Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

To make a war is not as important as to make the people long for the wars eternally.
การทำสงครามนั้นไม่สำคัญเท่ากับการทำให้ประชาชนใฝ่การทำสงครามไปตลอดกาล

ความเป็นปรปักษ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือได้ถึงจุดสูงสุดอีกครั้งภายหลังจากที่ประธานาธิบดี บารัก โอบามาได้ลงนามในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือครั้งใหม่จากข้อกล่าวหาว่าทางการเกาหลีเหนืออยู่เบื้องหลังการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์และเว็บไซต์ของบริษัทโซนีผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์สุดแสนอื้อฉาวคือ The Interview  ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาโดยย่อคือนักจัดรายการโทรทัศน์  2 คนวางแผนจะเดินทางไปทำรายการสัมภาษณ์คิม จ็องอึนผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ แต่ได้รับการว่าจ้างจากซีไอเอให้ไปสังหารท่านผู้นำเสียก่อน ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะดีใจว่านอกจากจะเป็นการโฆษณาภาพยนตร์ไปในตัวแล้ว ตนยังสามารถสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่คือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ สั่งคว่ำบาตรประเทศที่ก่ออาชญากรรมทางโลกไซเบอร์  (1)

ถ้าตัดประเด็นภาพยนตร์และการโจมตีทางโลกไซเบอร์ออกไป (2)  ความขัดแย้งนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเท่าที่ควรเพราะในรอบเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือได้สร้างความขัดแย้งต่อกันอยู่เรื่อยๆ แม้อาจมีภาวะที่เรียกกันว่าการผ่อนคลายความตึงเครียดหรือ detente กันบ้างเช่นในยุคของบิล คลินตันเมื่อทศวรรษที่ 90 นางแม็ดรีน อัลไบร์ท รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศก็ได้เดินทางไปจับมือกับนายคิม จ็องอิล  หรือเมื่อปี 2011 ตัวแทนพิเศษของสหรัฐฯ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางไปช่วยเหลือตัวประกันชาวอเมริกันออกมาจากเกาหลีเหนือได้สำเร็จ ทั้งนี้ไม่นับทูตทางวัฒนธรรมอย่างเช่นนายเดนนิส รอดแมน อดีตดาราบาสเกตบอลเอ็นบีเอซึ่งเดินทางไปนั่งเคียงคู่กับคิม จ็องอึนและสอนบาสเกตบอลให้ทีมของเกาหลีเหนืออันดูไม่ต่างจากการแข่งขันปิงปองการทูตระหว่างสหรัฐฯกับจีนในต้นทศวรรษที่ 70 แม้ว่ายังมีคนอเมริกาติดอยู่ในคุกของเกาหลีเหนืออีกหลายคน แต่ก็มีการคาดเดากันต่างๆ นาๆ ว่าทั้งเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกาอาจกำลังเล่นการทูตแบบ 2 หน้า (3) โดยมีวัตถุประสงค์คือร่วมกับเกาหลีเหนือในการกดดันจีนและสร้างบทบาทให้สหรัฐฯในเอเชียตะวันออกรวมไปถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจเช่นการขายอาวุธให้กับเกาหลีเหนือกับญี่ปุ่นรวมไปถึง

อย่างไรก็ตาม ตามมุมมองโดยรวมของตะวันตกรวมไปถึงชาวโลก รัฐบาลเกาหลีเหนือมีพฤติกรรมที่ประหลาด คุ้มดีคุ้มร้าย ไม่น่าไว้วางใจ ที่สำคัญมีความพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นภัยต่อโลกเช่นเดียวกับอิหร่านแม้จะมีการเจรจา 6 ฝ่ายกันกี่รอบก็ตาม มีผู้มองว่าสื่อตะวันตกดูเหมือนตั้งใจมองข้ามประเทศที่ดูน่ากลัวกว่าเกาหลีเหนือมากอย่างเช่นอิสราเอล อินเดียและปากีสถาน หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาเองซึ่งครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากกว่า แต่การนำเสนอเกาหลีเหนือในฐานะผู้ร้ายนั้นมีพลังกว่าประเทศทั้งหลายเพราะนอกจากการตอกย้ำความเป็นไปในด้านลบของเกาหลีเหนือผ่านสื่ออันทรงอิทธิพลเช่นซีเอ็นเอ็นหรือบีบีซีแล้ว โดยตัวเกาหลีเหนือเองยังเป็นรัฐฤษี (Hermit kingdom) คือมีความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ในวงจำกัด ตอกย้ำโดยการที่เกาหลีเหนือยังยึดถือลัทธิสตาลินอย่างไม่เสื่อมคลายแม้จะผสมผสานกับลัทธิกองทัพนิยมและลัทธิขงจื้อ อันทำให้เกาหลีเหนือเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จแห่งเดียวของโลกที่นิยมการล้างสมองประชาชนอย่างหมดจรด พร้อมด้วยการลงโทษอย่างรุนแรงนับตั้งแต่คุกที่สภาพความเป็นอยู่เลวร้ายเหมือนนรกจนไปถึงการประหารชีวิตแม้จะเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ  ที่ไร้สาระอย่างเช่นการลักลอบเอาภาพยนตร์ต่างชาติมาดูซึ่งคนทั้งโลกรับรู้เรื่องนี้ผ่านคนเกาหลีเหนือซึ่งสามารถหลบหนีออกมาได้   แม้ว่าความจริงแล้วผู้นำของหลายประเทศไม่ว่าในทวีปแอฟริกาหรือเอเชียก็มีพฤติกรรมเช่นนี้ ด้วยวาทกรรมในการต่อต้านตะวันตกที่รุนแรงและการพัฒนาอาวุธร้ายแรงก็ได้ทำให้เกาหลีเหนือกลายเป็นผู้ร้ายที่โดดเด่นเช่นเดียวกับตำแหน่งที่ตั้งของประเทศซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ดังนั้นเกาหลีเหนือจึงหนีไม่พ้นที่จะเป็นหนึ่งในอักษะแห่งความชั่วร้าย  (Axis of evil) ตามข้อกล่าวหาของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชในปี 2002

สำหรับบรรดาผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือถือได้ว่าอย่างห่างไกลจากภาพอุดมคติของการเป็นผู้นำตามแบบตะวันตกนับตั้งแต่รุ่นแรกคือคิม อิลซ็องสาวกผู้ภักดีต่อโจเซฟ สตาลินและยังเป็นผู้เริ่มต้นสงครามเกาหลีด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง มาถึงลูกชายคือคิม จ็องอิล ผู้มีผมตั้งชันอันดูน่าขบขันมากกว่าน่ากลัว เขานิยมชีวิตแบบหรูหราและมีพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลของตัวเองที่ชอบสร้างวาทกรรมต่อต้านตะวันตกเหมือนกับทรราชยุคใหม่ทั่วไปเช่นสะสมภาพยนตร์  ฮอลลีวูดกว่า 20,000 เรื่องและชื่นชมดาราสาวอย่างเช่นเอลิซาเบท เทย์เลอร์เป็นพิเศษ ในขณะที่ประชาชนเกาหลีเหนือนับล้านๆ คนกำลังทุกข์ทรมานจากความอดยากและภัยพิบัติ ส่วนผู้นำทั้งคู่ดูเหมือนจะพึงพอใจอยู่กับสถานภาพการเป็นเทพเจ้าของคนเกาหลีเหนือมานานกว่าครึ่งศตวรรษผ่านการโฆษณาชวนเชื่ออย่างถี่ยิบและเสียสติของทางการ เกาเหลีเหนือจึงน่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่หมดงบประมาณไปกับการสร้างลัทธิเชิดชูบุคคลเพื่อเทิดทูนผู้นำและกลุ่มชนชั้นนำไปมากกว่าการนำเงินไปพัฒนาประเทศชาติอย่างแท้จริง แม้ว่างบประมาณจะไม่เปิดเผย แต่ข่าวซึ่งแสดงถึงแต่การฉลองครอบรอบเรื่องต่างๆ สารพัดของรัฐบาลก็สามารถสะท้อนความเป็นจริงข้อนี้ได้อย่างดี

แน่นอนว่ามีการคาดเดาจากต่างประเทศว่าผู้นำคนปัจจุบันคือคิม จ็องอึนผู้เป็นลูกชายของคิม จ็องอิลย่อมรับเอามรดกเหล่านี้จากพ่อและปู่มาไม่มากก็น้อย นับตั้งแต่ปี 2011 ที่นายคิมรุ่นที่ 3 ขึ้นมามีอำนาจ ความสัมพันธ์ของเกาหลีเหนือกับตะวันตกก็ยังคงเดิม เพราะเขาก็ยังคงนโยบายต่างประเทศและการทหารแบบผีเข้าผีออก สื่อมวลชนตะวันตกยังมองว่าเกาหลีเหนือมีความพยายามสร้างขัดแย้งกับเพื่อนบ้านคือเกาหลีใต้และสหรัฐฯ  อยู่บ่อยครั้ง  กระนั้นหากเรามองอย่างยุติธรรม  2 ประเทศหลังก็ได้ยั่วยุเกาหลีเหนืออยู่เหมือนกันเช่นการซ้อมรบใกล้ชายแดนที่ติดกับเกาหลีเหนือหรือแม้แต่การสร้างภาพยนตร์ที่ล้อเลียนผู้นำเกาหลีเหนือ (4)

พฤติกรรมเช่นนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นความพยายามของกลุ่มผู้นำเกาหลีเหนือซึ่งต้องการเอาตัวให้รอดจากภัยคุกคามจากต่างประเทศหรือกลุ่มทางการเมืองหรือทางสังคมอื่นๆ ภายในประเทศตัวเอง (ตามมุมมองของพวกเขา)  แต่ด้วยคำพูดและพฤติกรรมที่ก้าวร้าวเช่นการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือเพื่อไปตกในบริเวณประเทศรอบข้างคือเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมไปถึงการข่มขู่จะโจมตีสหรัฐอเมริกาทำให้มีคนเกิดความสงสัยว่าเกาหลีเหนือนั้นเป็นภัยต่อโลกกล่าวคือจะสามารถก่อสงครามหรือโจมตีประเทศรอบข้างตามที่หวาดกลัวกันได้หรือไม่ รวมไปถึงคำถามที่ว่าหากเกาหลีทำเช่นนั้นจริง จะมีมหาอำนาจหรือประเทศใดให้การสนับสนุนหรือไม่

