บทความ Foreign Policy In Focus แนะนำสารคดี 'การวางเดิมพันครั้งใหญ่กับแม่น้ำโขง'

สารคดี "การวางเดิมพันครั้งใหญ่กับแม่น้ำโขง" (Great Gamble on the Mekong) โดยทอม ฟอวธอป ระบุถึงผลกระทบที่มาจากโครงการสร้างเขื่อนในประเทศแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ชี้กลุ่มคนจนอาจจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

11 ม.ค. 2558 นาธานนีล ไอเซนจากเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy In Focus แนะนำสารคดี "การวางเดิมพันครั้งใหญ่กับแม่น้ำโขง" (Great Gamble on the Mekong) ซึ่งเป็นผลงานของทอม ฟอวธอป ที่มีการกล่าวถึงรายละเอียดผลกระทบของการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในประเทศลาวและความล้มเหลวของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC)

สารคดีของฟอวธอประบุว่าแม่น้ำโขงไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัยในทิเบตผ่านประเทศจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดย 5 ประเทศหลังสุดจัดเป็นเขตลุ่มน้ำโขงตอนล่างซึ่งเป็นทางผ่านออกไปสู่ทะเลจีนใต้ แหล่งน้ำนี้เป็นแหล่งโปรตีนและแหล่งความมั่นคงทางอาหารของคน 65 ล้านคน เนื่องจากเป็นแหล่งของสัตว์น้ำ การค้า แหล่งน้ำ แหล่งวัตถุดิบการเกษตร ในขณะเดียวกันก็มีคนมองว่าน้ำโขงเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทางการจีนได้สร้างเขื่อนไว้แล้ว 6 เขื่อนในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบนและมีแผนจะสร้างอีกอย่างน้อย 14 แห่ง

แต่เรื่องการสร้างเขื่อนในเขตลุ่มน้ำโขงตอนล่างเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแล้ว แต่เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ร่วมกันลงนามจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงขึ้น เพื่ออำนวยความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างแต่คณะกรรมาธิการก็ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจชี้ขาด

ภาพยนตร์สารคดีของฟอวธอปเน้นประเด็นเรื่องเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งจะกระทบต่อแหล่งอพยพของปลาที่ผ่านทางน้ำตกคอนพะเพ็งใกล้กับพรมแดนลาว-กัมพูชา ซึ่งเขื่อนดอนสะโฮงถือเป็นโครงการเขื่อนแหล่งที่ 2 หลังจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีที่เคยมีปัญหาถกเถียงมาก่อน และยังจะมีเขื่อนอีก 10 โครงการตามมา

ในแง่การประเมินผลประโยชน์ที่ได้จากการสร้างเขื่อน รัฐบาลลาวเคยร่วมมือกับบริษัทปอยรีซึ่งเป็นบริษัทวางแผนด้านอุตสาหกรรมและพลังงานจากฟินแลนด์ ซึ่งวิเคราะห์ว่าเขื่อนไซยะบุรีจะช่วยสร้างพลังงานสะอาดให้ประชาชนจำนวน 3 ล้านคนในประเทศไทยและ 1 ล้านคนในประเทศลาว ส่วนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงอ้างว่าการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างจะช่วยลดความรุนแรงของอุทกภัยและภาวะภัยแล้ง อีกทั้งการสร้างเขื่อนทั้ง 12 แห่งจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในวงเงิน 15,000 ล้านดอลลาร์ และช่วยสร้างงาน 400,000 งาน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง นอกจากนี้ยังส่งเรื่องให้ศูนย์นานาชาติเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม (ICEM) วิจัยผลออกมาระบุว่าเขื่อนทั้ง 12 แห่งจะทำให้ภูมิภาคในแถบนั้นเข้าถึงเป้าหมายความต้องการพลังงานภายในปี 2568 ได้ร้อยละ 8

อย่างไรก็ตาม ICEM ระบุอีกว่าโครงการสร้างไฟฟ้าจากพลังน้ำดังกล่าวจะยิ่งทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นเนื่องจากผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นผู้ประกอบการหรือฝ่ายรัฐแต่ผู้ที่เสียผลประโยชน์จากการสร้างจะเป็นคนจน ชุมชนที่อยู่ติดลุ่มน้ำ และภาคส่วนทางเศรษฐกิจบางภาคส่วน แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางการลาวจะนำรายได้จากการค้าพลังงานไปสร้างถนนในที่ชนบท รวมถึงไปเป็นสวัสดิการสุขภาพและการศึกษา แต่หลังจากสร้างเขื่อนเสร้จสิ้นแล้วรายได้ทั้งหมดจะไปอยู่กับผู้ลงทุนและผู้พัฒนาเขื่อน

นักวิชาการและคนทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรให้สัมภาษณ์ในสารคดี "การวางเดิมพันครั้งใหญ่กับแม่น้ำโขง" ว่าพวกเขาไม่สามารถประเมินผลกระทบจากเขื่อนได้อย่างเจาะจง แต่พวกเขาคิดว่าผลกระทบอาจจะเกิดขึ้นมาก เช่นการทำให้เกิดภาวะวิกฤติด้านอาหารเนื่องจากทำให้จำนวนปลาลดลง อีกทั้งการสร้างเขื่อนคอยกักสารอาหารไว้จะส่งผลต่อการผลิตข้าวในเวียดนามจนทำให้ราคาอาหารโลกสูงขึ้น

งานวิจัยของ ICEM ในปี 2553 สรุปว่าการสร้างเขื่อน 11 แห่งในลุ่มน้ำโขงตอนล่างจะลดจำนวนปลาที่ถูกจับในแม่น้ำลงร้อยละ 16 และเมื่อรวมกับเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนจะทำให้ตัวเลขของปลาลดลงร้อยละ 26-42 โดยการทำประมงแบบใหม่ที่มาพร้อมกับเขื่อนจะช่วยแทนที่การสูญเสียการประมงแบบเดิมได้เพียงร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม ทางการลาว บริษัทจากฟินแลนด์ และบริษัทเมกาเฟิร์สต์ของมาเลเซียพยายามบอกว่าจะมีการช่วยเหลือให้ปลาสามารถย้ายถิ่นจากเดิมได้

อย่างไรก็ตามแนวคิดเรื่องการเปิดทางให้ปลาย้ายถิ่นก็ยังไม่เคยมีการนำมาทดลองกับปลาในแม่น้ำโขงซึ่งตัวเปิดทางให้ปลาลอดผ่านควรมีการทดลองกับปลาทุกพันธุ์ที่มีพฤติกรรมและปัจจัยอื่นๆ ต่างกันไปเช่นเรื่องความต้องการออกซิเจนและสารอาหาร ทางบริษัทอ้างว่าจะมีการทดสอบกับปลาหลังจากสร้างเขื่อนเสร็จแล้วทั้งๆ ที่สามารถทดสอบกับเขื่อนที่สร้างแล้วก่อนหน้านี้ได้โดยเป็นการลดต้นทุนไปในตัวด้วย

รายงานของ ICEM ยังเสนอแนะอีกว่าควรมีการเลื่อนการสร้างเขื่อนออกไปจนกว่าจะถึงปี 2563 เพื่อใช้เวลาศึกษาเรื่องผลกระทบมากกว่านี้ นอกจากนี้ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังมีการเสนอให้ศึกษาผลกระทบมากกว่านี้ รวมถึงมีกระบวนขั้นตอนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า (Procedure of Notification, Prior Consultation and Agreement หรือ PNPCA) อย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่ทางการลาวและบริษัทปอยรียังคงดำเนินการสร้างเขื่อนไซยะบุรีต่อไป โดยปอยรีอ้างว่าพวกเขาได้ปรับปรุงการออกแบบโดยคำนึงถึงสิ่งที่ประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างมีความกังวลอยู่ แต่ในเดือน ม.ค. 2556 กัมพูชาและเวียดนามก็ประท้วงอย่างหนักว่าความกังวลต่อผลกระทบของพวกเขาไม่มีการกล่าวถึงและเรียกร้องให้มีการหยุดสร้างเขื่อนทันทีแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ต่อมาในเดือน ก.ย. 2557 ทางการลาวก็ประกาศว่าจะเริ่มสร้างเขื่อนดอนสะโฮงและหลีกเลี่ยงกระบวนขั้นตอนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าโดยการอ้างว่าพวกเขาไม่ได้สร้างเขื่อนบนแม่น้ำสายหลัก จนกระทั่งต่อมามีการแสดงความไม่พอใจผ่านทางการทูตจนทำให้ลาวยอมรับกระบวนขั้นตอนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า ในที่สุด อย่างไรก็ตามทางการลาวยังคงมีท่าทีว่าจะเดินหน้าสร้างเขื่อนต่อไปแม้ว่ารัฐบาลของเวียดนามและกัมพูชารวมถึงกลุ่มประชาสังคมของทั้ง 2 ประเทศนี้ต่างก็พยายามคัดค้าน

