนื่องมากจากความแห้งแล้งกันดาร

ดังนั้นการมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของชุมชนในระบบการผลิตแบบยังชีพ ทรัพยากรดังกล่าวจึงเป็นเสมือน "ทุน" ที่คนในชุมชนสามารถเข้าถึงได้เท่า ๆ กันเพื่อการดำรงชีพ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบในการใช้ทรัพยากร จำเป็นที่จะต้องมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดการสร้าง "ผี" ขึ้นเพื่อใช้จัดการความสัมพันธ์ภายในของชุมชนในระบบการผลิตแบบยังชีพ โดยการสร้าง "ผี" นี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่าเป็นการกำหนดให้มนุษย์ตักตวงถือประโยชน์จากธรรมชาติในขอบเขตที่จำกัด(บนความพอดี)[8]     

การสร้างผีนั้นไม่อาจที่จะกระทำขึ้นหรือกล่าวขึ้นลอย ๆ ได้ จำเป็นที่จะต้องมีการประดิษฐ์พิธีกรรมมาเป็นส่วนประกอบเพื่อให้คนในชุมชนนั้นรู้สึกว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และความน่ากลัว จึงนำไปสู่ประเพณีการไหว้ผีต่าง ๆ เมื่อเวลาจะทำการสิ่งใดเช่นตัดไม้ ทำนา เกี่ยวข้าว ล่าสัตว์ เป็นต้น หนึ่งเหตุผลในนั้นก็คือเป็นการบอกชุมชนว่าตนนั้นกำลังจะทำอะไร โดยผ่านพิธีกรรมเพื่อให้การกระทำของตนนั้นได้มีความเห็นชอบจากชุมชน ทำให้บุคคลไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ตามอำเภอใจในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติได้เพราะมีผีคอยควบคุมอยู่ ซึ่งพิธีกรรมที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นเสมือนการผลิตซ้ำเพื่อส่งต่อให้พิธีกรรมดังกล่าวได้คงอยู่และให้ผีได้คอยควบคุมการใช้ทรัพยากรในชุมชนต่อไป

อีกทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ก็ได้มีการใช้ผีในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการใช้ผีมาเป็นตัวกำหนดกรอบความสัมพันธ์ของผู้ชายและผู้หญิง ให้อยู่ในกรอบที่ไม่สะเทือนต่อระบบของชุมชนจนเกินไป[9]ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวหาในเรื่องของการผิดผี เป็นต้น หรืออย่างเช่นความเชื่อในเรื่องของผีกะ ซึ่งเป็นความเชื่อทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีกะในชุมชนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีที่ดิน จึงถูกกล่าวหาว่าเป็นผีกะจากคนในชุมชน เพราะเนื่องจากต้องการกีดกันไม่ให้ลูกหลานในตระกูลของผู้กล่าวหาไปแต่งงานกับพวกผีกะ เพราะเกรงว่าจะเสียที่ดิน[10]ทำให้เห็นได้ว่าที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตนั้นมีความสำคัญมากในระบบการผลิตเพื่อยังชีพ

หรือในกรณีของผีปู่แสะย่าแสะซึ่งเป็นความเชื่อของทางภาคเหนืออีกเช่นกัน ซึ่งความเชื่อในเรื่องของผีปู่แสะย่าแสะนี้จัดได้ว่าสะท้อนการอยู่ร่วมกันในชุมชนเกษตรกรรมอย่างเห็นได้ชัด โดยอานันท์ กาญจนพันธุ์ ได้อธิบายถึงองค์ประกอบของพิธีการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ว่าก็คือการฆ่าควายเพื่อเซ่นสังเวยผี อีกทั้งยังมีการเข้าทรงผีปู่แสะย่าแสะและบริวาร เพื่อทำนายเกี่ยวกับสภาวะทางธรรมชาติ โดยเฉพาะฝนที่มีความสำคัญมากทางการเกษตร[11]

พิธีกรรมเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะนี้ก็คือการจัดการความสัมพันธ์ภายในของชุมชน โดยจะเห็นได้จากการฆ่าควาย มีเรื่องเล่าว่าปู่แสะย่าแสะนั้นแต่เดิมจะกินมนุษย์ แต่เมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้าหลังจากนั้นปู่แสะย่าแสะก็เปลี่ยนมากินควายแทนคน โดยจะมีคนไปถวายให้ทุกปี หากปีไหนปู่แสะย่าแสะไม่ได้กินควายก็จะมากินคนแทน[12]อานันท์ กาญจนพันธุ์ได้อธิบายตรงส่วนนี้โดยชี้ให้เห็นว่าควายนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะในสังคมเกษตรกรรมซึ่งเป็นการผลิตเพื่อยังชีพ ควายจึงมีความหมายเทียบเคียงได้กับชีวิตของคน การสังเวยควายจึงเปรียบเสมือนการเสียสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของชุมชน[13]

อีกทั้งหลังจากพิธีเสร็จสิ้นก็จะมีการแบ่งเนื้อควาย ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของชุมชนเกษตรกรรม ดังนั้นการใช้ผีปู่แสะย่าแสะมาเป็นเครื่องมือในการจัดการความสัมพันธ์ภายในก็เพื่อที่จะให้ชุมชนนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ เหมือนเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำการเกษตรของคนในชุมชน และเป็นการรวมตัวกันของคนในชุมชนซึ่งเป็นนัยยะของการสร้างความสามัคคี เพราะการผลิตแบบยังชีพนี้ยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกัน น่าคิดว่าหากไม่มีควายให้ผีปู่แสะย่าแสะกิน ความสามัคคีก็คงเกิดได้ยาก เมื่อการพึ่งพาอาศัยกันไม่เกิดขึ้น การผลิตเพื่อยังชีพก็จะเป็นไปได้ยาก สุดท้ายคนที่จะตายก็คือคน

