ปฐมพงษ์ มโนหาญ-ณัฐกร วิทิตานนท์: แสกนค้าชายแดนไทย-พม่า และจีนผู้เซ็ตกติกาลุ่มน้ำโขง

สัมมนาไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน "ปฐมพงษ์ มโนหาญ" อธิบายการค้าชายแดนไทย-พม่าสมัยใหม่ที่ขยายตัวหลังจากพม่าเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจตลาด และทุนชายแดนไทยผลักดันให้เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ด้าน "ณัฐกร วิทิตานนท์" เล่าเส้นทางเชื่อมจีน R3A และ R3B พร้อมสำรวจการข้ามแดนทางรถยนต์แม่สาย-ยูนนาน/เชียงของ-ยูนนาน โดยไทยยังเสียเปรียบทั้งพม่า-จีน ที่ตั้งข้อกีดกันการขับรถยนต์ข้ามแดน ขณะเดียวกันจีนยังมีบทบาทในลุ่มน้ำโขงในฐานะผู้เซ็ตกติกา

คลิปการอภิปรายของปฐมพงศ์ มโนหาญ และณัฐกร วิทิตานนท์ ในการสัมมนาหัวข้อย่อย  "การเมืองเรื่องสุนทรียภาพในรัฐฉานตะวันออก : การเชื่อมโยง เรื่องศิลปกรรม ชาติพันธุ์ และการท่องเที่ยว ในกลุ่มประชาคมอาเซียน"

ลงทะเบียนเพื่อรับชมวิดีโอจากประชาไทได้ที่

 

 

ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน" ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 18-19 ธ.ค. ที่อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลกนั้น ในวันที่ 2 ของการจัดงาน มีการสัมมนาหัวข้อย่อย "การเมืองเรื่องสุนทรียภาพในรัฐฉานตะวันออก : การเชื่อมโยง เรื่องศิลปกรรม ชาติพันธุ์ และการท่องเที่ยว ในกลุ่มประชาคมอาเซียน" มีธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เป็นดำเนินการและนำอภิปราย โดยในที่นี้จะนำเสนอส่วนของการอภิปรายโดย ปฐมพงษ์ มโนหาญ  สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และณัฐกร วิทิตานนท์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

แสกนการค้าชายแดนไทย-พม่า ขยายตัวหลังทุนชายแดนผลักดัน "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า"

ปฐมพงศ์ มโนหาญ อภิปรายตอนหนึ่งว่า การค้าชายแดน ระหว่างภาคเหนือกับพม่า น่าจะเริ่มตั้งแต่อังกฤษข้ามแดนมาซื้อม้า ซื้อสัตว์ กับเจ้านายในฝั่งล้านนา ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กรณีลาว-ไทย ด้านเชียงของ การลักลอบ ค้าสินค้า แผนแดนเริ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าการค้าชายแดนเริ่มเกิด ที่ผ่านมาในการปักปันเขตแดนระหว่างพม่า-ไทย ผ่านด่านแม่สาย ใช้เวลา 99 ปี กว่าจะนิ่ง และมีการเปลี่ยนจุดปักปัน 40 กว่าจุด จนมาแล้วเสร็จปี 2535-2536 แต่ระหว่างที่มีความไม่นิ่งของเขตแดน การค้าผ่านด่านศุลกากรด้านแม่สาย กับรัฐฉานก็ยังมีอยู่

ในปี พ.ศ. 2526 มีการบันทึกไว้ว่าการค้าชายแดนมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคน เมื่อไปดูสินค้า จะพบว่ามีการค้าเครื่องประกอบอาหาร ผงชูรส เครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ

ความทรงจำของผมเกี่ยวกับพม่าในด้านเศรษฐกิจ ผมมักถูกบอกเล่าว่าพม่าเป็นประเทศปิด ไม่ข้องแวะกับใคร แต่เมื่อพยายามหาคำตอบ ก็ไปค้นดูก็พบว่า พม่าไม่ได้ปิดประเทศและไม่สัมพันธ์กับใครเลย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากมีการตั้ง Bretton Woods system ที่สหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ ประเทศไทยเริ่มเป็นสมาชิกปี 2492 พม่าตามมาติดๆ ในปี 2495 จะเห็นว่าพม่าก็มีปฏิสัมพันธ์กับตะวันตก ภายใต้กรอบระเบียบโลกใหม่ ทว่าความต่างระหว่างไทยกับพม่า เริ่มต้นตั้งแต่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ที่ไทยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเติบโตของภาคเอกชนได้ดีกว่า ขณะที่พม่าเป็นช่วงที่มีปัญหาภายในประเทศ

เมื่อประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติก็เอื้อให้กับการเติบโตของภาคเอกชน จนภาคเอกชนสามารถรวมตัวผลักดันให้เกิดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างชายแดนได้ระดับหนึ่ง ในยุคของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จะพบว่าภาคเอกชนโตระดับหนึ่งที่สามารถรวมกลุ่มกันและผลักดันให้มีนโยบายการค้าระหว่างประเทศได้ นำมาสู่นโยบาย "เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า" ในปี พ.ศ. 2532 และในช่วงไล่เลี่ยกันพม่าก็เปลี่ยนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ โดยในปี พ.ศ. 2531 เริ่มนำระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมาใช้

เราจะเห็นว่าบริบทที่มันบีบรัฐไทยกับพม่า มันบีบให้ต้องใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำ และการค้าชายแดนจะเริ่มถูกพูดไทย โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยก็เริ่มพูดถึงการค้าชายแดนในแผนที่ 7 และ 8

ในปี 2538 พม่าคว่ำบาตรสินค้าไทย เพราะยอมให้ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลเข้ามารณรงค์ปล่อยตัวออง ซาน ซูจี อย่างไรก็ตามการคว่ำบาตรทำให้ปริมาณการค้าในปีนั้นลดลงเพียงเล็กน้อย แสดงว่าการเมืองเองก็ไม่สามารถหยุดการค้าได้ คนต้องกินต้องใช้ ในกรณีนี้ถ้าใช้การอธิบายของแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ ที่อธิบายกรณี "เชียงของ-ห้วยทราย" ที่ลาวปิดประเทศ เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นระบบสังคมนิยม แต่คำว่าปิดประเทศก็ไม่ได้ปิดประเทศจริง เพียงแต่มีการกำกับอีกรูปแบบหนึ่ง และยังมีการหมุนเวียนของสินค้าอยู่ คือเศรษฐกิจก็ยังนำการเมือง

เมื่อเราใช้หลักฐานความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นหลักฐานอธิบายประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-พม่า จะพบว่าไทยพึ่งพาพม่าพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงาน เช่นในรอบปี 2551-2553 ไทยมีการนำเข้าพลังงาน ผ่านด่านศุลกากร อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี คิดเป็นมูลค่า 2.68 แสนล้านบาท เปรียบเทียบกับที่ไทยส่งออกจากจุดนี้ 7.58 พันล้านบาท ขณะที่ด่านแม่สอด จ.ตาก ไทยส่งออก 6.59 หมื่นล้านบาท หรือด่านแม่สาย จ.เชียงราย ไทยส่งออก 1.56 หมื่นล้านบาท

 

สำรวจการข้ามแดนทางรถยนต์ ไทยยังเสียเปรียบ ขณะที่จีนเป็นผู้เซ็ตกติกา

ณัฐกร วิทิตานนท์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เริ่มต้นเสวนาว่า มีโอกาสได้ร่วมสำรวจกับคณะ ไปร่วมทีมสำรวจเส้นทาง R3A และ R3B ประมาณ 3 ครั้ง ไม่นับที่เดินทางไปเองอีกหลายครั้ง ทั้งนี้เวลาเห็นหลักกิโลเมตรยักษ์ที่สี่แยก เขียนว่าไปเชียงตุงอีก 458 กม. ไปเชียงรุ่ง 684 กม. นั้น ต่อให้ผมมีความคิดอยากจะไป แต่คำตอบคือ ยังไปไม่ได้ เพราะยังมีข้อจำกัดมาก แม้อีกไม่ถึงปีจะมีการเปิด AEC แล้ว

