Skip to main content
sharethis

ในยุคที่เรียกว่า 'สงครามสกปรก' ในอาร์เจนตินาซึ่งรัฐบาลทหารพยายามปราบปรามผู้ต่อต้านด้วยวิธีอันเหี้ยมโหด ส่งผลให้เด็กบางส่วนถูกพรากจากพ่อแม่และถูกเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนตัวตน แต่ก็มีเด็กบางคนที่โตขึ้นจนสามารถคืนตัวตนและหวนคืนสู่ครอบครัวเดิมได้ เช่นกรณีของจอร์เจลลินา ผู้ที่พ่อถูกสังหารและแม่หายตัวไป


29 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานเกี่ยวกับชาวอาร์เจนตินาที่ต้องการคืนตัวตนเดิม จากที่ก่อนหน้านี้เคยถูกทางการอาร์เจนตินาในยุคเผด็จการทหารจับตัวไปและพยายามเปลี่ยนแปลงตัวตนของพวกเขา

ในยุคเผด็จการทหารช่วงปี 2519-2526 มีเด็กราว 500 คน จาก 'ผู้สูญหาย' ทั้งหมดราว 30,000 คน ถูกรัฐบาลลักพาตัวหรือเป็นเด็กที่เกิดในที่กุมขัง เด็กในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ถูกส่งให้ครอบครัวทหารเลี้ยงดู โดยพยายามเลี้ยงให้เป็นเด็กที่เชื่อฟัง อีกทั้งยังเป็นการตัดปัญหาไม่ให้เด็กรู้ตัวตนที่แท้จริงของตัวเองจนทำให้ต้องอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อแม่ของพวกเขา

หนึ่งในเด็กยุค 'สาบสูญ' คือ จอร์เจลลินา โมลินา พลานาส ซึ่งถูกรับเลี้ยงดูเป็นลูกบุญธรรมภายใต้ชื่อแคโรไลนา มาเรีย ซาลา อันเป็นชื่อที่ตั้งโดยพ่อแม่บุญธรรมของเธอ เธอได้รับเลี้ยงดูหลังจากที่พ่อที่แท้จริงของเธอถูกยิงเสียชีวิตและแม่ของเธอหายสาบสูญในปี 2520

ในอาร์เจนตินามีกลุ่มที่ชื่อคุณยายแห่งพลาซา เดอ มาโย  (Grandmothers of Plaza de Mayo) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2520 เพื่อค้นหาเด็กที่ถูกลักพาตัวและถูกอุปการะเป็นลูกบุญธรรมอย่างผิดกฎหมายในยุคสมัย 'สงครามสกปรก' (Dirty War) ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลทหารของอาร์เจนตินาปฏิบัติการ 'ก่อการร้ายโดยรัฐ' (state terrorism) เพื่อกำจัดผู้ต่อต้านทางการเมืองและกลุ่มติดอาวุธฝ่ายซ้าย

ในช่วงเดือน ส.ค. 2557 ประธานองค์กรคุณยายแห่งพลาซา เดอ มาโย เปิดเผยว่าเธอเจอหลานชายของเธอชื่อกุยโดที่หายตัวไปนาน ขณะที่จอร์เจลลินาไปเยือนโบสถ์ในรัฐกาตามาร์กาซึ่งเป็นที่เกิดเหตุที่พ่อของเธอถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว

จอร์เจลลินา เป็นคนแรกๆ ที่ได้รับทราบตัวตนที่แท้จริงตั้งแต่ปี 2527 แต่เธอบอกว่าเธอยังไม่พร้อมที่จะฟื้นคืนตัวตนเดิมของเธอจนกระทั่งถึงปี 2553 จอร์เจลลินาเป็นลูกของนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ชื่อคริสตินา อิลซาเบล พลานาส ผู้เป็นแม่ และมีพ่อชื่อโฮเซ มาริอา โมลินา แต่ในใบสูติบัตรของเธอไม่ระบุชื่อพ่อของเธอเพราะพ่อของเธอเป็นสมาชิกของกลุ่มกองกำลังปฏิวัติประชาชนหรืออีอาร์พี ซึ่งเป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารอาร์เจนตินาในยุคนั้น ที่พวกเขาไม่ระบุชื่อพ่อของเธอในสูติบัตรเพราะกลัวว่าจะเป็นอันตรายกับแม่และตัวเธอเอง

หลังจากพ่อของจอร์เจลลินาถูกสังหารในปี 2517 และพี่น้องของเขาคนหนึ่งถูกสังหารในปีถัดจากนั้น คุณยายของเธอชื่ออนา โมลินา ก็ขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่สวีเดนกับลูกชายที่เหลืออยู่อีกคนหนึ่ง ต่อมาในปี 2520 จอร์เจลลินาและแม่ของเธอก็หายสาบสูญ อนา โมลินา พยายามตามหาทั้ง 2 คนโดยส่งรูปถ่ายไปให้กับองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรเช่นองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลและกลุ่มคุณยายแห่งพลาซา เดอ มาโย รวมถึงเรียกร้องผ่านรัฐบาลสวีเดน

ในปี 2523 มีคนเห็นจอร์เจลลินาตัวจริงแล้วจำเธอในภาพถ่ายได้จึงพยายามติดต่อกับกลุ่มคุณยายแห่งพลาซา เดอ มาโย หลังจากนั้น อนา โมลินา ก็พยายามเรียกร้องขอหลานสาวเธอคืนโดยเริ่มเขียนจดหมายถึงเธอ แต่ในยุคนั้นยังไม่มีการตรวจดีเอ็นเอและพ่อแม่บุญธรรมของเธอก็มีเอกสารการรับเลี้ยงดูอย่างถูกกฎหมายทำให้โมลินาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจอร์เจลลินาเป็นหลานสาว

หลังจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้ครอบครัวแตกแยกผ่านมาหลายสิบปีแล้ว อนา โมลินา ยังคงต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ได้สมาชิกครอบครัวเธอคืนมาด้วยความเจ็บปวด แม้ว่าจอร์เจลลินาไม่ได้ถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวทหารแต่เธอก็อยู่ในครอบครัวศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเนื่องจากในยุคสมัยนั้นผู้ที่คอยตัดสินว่าเด็กควรจะอยู่กับใครถึงจะ "เหมาะสม" คือรัฐบาลทหารและกลุ่มนิกายคาทอลิก

คุณยายโมลินารู้ว่าจอร์เจลลินาเป็นหลานของเธอแต่ถูกครอบครัวใหม่กีดกันไม่ให้พบ เธอบอกว่าอยากโผเข้าไปกอดจอร์เจลลินาตอนที่ได้เห็นเธอแต่ก็ทำไม่ได้จึงได้แต่ยืนตัวเกร็งซึ่งทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวดมาก

อนา โมลินา เสียชีวิตก่อนที่เธอจะมีโอกาสได้พบกับจอร์เจลลินาอีกครั้ง ในปี 2553 หลังจากที่คุณยายโมลินาเสียชีวิตจอร์เจลลินาก็ได้รับประเป๋าที่เต็มไปด้วยเอกสารจากสวีเดนรวมถึงจดหมายต้นฉบับที่คุณยายส่งมาหาเธอจำนวนมากแต่เธอไม่เคยได้รับเลย

จอร์เจลลินาเปิดเผยว่าเธอรู้มาตลอดว่าเธอเป็นลูกบุญธรรมเพราะแม่เธอหายตัวไปช่วงที่เธออายุ 4 ปี แต่พ่อแม่บุญธรรมก็กล่าวหาว่าพ่อแม่ที่แท้จริงของเธอเป็นผู้ก่อการร้ายที่ทิ้งเธอไว้ จนต่อมาจอร์เจลลินาก็เริ่มรวบรวมความกล้าหาญเพื่อออกไปทวงตัวตนเดิมของเธอคืนมาหลังจากแม่บุญธรรมเธอเสียชีวิตและออกมาจากครอบครัวเดิมที่ไม่ยอมรับเธอในชื่อ "จอร์เจลลินา"

โรซา โรยซินบลิต รองประธานกลุ่มคุณยายแห่ง พลายา เดอ มาโย กล่าวว่ากรณีแบบเดียวกับจอร์เจลลินาเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งทางการเมือง มีครอบครัวจำนวนมากแตกแยกเพราะถูกเผด็จการในยุคนั้นทำการลักพาตัวเด็กๆ อย่างเป็นระบบ โรยซินบลิตกล่าวอีกว่ามีเด็กที่เคยถูกลักพาตัวบางคนขอแยกทางกับครอบครัวบุญธรรมของพวกเขาทันทีเมื่อถูกค้นพบ พวกเขารู้สึกโกรธที่ถูกทำให้ช่วงเวลา 25-35 ปี ของพวกเขาต้องสูญเสียไปเปล่าๆ มีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องใช้เวลาหลายปีในการตัดสินใจ

หลานชายของโรซ่า ชื่อ กุยเลอโม เปเรซ โรยซินบลิตเป็นคนแรกที่ถูกค้นพบจากที่เขาถือกำเนิดภายใต้การกุมขัง แม่ของกุยเลอโมให้กำเนิดเขาขณะถูกขังอยู่ที่โรงเรียนทหารเรือในกรุงบัวโนสไอเรส ซึ่งเป็นแหล่งกุมขังที่มีการทรมานนักโทษและมีประชาชนราว 5,000 คน ถูกทำให้สาบสูญ มีนักโทษจำนวนมากถูกมอมยาแล้วจับโยนลงจากเครื่องบินลงมหาสมุทรแอตแลนติก

แม่และพ่อของกุยเลอโมหายสาบสูญในปี 2521 ในตอนแรกกุยเลอโมไม่ยอมเชื่อว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวโรยซินบลิต จนกระทั่งต่อมาถึงยอมรับชื่อเดิมของเขา

ในกรณีของจอร์เจลลินาแม้ว่าเธอจะจำแม่แท้ๆ ของตัวเองไม่ได้ แต่ตัวเธอก็ยังมีความบอบช้ำทางใจที่ฝังรากลึก เธอรู้สึกถึงมันอีกครั้งตอนที่เธอมีลูกเองแล้วรู้สึกคิดถึงแม่ และตอนที่เธอส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลก็ทำให้เธอหวนรู้สึกถึงความเจ็บปวดจากการแยกจากกัน ความบอบช้ำทางใจเหล่านี้ทำให้เธอต้องเข้ารับการเยียวยาทางจิตใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้จอร์เจลลินาก็ได้รับการยืนยันตัวตนที่แท้จริงของเธอจากการตรวจดีเอ็นเอ ทำให้เธอกลับไปหาญาติๆ ที่แท้จริงของเธอที่ยังเหลืออยู่ได้ นอกจากนี้จอร์เจลลินายังเริ่มใช้ศิลปะในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เช่นผลงานแสดงนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์คาซา เดลลา เมมโมเรีย ในกรุงโรม จากคำเชิญของสถานเอคอัครราชทูตอาร์เจนตินา ซึ่งจอร์เจลลินาบอกว่าพวกเขากำลังรณรงค์ค้นหาคนที่หายตัวไปช่วงเป็นเด็กซึ่งมีบางส่วนอาจจะถูกพาไปยังยุโรป

เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาจอร์เจลลินายังได้จัดแสดงงานที่มหาวิทยาลัยลิโมเกสในฝรั่งเศสและพูดถึงเรื่องการค้นหาคนที่หายตัวไปตอนเด็กซึ่งเป็นผลพวงมาจากการก่อการร้ายโดยรัฐในช่วงที่อยู่ภายใต้เผด็จการทหาร นอกจากนี้เธอยังช่วยเหลือด้านการค้นหาร่วมกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนด้วย

"สำหรับฉันแล้ว ศิลปะเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ตัวตนของฉันกลับคืนมา และฉันก็ต้องการช่วยเหลือคนอื่นได้รับตัวตนของพวกเขากลับคืนมาเช่นกัน" จอร์เจลลินากล่าว

 


เรียบเรียงจาก

I’m a child of Argentina’s ‘disappeared’, The Guardian, 27-12-2014
http://www.theguardian.com/lifeandstyle/2014/dec/27/child-argentinas-disappeared-new-family-identity

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Dirty_War

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net