การนับถือผีของชุมชนค่อนข้างที่จะมีความแตกต่างจากรัฐจารีตอยู่พอสมควร เพราะเนื่องจากการนับถือผีของรัฐจารีตจะเป็นไปแบบพิธีพราหมณ์-ฮินดู ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่มีความซับซ้อนมากกว่าชุมชนเพราะเนื่องด้วยปัจจัยการผลิตที่มีการค้าขายของรัฐจารีตจึงทำให้เกิดการสะสมส่วนเกินจากการผลิต ผลประโยชน์และอำนาจจึงเป็นจุดมุ่งหมายมากกว่าการแค่มีเพียงที่ดินทำกิน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐจารีตด้วยการสร้างผีต่าง ๆ ขึ้น ดังจะเห็นได้จากพิธีถือน้ำพิพัฒสัตยาหรือโองการแช่งน้ำที่มีการใช้ผีในการเข้ามาจัดการกับผู้ไม่จงรักภักดีหรือคิดการขบถ หรือผู้ละเมิดความสัมพันธ์ภายในที่ได้ถูกวางเอาไว้ ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้

"...ผีดงผีหมื่นถ้ำ ล้ำหมื่นผา มาหนน้ำหนบก ตกนอกขอกฟ้าแมน แดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ ล่อหลวงเต้า ทังภูติเหง้าพนัศบดี ศรีพรหมรักษ์ยักษ์กุมาร หลายบ้านหลายท่า ล้วนผีห่าผีเหว เร็วยิ่งลมบ้า หน้าเท่าแผง แรงไกยเอาขวัญ ครั้นมาถึงถับเสียงเยียชระแรงชระแรง แฝงข่าวยินเยียชระรางชระราง รางชางจุบปากเยียจะเจี้ยวจะเจี้ยว เขี้ยวสรคานอานมลิ้นเยียละลาบละลาบ ตราบมีในฟ้าในดิน บินมาเยียพะพลุ่งพะพลุ่ง จุ่งมาสูบเอา เขาผู้บ่ซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถเกียจกาย ว่ายกะทู้ฟาดฟัด คว้านแคว้นมัดศอก หอกดิ้นเด้าเท้าทก หลกเท้าให้ไปมิทันตาย หงายระงมระงม ยมพบาลลากไป ไฟนรกปลาบปลิ้นดิ้นพลาง เขาวางเหนืออพิจี ผู้บ่ดีบ่ซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถแก่เจ้า ผู้ผ่านเกล้าอยุธยา..."[14]

จากโองการแช่งน้ำดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่ารัฐจารีตได้ใช้ผีให้มาเป็นเครื่องมือผ่านโองการแช่งน้ำในการจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐจารีต เพื่อไม่ให้เกิดการขบถหรือก้าวก่ายในสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกวางเอาไว้ พร้อมกับการพรรณนาถึงความน่ากลัวต่าง ๆ จึงเป็นการแสดงภาพของผีและจุดจบของผู้ที่คิดจะท้ายอำนาจนั้นไว้อย่างชัดเจน ทำให้ผีมีความน่ากลัวในสังคมรัฐจารีต ซึ่งคล้ายกันกับชุมชน แต่อาจแตกต่างกันตรงรูปแบบการใช้และจุดประสงค์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ซึ่งต่อมาระบบทุนนิยมได้เข้ามาสู่ชุมชนและรัฐจารีต จนนำไปสู่การสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น จึงทำให้ผีที่เคยใช้เป็นตัวจัดการความสัมพันธ์ภายในของทั้งชุมชนและรัฐจารีตต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือเปลี่ยนที่รูปแบบของการใช้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมแบบใหม่ที่สืบเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจ และเพื่อให้เป็นไปต่อการรับใช้ต่ออุดมการณ์แห่งรัฐสมัยใหม่

