Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการศิลปะอีกครั้ง เมื่อ “ทิพย์ แซ่ตั้ง” ผู้เป็นทายาทของ “จ่าง แซ่ตั้ง” โพสข้อความใน facebook ส่วนตัว ตั้งคำถามถึงการคัดเลือกศิลปินไปแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “เวนิส เบียนนาเล่” มีการแชร์โพสของทิพย์และเนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้องจากผู้จัดการออนไลน์[1] พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “เวนิส เบียนนาเล่” เป็นมหกรรมศิลปะที่จัดขึ้นประจำทุกๆ 2 ปี ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี โดยในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 56 ของเวนิส เบียนนาเล่ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม ถึง 22 พฤศจิกายน 2015[2] มีผู้เปรียบเปรยว่าเวนิส เบียนนาเล่ เปรียบเสมือนโอลิมปิกของวงการศิลปะร่วมสมัย แต่จนถึงขณะนี้ แม้จะเหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือน ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จนกระทั่งใน facebook ของศิลปิน วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ ปรากฏภาพของ กมล ทัศนาญชลี ถ่ายคู่กับผลงานศิลปะชิ้นใหม่ พร้อมคำบรรยายว่า  “เสร็จสมบูรณ์ Painting ขนาด 2.00 x 7.00 เมตร สำหรับไปแสดงที่ Venice Biennale ที่ประเทศ Italy ในอีก 2 เดือนข้างหน้า[3]

ประเด็นคงไม่ได้อยู่ที่ใครจะไป แต่อยู่ที่กระบวนการการคัดสรรศิลปินเพื่อไปแสดงงานในเวนิส เบียนนาเล่ เสียมากกว่า หากพิจารณาจากการตั้งคำถามของทิพย์ ทิพย์ไม่ได้กำลังวิจารณ์ผลงานของกมล เพียงแต่ตั้งคำถามถึงกระบวนการคัดเลือกศิลปินที่จะไปแสดงผลงานในเวนิส เบียนนาเล่ บนเวทีศิลปะที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ยังมีศิลปินอีกมากมายที่ใฝ่ฝันจะได้ไปแสดงงานในมหกรรมศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เมื่อ สศร. ยังไม่มีการแถลงข่าวหรือแม้กระทั่งการประกาศเกี่ยวกับการคัดเลือก แต่มีศิลปินบางคนที่กำลังจะได้ไปแสดงผลงานที่เวนิส เบียนนาเล่ ในนามตัวแทนของประเทศไทยแล้ว มันดูจะเป็นเรื่องที่น่ากังขาอยู่ไม่น้อย

ยังไม่มีใครวิจารณ์ว่าผลงานของกมลไม่ดีหรือไม่เหมาะสม ในชีวิตจริง ทิพย์ แซ่ตั้ง รวมถึง จ่าง แซ่ตั้ง ผู้เป็นบิดา และ กมล ทัศนาญชลี ก็เคยรู้จักกันมาแต่เก่าก่อน คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่างานของกมลเหมาะสมหรือไม่ แต่คำถามคือกมลกลายเป็น “ผู้ถูกเลือก” ไปได้อย่างไร ใน facebook ของ ถนอม ชาภักดี นักวิชาการทางศิลปะจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคัดเลือกศิลปินไปแสดงผลงานในเวนิส เบียนนาเล่ ไว้ว่า “ประเทศไทยเพิ่งเข้าระบบวงจรโลกศิลปะมาไม่กี่ทศวรรษด้วยซ้ำ และถ้าจะนับหนึ่งจาก Venice Biennale ศิลปินที่ถูกคัดสรรเข้าสู่ร่มเทศกาลครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2536คือมณเฑียร บุญมาและฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวณิช โดยเป็นคัดสรรจากทีมงานภัณฑารักษ์ของ Venice Biennale ครั้งต่อๆมาก็มีศิลปินคนอื่นเช่นสุรสีห์ กุศลวงษ์ คามิน เลิศชัยประเสริฐถูกสอยไปแสดงตามมา จนกระทั่งในปีพ.ศ.2546เมื่อมีการตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นมาอีกคำรบหนึ่งพร้อมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบทางศิลปะร่วมสมัยคือสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.)โดยมีอาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์เป็นผู้อำนวยการคนแรก จึงได้กระโดดเข้าร่วมอย่างเป็นทางการของประเทศไทยครั้งแรกและในครั้งนี้อภินันท์ก็เป็นคูเรเตอร์เอง ถัดมาครั้งที่2-4ได้มีสร้างระบบสรรหาคูเรเตอร์ขึ้นมาโดยที่บุคคลหรือคณะบุคคลจะคิวเรตท์งานไปแสดงนั้นต้องเขียนโครงการเสนอรายละเอียดต่างๆพร้อมแนบชื่อและวัติอย่างละเอียดของศิลปินไปด้วย แต่พอครั้งที่5-6ก็เกิดการเปลี่ยนระบบคัดสรรใหม่เมื่อเจ้ากระทรวงต้องการที่จะนำผู้ที่ได้รางวัลศิลปาธรเป็นตัวแทนไปแสดงในงานนี้ โดยที่ศิลปินจะเป็นผู้เลือกคูเรเตอร์เอง”[4]

สำหรับมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน (6 มกราคม 2558) ทาง สศร. ก็ยังไม่ได้มีการแถลงข่าวใดๆ ที่เกี่ยวข้องออกมา แต่หากข้อมูลที่ว่ากมลเป็นผู้ได้รับคัดเลือกไปแสดงจริง คำถามคือกระบวนการคัดเลือกคืออะไร ถ้าพิจารณาจากข้อมูลของถนอม กมลไม่ใช่ผู้ได้รางวัลศิลปาธร ในขณะเดียวกัน สศร. ก็มิได้มีข่าวคราวเกี่ยวกับการสรรหาภัณฑารักษ์ออกมาแต่อย่างใด เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา หากการไปแสดงงานในต่างประเทศเกิดจากการถูกเทียบเชิญเข้าร่วมโดยทีมภัณฑารักษ์เหมือนในครั้งแรกๆ ที่มณเฑียร บุญมา และฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวณิช ได้ไปแสดงผลงานอย่างที่ถนอมอธิบาย แต่สำหรับการไปแสดงงานของกมล (หากกมลเป็นผู้ถูกเลือกจริง) การไปในฐานะตัวแทนประเทศไทยเป็นการคัดเลือกจากหน่วยงานราชการ และยังเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษีของประชาชนเป็นเงินทุนในการนำงานไปแสดงที่ เวนิส เบียนนาเล่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงแถลงไขถึงกระบวนการคัดเลือกอย่างโปร่งใส เที่ยงธรรม อย่างน้อยที่สุดหากไม่มีกระบวนการคัดเลือก ก็ควรจะแถลงมาให้ชัดเจนว่าเพราะเหตุใด หรือเป็นเพราะว่าเรากำลังอยู่ในบรรยากาศของรัฐประหาร ทุกๆ กระบวนการสามารถก็สามารถถูกละทิ้งได้ตามบรรยากาศของบ้านเมือง

อาจจะดูเป็นเรื่องที่ “ชิน” เสียแล้ว สำหรับผู้เกี่ยวข้องในวงการศิลปะที่ในการแข่งขันหรือการประกวดเกี่ยวกับศิลปะ โดยเฉพาะในระดับประเทศ จะมี “หวยล็อก” เกิดขึ้น แต่การมี “หวยล็อก” ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กระบวนการคัดเลือก แข่งขัน ประกวด ด้อยค่าลงหรือไม่จำเป็น จริงอยู่ที่หลายครั้งศิลปะเป็นเรื่องของรสนิยม รางวัลต่างๆ ทั้งศิลปะและวรรณกรรมก็หลีกเลี่ยงมิติเชิงอัตวิสัยที่เกี่ยวกับรสนิยมไปไม่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากระบวนการจะไม่สำคัญ การประกวดแข่งขันและรางวัลต่างๆ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการที่จะพัฒนาวงการศิลปะและวรรณกรรมให้มีผลงานดีๆ ออกสู่สาธารณะมากยิ่งขึ้น เวนิส เบียนนาเล่ เองก็สมควรเป็นเวทีที่ศิลปินทุกคนมีโอกาสจะพัฒนางานของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น และมีโอกาสได้รับคัดเลือกไปแสดงในมหกรรมศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่างเท่าเทียมกันมากกว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับการนำใครก็ได้ที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่หรือมีเส้นสายไปแสดงผลงานมิใช่หรือ เราไม่ได้ปฏิเสธว่ากมล ทัศนาญชลี มีผลงานศิลปะออกมาอย่างต่อเนื่อง เราไม่ได้ปฏิเสธว่าผลงานของกมลหลายชิ้นเป็นงานที่น่าสนใจ เราไม่ได้ปฏิเสธว่ากมลเป็นศิลปินอาวุโสที่มีผู้นับหน้าถือตา เราไม่ได้ปฏิเสธว่ากมลเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินอีกหลายคน ตลอดจนเป็นผู้ที่น่านับถือคนหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่เหตุผลที่เหมาะสมในการอธิบายว่าทำไมผลงานของกมลถึงได้สมควรไปแสดงในเวนิส เบียนนาเล่ มากกว่าคนอื่น

คงไม่ใช่แค่ทิพย์ที่สงสัยเท่านั้น ยังคงมีหลายคนที่สงสัยและรอคอยคำตอบที่กระจ่างถึงกระบวนการคัดเลือกศิลปินเพื่อไปแสดงผลงานในต่างประเทศอยู่เช่นกัน เราคงไม่คาดหวังให้การคัดเลือกศิลปินไปแสดงผลงานในต่างประเทศเป็นเพียงพื้นที่ของผู้ยิ่งใหญ่หรือผู้มีเส้นสายที่จะได้ไปร่วมแสดงแล้วก็กลับมาถูกยกย่องให้เป็นศิลปินระดับนานาชาติโดยไม่แม้แต่จะชายตามองศิลปินอีกหลายคนที่มุมานะสร้างผลงานที่น่าสนใจอีกหลายชิ้นเท่านั้น การไปแสดงผลงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะของตัวแทนประเทศไทย เราควรจะมีกระบวนการคัดสรรที่ดีกว่านี้หรือเปล่า หากเวนิส เบียนนาเล่ครั้งนี้ กมลเป็น “ผู้ถูกเลือก” จริงๆ ผู้เขียนเชื่อว่าจนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครบอกว่ากมลผิด ยังไม่มีใครวิจารณ์ว่าผลงานของกมลไม่เหมาะสม ไม่มีใครสงสัยในความสามารถของศิลปินแห่งชาติผู้นี้ แต่มีเพียงแค่คำถามต่อกระบวนการคัดสรร ซึ่งการใช้ภาษีอากรของประชาชนสมควรที่จะมีกระบวนการที่โปร่งใสชี้แจงได้มิใช่หรือ

ผู้เขียนคิดว่าการเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปสู่เวทีระดับโลกสมควรที่จะเปิดกว้างให้กับศิลปินทุกคนที่มีความสามารถ เหมือนที่ทิพย์ทิ้งท้ายไว้ว่า “น่าจะมีคำตอบอะไรบ้างที่ประชากรในวงการศิลปไทยจะได้รับรู้ มาตรฐาน และวิธีการคัดเลือกตัวแทนศิลปินไทย เพื่อในโอกาสหน้าต่อๆไป จะได้มีโอกาสปรับทิศทางของตนเองให้ถูกทิศทาง เพื่อมีโอกาสได้ไปร่วมแสดงในงานแสดงคศิลปกรรมระดับโลกอย่างนี้บ้าง”[5] คำถามและคำตอบเหล่านี้ยังรอคอยการตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ แต่อย่างไรก็ตาม คำถามนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะได้รับคำตอบหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงแค่อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่ถูกปล่อยให้เงียบและเลือนหายไปกับกาลเวลา.

 




[1] http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9580000001074 เข้าถึงเมื่อ 6 มกราคม 2558

[2] http://www.labiennale.org/en/art/news/01-10.html เข้าถึงเมื่อ 6 มกราคม 2558

[3] https://www.facebook.com/tungateja/posts/818217021605927 เข้าถึงเมื่อ 6 มกราคม 2558

[4] https://www.facebook.com/thanom.chapakdee/posts/867906219898527 เข้าถึงเมื่อ 6 มกราคม 2558

[5] https://www.facebook.com/photo.php?fbid=743712435697105 เข้าถึงเมื่อ 6 มกราคม 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net