"ทั้งนี้หาก AEC คือความร่วมมือกันที่จะทำลายพรมแดนและสร้างความร่วมมือระหว่างกันในมิติต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม เรายังทำไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องการเดินทาง"

สำหรับทางหลวง R3B คือเส้นทาง อ.แม่สาย จ.เชียงราย - ท่าขี้เหล็ก - เมืองพะยาก - ท่าเดื่อ ไปถึงเชียงตุง เมืองลา จะไปติดกับจีนที่ ท่าล่อ ถึงเชียงรุ่ง ระยะทาง 385 กม. ซึ่งสั้นกว่าเส้นทาง R3A คำถามว่าทำไมเส้นนี้ไม่ได้รับการพัฒนา คำตอบคือ เราจะพูดถึงพม่า จะไม่พูดถึงจีนไม่ได้ ทั้งนี้ จีนเป็นผู้กำหนดการพัฒนาของรัฐฉานภาคตะวันออก เดินการค้าสมัยก่อนใน จ.เชียงราย มีด่านหลักๆ 3 แห่ง แม่สาย เชียงของ และเชียงแสน เป็นด่านทางเรือ โดยยุคหนึ่ง ด่านแม่สาย มีมูลค่าการค้าเหนือทุกด่าน ต่อมาเป็นด่านแม่สาย พอมาอีกยุคหนึ่งด่านเชียงแสน มูลค่าการค้ามากที่สุด และในปัจจุบันเป็นด่านเชียงของ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่า ด่านชายแดนเราไม่ได้ค้าขายกับพม่า แต่เราค้าขายข้ามไปถึงจีน

"ประเด็นก็คือ พอรัฐบาลไทยเห็นความจำเป็น ลงทุนหลายพันล้านทำท่าเรือเชียงแสน หวังจะค้าขายกับจีนสะดวกมากขึ้น ปรากฏว่าเอาเข้าจีน มีปัญหาที่มีลูกเรือชาวจีนถูกฆ่า แล้วศพมาเกยตื้นสามเหลี่ยมทองคำ จีนก็เบนเข็มให้ใช้ทางรถยนต์ R3A ที่เพิ่งสร้างเสร็จพอดี นอกจากนี้ทางเรือไม่สามารถใช้ขนส่งได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเข้าหน้าแล้ง ก็ต้องใช้ทางอื่น สุดท้ายสร้างท่าเรือมาแล้วคุ้มค่าหรือไม่ เราไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นจีนเป็นผู้ตอบ"

สำหรับเมืองเชียงตุง เปิดให้คนไทยเข้าไปเที่ยวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 คนไทยเริ่มเข้าไป การเดินทางใช้เวลาเป็นวันๆ ออกจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตอนเช้า จะไปถึงเชียงตุง ตอนมืด ทั้งนี้ถนนเพิ่งสร้างเสร็จปี พ.ศ. 2543 แต่ค่อนข้างเป็นถนนเสื่อมสภาพ ทั้งนี้ไทยเป็นผู้เสนอออกเงินก่อสร้างถนนเช่นกัน แต่พม่าขอให้ไทยไปสำรวจเส้นทางเมียวดี-มะละแหม่งแทน ดังนั้นถนนเส้นทางนี้ พม่าได้ขอให้กลุ่มทุนว้าเข้ามารับสัมปทานก่อสร้างถนน แล้วให้กลุ่มทุนของว้ามีสิทธิพิเศษในการเก็บค่าผ่านทาง

"ข้อคิดเห็นอย่างหนึ่งคือ ในทิศทางของความร่วมมือ ถ้าร่วมมือกันแล้ว น่าจะคลี่คลายไปสู่ความร่วมมือกันมากขึ้น กำแพงหรือการกีดกันอุปสรรคน่าจะลดลง แต่มันไม่ใช่ สำหรับเส้นทางนี้ ผมไปเชียงตุงครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2550 รถยนต์ไทยเข้าได้ ปัจจุบันห้ามนำรถไทยเข้าเด็ดขาด จะจำกัดเฉพาะรัศมี 5 กม. จากบริเวณชายแดนเท่านั้น

เส้นทางจากเชียงตุง ไปเมืองลา สภาพไม่ค่อยดีนัก ถนนค่อนข้างแคบ ไม่มีการตีเส้นจราจร ต้องอาศัยความชำนาญของคนขับ ความน่าสนใจอย่างหนึ่งในพม่า สภาพถนนขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง โดยเฉพาะในรัฐฉานที่มีกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม นอกจากนี้กรณีเส้นทางท่าขี้เหล็ก - เชียงตุง ยังมีด่านตรวจของหลายฝ่าย ทำให้ใช้เวลาในการเดินทางนานมาก ด่าน ตม. ด่านทหาร ศุลการกร ทางด่วน ฯลฯ แต่ละที่ตั้งคนละจุด เวลาเตรียมเอกสารผ่านทางก็ต้องเตรียมเป็นปึกๆ แต่จากที่เดินทางไปล่าสุด จาก 10 กว่าด่าน เหลือเพียง 5 ด่าน เมื่อก่อนแต่ละหน่วยงานแยกกันอยู่ ต่อมาก็เอามารวมกัน

ค่าธรรมเนียมในการผ่านด่านทำให้การเดินทางไปเชียงตุงแพง เปรียบเทียบกับไปเที่ยวเกาหลี ทั้งที่ใช้เวลาเท่ากัน แต่ไปเกาหลีค่าใช้จ่ายถูกกว่า ขณะที่เที่ยวเชียงตุงต้องเสียค่าใช้จ่ายรายทางเยอะมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็เริ่มดีขึ้น นอกจากนี้หลายเส้นทางที่เคยห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางไป ก็เริ่มผ่อนปรนให้เดินทางไปได้ เช่น เส้นทางไปเมืองยอง

ทั้งนี้รถจากฝั่งไทยเข้าไปเชียงตุงได้ตลอดตั้งแต่เปิดประเทศในปี พ.ศ. 2538 จนถึงจุดเปลี่ยนในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 พม่าห้ามรถยนต์ไทยเข้าไปเชียงตุง และเมืองลา ให้รถยนต์ไทยวิ่งในตัวเมืองท่าขี้เหล็กเท่านั้น สาเหตุที่พม่าออกคำสั่งคือ คุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ไปเที่ยวเชียงตุงเมื่อวันที่ 25 ม.ค. นอน 1 คืน แล้วมีคนรู้จักก็เลยขอถ่ายรูปที่ตลาด ต่อมาพม่าออกคำสั่งห้ามรถยนต์จากไทยเข้า เพราะด่านต่างๆ ไม่ทราบว่าคุณชวนมา หลังจากนั้นทำให้ต้นทุนไปเชียงตุงแพงขึ้นไปอีก เช่น ถ้ามีเพื่อน 8-9 คน จะไปเชียงตุง หากเช่ารถตู้จากแม่สาย ค่าใช้จ่ายวันละ 1,800 บาท ปัจจุบันถ้าเช่ารถตู้ฝั่งท่าขี้เหล็ก ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 4,000-5,000 บาท แถมต้องจองล่วงหน้า เพราะรถตู้ประเภทรับส่งนักท่องเที่ยวต้องมีใบอนุญาตจากทางการพม่า และรถสภาพดีมีไม่กี่คันเท่านั้น ส่วนรถยนต์เช่าสภาพรองๆ ลงมาก็เป็นรถยนต์ 4 ที่นั่ง ราคา 3,000 บาท หรือนั่งรถเมล์จากท่าขี้เหล็ก ค่าโดยสาร 350 บาท

ในขณะที่เรามองว่าความสัมพันธ์ไทย-พม่า ที่ร่วมมือกันเป็นไปในทางที่ดีขึ้นนั้น ที่จริงยังไม่ถึงขนาดนั้น ปัจจุบันรถจากพม่าสามารถเข้ามาจากแม่สาย เพื่อมาเที่ยวเซ็นทรัล ที่เชียงรายได้ แต่รถจากฝั่งไทยพม่ายังไม่ยอม

กรณีของจีน ด่านท่าล่อ เดิมพม่าถือว่าเป็นลาส เวกัสของพม่า เพราะมีบ่อน มีสถานบันเทิง เป็นเมืองที่หลับไหล แต่มีข่าวว่าข้าราชการจีนมาเสียพนันมากในแต่ละปี จีนจึงห้ามคนไปค้างคืน ห้ามเอาเงินออก และให้ปิดด่าน คือไม่มีการให้ทั้งรถ ทั้งคนผ่านช่องทางนี้เลย จนทำให้เมืองลากลายสภาพเป็นเมืองร้าง เจ้าหน้าที่เมืองลาจึงไปของเจรจากับจีน ขอย้ายบ่อนลึกเข้าไปในเขตชนบท 16 ไมล์ จีนจึงยอมผ่อนผันให้คนและรถสินค้าเข้า

อีกเส้นทางหนึ่งที่คนพูดกันคือ เส้นทาง R3A ซึ่งเกิดเพราะจีน และจีนเห็นความสำคัญ ว่าคบกับลาว ดีกว่าคบกับพม่า พม่าติดขัดเรื่องปัญหาความมั่นคง ข้าราชการเล่นการพนันจนหมดเนื้อหมดตัว มีข่าวว่าข้าราชการจีนถูกมาเฟียอุ้มฆ่า ทำให้ทางการจีนรู้สึกเสียหน้า อีกสาเหตุคือยาเสพติดที่เข้าจีนจากช่องทางนี้

ทั้งนี้ เส้นทาง R3A จากเชียงของไปถึงเชียงรุ่ง มีระยะทางประมาณ 410 กม. ใกล้กว่าเส้นทาง R3B ช่วงแรก เชียงของ-ห้วยทราย-เวียงภูคา-หลวงน้ำทา-บ่อเต็น 230 กม. ช่วงที่สอง บ่อหาน-เมืองหล้า-เชียงรุ่ง 180 กม. เปิดใช้อย่างเป็นทางการปี พ.ศ. 2551 ก่อนหน้านี้ยังไม่มีนัยยะสำคัญ เพราะตอนที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงด้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ยังก่อสร้างไม่เสร็จ การขนส่งสินค้าต้องลงเรือแพขนานยนต์ ทำให้เสียเวลา คนส่วนใหญ่ยังเลือกทางเรือ แต่พอมีสะพานก็ทำให้การขนส่งรวดเร็วขึ้นมาก

สำหรับสภาพถนน R3A เส้นทางในลาวส่วนใหญ่เป็นทางขึ้นเขา ลงเขา คดเคี้ยว ต้องใช้ความระมัดระวังสูง และใช้เวลามาก ส่วนเส้นทางในจีน มีการขุดอุโมงค์ลอดภูเขา 16 อุโมงค์หลัก หรือ 23 อุโมงค์ย่อย อุโมงค์ที่ยาวสุด ยาวประมาณ 3 กม. มีอุโมงค์ยาว 5 กม. ก็มี แต่มีการก่อสร้างซอยเป็นอุโมงค์ย่อย มีการทำสะพานยกระดับเชื่อมระหว่างภูเขาสูงชัน ทำให้การเดินทางปลอดภัยและรวดเร็ว

สำหรับเส้นทาง R3A ในช่วงลาว จะเห็นเส้นจราจรกลางถนนเป็นสีขาว จะเป็นผู้รับเหมาไทยสร้าง แต่ถ้าเป็นเส้นสีเหลืองกลางถนน จะเป็นจีนสร้าง

ปัญหาก็คือเส้นทางนี้ รถจากไทยไม่สามารถเข้าจีนได้ รถที่จะเข้าจีนได้ จีนยอมรับแค่รถยนต์จากลาว และจีนวางเงื่อนไขเข้มงวดมาก เช่น ต้องบอกล่วงหน้า 2 วัน ที่สำคัญพอเข้าเมืองแล้วแล้วห้ามเกิน 7 วัน แล้วต้องแสดงใบอนุญาตตลอด ห้ามออกนอกเส้นทาง ขอไปเชียงรุ่งต้องไปแค่เชียงรุ่งเท่านั้น ห้ามไปคุนหมิง ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับ เป็นต้น และเงื่อนไขมาก ไม่อิสระ ต้องมีใบขับขี่สากล ซึ่งกรณีรถยนต์จีนมาไทยไม่ต้องทำแบบนี้ แถมรถที่จะไปเมืองจีนต้องทำประกันแบบจีนด้วย นี่คือกรณีรถยนต์จากลาว ส่วนรถไทยไม่ให้เข้า

ทั้งนี้เงื่อนไขฝ่ายจีน ในการให้รถเข้ามีเยอะมาก ขณะที่เงื่อนไขของไทยในการให้รถยนต์เข้าเมืองมีน้อยกว่ามาก ทั้งนี้รถยนต์ไทยจะเข้าเมืองจีนมีกรณียกเว้น เช่นไปติดต่อกงสุลจีน ต้องทำผ่านบริษัททัวร์ และต้องวางมัดจำ 300,000 บาทไทย ต่อ 1 คัน ต้องไปเป็นคาราวาน 10 คัน 20 คันขึ้นไป ผิดกับรถจีนมาไทย เข้าได้ครั้งละ 30 วัน อยู่ขยายเวลาได้ 6 เดือน ส่วนกรณีวีซ่า On-arrival นักท่องเที่ยวจีนสามารถเข้าไทยได้ 15 วัน

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือขั้นตอนการเข้าเมือง มีการแยกส่วนกัน กรณีไทย แจ้งคนเข้า ต้องแจ้ง ตม. และแจ้งรถยนต์เข้าเมืองให้แจ้งศุลกากร หลักคิดคือ ศุลกากรกลัวว่าเอารถยนต์จีน ซึ่งเป็นรถยี่ห้อหรูแต่ราคาในเมืองจีนถูก เช่น ออดี้ บีเอ็มดับบลิว ขับเข้าเมือง แล้วนั่งเครื่องบินกลับบ้าน ศุลกากรต้องการควบคุมจึงเข้ามาดูการนำรถยนต์เข้าประเทศ

ทั้งนี้จากสถิติของศุลกากร ด่านเชียงของ เป็นด่านที่มีรถยนต์จากจีนผ่านเข้าเมืองมากที่สุดของประเทศ โดยสถิติในปี พ.ศ. 2555 ก่อนที่สะพานจะสร้างเสร็จด้วยซ้ำ โดยรถยนต์เข้าเมืองปี พ.ศ. 2555 สูงกว่าปี 2553-2554 อย่างเห็นได้ชัด โดยปี พ.ศ. 2553 มีรถยนต์จีนเข้าเมือง 8,000 คัน ปี พ.ศ. 2554 มีรถยนต์จีนเข้าเมือง 15,000 คัน และปี พ.ศ. 2555 มีรถยนต์เข้าเมือง 18,000 คัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาพยนตร์ Lost in Thailand ข้อมูลที่น่าสนใจ ชาวจีนจะเอารถยนต์มาช่วงหยุดยาว ปีหนึ่งมีหยุดยาว 2 ช่วง คือวันชาติจีน เดือนตุลาคม และช่วงตรุษจีน