รัฐสมัยใหม่กับการสร้างผี

ถือได้ว่าการก้าวขึ้นมาเป็นรัฐสมัยใหม่และการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น สาเหตุหลักก็คือการสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เปิดเสรีทางการค้า ส่งผลให้สภาพสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย อีกทั้งการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จำเป็นที่จะต้องสร้างสำนึกใหม่ให้กับคนในรัฐ ดังนั้นความเชื่อท้องถิ่นต่าง ๆ จึงต้องถูกลดทอนความสำคัญลงหรือไม่ก็ต้องถูกล้มเลิกลงไป อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ในช่วงเริ่มแรกของการใช้ผีในการจัดการความสัมพันธ์ภายในของรัฐสมัยใหม่นี้ จำเป็นที่จะต้องลดทอนความเชื่อในท้องถิ่นต่าง ๆ ลงไปก่อน ความเชื่อในเรื่องผีในชุมชนก็ได้ถูกลดทอนและบางส่วนก็ถูกทำลายลงด้วย ซึ่งพระไพศาล วิสาโล ได้อธิบายไว้ว่า ไสย(ผี)[15]ไม่ใช่เป็นเรื่องของการพึ่งพาอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้วน ๆ แต่ได้มีส่วนที่เป็นศีลธรรมคอยกำกับไว้ เพื่อแสวงหาความสุขแบบโลก ๆ ให้อยู่ในขอบเขต ซึ่งการมาของการรวมศูนย์อำนาจที่นำไปสู่การปฏิรูปศาสนา ทำให้การนับถือผีเป็นอันต้องถูกต่อต้านอย่างหนักตามไปด้วย อย่างเช่นกรณีของพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร และพระอาจารย์ผาง จิตตคุตโต ซึ่งได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเผาศาลปู่ตาในหมู่บ้าน[16]แสดงให้เห็นถึงการรวมศูนย์อำนาจ ที่ประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ จะต้องมีสำนึกไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการลดทอนความเชื่อของท้องถิ่นลงอยู่ตลอดนั้น รัฐส่วนกลางจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสำนึกร่วมกันในรัฐสมัยใหม่นี้ หนึ่งในกระบวนการนั้น การสร้างผี จึงได้ถูกนำมาใช้ ดังจะเห็นได้จากผีของสยามตัวแรก ๆ นั่นก็คือพระสยามเทวาธิราช ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการแสดงให้เห็นว่าแผ่นดินสยามนั้นรอดพ้นจากเงื้อมมือตะวันตกมาได้เพราะส่วนหนึ่งมีเทวดาคอยอารักษ์อยู่ การสร้างคู่ตรงข้ามที่เป็นพวกตะวันตกที่จะเข้ามาเอาดินแดน ได้ทำให้เกิดการสร้างพวกเขาขึ้น และให้เกิดสำนึกในความเป็นเรา การนับถือพระสยามเทวาธิราชเป็นการจัดการความสัมพันธ์ภายในว่าคนสยามควรจะคิดถึงบ้านเมือง ให้รู้สึกว่าตนเป็นหนึ่งในบ้านเมืองไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ซึ่งพระสยามเทวาธิราชก็ยังคงถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นการนับถือผียังคงมีอยู่แต่กลับเป็นผีในรูปแบบของรัฐส่วนกลาง ที่เข้าไปจัดการความสัมพันธ์ภายในของรัฐ ในท้องถิ่นต่าง ๆ ให้มีสำนึกร่วมกัน อย่างไรก็ตามการสร้างผีจะดูเข้มข้นมากยิ่งขึ้น หลังจากที่จะต้องเผชิญกับค่ายของอุดมการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เข้ามากระทบสู่สังคม จนทำให้รัฐบาลต้องเร่งจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าตนเองนั้นควรจะเป็นอย่างไร ทำอะไร และควรจะกลัวอะไรหรือต่อต้านอะไร การสร้างผีขึ้นมาก็ยังคงสร้างและใช้กันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ผีแห่งชาติ

หลังจากเกิดการสร้างชาติอย่างเข้มข้นในยุคสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม พร้อมกับการเข้าร่วมในสงครามอินโดจีน มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำให้เกิดความสามัคคีกันภายในชาติ มีการสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นไทยขึ้นหลายประการ และมีการอธิบายลักษณะที่ไม่ใช่ความเป็นไทยเอาไว้ด้วย ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวและหลังจากนี้ "ผี" ที่เกิดขึ้นจะมีความหมายที่เป็นลักษณะของการ "เป็นฝ่ายตรงข้าม" กับทางรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันอย่างที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่ามีผีร้ายก็จำเป็นที่จะต้องมีเทวดา(ผี)มาปราบผี รัฐจึงเป็นตัวการในการผลิตผีทั้ง 2 ชนิดนี้ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐ อีกทั้งรูปแบบการใช้หรือการผลิตซ้ำก็จะแตกต่างไปจากเดิมด้วยการใช้สื่อจากทางภาครัฐ

ดังจะเห็นได้จากในช่วงสงครามอินโดจีนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสมัยดังกล่าวถือได้ว่าความคิดในเรื่องชาตินิยมได้แพร่หลายในสังคมไทย อะไรก็ตามที่จะไปกระทบต่อความสัมพันธ์ภายในชาติย่อมต้องถูกกำจัด ศัตรูที่เป็นภัยอยู่ภายนอกประเทศก็ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงอยู่แล้ว แต่ศัตรูภายในนั้นย่อมอันตรายมากกว่า รัฐบาลจึงใช้สื่อในการสร้างภาพของความเป็นภัยให้กับพวกที่ทรยศประเทศชาติ ดังนั้น "ผีแนวที่ 5" ในยุคสมัยดังกล่าวจึงเกิดขึ้น

แนวที่ 5 (Fifth column) เป็นคำที่ใช้เรียกไส้ศึกหรือสายลับที่ทำงานให้กับศัตรู หรือแอบแฝงเข้ามาสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เกิดผลร้ายต่อรัฐ ดังนั้นรัฐจึงได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนเพื่อให้ระมัดระวังในสิ่งดังกล่าว และหากพบเจอก็จำเป็นที่จะต้องต่อต้าน เนื่องด้วยการผ่านกระบวนการผลิตซ้ำทั้งทางวิทยุหรือป้ายประกาศที่ให้ภาพของอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากแนวที่ 5 จึงเสมือนว่ารัฐได้กลายเป็นผู้ปลุกผีแนวที่ 5 ขึ้น เพื่อให้ประชาชนนั้นต่างระมัดระวังตัวไม่ให้แพร่งพรายความลับของชาติออกไป