ตามมุมมองของผู้เขียน เกาหลีเหนือมีโอกาสน้อยมากที่จะทำการบุกรุกประเทศใดไม่ว่าญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ใยไม่ต้องกล่าวถึงสหรัฐอเมริกา ด้วยภาวะทางการเมืองของเกาหลีเหนือนั้นที่ขาดเสถียรภาพอย่างมาก มีการกวาดล้าง (purge) พวกเดียวกันบ่อยครั้งนับตั้งแต่การสังหารน้าเขยของคิม จ็องอึนและพรรคพวกอย่างโหดเหี้ยม การกำจัดศัตรูทางการเมืองเช่นนี้ (ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากการกำจัดพวกเดียวกันเองของจีนในยุคเหมาและโซเวียตในยุคสตาลิน)  คงเกิดขึ้นในอนาคตอีกเรื่อยๆ หากตัวละครทางการเมืองมีผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวหรือหากคิม จ็องอึนมีการบรรลุวุฒิภาวะทางการเมืองจนไม่จำเป็นต้องอิงอาศัยคนรอบข้างไม่ว่าพลเรือนและนายทหารซึ่งเคยช่วยเหลือเขาแต่ก็สามารถเป็นภัยต่อบัลลังก์ของตนได้เหมือนกับน้าเขยหรือตัวน้าผู้หญิงแท้ๆ ของเขาก็ตาม แม้ว่าสื่อเกาหลีเหนือจะนำเสนอเหตุการณ์ของผู้นำและชนชั้นนำของตนแบบด้านเดียวตลอดมา แต่มีหลายครั้งที่ดูเหมือนจะไม่สามารถโกหกชาวโลกได้ดังเช่นการหายตัวไปเป็นเดือนๆ ของประมุขสูงสุดอันทำให้มีการคาดเดาเอาว่าเขาอาจถูกโค่นอำนาจลง แต่ในที่สุดก็ได้คำเฉลยคือเกิดจากปัญหาด้านสุขภาพของนายคิมผู้อวบอ้วนเอง  ด้วยความว้าเหว่นี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายคิมพยายามผลักดันให้นางสาวคิม โยจ็อง น้องสาวของเขาขึ้นดำรงตำแหน่งสูงๆ แม้ว่าสังคมเกาหลีเหนือจะเป็นสังคมที่กดขี่ผู้หญิงก็ตาม  การขาดความเป็นเอกภาพในบรรดาผู้นำย่อมสร้างความยากลำบากสำหรับการเริ่มต้นสงครามเพราะทุกสถาบันหรือทุกองค์กรของรัฐต้องประสานงานกันอย่างกลมกลืนให้ได้มากที่สุด  นายคิมจะมั่นใจได้อย่างไรว่าในขณะที่ทำสงคราม คนรอบข้างซึ่งปราศจากความภักดีอาจจะฉวยโอกาสในการทำรัฐประหารไปในช่วงที่กำลังทหารส่วนใหญ่กำลังอยู่ที่แนวหน้า

ในทางกลับกันสมมติว่าตัวคิม จ็องอึนหรือสมาชิกในกลุ่มผู้นำมีความสามัคคีกันดีหรือนายคิมคิดว่าการทำสงครามจะทำให้เขาและลูกน้องผู้ภักดีมีอำนาจเหนือกลุ่มทางการเมืองอื่นซึ่งไม่ได้มีความศรัทธาต่อตัวเขาอย่างแท้จริง แต่กลุ่มผู้นำน่าพิจารณาว่าการทำสงครามในระยะยาวนั้นต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นไม่ว่าด้านเศรษฐกิจและการเมือง พวกเขาน่าจะตระหนักได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศตนไม่ได้อยู่ในระดับน่าพอใจนัก คนเกาหลีเหนือมีคุณภาพชีวิตต่ำในเกือบทุกด้านระบบเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือที่ยึดตามอุดมการณ์แบบจูเช่ (Juche) หรือการพึ่งตัวเองนั้นก็ล้าหลังถูกครอบงำโดยรัฐส่วนกลางและมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีการเปิดเสรี (Liberalization) เหมือนกับจีน เพราะนอกจากการคว่ำบาตรของตะวันตกแล้ว การเปิดเสรีจะเป็นการบั่นทอนผลประโยชน์และอำนาจของชนชั้นนำเกาหลีเหนือรวมไปถึงอาจกระทบกระเทือนถึงธุรกิจที่มีกับจีนซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมหาศาลอันเป็นผลให้การค้าขายของเกาหลีเหนือจำกัดอยู่กับไม่กี่ประเทศในขณะที่ประเทศอื่นมีการติดต่อกันทั่วโลก

ส่วนด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของเกาหลีเหนือค่อนข้างล้มเหลวต้องรอรับการช่วยเหลือจากต่างชาติอย่างจีนแต่ก็เหมือนกับวงจรอุบาทว์เพราะความฉ้อฉลของชนชั้นนำที่มีมากทำให้เกาหลีเหนือมีการฉ้อราษฏรบังหลวงอยู่ในอันดับที่  175 จากทั้งหมด 177 ของประเทศต่างๆ (5)  อันกลายปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีไม่ได้ดีขึ้นจากความช่วยเหลือเพราะไม่ว่าชาติใดย่อมปราศจากความเชื่อมั่นที่จะให้การช่วยเหลือเกาหลีเหนืออย่างเต็มที่ด้วยความตระหนักว่าจะไม่มีวันช่วยเหลือผู้คนทั้งประเทศได้อีกทั้งยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกาหลีเหนือได้ ดังเช่นนโยบาย Sunshine policy ของเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 1998 ซึ่งเน้นการช่วยเหลือและการเป็นมิตรกับเกาหลีเหนือแต่ก็ต้องถูกระงับไปในปี 2007

หากเกิดสงครามขึ้นโดยเฉพาะกับเกาหลีใต้ กองทัพเกาหลีเหนืออาจจะทำสงครามได้อย่างดุดันเพราะเป็นฝ่ายได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์ ด้วยกรุงโซลเมืองหลวงของเกาเหลีใต้นั้นตั้งอยู่ห่างจากชายแดนที่ติดกับเกาหลีเหนือเพียง 35 ไมล์ นอกจากนี้กองทัพของเกาหลีเหนือมีความเข้มแข็งอยู่ในอันดับ 35  ของโลก (6)  ด้วยงบประมาณถูกจัดสรรไปยังกองทัพเป็นจำนวนมากเหมือนกับพม่า สำหรับคนเกาหลีเหนือก็ยินดีตายเพื่อชาติเพราะการถูกล้างสมองให้จงรักภักดีต่อชาติมาอย่างยาวนานจนพร้อมใจที่จะเข้าร่วมกองกำลังได้อย่างมากมาย (เข้าทำนองว่ายินดีตายกันทั้งชาติเพื่อประเทศและท่านผู้นำ) แต่ด้วยความอ่อนแอของรัฐในทุกด้านดังได้กล่าวมาข้างต้น เกาหลีเหนืออาจสามารถระดมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อการทำสงครามหรือ War Economy  ได้ในระยะเวลาแบบสั้นๆ ก่อนจะต้องแพ้ไปอย่างราบคาบ

