Skip to main content
sharethis

7 ม.ค.2557  ตามที่กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) ได้จัดเวที "เขื่อนดอนสะโฮง" ที่สโมสรทหารบก (วิภาวดี) ซึ่งเป็นเวทีที่ 6 อันเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนประมวลสรุปทำเป็นข้อเสนอของประเทศไทย ส่งไปให้ สปป.ลาว แต่ด้วยที่ผ่านมาภาคประชาสังคมเห็นว่า กระบวนการการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ที่จัดโดยกรมทรัพยากรน้ำไม่เป็นไปอย่างโปร่งใส ชาวบ้านได้ทักท้วง คัดค้าน ตลอดมาแต่กรมทรัพยากรน้ำก็ไม่ได้ตอบรับ ในวันนี้ (7ม.ค.) สมัชชาคนจน กลุ่มเขื่อนปากมูลจึงได้เข้าร่วมเวทีเพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้าน กระบวนการ PNPCA และคัดค้านเขื่อนดอนสะโฮง  และออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำหนังสือถึง สปป.ลาว เพื่อให้ สปป.ลาว ยับยั้ง ชะลอการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ออกไปก่อน โดยให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขเรียกประชุมกันเพื่อกำหนดกรอบการศึกษาผลกระทบหากมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ให้รอบด้านก่อนตัดสินใจดำเนินการใดๆ ต่อไป

รายละเอียดด้านล่าง

 

แถลงการณ์ฉบับที่ 6

หยุดทำลายแม่น้ำโขง หยุดคุกคามคนหาปลา สปป.ลาว ต้องยกเลิกการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง

 

ตามที่ สปป.ลาว กำลังดำเนินการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ด้วยการปิดกั้นฮูสะโฮง ซึ่งเป็นบริเวณที่เรียกว่า “สี่พันดอน” ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในแม่น้ำโขง และเป็นบริเวณเดียวกันกับ “น้ำตกหลี่ผี” และ “นำ้ตกคอนพะเพ็ง” น้ำตกที่มีความสวยงามจนได้รับสมญานามว่า “ไนแองการ่าแห่งเอซีย” ที่สำคัญมากกว่านั้น ฮูสะโฮง ยังเป็นช่องทางเดินของปลาจำนวนกว่า 1,000 ชนิด ที่จะเดินทางมาจากทะเลสาบเขมร เข้าสู่ลำน้ำโขงและลำน้ำสาขา อันรวมถึงลำน้ำมูนด้วย ดังนั้นหาก สปป.ลาว เดินหน้าสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงแล้วเสร็จ ก็จะทำให้ปลาในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงลดจำนวนลงอย่างแน่นอน และยังมีผลกระทบต่อน้ำตกหลี่ผี และน้ำตกคอนพะเพ็ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกด้วย

ปัจจุบัน กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะตัวแทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) กำลังดำเนินกระบวนการ “การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง” (PNPCA) กรณีโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง (เขื่อนดอนสะโฮง) ของ สปป.ลาว ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดเวทีในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง 5 จังหวัด และในวันนี้ ( 7 มกราคม 2558) จะเป็นการจัดครั้งที่ 6 ครั้งสุดท้าย เพื่อประมวลข้อเสนอจากเวทีต่าง ๆ มาจัดทำข้อสรุปภาพรวมของประเทศไทย สำหรับเสนอกลับไปยัง สปป.ลาว นั้น พวกเรา มีความเห็น ดังนี้

            1. การสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ที่จะมีขึ้นนั้น เป็นการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงบริเวณฮูสะโฮง ที่เป็นช่องทางเดินหลักของปลาจากทะเลสาบเขมร สำหรับเดินทางเข้าสู่แม่น้ำโขง และลำน้ำสาขา ซึ่งรวมถึงแม่น้ำมูนด้วย การสร้างเขื่อนปิดกั้นเส้นทางดังกล่าว จะทำให้ปลาจำนวนมากไม่สามารถเดินทางขึ้นมาได้ อันจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของชนิดพันธ์ุปลาและปริมาณปลาในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาที่จะลดลงจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

            2. ประเทศไทยในฐานะคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) อันเป็นหุ้นส่วนหนึ่งในจำนวนสี่ประเทศ ที่ได้เคยตกลงร่วมกัน ที่จะร่วมมือกันในการบริหารและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงร่วมกัน แม้ว่า สปป.ลาว จะอ้างว่าการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรลาว แต่ผลกระทบที่จะเกิดจากเขื่อนดังกล่าวนั้น จะส่งผลกระทบต่อประชาชนไทย ประชาชนกัมพูชา และประชาชนชาวเวียดนาม จึงมิอาจปล่อยให้ สปป.ลาว ดำเนินการแต่ฝ่ายเดียวได้ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจึงต้องแสดงจุดยืนในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทย ด้วยการแสดงจุดยืนในการคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ในครั้งนี้ ที่สำคัญการที่กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการจัดเวที “การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง” (PNPCA) กรณีโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง (เขื่อนดอนสะโฮง) สปป.ลาว ในขณะนี้นั้น ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง ซึ่งการจัดเวที “การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง” จะต้องดำเนินการก่อนที่จะมีการอนุมัติการสร้างเขื่อน แต่การดำเนินการจัดเวที “การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง” ของกรมทรัพยากรน้ำในขณะนี้ ดำเนินการหลังจากที่ สปป.ลาว อนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงแล้ว กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นเพียงแค่การสร้างความชอบธรรม ที่ไม่เป็นธรรมแก่ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยเท่านั้น ที่สำคัญข้อเสนอของพวกเราไม่ถูกบรรจุไว้ในรายงานด้วย จึงทำให้รายงานการรับฟังเป็นไปอย่างไม่โปร่งใส ตามหลักสากล

ดังนั้นพวกเรา สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์อันเจ็บปวดจากการสูญเสียอาชีพประมง อันเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนปากมูล พวกเราจึงไม่อยากให้ประสบการณ์อันขมขื่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก พวกเราจึงขอแสดงจุดยืน ดังนี้

            1. การจัดเวที “การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง” (PNPCA) กรณีโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง (เขื่อนดอนสะโฮง) สปป.ลาว ในขณะนี้นั้น ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง ซึ่งการจัดเวที “การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง” จะต้องดำเนินการก่อนที่จะมีการอนุมัติการสร้างเขื่อน แต่การดำเนินการจัดเวที “การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง” ของกรมทรัพยากรน้ำในขณะนี้ ดำเนินการหลังจากที่ สปป.ลาว อนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงแล้ว กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นเพียงแค่การสร้างความชอบธรรม ที่ไม่เป็นธรรมแก่ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยเท่านั้น พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำหนังสือถึง สปป.ลาว เพื่อให้ สปป.ลาว ยับยั้ง ชะลอการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ออกไปก่อน โดยให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เรียกประชุมกันเพื่อกำหนดกรอบการศึกษาผลกระทบหากมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ให้รอบด้านก่อนตัดสินใจดำเนินการใดใดต่อไป

            2. พวกเรามีประสบการณ์ที่เคยได้รับจากการสร้างเขื่อนปากมูลที่ทำการปิดกั้นแม่น้ำมูน และหากมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ของ สปป.ลาว ในการปิดกั้นแม่น้ำโขง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกเราจึงมีคำถามและข้อสงสัยจำนวน โดยพวกเราได้เรียกร้องให้กรมทรัพยากรน้ำในฐานะตัวแทนประเทศไทยใน MRCเชิญตัวแทน สปป.ลาว มาร่วมเวทีเพื่อตอบคำถามของพวกเราแต่กรมทรัพยากรน้ำ ก็ไม่ดำเนินการแต่อย่างใด เวทีในครั้งนี้จึงไม่มีความชอบธรรม จึงสมควรยุติการจัดเวทีในครั้งนี้ออกไปก่อน จนกว่า สปป.ลาว จะส่งผู้แทนมาตอบคำถามของพวกเรา

            3. การสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ของ สปป.ลาว ที่จะมีขึ้นนั้น เป็นการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงบริเวณฮูสะโฮง ที่เป็นช่องทางเดินหลักของปลาจากทะเลสาบเขมร สำหรับเดินทางเข้าสู่แม่น้ำโขง และลำน้ำสาขา ซึ่งรวมถึงแม่น้ำมูนด้วย การสร้างเขื่อนปิดกั้นเส้นทางดังกล่าว จะทำให้ปลาจำนวนมากไม่สามารถเดินทางขึ้นมาได้ อันจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของชนิดพรรณปลาและปริมาณปลาในแม่น้ำโขง ขณะที่ทาง สปป.ลาว ก็อ้างว่าเขื่อนดอนสะโฮง ไม่กระทบต่อการเดินทางของปลาที่จะมาจากทะเลสาบเขมร เพราะสามารถเดินทางข้ามได้หลายช่อง ซึ่งข้อกล่าวอ้างนี้ฟังไม่ขึ้น แต่เพื่อพิสูจน์ความจริง พวกเราขอเรียกร้องให้กรมทรัพยากรน้ำ ประสานงานกับ สปป.ลาว เพื่อจัดให้มีการเดินทางไปดูพื้นที่บริเวณที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง เพื่อให้ความจริงได้ประจักษ์แก่ประชาชนชาวไทย และประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขง

            4. จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น พวกเราขอคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งจะเป็นโครงการที่จะทำลายระบบนิเวศสำคัญของแม่น้ำโขง ซึ่งเรียกกันว่า “สี่พันดอน” ที่มีความสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่ของแม่น้ำโขง ซึ่งความสำคัญนี้ประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชา ได้ทำการคัดค้านต่อ สปป.ลาว ไปแล้ว ยังคงเหลือแค่เพียงประเทศไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) อันเป็นหุ้นส่วนหนึ่งในจำนวนสี่ประเทศ ที่ได้เคยตกลงร่วมกัน ที่จะร่วมมือกันในการบริหารและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงร่วมกัน พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจึงต้องแสดงจุดยืนในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทย ด้วยการคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง

อย่างไรก็ตาม พวกเราหวังว่า รัฐบาลไทย กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตระหนักถึงการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และมาร่วมมือกับพวกเรา เพื่อคัดค้าน สปป.ลาว ไม่ให้สร้างเขื่อนดอนสะโฮง ในครั้งนี้

 

เชื่อมั่นในพลังประชาชน

สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล

7 ธันวาคม 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net