ดังจะเห็นจากประกาศในสมัยดังกล่าวที่มีใจความว่า "เงียบไว้ปลอดภัยดีกว่า ! ศัตรูของชาติไทยกำลังเงี่ยหูฟังอยู่ทุกแห่ง ! ..." แนวที่ 5 นี้ จึงสามารถที่จะเป็นใครก็ได้ สามารถก่อให้เกิดสถานการณ์ร้าย ๆ ภายในรัฐก็ได้ คล้ายกับผีที่ดลบันดาลให้เกิดเรื่องร้าย ๆ ได้ จึงเป็นความหวาดกลัวของสังคมที่จะพูดหรือแพร่งพรายความลับของชาติ และต้องคอยสอดส่องดูแลชุมชนหรือพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้พวกแนวที่ 5 เข้ามาสร้างสถานการณ์ได้ นับว่าความกลัวผีดังกล่าวนี้รัฐได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ในช่วงสถานการณ์ที่คับขันในเวลานั้น

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นหวาดกลัว(ผี)แนวที่ 5 มากที่สุดก็คือ"การให้ร้าย" และการให้ร้ายด้วยข้อกล่าวหาดังกล่าวที่ได้ผล ย่อมแสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวที่สมบูรณ์แบบจากทางภาครัฐและประชาชน ดังจะเห็นได้จากกรณีคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กิจบำรุง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวที่ 5 และถูกจับในปี พ.ศ.2484 จนเสียชีวิตภายในห้องขังนั้นเอง ในปี พ.ศ.2487 โดยก่อนหน้านั้นพระสังฆราชแปร์รอสได้มีจดหมายลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1984 ไปถึงหลวงอดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ เพื่อชี้แจงว่าคุณพ่อนิโคลาสไม่มีความผิด ดังมีใจความว่า

"...บาทหลวงบุญเกิดนั้นถูกขังอยู่ที่สีคิ้วเป็นเวลาหลายวัน แล้วต้องไปติดอยู่ที่คุกนครราชสีมาจนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ได้ถูกย้ายมาที่พระนคร ถูกขังอยู่ที่สถานีตำรวจศาลาแดงขอท่านอธิบดีโปรดพิจารณาความ จะได้ทราบว่าบาทหลวงบุญเกิดไม่มีความผิด ถูกคนเกลียดมาใส่ความว่าเป็นแนวที่ 5 ที่จริงไม่เคยเป็นเลย จึงเมื่อไม่มีผิด ก็ขอให้ปล่อยตามข้อ 13 แห่ง รัฐธรรมนูญ..."[17]

เราจะเห็นได้ว่าการสร้างผีแนวที่ 5 ของรัฐดังกล่าวนี้ ได้กลายเป็นอาวุธของการทำลายศัตรูอย่างได้ผล และเมื่อรัฐมีความกระตือรือร้นที่จะตอบสนองต่อการให้ร้ายดังกล่าวนี้ด้วยการลงโทษทางกฎหมายหรือสังคมอะไรก็ตาม ย่อมหมายความว่ารัฐหรือสังคมเองก็มีความหวาดกลัวในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกันอย่างที่กล่าวไปว่าเมื่อมีผีร้าย ก็ต้องมีผีดีเพื่อทำให้สังคมที่หวาดกลัวต่อความร้ายกาจของผี(ที่รัฐสร้างขึ้น)ได้พึ่งพิง หรือเอาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต หรือปฏิบัติตนภายในรัฐ การปลุกผีบรรพบุรุษในประวัติศาสตร์ผ่านการปรุงแต่งด้วยจิตสำนึกของอุดมการณ์ชาตินิยมซึ่งล้วนเต็มไปด้วยความแยกเขาแยกเราและความเกลียดชังต่อสิ่งที่ไม่ใช่พวกเรา ที่ได้ถ่ายทอดออกมาสู่ละคร ภาพยนตร์ หนังสือเรียน เป็นต้น เข้ามาจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐ เพื่อให้คนในรัฐควรที่จะนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ซึ่งผีบรรพบุรุษดังกล่าวนี้ได้ถูกใช้จนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการปลุกผีชาวบ้านบางระจัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามก็ยังมีผีอีกตนหนึ่งซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าหลายท่านน่าจะรู้จักกันดี นั่นก็คือผีคอมมิวนิสต์ กล่าวได้ว่าแท้จริงแล้วคอมมิวนิสต์ก็คือขบวนการทางการเมืองชนิดหนึ่งนั่นเอง ซึ่งแนวทางของคอมมิวนิสต์ต้องการที่จะสร้างสังคมที่ปราศจากชนชั้น และต้องการให้ประชาชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกัน ดังนั้นผลกระทบจึงไปตกอยู่ที่กลุ่มนายทุนหรือชนชั้นนำในสังคม เพราะเนื่องจากขบวนการดังกล่าวนี้ถูกสถาปนาขึ้นสำเร็จเมื่อใด มันสะท้อนถึงการล่มสลายของตนเมื่อนั้น จึงเป็นความจำเป็นที่รัฐจะต้องจัดการความสัมพันธ์ภายในเพื่อป้องกันภัยดังกล่าว ดังนั้นการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ของรัฐจึงมีได้หลายวิธี อย่างเช่น ผู้มิตรกับประเทศโลกเสรีประชาธิปไตย ผูกมิตรกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม จับกุมและปราบปราม หรือไม่ก็"ปลุกผี"คอมมิวนิสต์ขึ้นมา

หากจะกล่าวว่ารัฐบาลปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมาก็คงจะไม่ผิด เพราะเนื่องจากในยุคสมัยดังกล่าวนั้นชาวบ้านยังไม่รู้จักว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร มีแต่เพียงรัฐเท่านั้นที่ได้สร้างภาพของคอมมิวนิสต์ให้กับประชาชน เพื่อผลประโยชน์ในทางการเมือง และต้องการจัดความสัมพันธ์ภายใน เพื่อไม่ให้ประชาชนไปยุ่งเกี่ยวกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ เพราะเนื่องจากแนวคิดดังกล่าวจะไปกระทบกับผลประโยชน์ของชนชั้นนำ

ความหวาดกลัวผีคอมมิวนิสต์ในสังคมไทยที่ถึงจุดขีดสุด โดยได้แสดงผ่านจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยกล่าวได้ว่าในช่วงก่อนหน้าของเหตุการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ประการทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เบเนดิก แอนเดอร์สัน ได้อธิบายถึงปัจจัยการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า เนื่องจากโครงสร้างทางชนชั้นของสังคมไทยได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ได้เกิดชนชั้นกลางใหม่ขึ้นเพราะเนื่องจากการเฟื่องฟูของเศรษฐกิจในยุคสงครามเวียดนามที่ได้ทำให้ทุนอเมริกันได้ทะลักหลั่งไหลเข้าประเทศ       

ความเฟื่องฟูดังกล่าวนี้เป็นเพราะประเทศไทยได้พึ่งพิงอยู่กับทุนอเมริกัน แต่เมื่อถึงปี 2518 ที่มั่นของอเมริกาในอินโดนจีนก็ทลายลงไป เพราะเนื่องจากการถอนทหารของสหรัฐฯ จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอย่างมาก อีกทั้งความตึงเครียดในเรื่องของภัยคอมมิวนิสต์ก็ได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการนัดหยุดงานของเหล่ากรรมกรและเกิดการชุมนุมโดยนักศึกษาหลายครั้ง จึงทำให้พวกชนชั้นกลางใหม่ได้รับความเดือดร้อน และเนื่องจากหนังสือพิมพ์นิตยสารไทยฉบับต่าง ๆ ที่ทรงอิทธิพลในสังคมจะอยู่ในอุ้งมือของกลุ่มธุรกิจใหญ่ ก็ได้เฝ้าโจมตีการนัดหยุดงานของเหล่ากรรมกรว่าทำลายชาติ การที่เศรษฐกิจย่ำแย่ลงนั้นเกิดจากกรรมกรทำอะไรไม่รับผิดชอบ ปัจจัยต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมานี้ได้ทำภาพลักษณ์ของนักศึกษากลายเป็น "พวกตกงาน ชอบปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย" และได้ตกเป็นเป้าหลักของอารมณ์ที่หงุดหงิดของบรรดาชนชั้นกลางใหม่ ดังนั้นการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาในช่วงนั้นได้กลายเป็นเป้าของความโกรธแค้นและเกลียดชังของชนชั้นกลางใหม่จึงนำไปสู่การล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนตุลาคม 2519[18]

จะเห็นได้ว่าความตึงเครียดในสังคมดังกล่าวนี้เป็นผลอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบมาจนถึงสังคม อย่างไรก็ดีการสร้างผีของรัฐก็ได้มีส่วนอย่างมากในการเข้าไปสร้างความตึงเครียดในสังคม เพราะเนื่องจากการถอนทหารของอเมริกัน ได้ทำให้ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์มีมากขึ้นเพราะจะไม่มีกองทัพอเมริกันคอยหนุนหลังอีกแล้ว การหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ดังกล่าวนี้ ก็เป็นผลอันเนื่องมาจากการสร้างผีของรัฐนั่นเอง อีกทั้งในช่วงเวลาก่อนการล้อมปราบ สื่อต่าง ๆ ของทางภาครัฐก็ล้วนมีบทบาทอย่างมากในการปลุกระดมและสร้างภาพของผีร้ายขึ้นอีกด้วย

การมองคนไม่ใช่คน การมองคนเป็นผีที่จะต้องถูกกำจัด ย่อมส่งผลให้เกิดความสูญเสียตามมาเป็นอย่างมาก แต่ถ้ามองกลับกันแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า รัฐกลับได้ประโยชน์อย่างมากในการใช้ผีเพื่อสร้างความมั่นคงของรัฐไทยเอาไว้ แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยความสูญเสีย หรือต้องถูกประณามอย่างไร มันก็ยังเป็นความโสมมที่สร้างผลประโยชน์ให้ในระดับที่น่าพอใจ

ยุคสมัยปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบันผีคอมมิวนิสต์หรือผีแนวที่ 5 จะเสื่อมพลังลงไปจนไม่สามารถที่จะใช้จัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐได้อีกแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีผีตนอื่นอย่างมากมายที่รัฐจะเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นผีบรรพบุรุษดังที่ได้กล่าวไป ที่ถูกขุดมาครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านทั้งหนังสือแบบเรียน สื่อโทรทัศน์ ละคร หรือภาพยนตร์ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างมาจัดการความสัมพันธ์ภายในรัฐทั้งสิ้น