สาเหตุสำคัญอื่นที่เกาหลีเหนือน่าจะชะงักงันในการทำสงครามเพราะเกาหลีเหนือไม่มีแรงสนับสนุนอันแข็งแกร่งจากจีนและรัสเซียเหมือนกับช่วงสงครามเกาหลี (7)  ด้วยบริบทของประเทศต่างๆ ในยุคสงครามเย็นกับยุคหลังสงครามเย็นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล ตอนที่เกาหลีเหนือทำการบุกเกาหลีใต้ก็เพราะต้องการรวมเกาหลีให้เป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะทำได้ไม่ยากเพราะคาบสมุทรเกาหลียังเพิ่งถูกแบ่งได้เพียงไม่ถึง 5 ปี ความเป็นรัฐที่ต่างกันยังมีไม่มาก นายคิม อิงซ็องผู้นำของเกาหลีเหนือคาดคะเนว่าคนเกาหลีใต้จำนวนมากมีความไม่พอใจในการปกครองของสหรัฐอเมริกาจึงน่าจะต้อนรับการมาของกองทัพคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้เขายังมีความเชื่อมั่นว่าทั้งจีนกับสหภาพโซเวียตต้องช่วยเหลือตนทางการทหารอย่างแน่นอน   ในปัจจุบันเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้มีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายดายที่เกาหลีเหนือจะสามารถเข้ายึดครองเกาหลีใต้ซึ่งก็มีกองทัพที่แข็งแกร่งเป็นอันดับ 9 ของโลกและได้รับแรงสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีทหารเกือบ 30,000 นายประจำการในเกาหลีใต้นอกจากจะเพียงสามารถทำให้เกาหลีใต้เสียหายได้เป็นจำนวนมาก (8)

อาจมีคนมองว่าสหรัฐอเมริกานั้นอ่อนล้าจากสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน แต่แท้ที่จริงแล้วความอ่อนล้านั้นหมายถึงความถูกต้องชอบธรรมด้านทางการเมืองและทัศนคติของคนอเมริกันต่อสงครามเสียมากกว่าสภาพที่แท้จริงของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งยังคงยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกและมีงบประมาณจำนวนมากที่สุดในโลก (แม้แต่โอบามาจะพยายามตัดงบของกระทรวงกลาโหมก็ยังไม่ค่อยสำเร็จนัก) ดังนั้นถ้าเกาหลีเหนือทำการบุกเกาหลีใต้จริง สหรัฐฯ รวมไปถึงพันธมิตรย่อมมีเหตุผลโดยชอบธรรมในการต่อสู้กับเกาหลีเหนืออย่างเต็มที่เช่นเดียวกับสงครามเกาหลีเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน  หรือหากรัฐบาลเกาหลีเหนือเกิดเสียสติยิงหัวรบนิวเคลียร์ไปยังเกาหลีใต้ นอกจากผลกระทบจากอาวุธนิวเคลียร์จะสะท้อนกลับมายังยังตัวเองแล้วเพราะความคับแคบของคาบสมุทรแล้ว  เกาหลีเหนือยังต้องพบกับการตอบโต้จากสหรัฐอเมริกาด้วยหัวนิวเคลียร์ที่มีอำนาจการทำลายล้างสูงกว่าไม่รู้กี่เท่าอีกด้วย นัยว่าเป็นการยืมมือคนอื่นมาฆ่าตัวเอง แต่ผลก็คืออาจส่งผลต่อสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะจีนเองอาจมองว่าตัวเองกำลังถูกโจมตีไปด้วย (9)

สำหรับการสนับสนุนจากจีนและรัสเซียโดยไม่ต้องนับประเทศโลกที่ 3 ซึ่งก็คงไม่มีความสามารถอะไรจะมาช่วยเกาหลีเหนือได้อย่างจริงจังนัก  แม้ว่าโลกปัจจุบันจะมีความตึงเครียดระหว่างฝ่ายหนึ่งคือรัสเซียกับจีนและอีกฝ่ายคือสหรัฐฯ และโลกตะวันจนดูเหมือนกับเป็นสงครามเย็นรอบใหม่ แต่ความสัมพันธ์โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ซึ่งพัดแรงโดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามเย็นนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ประเทศต่างๆ ต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจมากขึ้น  เกาหลีเหนือเองมองว่าจีนนั้นมีโอกาสสูงมากที่จะไม่สนับสนุนตนในการทำสงครามกับประเทศใดๆ เพราะนอกจากความสัมพันธ์อันเหินห่างระหว่าง 2 ประเทศแล้ว จีนยังไม่ต้องการให้การทำสงครามของเกาหลีเหนือเป็นตัวผลักดันให้กองทัพสหรัฐฯและพันธมิตรบุกรุกเข้ามาในคาบสมุทรเกาหลี อันเป็นการซ้ำรอยเดิมกับสงครามเกาหลี นอกจากนี้ในกรณีสงครามนิวเคลียร์ หากเกาหลีเหนือเป็นผู้เริ่มต้นดังที่กล่าวมาข้างบนจะทำให้จีนอยู่บนทาง 2 แพร่ง เพราะจีนไม่สามารถสนับสนุนเกาหลีเหนือได้เหมือนเดิม ในขณะเดียวกันจีนก็ไม่สามารถปล่อยให้สหรัฐอเมริกายิงหัวรบนิวเคลียร์มาลงพื้นที่ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงประเทศตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้สิ่งที่แตกต่างกันจากยุคสงครามเย็นอย่างมากคือจีนได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีใต้ในด้านการทูตและเศรษฐกิจเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจกับญี่ปุ่นและเกาหลีเหนือจนดูเหมือนลักษณะเป็นการโอบล้อมเกาหลีเหนือ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเลวร้ายลง

อาจมีการคาดเดาว่าจีนนั้นอาจสนับสนุนหรือยุยงให้เกาหลีเหนือทำสงครามกับญี่ปุ่นนัยว่าเป็นการยืมมือฆ่า หากทำเช่นนี้มหาอำนาจเช่นจีนก็สูญเสียความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นการเสียผลประโยชน์มากกว่าได้ แม้ว่าจีนจะเป็นปรปักษ์กับญี่ปุ่นอย่างมากจนมีคนคาดว่าทั้ง 2  ประเทศอาจทำสงครามต่อกันหากปัจจัยบางประการเอื้ออำนวยให้ แต่อย่าลืมว่าผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจของทั้งทั้งจีนและญี่ปุ่นก็ยังมีร่วมกันอย่างมหาศาล ดังนั้นในความจริงจึงเป็นไปได้ว่าจีนน่าจะพอใจในการทำให้ความกดดันจากความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศในลักษณะที่เป็นผลดีสำหรับลัทธิชาตินิยมและการถ่วงดุลอำนาจกับญี่ปุ่นทางการเมืองและเศรษฐกิจมากกว่าจะใช้เกาหลีเหนือเป็นเครื่องมือในการทำสงครามกับญี่ปุ่นซึ่งกลายเป็นฉากทางการเมือง หรือ scenario ที่ควบคุมได้ยากมากและอาจส่งผลร้ายมาสู่ตนประดุจดังการจุดประทัดบนมือ    นอกจากนี้ทั้งจีนและรัสเซียก็คงไม่ต้องการจะพบกับการโต้ตอบจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกซึ่งก็กดดันทั้งสองประเทศมากพอสมควรในประเด็นอื่น (ในทางกลับกันฝ่ายหลังก็ไม่อยากจะโต้ตอบอีกเช่นกันเพราะต้องเดือดร้อนไปด้วย แต่ถ้ากรณีรุกลามไปอย่างเช่นรัสเซียก็กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้)

ส่วนรัสเซียก็คงไม่สนับสนุนเกาหลีเหนือในการทำสงครามอีกเช่นกันแม้ว่าในช่วงหลัง       ปูตินพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีเหนือจนถึงขั้นเชิญนายคิม จ็องอึนไปเยี่ยมรัสเซีย (ถ้านายคิมเดินทางไปจริง ก็ถือได้ว่าเป็นประเทศแรกที่เขาไปเยือนนับตั้งแต่เป็นประมุขสูงสุดของเกาหลีเหนือเมื่อปี 2011)  แต่รัสเซียในปี 2015 นั้นแตกต่างจากสหภาพโซเวียตในยุคของ สตาลินเมื่อปี 1950 อย่างมาก เพราะสหภาพโซเวียตมีประเทศยุโรปตะวันออกเป็นบริวารและได้รับการสนับสนุนจากประเทศโลกที่ 3 ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนมาก  แต่รัฐบาลของปูตินซึ่งประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและยังว้าเหว่อย่างมากเพราะการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและทางการเมืองจากความขัดแย้งกับตะวันตกในกรณียูเครนก็ย่อมต้องการเข้ามามีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเอเชียตะวันออกไม่ว่ากับประเทศใดย่อมส่งผลดีต่อด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของรัสเซียเสียยิ่งกว่าการส่งเสริมให้เกิดภาวะสงครามเช่นนายวลาดิเมียร์ ปูตินได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับนายสี    จิ้นผิงของจีนและนายชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่นรวมไปถึงนางปาร์ก กึน เฮแห่งเกาหลีใต้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งก็ยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของรัสเซียกับประเทศในเอเชียส่วนอื่นๆ ไม่วาเอเชียใต้โดยเฉพาะมิตรที่ดีของรัสเซียคืออินเดียหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งถึงแม้จะไม่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองแนบชิดนักแต่ก็มีการค้าขายและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่นไทยได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจจากการที่มีคนรัสเซียเดินทางมาท่องเที่ยวหรือประกอบกิจการในพัทยาหรือภูเก็ตอย่างมาก

แม้แต่สำหรับตัวเกาหลีเหนือนั้นก็ไม่น่าจะทำสงครามกับญี่ปุ่นเพราะไม่มีแรงจูงใจอะไรนัก หากพิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน เกาหลีเหนือกับญี่ปุ่นนั้นพยายามเปิดการเจรจากันเป็นทางการในเรื่องการที่เกาหลีเหนือลักพาตัวคนญี่ปุ่นและการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์  ซึ่งมีผู้มองว่าเป็นกลยุทธ์ของเกาหลีเหนือที่จะขอความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นเพราะถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก  ญี่ปุ่นนั้นมีความขัดแย้งกับจีนและไม่ค่อยลงรอยกับเกาหลีใต้เพราะประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อันได้รับการตอกย้ำจากการเยือนของผู้นำในรัฐบาลญี่ปุ่นต่อสุสานยาสุกุนิอยู่บ่อยครั้งเช่นเดียวกับการขัดแย้งในเรื่องหมู่เกาะ ดังนั้นจึงกลายเป็นเรื่องกลับตาลปัดว่าเกาหลีใต้สนิทกับจีนซึ่งเป็นเผด็จการมากกว่ากับญี่ปุ่นซึ่งปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยด้วยกัน ส่วนเกาหลีเหนือกลับเหินห่างจากจีนซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยกัน(แต่ต่างประเภทกันเพราะเกาหลีเหนือเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ส่วนจีนเป็นเผด็จการแบบอำนาจนิยม) ไปเสียแล้ว  

ด้วยเหตุนี้ทั้งเกาหลีเหนือและญี่ปุ่นน่าจะมาเป็นมิตรกันเสียดีกว่าเพราะต่างฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์จากกัน ที่สำคัญการเป็นมิตรกันยังจะเป็นการสร้างดุลทางอำนาจแข่งกับประเทศรอบข้าง  แต่ก็น่าสนใจว่าจากการสำรวจพบว่าคนญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ไม่ดีกับเกาหลีเหนือ ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องใช้รูปแบบการทูตแบบสองหน้าคือฉากหน้าแสดงความรู้สึกในการเป็นศัตรูแต่ก็แอบเป็นมิตรกับเกาหลีเหนือ เพื่อที่นายชินโซ อาเบะจะได้ไม่เสียคะแนนความนิยม นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังได้การสนับสนุนทางอาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อผลักดันลัทธิทางทหารของตนในการสร้างดุลทางอำนาจกับจีนและยังเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณชนจากปัญหาเศรษฐกิจซึ่งนายอาเบะค่อนข้างแก้ไขได้ไม่ดีนัก

