Skip to main content
sharethis

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยบางส่วนระดมโพสต์จี้ถามในเพจสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติของไทย ถึงเหตุผลการให้สถานะผู้ลี้ภัย ‘ตั้ง อาชีวะ’ พร้อมประกาศยกเลิกให้เงินบริจาค

 

หลังเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานข่าว โดยอ้างถึง  นสพ.นิวซีแลนด์ เฮอรัลด์ ในประเทศนิวซีแลนด์ ว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์กำลังถูกเรียกร้องจากทางการไทยให้ยกเลิกหนังสือเดินทาง (Passport) ของ เอกภพ เหลือรา หรือ ‘ตั้ง อาชีวะ’ ผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งได้หลบหนีออกจากประเทศไทย โดยรัฐบาลนิวซีแลนด์ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใดๆ ต่อกรณีของ เอกภพ ซึ่งได้เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ในฐานะผู้ลี้ภัยตั้งแต่ปีก่อน เนื่องจากทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เป็นหน่วยงานที่ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ เอกภพ เมื่อปีที่ผ่านมา และเขาได้หลบหนีออกจากประเทศไทย เข้าไปในกัมพูชา ซึ่งบุคคลที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR นั้น สามารถเข้ามาพำนักในนิวซีแลนด์ได้ ภายใต้ระบบโควตาผู้ลี้ภัย

ต่อมาวานนี้(9 ม.ค.) เฟซบุ๊กเพจ ‘ล้านชื่อต้านล้างผิด’ ได้โพสต์ข้อความของผู้ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า ‘Jhumpot Soleil’ อ้างเป็นคำชี้แจงต่อคำถามต่างๆ เกี่ยวกับการทำงานของ UNHCR ซึ่งส่งถึงคนไทยคนหนึ่งชื่อ ‘Saijai’ ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินช่วยเหลือ UNHCR ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ ผู้หญิงที่ถูกกระทำจากสงคราม ผู้พิการจากความรุนแรงและผู้สูงอายุที่หลัดพรากจากครอบครัว

ที่มา เฟซบุ๊กเพจ ‘ล้านชื่อต้านล้างผิด’ 

คำชี้แจงดังกล่าวระบุว่าเกิดขึ้นหลังจาก ‘Saijai’ ประกาศยกเลิกเงินบริจาค ภายหลังจากที่ทำหนังสือถามถึงสาเหตุที่อนุญาตให้ ตั้ง อาชีวะ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ให้ได้สถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งเมื่อได้รับคำตอบจาก UNHCR ก็เกิดความไม่พอใจในการดำเนินการของ UNHCR จึงได้ทำหนังสือยกเลิกเงินบริจาคดังกล่าว เป็นเหตุให้ UNHCR ต้องทำคำชี้แจงตอบกลับมาเพื่อขอให้มีการพิจารณาทบทวนอย่ายกเลิกเงินบริจาค

โดยในโพสต์ดังกล่าวของเพจ ‘ล้านชื้อต้านล้างผิด’ มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว ในการยุติการบริจาคเงิน

นอกจากนั้นในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘UNHCRThailand’ ซึ่งเป็นเพจเผยแพร่การดำเนินงานบรรเทาทุกข์ขององค์กรนี้ มีผู้ไม่พอใจเข้าไปโพสต์จี้ถามถึงการให้สถานะผู้ลี้ภัยดังกล่าว พร้อมทั้งประกาศงดบริจาคเงินเข้าองค์กรนี้จำนวนมาก จนกระทั่งแอดมินเพจมีการลบบางโพสต์ออก แต่ยังมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นในโพสต์จี้ถามและประกาศยกเลิกบริเจาคในโพสต์เก่าๆ ต่ออีกด้วย

ตัวอย่างบางความเห็นในเฟซบุ๊กแฟนเพจ UNHCRThailand’ 

การดำเนินงานของ UNHCR ในประเทศไทย ในเว็บไซต์ ระบุถึง ข้อเท็จจริงเบื้องต้น ว่า รัฐบาลไทยได้เชิญยูเอ็นเอชซีอาร์เข้าร่วมดำเนินงานในประเทศในปี พ.ศ. 2518 เมื่อผู้ลี้ภัยจำนวนหลายแสนคนจากกัมพูชา ลาว และเวียดนามหลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทย เหตุการณ์นั้นถูกเรียกกันว่า วิกฤติผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน ผู้ลี้ภัยจำนวนมากกว่า 1,300,000 คนได้รับการช่วยเหลือจากประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหลายปี

นอกจากนี้มีข้อความเชิงข่มขู่เจ้าหน้าที่ UNHCR ซึ่งถูกลบไปแล้ว โดยมีผู้บันทึกไว้ ข้อความเชิงด่าทอที่แสดงความเห็นใต้ภาพปกของเพจ UNHCR 

ในวันนี้มีผู้ลี้ภัยที่ได้รับการลงทะเบียนแล้วราว 95,000 คนและผู้ขอลี้ภัยอีกราว 9,000 คนในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยจากพม่า ส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่ากะเหรี่ยงแดง พวกเขาพักอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวจำนวนเก้าแห่งในสี่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า รัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินการในค่ายทุกแห่ง โดยได้รับความช่วยเหลือเกือบทั้งหมดจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ในขณะที่ยูเอ็นเอชซีอาร์มุ่งเน้นในเรื่องการให้ความคุ้มครองและโครงการดำเนินงานที่ทำให้แน่ใจได้ว่าผู้ลี้ภัยมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยและได้รับการรักษาความปลอดภัยพอสมควรภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net