ผีในปัจจุบันที่รัฐใช้ในการจัดการความสัมพันธ์ภายในที่บ่อยที่สุด แต่อาจจะอยู่นอกเหนือความสนใจและความรู้สึกของบุคคลทั่วไป นั่นก็คือ เหล่าบรรดาผีทั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้นเป็นละคร หรือซีรีย์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะนำเสนอในเรื่องของความน่ากลัว แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้นกลับแฝงไว้ด้วยศีลธรรม ค่านิยมของรัฐไว้อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งผู้บริโภคสื่อดังกล่าวอาจจะไม่รู้สึกแต่สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ ซึมซับไปเรื่อย ๆ จนผู้บริโภคได้เดินตามค่านิยมของรัฐโดยไม่รู้สึกตัว

อีกทั้งสื่อในปัจจุบันที่ได้นำเสนอภาพของผีต่าง ๆ นั้น กล่าวได้ว่าผีเหล่านั้นก็ล้วนที่จะสอดคล้องกับชุมชนเมือง ที่ไม่ได้เป็นชุมชนเกษตรกรรมอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นผีจึงเป็นไปเพื่อสอดคล้องกับสังคมใหม่นี้ด้วย และผีดั้งเดิมจากชุมชนเกษตรกรรมก็กำลังจะเลือนหายไปจากสังคมไทยอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากผีปู่แสะย่าแสะที่มีการทำพิธีกรรมลดน้อยลง เพราะชุมชนเกษตรกรรมค่อย ๆ ลดหายไปเป็นชุมชนเมืองมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำการเกษตรกันแล้ว ก็คงเหลือแต่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังทำการเกษตรและยังต้องการให้มีพิธีกรรมนี้อยู่ แต่ก็ไม่มีกำลังมากพอที่จะจัดพิธีกรรมดังกล่าว จากสภาพนี้อาจจะทำให้พิธีกรรมผีปู่แสะย่าแสะต้องยุติลงในไม่ช้า แสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมหรือผีที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนจะค่อย ๆ หมดไป[19]

กล่าวได้ว่าการสร้างผีและการผลิตซ้ำของทั้งชุมชนเกษตรกรรมและของรัฐค่อนข้างที่จะแตกต่างกันอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากการสร้างผีของชุมชนนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้พิธีกรรมในการผลิตซ้ำ และต้องใช้กำลังคนและทรัพย์ค่อนข้างมากซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมของชุมชนที่ยังมีการพึ่งพากันสูง แต่ในทางกลับกันเมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยน มันได้ส่งผลให้สังคมต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งรัฐก็ได้เข้ามาจัดการทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่ในชุมชน

อีกทั้งนโยบายการมุ่งเข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมก็ได้ทำให้ชุมชนเมืองเกิดการขยายตัวมากยิ่งขึ้น ชุมชนเกษตรกรรมก็ถูกกลืนให้เป็นชุมชนเมือง ดังนั้นการใช้ผีแบบเดิมมาเป็นตัวจัดการความสัมพันธ์ภายในจึงไม่สามารถที่จะทำได้สะดวก และไม่ตอบสนองต่อคนหมู่มาก อีกทั้งการทำพิธีก็มีความสิ้นเปลืองมากทั้งทรัพย์และเวลา(ที่มีค่าอย่างมากในโลกของทุนนิยม) จึงทำให้พิธีกรรมและผีแบบชุมชนต้องหมดความสำคัญลงไป

การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเมืองจะมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ผีในการเข้ามาควบคุมศีลธรรม ผ่านการผลิตซ้ำแบบใหม่ซึ่งไม่ใช่พิธีกรรม แต่เป็นการใช้สื่อแทน ดังเช่นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เป็นต้น การผลิตซ้ำแบบนี้ไม่ต้องการส่วนร่วมที่มากมาย ไม่ต้องเสียเวลา เพียงแค่รับชมเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นแต่กลับซึมซับได้อย่างมากมาย และรัฐไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองหรือเสียเวลามากมายอย่างพิธีกรรมชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับการเป็นสังคมในยุคโลกาภิวัตน์

ย้อนกลับมาที่เรื่องทักษิณ การทำให้ทักษิณให้กลายเป็นผีของชนชั้นนำไทยนั้น กล่าวได้ว่าเริ่มก็ร่างสร้างตัวมาก่อนที่ทักษิณจะขึ้นมามีบทบาททางการเมืองเสียอีก โดยตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เป็นต้นมาอำนาจนำของกลุ่มกษัตริย์นิยมถูกสร้างขึ้นด้วยการมีส่วนร่วมในการเมืองแบบรัฐสภา อีกทั้งอุดมการณ์กษัตริย์นิยมมีส่วนร่วมในทางการเมืองด้วยการดำรงอำนาจทางศีลธรรมที่เหนือกว่าสถาบันการเมืองปกติที่ถูกมองว่าสกปรกและฉ้อฉล กลุ่มกษัตริย์นิยมจึงจับมือกับขบวนการพลเมืองและประชาชนผลักดันวาทกรรม "ทำการเมืองให้สะอาด" โดยวาทกรรมดังกล่าวนี้แฝงไปด้วยแนวคิดที่ไม่ไว้ใจนักการเมือง นักการเมืองนั้นต่างฉ้อฉลที่สุด ผ่านการผลิตซ้ำวาทกรรมดังกล่าวครั้งแล้วครั้งเล่าจนทำให้สังคมนั้นต่างคิดว่าปัญหาทางการเมืองนั้นอยู่ตรงที่ตัวนักการเมือง[20] ซึ่งธงชัย วินิจจะกูล ได้เปรียบเปรยไว้ว่า "...หาก "ภัยคอมมิวนิสต์" เป็นเหตุผลบังหน้าที่กองทัพมักใช้เมื่อก่อการรัฐประหารในสมัยสงครามเย็น "คอร์รัปชั่น" ก็เป็นเหตุผลบังหน้าที่มักใช้เพื่อทำรัฐประหารหลังจากนั้นมา..."[21]

ดังนั้นจึงไม่ยากเลยที่จะกล่าวว่าผีทักษิณนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ส่วนหนึ่งก็มาจากวาทกรรมทำการเมืองให้สะอาดนั่นเอง อีกทั้งเทวดาที่เกิดขึ้นมาก็เพราะว่าการครองอำนาจนำทางศีลธรรมทางการเมืองเอาไว้ได้ เมื่อทักษิณได้เข้าไปทำให้อำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำเสียสมดุล การทำการเมืองให้ใสสะอาดจึงจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น โดยเข้าไปสร้างให้ทักษิณกลายเป็นผีร้ายของการเมืองไทย พร้อม ๆ ไปกับการสร้างเทวดา อย่างไรก็ตามผีทักษิณกลับไปหลอกหลอนตรรกะของชนชั้นนำและชนชั้นกลางให้มองปัญหาทุกอย่างไม่เกินไปกว่าตัวของทักษิณ

การมองข้ามทุกอย่างไม่พ้นจากทักษิณ อะไร ๆ ก็ทักษิณ คนที่มีความคิดฝั่งตรงข้ามก็กลายเป็นคนของทักษิณไปเสียหมด ประชาธิปไตยคือการยอมรับความเห็นต่างของคนทุกคน ดังนั้นการทำการเมืองให้สะอาด ด้วยการมองปัญหาผ่านผีทักษิณ มันจึงสะอาดเพียงแค่ชื่อแต่เพียงเท่านั้น

สรุปและข้อเสนอแนะ

กล่าวโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่าการสร้างผีและการใช้ผี เป็นหนึ่งในทางเลือกของการจัดการความสัมพันธ์ภายในของทั้งชุมชนและรัฐ เป็นการจัดการว่าชีวิตของผู้คนในชุมชนหรือในรัฐควรจะดำเนินชีวิตไปอย่างไร เชื่อถืออะไรและไม่เชื่อถืออะไร แต่จะแตกต่างตรงวิธีการสร้าง การผลิตซ้ำ และจุดประสงค์ของการใช้ ดังจะเห็นได้ว่าชุมชนเกษตรกรรม ซึ่งมีวิถีการผลิตเพื่อการยังชีพได้ใช้ผีในการจัดการความสัมพันธ์ภายในของชุมชน ให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างพอประมาณ ผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเสมือนการผลิตซ้ำซึ่งมีนัยยะเป็นไปในการให้ผู้คนต่าง ๆ ในชุมชนมาร่วมแรงร่วมใจในพิธีกรรม อันเป็นนัยยะแห่งการสร้างความสามัคคีในชุมชน

ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่การสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กินเวลาไปจนถึงการสร้างรัฐชาติ การสร้างผีก็ยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งการสร้างผีดีและผีร้าย มาคอยจัดการความสัมพันธ์ภายในของรัฐอยู่เสมอ แต่การผลิตซ้ำนั้นไม่ได้กระทำผ่านพิธีกรรม แต่เป็นการใช้สื่อทั้งวิทยุ ป้ายประกาศ การผลิตซ้ำวาทกรรมเหล่านี้เป็นต้น แทนการทำพิธีกรรม ขณะเดียวกันการใช้ผีเพื่อใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามทั้งในสังคมและการเมืองระดับชาติ ทำให้เห็นได้ว่าผีที่ถูกใช้ในการสร้างผลประโยชน์ดังกล่าวนี้ก็เป็นที่น่าหวาดกลัวอยู่ในสังคมพอสมควร

เช่นเดียวกันกับในปัจจุบันที่สังคมมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การใช้ผีก็จำเป็นที่จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมแบบใหม่ ผ่านการผลิตซ้ำวาทกรรมต่าง ๆ  โดยสื่อโทรทัศน์ที่เรียกได้ว่าสื่อดังกล่าวแทบจะครอบคลุมทุกส่วนของประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นการทำให้คนในสังคมปฏิบัติตนตามค่านิยมและศีลธรรมที่รัฐได้วางเอาไว้ และดังที่ได้กล่าวไว้เราจะเห็นได้ว่าสังคมไทยนั้นได้เกิดผีขึ้นอย่างมากมาย โดยพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่การศึกษา สื่อ องค์กรรัฐและเอกชน เป็นต้น ก็จะมีผีของตนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดการและกำกับความสัมพันธ์ภายในพื้นที่ของตนอีกด้วย ซึ่งผู้เขียนไม่ขออธิบายในส่วนนี้แต่ก็คงจะทำให้เห็นภาพแล้วว่าการใช้ผีก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่สามารถทำได้ในทุกพื้นที่อีกด้วย

