Skip to main content
sharethis

สื่อทำเนียบแถลงงดตั้งฉายารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ระบุเนื่องจากเข้ามาด้วยวิธีพิเศษ ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แจงเมื่อสถานการณ์การเมืองไม่ปกติจะไม่มีการตั้งฉายา ด้านสื่อรัฐสภางดตั้งฉายาฝ่ายนิติบัญญัติเช่นกัน หวั่นถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ยันพร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบ สปช. สนช. และ กมธ.รธน.

1 ม.ค.2558 คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์กรณีการตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี ตามที่เคยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เพื่อสะท้อนถึงความคิดเห็นของสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลต่อการทำงานของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี แต่ในปีนี้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยวิธีพิเศษและไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ดังนั้นตามหลักปฏิบัติที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลกำหนดไว้สืบเนื่องตลอดมาว่ากรณีรัฐบาลรักษาการ รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือในสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติจะไม่มีการตั้งฉายา ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลจึงมีมติงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปีตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ทั้งนี้การงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อาทิ รัฐบาลรักษาการของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้มีการประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จนมีรัฐบาลรักษาการหรือเมื่อครั้งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังเกิดการปฏิวัติเมื่อปี 2549 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังการประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในปี 2550 รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2551

สื่อรัฐสภางดตั้งฉายาฝ่ายนิติบัญญัติ หวั่นถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
วันเดียวกัน เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ลงความเห็นว่า สมควรงดการตั้งฉายารัฐสภา ประจำปี 2557 โดยได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า "เป็นประจำทุกปีที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาจะมีการตั้งฉายาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อสะท้อนถึงการทำงานของผู้แทนปวงชนชาวไทยตลอดทั้งปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากในปี 2557 ได้เกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ คือ การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ดังนั้น สื่อมวลชนประจำรัฐสภา จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะงดการตั้งฉายา ซึ่งเป็นการยึดถือตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา"
      
"กล่าวคือ ถ้าเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปีใด สื่อมวลชนประจำรัฐสภาจะงดตั้งฉายาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติในปีนั้น เพื่อไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำฉายารัฐสภาที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งขึ้นด้วยความสุจริตไปเป็นเครื่องมือในทางการเมือง เหมือนกับที่เคยงดการตั้งฉายารัฐสภาเมื่อปี 2549 ภายหลังเกิดการรัฐประหาร และ ปี 2556 ภายหลังรัฐบาลในขณะนั้นได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร"
      
ทั้งนี้ สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ระบุด้วยว่า ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ติดตาม และตรวจสอบการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบจรรยาบรรณของสื่อมวลชนต่อไป

ประวัติศาสตร์การตั้งฉายานักการเมือง
สำหรับการตั้งฉายาของรัฐบาลนั้น ณรรธราวุธ เมืองสุข ผู้ช่วยบรรณาธิการเว็บไซด์ไทยพีบีเอส เขียนไว้ใน ‘มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์’ ระบุว่า การตั้งฉายานักการเมืองครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปี พ.ศ. 2523-2531 นักข่าวกลุ่มแรกที่มีประเพณีการในการตั้งฉายาให้กับแหล่งข่าว ก็คือ “นักข่าวการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาล” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “นักข่าวสายทำเนียบฯ”  นอกจากฉายานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแล้วนักข่าวทำเนียบฯ ยังมีการเลือก “วาทะแห่งปี” ซึ่งมาจากวลีเด็ดของนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นๆ ด้วย ในขณะที่นักข่าวประจำรัฐสภาเริ่มมีการตั้งฉายานักการเมืองในสมัยรัฐบาลชวน 2 หรือเมื่อประมาณ 20  ปีที่ผ่านมา

แต่ก็มีบางปีที่สื่อประจำทำเนียบฯ และสภาฯ  งดเว้นการตั้งฉายาให้แก่รัฐบาล เช่น ช่วงพฤษภาทมิฬฯ เมื่อปี 2535 ซึ่งเกิดวิกฤตการเมืองรุนแรง หรือในปีที่รัฐบาลในขณะนั้นดำรงตำแหน่งไม่ครบ 1 ปี เช่น สมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และ รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รวมทั้งปี 2556 ที่มีการยุบสภา และบ้านเมืองอยู่ในสภาวะความขัดแย้ง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net