Skip to main content
sharethis

ชวนอ่านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) ให้อำนาจเรียกหน่วยงานรัฐ-บุคคลมาให้การ, สั่งหน่วยงานรัฐ-เอกชนได้, ดักฟังได้ เพื่อความมั่นคง

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นหนึ่งในชุดร่างกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 8 ฉบับ ที่ ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ.นี้เสนอโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ล่าสุด เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้นำร่าง พ.ร.บ.มาเผยแพร่ในเว็บไซต์

รายละเอียดร่าง พ.ร.บ. มีดังนี้

  • ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หมายความว่า มาตรการและการดำเนินการที่กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศให้สามารถปกป้อง ป้องกัน หรือรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบหรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียม อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
     
  • ให้ตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน
  • กรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือภยันตรายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจกระทบความมั่นคงของประเทศ ให้ กปช. สั่งหน่วยงานรัฐทุกแห่งดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไข บรรเทาความเสียหายที่เกิดหรืออาจจะเกิดได้
     
  • กรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน การพาณิชย์หรือความมั่นคงของประเทศ กปช. สั่งหน่วยงานเอกชนได้
  • พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการ มีอำนาจดังต่อไปนี้
    1. มีหนังสือสอบถามหรือเรียกให้หน่วยงานรัฐ บุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี เอกสาร หลักฐานเพื่อตรวจสอบหรือให้ข้อมูล
    2. มีหนังสือให้หน่วยงานราชการหรือเอกชนดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของ กปช.
    3. เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) ประกอบด้วย
    - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ
    - กรรมการโดยตำแหน่ง 4 คน ได้แก่ เลขา สมช., ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผู้บังคับการ ปอท. สตช.
    - กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 7 คน ซึ่งแต่งตั้งโดย รมว. ดำรงตำแหน่งครั้งละ 3 ปี ไม่เกิน 2 วาระ
    - เลขาธิการ เป็นกรรมการและเลขาฯ โดยตำแหน่ง มีวาระ 4 ปี คณะกรรมการฯ เป็นผู้สรรหา แต่งตั้ง ถอดถอนเลขาธิการ กำหนดคุณสมบัติ อายุไม่เกิน 65 ปี ไม่มีลักษณะต้องห้าม อาทิ ไม่เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐ ส่วนท้องถิ่น ไม่เป็น/ไม่เคยเป็นข้าราชการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหาร ท้องถิ่น กรรมการหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง มีตำแหน่งในพรรคการเมือง เว้นแต่พ้นตำแหน่งไม่น้อยกว่า 1 ปี
  • ให้ตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีฐานะนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
     
  • บทเฉพาะกาล
    - ให้โอนกิจการ อำนาจหน้าที่ ทุน ทรัพย์สินของสำนักความมั่นคงปลอดภัย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (สพธอ.) เป็นของสำนักงานตาม พ.ร.บ.นี้
    - ให้ สพธอ. เป็นสำนักงาน กปช.ไปพลางจนกว่าจะจัดตั้งสำนักงานตาม พ.ร.บ.
     

ทั้งนี้ สพธอ. เป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 เพื่อพัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุน การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ มีผู้อำนวยการ สพธอ. คือ สุรางคณา วายุภาพ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net