กล่าวได้ว่าบทความนี้อาจจะมีบ้างที่ผู้เขียนนั้นได้นำเสนอข้อมูลตกหล่นหรือตีความคลาดเคลื่อน แต่หลัก ๆ ก็เพื่อที่จะต้องการนำเสนอให้เห็นภาพตัวอย่างของการใช้ผีมาจัดการความสัมพันธ์ภายในพื้นที่ต่าง ๆ ของรัฐผ่านการผลิตซ้ำทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ส่วนข้อเสนอแนะ ผู้เขียนมีข้อสงสัยอยู่ว่าถึงแม้ว่าการพึ่งพาผีนั้นจะสามารถจัดการความสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือใช้ควบคุมศีลธรรมของคนให้อยู่ในแนวทางที่ต้องการกำหนดได้ และถึงแม้ปัจจุบันจะมีการใช้ผีหรือสร้างผีอย่างมากมายในสังคม แต่ถ้าหากการใช้ผีนั้นเป็นไปเพื่อการทำลายศัตรูทางการเมือง หรือเป็นไปเพื่อการให้ร้ายและมองคนไม่ใช่คน เราจะมีวิธีการแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ซึ่งผู้เขียนได้ขอหยิบยกคำกล่าวของอาจารย์ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า"...ถ้าเราต้องหันกลับไปพึ่งผี หรือใช้ผีในการจัดการสิ่งต่าง ๆ มันแสดงและสะท้อนว่าการใช้เหตุผลของเราค่อนข้างที่จะมีปัญหา..."

จากคำกล่าวนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าการใช้เหตุผลในการพูดคุยกันในสังคมน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการความสัมพันธ์ภายใน ควรมองข้ามปัญหาทุกอย่างให้พ้นจากผีและการทำลายล้างซึ่งกันและกันจะลดน้อยลง ถึงแม้ว่าผีตัวเก่าจะสูญสลายลงไป เราไม่จำเป็นเลยที่จะต้องสร้างผีตัวใหม่มาแทน สิ่งที่เราควรสร้างในสังคมไทยนั้นไม่ใช่ผี แต่ควรจะเป็นหลักการของการใช้เหตุผล

"สังคมนั้นจะเป็นสุขได้ถ้าหากเรานั้นใช้เหตุผล และการมองคนให้เป็นคนที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่มองคนให้เป็นผี"

 

 

 

เชิงอรรถ

[1] มติชนออนไลน์, “ทักษิณ” ห่วงศก.ไทยแย่ สั่งเสื้อแดง-พท.อย่าขวาง, http://www.matichon.co.th /news_detail.php? newsid=1420504947 &grpid=03&catid=15.

[2] จากที่ได้กล่าวไปนี้คือความคิดรวบยอดที่ได้จากการอ่านความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายความคิดทางการเมือง อาจจะไม่ตรงกับท่านผู้อ่าน หากสนใจโปรดดูความคิดเห็นใน https://www.facebook.com/quoteV2/photos/pb.511585615610016.-2207520000.1420787317. /620427004725876 /?type=3&theater.

[3] Voice TV21,พท.ท้วงอย่ากล่าวหา 'ทักษิณปั่นหุ้น'จนร่วง 138 จุด, http://news.voicetv.co.th/thailand/145869.html.

[4] หากท่านผู้อ่านสนใจในรายละเอียดของการเมืองไทยที่มีรายระเอียดและเนื้อหาครอบคลุมช่วงเวลา 2550 ถึง 2551 โปรดดู นิธิ เอียวศรีวงศ์.(2553).  การเมืองเรื่องผีทักษิณ. กรุงเทพฯ :โอเพ่นบุ๊กส์. 

[5] นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองเรื่องผีทักษิณ, (กรุงเทพฯ :โอเพ่นบุ๊กส์, 2553) ,หน้า 21-22

[6] เรื่องเดียวกัน หน้า 23

[7] เรื่องเดียวกัน หน้า 23

[8] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย,เมืองไทย,แบบเรียนและอนุสาวรีย์, (กรุงเทพฯ :มติชน, 2547) ,หน้า 6   

[9] เรื่องเดียวกัน หน้า 4

[10] อานันท์ กาญจนพันธุ์, เจ้าที่และผีปู่ย่า:พลวัตของความรู้ชาวบ้าน อำนาจ และตัวตนของท้องถิ่น, (เชียงใหม่ :ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555) ,หน้า 4   

[11] เรื่องเดียวกัน หน้า 33

[12] เรื่องเดียวกัน หน้า 86

[13] เรื่องเดียวกัน หน้า 86-87

[14] จิตร ภูมิศักดิ์, โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา, (กรุงเทพฯ :ฟ้าเดียวกัน, 2547) ,หน้า 35  

[15] วงเล็บโดยผู้เขียน

[16] พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต, (กรุงเทพฯ :มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2546) ,หน้า 99

[17] อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, ถูกฟ้องในข้อหาเป็นแนวที่ 5, http://www.catholic.or.th/main/index.php?option=com_content&view=article&id=3401:nicolas2five&catid=160&Itemid=419

[18] หากผู้อ่านสนใจ โปรดดู เบเนดิก แอนเดอร์สัน,บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม ใน ตุลา-ตุลา สังคม-รัฐไทย กับความรุนแรงทางการเมือง, (กรุงเทพฯ :มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2556) ,หน้า 169-230

[19] อานันท์ กาญจนพันธุ์,อ้างแล้ว ,หน้า 33

[20] ธงชัย วินิจจะกูล, ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง, (นนทบุรี :ฟ้าเดียวกัน, 2556) ,หน้า 99-100  

[21] เรื่องเดียวกัน หน้า 100 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ชนาวุธ บริรักษ์ เป็น นิสิตระดับปริญญาตรี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท