Skip to main content
sharethis

 

 

13 ม.ค. 2557 - ASEAN Weekly เทปแรกของปี 2558 ดุลยภาค ปรีชารัชช พาท่านผู้ชมเยี่ยมยามศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร  จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางการคมนาคมสำคัญคือสี่แยกอินโดจีน และพูดคุยกับ ผศ.วิรัช นิยมธรรม รักษาการ ผอ.ศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร พูดถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านการศึกษาของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยเฉพาะบทบาทในการบุกเบิกหลักสูตรปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาพม่าศึกษา แห่งแรกของประเทศ ซึ่งถือเป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลนบัณฑิตมาก

โดยวิรัช นิยมธรรม ตอบคำถามเรื่องความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า และประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่า "หากมองจากพื้นที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีพื้นที่จุดตัด เหนือ-ใต้-ออก-ตก โดยเฉพาะการมีที่ตั้งอยู่ในสี่แยกอินโดจีน สามารถเดินทางจากอ่าวเมาะตะมะ จากพม่า เข้าสู่ไทยและข้ามไปลาว และเวียดนามที่เว้และดานัง ถือเป็นเส้นทางการค้าที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางสายสังคมมีการเคลื่อนย้ายประชากรและสินค้า ส่วนพื้นที่เส้นทางจากเหนือลงใต้ ก็เป็นเส้นทางเก่าที่ใช้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ทะลุออกประเทศไทย ขณะที่เส้นทางตามแนวระเบียงตะวันออก-ตะวันตก เป็นเส้นทางที่สามารถติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกัมพูชา-ลาว-พม่า-เวียดนาม หรือกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ไทยจะต้องติดต่อกันมากขึ้นในระดับภูมิภาค ถือเป็นเพื่อนบ้านที่ต้องอยู่ร่วมกันด้วยความมีทัศนคติที่ดี และเป็นพลเมืองร่วมภูมิภาคกัน"

ทั้งนี้คาดหวังว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรจะเป็นพื้นที่หนึ่งด้านการศึกษา ที่จะนำร่องในเรื่องเหล่านี้ เป็นที่พึ่งได้ทางวิชาการ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม โดยหวังให้มหาวิทยาลัยนเรศวรมีบทบาทในด้านนี้มากขึ้น

สำหรับการบุกเบิกศูนย์พม่าศึกษา และปริญญาหลักสูตรพม่าศึกษา วิรัชกล่าวว่า เป็นเพราะความสนใจส่วนตัวในการศึกษาประเทศรอบบ้าน ภาษาท้องถิ่น ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ เพราะเป็นนักภาษาศาสตร์ ที่เลือกภาษาพม่าเพราะเป็นภาษาของประเทศที่อยู่ใกล้บ้านเรา และมีความทรงจำและความเข้าใจกับพม่าในสิ่งที่เรารับรู้กันอยู่ แต่ว่าโลกตอนนั้นเป็นโลกหลังสงครามเย็น พื้นที่ต่างๆ เริ่มเปิด บริบทโลกเปลี่ยนและบริบทในภูมิภาคก็เปลี่ยน ประเทศต่างๆ เป็นทุนนิยมมากขึ้น นี่เป็นแรงผลักสำหรับผม ถ้าไปศึกษาประเทศพม่า ซึ่งใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาของรัฐ น่าจะมีโอกาสอ่านเอกสารและข่าวสารต่างๆ มากมาย ฉะนั้นน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มสำหรับการเป็นนักวิชาการ ผมจึงอยู่กับภาษาพม่านี่แหละ ขณะเดียวกันไม่ได้มองแค่ภาษาอย่างเดียว ยังมองภาษาในการเข้าถึงการเรียนรู้ในเชิงพื้นที่ และมองในเชิงบริบทโลกเปลี่ยน ผมมองว่าเราก็ต้องถ่ายทอดความรู้ที่เป็นมิติภายในเกี่ยวกับประเทศพม่า จากเอกสารพม่ามากขึ้น

ก็ทำให้การทำงานสนุกขึ้น จริงๆ แล้วเราก็อยากสนุกอยู่กับงาน และงานนี้ก็เป็นประโยชน์ในการพัฒนาคนด้วย สามารถทำให้นักศึกษามีโอกาสเรียนภาษาพม่า และมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาพม่า ซึ่งเป็นโลกจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว ถือเป็นดอกผลที่เกิดจากการทำงาน ถือว่าเราไม่ได้ต้องการแรงบันดาลใจ แต่เราต้องการเพียงว่าเราจะทำงานอย่างไรให้สนุกอย่างไร

สำหรับโครงสร้างการเรียนการสอนหลักสูตรพม่าศึกษา ในด้านบุคลากร ตามเงื่อนไข สกอ. สามารถมีอาจารย์ประจำได้ 5 คน เป็นคนไทย 3 คน อาจารย์พม่าจากย่างกุ้ง 2 คน เชิญมาเป็นอาจารย์ประจำ และพัฒนาการสอนภาษาพม่า ให้เด็กไทยมีความเชื่อมั่นในการใช้ภาษาให้ได้ โดยอาจารย์จากพม่าไม่จำเป็นต้องจบวรรณกรรมหรือภาษาพม่า ที่ผ่านมา พยายามเลือกอาจารย์พม่า กว่าจะเลือกได้อาจารย์ที่ลงตัวก็ใช้เวลาพอสมควร เพราะคนพม่าบางคนปรับตัวกับระบบการศึกษาไทยไม่ได้ เพราะพม่าเน้นระบบท่องจำ เพราะฉะนั้นการจะเปลี่ยนให้การสอนเอื้อกับระบบของเรา ก็ต้องให้เวลาและเลือกคนให้แม่นยำด้วย ซึ่งในเวลานี้ไม่เป็นปัญหาแล้ว

"ในเรื่องเนื้อหาการเรียนการสอน ได้ให้ความสำคัญกับทักษะภาษาและเนื้อหาเชิงวัฒนธรรม ตัวทักษะภาษา เพื่อการสื่อสาร ต้องเข้าใจเรื่องการออกเสียงให้ถูกต้อง อ่านให้ได้ เขียนให้ได้ และสามารถสื่อสาร และหาโอกาสที่จะต้องลงพื้นที่ อย่างลงโรงงานอุตสาหกรรม เวลาไปฝึกงานก็ต้องไป คือเรียนในห้องเรียนแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องลงไปทำงานในพื้นที่ด้วย เพื่อให้สิ่งที่เรียนได้ใช้งานในสมอง และที่ต้องรู้เรื่องวัฒนธรรม ก็เพราะเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับประเทศพม่าและไทย เดิมความรับรู้ที่มีต่อกันยังไม่ค่อยสร้างสรรค์เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นนักศึกษาที่ได้เรียนภาษาพม่านั้น และสร้างแรงบันดาลใจในการใกล้ชิดเจ้าของภาษา ตรงนี้จะเปลี่ยนทัศนคติโดยอ้อม ฉะนั้นนักศึกษาจะได้เรียนรู้ทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ในการเรียนภาษาพม่า จะได้เรียนรู้วงคำศัพท์ แม้ว่านักศึกษาไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอาณาบริเวณศึกษา แต่การเรียนภาษาจะรู้วงคำศัพท์ทางอาณาบริเวณศึกษา เช่น การเมือง ภูมิศาสตร์ กฎหมาย ความเชื่อ วรรณคดี เรียนเพื่อสะสมวงคำศัพท์เพื่อใช้ในการสื่อสาร พอเขาไปอยู่ในประเทศพม่าปุ๊บเขาจะเข้าใจวัฒนธรรมระดับหนึ่ง คือมีจินตนาการมาก่อน หลังจากนั้นก็จะสามารถปรับตัวเองได้ง่ายขึ้น เราพยายามให้ศัพท์สังคมวัฒนธรรมให้ถ้วนทั่ว หลายวิชาที่เรียนจะเป็นแบบนั้นคือแบ่งเป็นส่วนทักษะ และวงคำศัพท์เฉพาะด้าน"

ในตอนท้ายรายการ วิรัช เสนอแนวทางสำหรับผู้สนใจศึกษาด้านพม่าว่า "สิ่งแรกคือ เรื่องทัศนคติ ต้องรู้ว่าไทยกับพม่าไม่ได้ห่างเหินกัน สอง ต้องเป็นประชากรร่วมภูมิภาค สาม ทักษะชีวิต ต้องสร้างขึ้นมาสำหรับคนรุ่นใหม่ การรู้ภาษาเป็นเรื่องหนึ่ง และความรู้เชิงพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่ต้องรู้ และความรู้ร่วมกันโดยเฉพาะเรื่องข้อมูลข่าวสาร หรือแม้แต่เรื่องความบันเทิงต้องปรับเข้าหากัน สร้างภาพยนตร์ในไทยก็ต้องฉายในพม่าได้ เราเองก็ต้องคิดที่จะดูภาพยนตร์พม่า โดยเฉพาะภาพยนตร์ทางเลือก จะทำให้เรียนรู้กันได้มาก  ต้องเปิดโอกาสให้สื่อสมัยใหม่ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้เราเข้าสู่เรียนรู้เรื่องพม่าได้ง่าย คือการเรียนภาษาพม่าเรียนจากชั้นเรียนและเรียนจากสื่อได้ เพียงแต่ว่าเด็กไทยต้องใฝ่รู้ ใฝ่เรียน อย่าพึ่งครูมาก พาตัวเองไปประเทศพม่า หรือใช้ชีวิตชายแดนเพื่อทำให้มองเห็นโลกกว้าง เห็นอนาคต และมองเห็นอาชีพ นี่เป็นเรื่องสำคัญ เด็กต้องไปเห็นด้วยตัวเอง ครูไปบอกคงไม่ได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net