โครงการเขื่อนเหล่านี้เป็นบททดสอบการจัดการความขัดแย้งในหมู่ประเทศคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกันได้แต่ก็ไม่มีกลไกการโหวตหรือการปรับโทษในกรณีที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ โดยฮานส์ กัตต์แมน ประธารบริหารแห่งสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกล่าวให้สัมภาษณ์ในสารคดีว่าถึงแม้ทุกฝ่ายจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้แต่ประเทศที่เสนอโครงการก็ยังจะเดินหน้าทำโครงการต่อไป

ไอเซนระบุว่าประชาชนชาวกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ต่างพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลของตนหยุดยั้งการสร้างเขื่อน โดยมีการเคลื่อนขบวนการจากเอ็นจีโอจำนวนมากทั้งในประต่างประเทศ ชาวบ้านในไทยฟ้องร้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตรวมถึงองค์กรอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2555 ในเรื่องข้อตกลงการซื้อขายพลังงานกับรัฐบาลลาวจากเขื่อนไซยะบุรี จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดของไทยยอมรับให้มีการพิจารณาคดี

อย่างไรก็ตามดูเหมือนนานาชาติจะยังคงเงียบเฉยต่อโครงการเขื่อนเหล่านี้ ผู้บริจาคเงินให้องค์กรคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงออกแถลงการณ์ร่วมกันในเดือน ม.ค. 2556 เรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนมากกว่านี้แล้วก็เงียบไป ส่วนสหประชาชาติและเหล่าผู้นำประเทศต่างๆ ก็ไม่ได้พูดอะไรถึงเรื่องนี้

ไอเซนระบุว่าประเทศลาวเคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและเคยถูกรุกรานโดยกองทัพสหรัฐฯ รวมถึงมีวัตถุระเบิดบางส่วนที่ยังไม่ถูกเก็บกู้หลงอยู่ในลาว นอกจากนี้ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยังมีความต้องการพลังงานสะอาดจริง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการถกเถียงอย่างมีมาตรฐานถึงการที่ประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศพูดแบบปากอย่างใจอย่างให้ประเทศอื่นสละการพัฒนาความเจริญเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ในแง่ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาความเจริญกับสิ่งแวดล้อม ไอเซนเสนอว่าควรมีการแก้ไขในลักษณะเชิงก้าวหน้าด้วยนโยบายต่างประเทศ โดยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีแหล่งพลังงานที่ไม่มีวันหมดที่มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่านี้ รวมถึงให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคดังกล่าว ให้องค์กรยูเนสโกประกาศให้น้ำตกคอนพะเพ็งเป็นมรดกโลก เป็นต้น รวมถึงกำหนดเงื่อนไขให้มีการทำตามคำแนะนำจากการวิจัยของ ICEM

"สิ่งที่ภาพยนตร์สารคดี 'การวางเดิมพันครั้งใหญ่กับแม่น้ำโขง' นำเสนอชัดเจนคือการที่งานวิจัยจำนวนมากพิสูจน์ให้เห็นว่า ประเด็นโครงการเขื่อนเหล่านี้เป็นเรื่องปัญหาเชิงมนุษยธรรม และคนที่ยากจนที่สุดจะเป็นคนที่สูญเสียมากที่สุด" ไอเซนระบุในบทความ

อย่างไรก็ตาม ไอเซนวิจารณ์สารคดีชุดนี้ว่ามีการนำเสนอเรื่องราวบางอย่างที่อาจจะเป็นแค่การตั้งความหวังไปเองของนักกิจกรรม นอกจากนี้ผู้จัดทำภาพยนตร์ควรจะมีการระบุด้วยว่าเหตุใดสัตว์น้ำบางชนิดดูเหมือนจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาตั้งแต่ก่อนหน้าการสร้างเขื่อนแล้ว เช่นอาจจะถูกจับมากเกินไปแบบกรณีของปลาบึก

เรียบเรียงจาก

Great Gamble on the Mekong, Nathaniel Eisen, FPIF, 26-12-2014
http://fpif.org/great-gamble-mekong/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท