Skip to main content
sharethis

ครม.เห็นชอบร่างแก้ พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญคือ ยุบเหลือบอร์ดเดียว ให้ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการดิจิทัล แก้จัดสรรคลื่นความถี่ นอกจากการประมูลแล้วใช้วิธี 'คัดเลือก' ได้ ริบเงินเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัล

6 ม.ค. 2558 กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 8 ฉบับ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

เว็บไซต์ไทยโพสต์รายงานว่า นายพรชัย รุจิประภา รมว.ไอซีที เป็นผู้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ซึ่งเนื้อหาหลักเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีทั้งสิ้น 16 มาตรา แต่เนื้อหาสำคัญคือการปรับเปลี่ยนบทบาทของ กสทช.ที่เป็นองค์กรอิสระให้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ซึ่งตั้งเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. นอกจากนั้นยังให้มีการหลอมรวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ให้เหลือเพียง กสทช.เท่านั้น
   
“การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช.นอกจากจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามนโยบายที่ ครม.ได้แถลงต่อรัฐสภาแล้ว ยังกำหนดให้ต้องสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ ครม.ให้ความเห็นชอบด้วย เพื่อให้การทำงานมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ”

ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งในการแก้กฎหมายดังกล่าวคือ การปรับปรุงวิธีการในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ จากที่จะมีเฉพาะเพียงการประมูลเท่านั้น ให้ใช้วิธีคัดเลือกทั้งในระดับชาติ ภูมิภาคและท้องถิ่นได้ ซึ่งเป็นการเปิดกว้างในการให้อนุญาต

สิ่งสำคัญคือเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการหรือใช้คลื่นความถี่ เดิม เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะนำส่งเป็นรายได้ของสำนักงาน กสทช. แต่ต่อไปเมื่อหักค่าใช้จ่ายให้แล้วให้นำส่งกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ 50% และที่เหลือนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินและกฎหมายยังให้ยกเลิกกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะและให้โอนเงินไปยังกองทุนพัฒนาดิจิทัลทั้งหมดด้วย”

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายพรชัยระบุว่า "บอร์ดดิจิทัลจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการใช้คลื่นความถี่ของชาติ โดยแยกว่าคลื่นส่วนใดใช้เพื่อความมั่นคง บริการสาธารณะ และด้านพาณิชย์ แต่ให้ กสทช. เป็นผู้จัดสรรให้ใบอนุญาตเฉพาะคลื่นด้านพาณิชย์ โดยใช้การประมูล และจะมีสิทธิบริหารเงินงบประมาณเฉพาะเท่าที่กฎหมายใหม่ระบุไว้ เงินที่เหลือต้องส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ ครม. ผ่านร่าง พ.ร.บ. ในการประชุมครั้งนี้ด้วย รวมถึงโอนเงินกองทุน กสทช. เดิม ส่วนใหญ่เข้าไปด้วย”

สำหรับกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุน รวมถึงจะมีคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามประเมินผลการใช้เงิน เป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล  โดยมีรูปแบบเดียวกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

ประชาชาติธุรกิจรายงานด้วยว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการ กสทช. ระบุว่า จากร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่าน ครม. แล้วมีส่วนเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การทำแผนแม่บทคลื่นความถี่แห่งชาติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ  ส่วนแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม  แผนการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม ต้องสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติพร้อมกับกำหนดอย่างชัดเจนว่า การประสานงานระหว่างประเทศไม่อยู่ในอำนาจของ กสทช.

สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการ กสทช. แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อกรณีดังกล่าวว่า วันนี้มีนักข่าวโทรมาจะสอบถามความเห็น แต่ยังตอบอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่เคยเห็นร่าง พ.ร.บ.นี้ เลย รู้แต่ว่าจะมีการยุบ 2 บอร์ด (กสท. และ กทค.) ใน กสทช. ให้เหลือเพียงบอร์ดเดียว และดึงอำนาจบางส่วนออกไป

สุภิญญา ระบุด้วยว่า ถ้า พ.ร.บ. นี้ผ่าน แล้วกระบวนการสรรหาชุดใหม่ตามกฏหมายเสร็จสิ้น บอร์ด กสทช.ชุดนี้ก็คงหมดวาระไป คงไม่เร็วนัก แต่ก็คงไม่นานมาก นับถอยหลัง และ คงมีการเปลี่ยนแปลงในระดับสำนักงานด้วย รอดูตัว พ.ร.บ.ก่อน ซึ่งคงมีการถกกันในขั้น สนช. เข้มข้น

"คงต้องฝากองค์กรสื่อ ช่วยให้ความเห็นเรื่องการหลอมรวมงานสื่อสารมวลชนในบอร์ดชุดเดียวกับด้านโทรคมนาคม และถ้าต้องอยู่ใต้อำนาจยึดโยงกับรัฐบาล ผ่านบอร์ดดิจิทัลอีโคโนมีชุดใหม่ว่าวงการสื่อเห็นเป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net