ผู้เขียนคิดว่าทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในเอเชียตะวันออกล้วนแต่เล่นไพ่ชิงไหวชิงพริบกันอย่างระมัดระวัง คือพยายามให้ความขัดแย้งนั้นอยู่ในวงแคบเพื่อจะผลักดันให้ตัวเองมีอำนาจในการต่อรองหรือหยิบฉวยเอาใช้เป็นประโยชน์สำหรับการเมืองภายในประเทศ  การทดลองอาวุธนิวเคลียร์หรือการใช้วาทศิลป์ในการโจมตีต่างชาติของเกาหลีเหนือจนดูเหมือนพร้อมจะทำสงครามก็มีวัตถุประสงค์คือเสริมสร้างบทบาทของตัวเองในเวทีโลกรวมไปถึงการสร้างอำนาจให้กับกลุ่มชนชั้นปกครองและเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนไปยังต่างชาติเสียมากกว่า เกาหลีเหนือเคยสำเร็จมาแล้วกลับการให้เกาหลีใต้เกิดความหวาดกลัวจนต้องใช้นโยบาย Sunshine policy  เช่นเดียวกับการผลักดันให้ญี่ปุ่นมาตกลงกับตัวเอง

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ การเมืองยุโรปยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1  ก็เป็นเช่นนี้ในความพยายามถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันผ่านการสร้างเครือข่ายพันธมิตรแต่ในที่สุดก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสงครามได้ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเกาหลีเหนือนั้นก็ยังคงเป็นภัยต่อโลกหากคำนึงถึงปัจจัยของการเบี่ยงเบนอื่นๆ เช่นอุบัติเหตุทางการเมืองเช่นนายคิมเกิดเสียสติ หรือมีการทำรัฐประหารและมีผู้นำซึ่งสติไม่ดีหรือมีการรับรู้โลกบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงขึ้นมาเช่นเกาหลีเหนือเกิดเข้าใจว่าตนกำลังถูกโลกตะวันตกรุกรานเข้าจริงๆ ด้วยอุบัติบางอย่าง (ซึ่งเคยมีมาแล้วในช่วงสงครามเย็นจนมหาอำนาจเกือบจะรบกัน)  ซึ่งความไม่แน่นอนนี้สอดคล้องกับทฤษฎีคนบ้า (Madman theory) ที่เราไม่สามารถไว้ใจได้ว่าผู้นำและกลุ่มผู้นำของรัฐซึ่งคุ้มดีคุ้มร้ายจะสามารถคิดหรือคำนึงถึงเรื่องมีเหตุผลได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่โลกตะวันตกแม้จะคิดว่าเกาหลีเหนือไม่กล้าเริ่มต้นสงครามด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างบน แต่ทุกอย่างก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากเหตุผลของทางเกาหลีเหนือแม้แต่ประเทศที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ฯลฯ ดังนั้นหากเราจะให้ความยุติธรรมในความขัดแย้งครั้งนี้เราก็ต้องกล่าวว่าประเทศเหล่านั้นต่างก็เป็นภัยต่อโลกไม่แพ้กับเกาหลีเหนือเช่นกัน (10)

ดังนั้นเราจึงพออนุมานได้ว่าต่างชาติไม่ว่าสหรัฐอเมริกาหรือจีนนั้นอาจจะพึงพอใจที่สามารถพูดคุย ติดต่อและสามารถตกลงกับคิม จ็องอึนผู้เจริญรอยเท้าตามบิดาในการแอบใฝ่ใจต่อชาติตะวันตกได้ในระดับหนึ่งเสียยิ่งกว่าใคร ดังนั้นผู้เขียนมาคิดดูเล่นๆ ว่าการที่เกาหลีเหนือพยายามโฆษณาหรือพูดอยู่เสมอว่ามักมีสายลับต่างชาตินั้นแอบเข้ามาล้มล้างรัฐบาลโดยส่วนมากเพื่อจะเป็นข้ออ้างในการระดมกำลังการทำสงคราม (ที่ไม่มีวันจะเกิดขึ้น) ตลอดกาลนั้นเป็นความพยายามของรัฐบาลในการสร้างศัตรูในจินตนาการเพื่อให้ประชนเกิดความหวาดกลัวหรือเกิดความสามัคคีกันเพื่อตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐเสียมากกว่า   สำหรับตะวันตกแล้วการทำให้เกาหลีเหนือมีเสถียรภาพแม้ว่าจะเป็นเผด็จการที่แสนชั่วร้ายเต็มไปด้วยการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนตามคำกล่าวหาของสหประชาชาติย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าเกาหลีเหนือที่วุ่นวายสับสนเพราะการลุกฮือของประชาชน หรือความพยายามในการแย่งอำนาจหรืออะไรก็แล้วแต่  ดังนั้นสิ่งที่สหรัฐฯและตะวันตกคิดว่าทำได้ดีที่สุดคือการค่อยๆ บีบให้เกาหลีเหนือมีการเปลี่ยนแปลงในด้านประชาธิปไตยและมีการค้าที่เสรีนิยมเพราะปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ประสบพบมาแล้วในการประท้วงครั้งใหญ่ที่อาหรับหรืออาหรับสปริงที่ทำให้โอบามาและรัฐบาลอเมริกันยืนอยู่บนทาง 2 แพร่ง เพราะแม้จะเป็นการปฏิวัติของมวลชนตามระบอบประชาธิปไตยแต่การทำให้รัฐบาลเผด็จการรัฐบาลหนึ่งขาดเสถียรภาพย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพโดยรวมของภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ในกรณีเกาหลีเหนือนั้น ประเทศที่เดือดร้อนไม่แพ้สหรัฐคือประเทศจีนซึ่งมีผลประโยชน์จำนวนมากในเกาหลีเหนือและต้องเป็นประเทศแรกที่พบกับกระแสการอพยพครั้งใหญ่จากคนเกาหลีเหนือหากเกาหลีเหนือต้องพบกับภาวะสงครามกลางเมืองอันเกิดจากการแย่งชิงอำนาจกันเช่นเดียวกับซีเรีย

 

หมายเหตุ

(1) สิ่งนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งทางวัฒนธรรมอย่างมาก ถ้าเป็นภาษาของแซมมัล ฮันติงตันคืออารยธรรมหรือ The Clash of Civilizations ที่ว่า ภาพยนตร์เชิงวิพากษ์หรือเสียดสีปนตลกตามแนวคิดของชาติตะวันตกนั้นไม่มีข้อยกเว้นต่อผู้นำหรือคนสำคัญใดๆ ของโลก ทั้งสิ้น ไม่ว่าพระเจ้า ศาสดา สันตะปาปา ประธานาธิบดี กษัตริย์ ราชวงศ์ มิเว้นผู้นำนิสัยแปลกประหลาดของประเทศโลกที่ 3 ทั้งหลาย เพราะพวกเขาถือว่าการเสียดสีหรือล้อเลียนเป็นเสรีภาพและที่สำคัญยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงบางอย่าง แต่ตามแนวคิดของตะวันออกโดยเฉพาะเกาหลีเหนือนั้นซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบขงจื้ออย่างมากถือว่าผู้นำตนยิ่งกว่าพระเจ้า จะดูถูกหรือเสียดสีก็ไม่ได้ไม่เช่นนั้นต้องติดคุกหรือโดนประหารชีวิต

(2)  จากนั้นไม่นานเกาหลีเหนือเองก็ประสบปัญหาจากการล่มของระบบอินทราเน็ตภายในประเทศ อันมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะพบจากการทำโจมตีจากทางการของสหรัฐฯ (ซึ่งก็เป็นประเทศตัวร้ายที่ไปเล่นงานระบบอินเทอร์เน็ตของชาติอื่นเช่นอิหร่านแต่ไม่เคยยอมรับว่าตัวเองผิด)  อนึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจว่าเกาหลีเหนือนั้นมีเพียงคนกลุ่มเล็กๆ คือแวดวงของผู้นำที่ได้เล่นอินเทอร์เน็ตที่สามารถค้นหาเว็บไซต์ทั่วโลกได้เหมือนกับที่เราเล่น รองลงมาก็ได้แก่ชนชั้นสูงและกลางค่อนสูงที่ได้รับอินทราเน็ตหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเฉพาะในประเทศ ไม่สามารถเชื่อมต่อหรือสามารถยลความเป็นไปของโลกภายนอก ส่วนคนเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ที่ฐานะยากจนไม่มีคอมพิวเตอร์และไม่มีระบบอินเทอร์เน็ตนอกจากจะมีการเสพสื่อเหมือนกับเมืองไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนเช่น วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ อันเป็นกลยุทธ์ในการควบคุมประชาชนที่ยอดเยี่ยมของเกาหลีเหนือ  สิ่งนี้คงให้ชนชั้นปกครองของไทยน้ำลายไหลอยากเลียนแบบบ้างโดยเฉพาะความสามารถในการสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงเฟสบุ๊คหรือไลน์บนโทรศัพท์มือถือได้

(3) การทูตแบบ 2 หน้านั้นเป็นธรรมชาติขั้นพื้นฐานของรัฐ เพราะกลุ่มทางอำนาจต่างๆ ในรัฐอาจมีมุมมองต่อประเทศคู่กรณีที่แตกต่างกันและมีการเล่นเกมการเมืองเพื่อแย่งชิงอำนาจกันภายในอย่างเช่นรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ นั้นค่อนข้างยืดหยุ่นในนโยบายต่อประเทศที่ตนประณามว่าชั่วร้ายโดยการมุ่งเน้นที่ผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ในทางกลับกันรัฐสภาหรือคองเกรสนั้นค่อนข้างยึดมั่นในอุดมการณ์ ยิ่งรัฐสภาถูกยึดครองโดยสมาชิกที่อยู่ในพรรคการเมืองที่อยู่ตรงกันข้ามกับประธานาธิบดีก็ยิ่งทำให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ขาดความเป็นเอกภาพ ดังเช่นสหรัฐอเมริกาในยุคของบิล คลินตันเคยลงนามในกรอบแนวคิดร่วมกันกับเกาหลีเหนือในปี 1994 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างการยุติการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือกับความช่วยเหลือและการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศ ทว่ากรอบแนวคิดนี้ก็ถูกชะลอโดยคองเกรสซึ่งถูกพรรครีพับลิกันขึ้นมามีอิทธิพลในภายหลังและก็สิ้นสุดลงในปี 2003

(4)  ภาพยนตร์เรื่อง Interview ไม่ใช่เรื่องแรกเพราะมีภาพยนตร์เรื่อง Team America: World Police (2004)  ที่เป็นการ์ตูนอานิเมชันได้ล้อเลียน คิม จ็องอิล  นอกจากนี้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดอีกเป็นจำนวนมากยังเสนอภาพของเกาหลีเหนือในฐานะเป็นผู้ร้ายไม่ว่าเรื่อง James Bond ตอน Die Another Day  (2002) หรือ Red Dawn (2012)  ซึ่งเป็นเรื่องที่ฮอลลีวูดไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะสูญเสียลูกค้าเพราะเกาหลีเหนือไม่นำภาพยนตร์ตะวันตกเข้าฉายในประเทศอยู่แล้ว (นอกจากการแอบชมภายในบรรดาผู้นำระดับสูง) นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ชวนขันที่ไม่ใช่ภาพยนตร์โดยตรงคือซาชา  บารอน โคเฮน นักแสดงที่โด่งดังจากเรื่อง Borat ได้เดินขบวนในงานพิธีมอบรางวัลออสการ์เมื่อปี 2012 เพื่อโฆษณาภาพยนตร์เรื่องใหม่เรื่อง The Dictator  เกี่ยวกับเผด็จการในตะวันออกกลางและอ้างว่าตนได้ถือโกศใส่ขี้เถ้าของคิม จ็องอิล เพื่อนรักของตนจากนั้นก็ได้แกล้งทำขี้เถ้าหกใส่นักข่าว มุขตลกเช่นนี้คงทำให้คนเกาหลีเหนือโดยเฉพาะคิม จ็องอึนไม่ได้รู้สึกปลื้มด้วยเท่าไรนัก

(5) http://en.wikipedia.org/wiki/Corruption_in_North_Korea

(6)  http://www.businessinsider.com/35-most-powerful-militaries-in-the-world-2014-7

(7)  สงครามเกาหลีซึ่งเกิดในช่วงปี 1950-1953  นั้นมีจุดเริ่มต้นจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้เดินทางไปปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นและเข้ายึดครองเกาหลีจากทางตอนใต้  ส่วนฝ่ายสหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครองเกาหลีในตอนเหนือก่อนจะบรรจบกันที่เส้นขนานที่ 38  ด้วยข้อตกลงที่ว่าจะมีการให้เกาหลีรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวภายใน  5  ปี  รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของนาย คิม อิลซ็องได้วางแผนยึดเกาหลีส่วนใต้เพื่อให้เกาหลีเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ในขณะที่กองกำลังของทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ ได้ถอนกำลังออกไปตามคำสัญญา  ผู้ที่คิม อิลซ็อง สนใจมากที่สุดคือสตาลินผู้นำของสหภาพโซเวียต เขาได้ลงทุนนั่งรถไฟไปยังกรุงมอสโคว์เพื่อร้องขอสตาลินให้การสนับสนุนการทำสงคราม ถึงแม้   สตาลินจะลังเลใจในตอนแรก แต่ด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ว่าการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตเป็นครั้งแรกในปี 1949  ทำให้สตาลินหันมาสนับสนุนนายคิมในการบุกเกาหลีใต้ แต่เมื่อสงครามเกิดขึ้นจริง เกาหลีเหนือก็ต้องพบกับการต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากกองทัพอเมริกันและองค์การสหประชาชาติ  สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้สงครามเกาหลีเหนือยืดเยื้อก็คือการเข้ามาช่วยเหลือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนในเดือนตุลาคม ปี 1950 อันเป็นการต่อสู้อย่างดุเดือดระหว่างฝ่ายหนึ่งคือจีน เกาหลีเหนือ โดยได้รับการสนับสนุนห่าง ๆ จากโซเวียต กับอีกฝ่ายหนึ่งคือ สหรัฐฯ สหประชาชาติและเกาหลีใต้   ภายหลังจากมีผู้เสียชีวิตกว่า 2 ล้านคน ในปี 1953  การเจรจาเพื่อพักรบสงครามของทั้ง 2 ฝ่ายก็ประสบความสำเร็จ โดยมีการลงนามที่หมู่บ้านปันมุนจอม  ปัจจุบันทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในภาวะสงคราม (State of war)  กันอยู่

(8)  ในปี 1994  ก่อนที่สหรัฐฯ จะหันมาปฏิบัติกับเกาหลีเหนือในด้านที่ประนีประนอมมากขึ้น รัฐบาลของนายบิล คลินตันมีการวางแผนจะทำการบุกเกาหลีเหนือด้วยขอบเขตที่จำกัดเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลของนายคิม จ็องอิลสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ แต่ก็มีการคาดการณ์จากเพนตากอนว่า หากเกาหลีเหนือทำการบุกรุกเกาหลีใต้เป็นการโต้ตอบ จะทำให้คนเกาหลีใต้เสียชีวิตเป็นล้านๆ  คน ในช่วงที่รัฐบาลอเมริกันกำลังลังเลอยู่นั้น  นายจิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีก็ได้กลายเป็นวีรบุรุษขี่ม้าขาวเดินทางไปเจรจากับคิม จ็องอิลเป็นการส่วนตัว จนเกาหลีเหนือตกลงใจระงับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในที่สุด  (เก็บความจาก http://edition.cnn.com/US/9910/04/korea.brink/) แต่กระนั้นเราต้องมาคำนึงถึงขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองของเกาหลีใต้ในปัจจุบันด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใดไปจากปี 1997

(9)  เหตุการณ์ที่น่าเป็นตัวหลอกหลอนจีนเกี่ยวกับภัยทางทหารจากสหรัฐฯ มาจนถึงปัจจุบันอยู่ไม่น้อยคือความพยายามของนายพลดักลัส แมกอาเธอร์ผู้บัญชาการของกองทัพสหประชาชาติที่ร้องขอกึ่งบีบบังคับให้ทางสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงที่ประเทศจีนในช่วงสงครามเกาหลี แต่นายแฮร์รี ทรูแมนประธานาธิบดีในสมัยนั้นเกรงว่าอาจขยายไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 จึงได้ปลดแมกอาเธอร์ในปี 1951

(10) ด้วยความต้องการทราบถึงความเป็นไปของอีกฝ่ายในภาพลึกกว่าที่ประเทศนั้นแสดงตนจึงเป็นตัวผลักดันประเทศต่างๆ ก่อตั้งหน่วยข่าวกรองและสายลับขึ้นมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าบรรดาชาวอเมริกันที่ถูกเกาหลีเหนือจับกุมและคุมขังน่าเป็นสายลับของ    ซีไอเออยู่หลายคน เช่นเดียวกับสายลับของเกาหลีเหนือก็คงแทรกซึมเข้ามาในประเทศต่างๆ ไม่มากก็น้อย อันเป็นเหตุว่าทำไมมีการลักพาตัวพลเมืองของประเทศเหล่านั้นเพื่อที่จะฝึกให้สายลับมีความรอบรู้เกี่ยวกับประเทศที่ตนต้องการล้วงความลับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net