ประเด็นก็คือ ฝ่ายไทยเสียเปรียบ ผมเคยสอบถามทูตไทยที่คุนหมิง ผมถามว่าเราสามารถเจรจาได้ไหม ท่านบอกไม่อยู่ในเขตอำนาจของท่าน ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า เวลาที่มีการเจรจามีหลายหน่วยงานรับผิดชอบในการเจรจา และหลายครั้งไทยจำเป็นต้องอยู่ในภาวะพึ่งพาจีน คือการเมืองระดับชาติของไทยไม่นิ่ง ไทยต้องการการสนับสนุน จะขอตะวันตกสนับสนุนไม่ได้เพราะไทยยังอยู่ในภาวะรัฐประหาร ก็ต้องไปขอพม่าขอจีน เวลาเขายื่นเงื่อนไขอะไรมาเราก็ต้องยอมหมด ไม่มีไพ่เหนือกว่า อย่างที่มีทูตเคยกล่าวว่า "จะเอาอะไรไปต่อรองกับเรา เราต่อรองเขาไปหมดแล้ว"

"ขออนุญาตเพิ่มเติมว่า ถ้าหวังจะเป็น AEC หรือหวังให้มีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้นนั้น ความหมายของพรมแดนที่เพิ่งถูกสร้างหรือถูกขีดเส้นนั้นควรหมดไป พรมแดนทุกวันนี้มีความหมายมาก ถ้าผมไปเดินเล่นอยู่พม่า ผมจะได้เวลาชีวิตเพิ่มขึ้น 30 นาที เพราะเวลาที่พม่าช้ากว่าไทยครึ่งชั่วโมง นี่คือความหมายของพรมแดน ถามว่าพรมแดนจะเกิดความหมายได้อย่างไร เราก็ต้องฉลาด ยกตัวอย่างเวลาขับรถจากประเทศหนึ่ง อีกประเทศหนึ่ง เราแทบไม่รู้สึกด้วยซ้ำ ผมมีโอกาสไปเที่ยวสหรัฐอเมริกาแล้วข้ามแดนไปแคนาดา จะเห็นว่าเวลาข้ามแดนในประเทศที่ทัดเทียมกัน กำแพงขวางกั้นไม่มีเลย ยื่นพาสปอตให้ก็ผ่านไปได้ ไม่ได้ถามเลยว่าทำประกันหรือไม่ แต่ผิดกับด่านไปเม็กซิโกจะตรวจเข้ม ตรวจระเบิด ตรวจสารพัด ใช้เวลาเกือบ 6 ชั่วโมง อย่างเช่นที่ด่านซานดิเอโก-ติฮวนนา พอเปรียบเทียบด่านสหรัฐอเมริกา-แคนาดาทุกอย่างง่ายดาย แต่พอเป็นเม็กซิโกกลับเป็นอีกเรื่อง"

"ขณะที่ไทยไม่ใช่เป็นแบบนั้น ของไทยกลายเป็นว่า เราซึ่งควรได้เปรียบพม่าหรือลาวเราก็ไม่ได้เปรียบ อย่างรถลาวมาไทย จ่าย 30-50 บาท รถไทยไปลาวจ่าย 400-600 บาท คนลาวมาเที่ยวไทยจ่ายถูกกว่าคนไทยไปเที่ยวลาว รถไทยไปพม่า เราขับเข้าไปไม่ถึงเชียงตุง ทำได้เพียงขับวนเล่นได้ในท่าขี้เหล็กรัศมี 5 กม. นี่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ก็คือไทยเสียเปรียบทุกประเทศในเรื่องการเมือง ถ้ามองเฉพาะประเด็นเล็กที่สุดคือการนำรถข้ามแดนเพื่อการท่องเที่ยว ที่สำคัญเวลาพูดถึงพม่า เราลืมความสำคัญของจีนไม่ได้ เพราะจีนเข้ามามีบทบาทสำคัญ คือผู้กำหนดทิศทางว่าตรงไหนจะเกิด ตรงไหนจะดับ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท