Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เครือข่ายพลเมืองเน็ตวิจารณ์สำนักงาน กสทช.กรณีให้อำนาจ ISP ปิดเว็บ ถามใช้อำนาจตามกฎหมายอะไรในการปิดกั้นเนื้อหา ย้ำบทบาท กสทช.ควรกำกับดูแลการให้บริการอินเทอร์เน็ต เน้นเสรีภาพในการสื่อสารทางโทรคมนาคม

30 ธ.ค. 2557 เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์ กรณีสำนักงาน กสทช.ให้อำนาจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบล็อคเว็บได้ทันทีโดยไม่ต้องขอคำสั่งหรือความเห็นชอบ โดยตั้งคำถามว่า อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบ จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือการละเมิดสิทธิที่ไม่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอีกจำนวนเท่าใด

นอกจากนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตระบุด้วยว่า ในภาวะที่สถานะของสำนักงาน กสทช. มีความไม่แน่นอน อาจถูกยุบเลิกหรือปรับโครงสร้างลดอำนาจ สำนักงาน กสทช.กลับให้มีการปิดเว็บโดยไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อแสดงออกถึงความสำคัญและจำเป็นในการมีอยู่ขององค์กร ทั้งที่ที่่ผ่านมา แม้แต่การปิดเว็บภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ยังปรากฏการปิดผิดเว็บไซต์ให้เป็นที่เดือดร้อนประชาชนอยู่เสมอ

เครือข่ายพลเมืองเน็ตย้ำบทบาท กสทช. ด้วยว่า ต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะ มีความเป็นอิสระในการทำงาน ไม่อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาล เอกชน หรือหน่วยงานอื่นใด ชี้ประชาชนยังคาดหวังให้ กสทช.ทำหน้าที่กำกับดูแลการให้บริการอินเทอร์เน็ต ตามเงื่อนไขการออกใบอนุญาตข้อ 13 ที่ว่าด้วย “สิทธิในความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล และเสรีภาพในการสื่อสารทางโทรคมนาคม” อยู่

 

รายละเอียด มีดังนี้

7 ปีที่ผ่านมา มีงานศึกษาพบชัดเจนแล้วว่า กระทั่งการสั่งปิดเว็บไซต์ด้วยวิธีให้เจ้าหน้าที่ยื่นให้ศาลพิจารณาเพื่อมีคำสั่งศาล ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ก็ยังมีข้อผิดพลาด ปรากฏการปิดผิดเว็บไซต์ให้เป็นที่เดือดร้อนประชาชนอยู่เสมอ

เมื่อสำนักงาน กสทช.สั่งให้ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ต ระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ได้ทันทีโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล โดยไม่ต้องแม้แต่ทำหนังสือขอความเห็นชอบจากสำนักงาน กสทช. และทำได้ “ภายใน 30 วินาที” คำถามคือ อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบนี้ จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือการละเมิดสิทธิที่ไม่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอีกจำนวนเท่าใด

คำถามสำคัญกว่านั้นคือ สำนักงาน กสทช.ใช้อำนาจตามกฎหมายอะไรในการปิดกั้นเนื้อหา เนื่องจากเงื่อนไขในการประกอบกิจการอินเทอร์เน็ตทุกประเภทนั้นเจาะจงเฉพาะเรื่องทรัพยากรโทรคมนาคม มาตรฐานโครงข่าย และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้เท่านั้น ไม่มีเรื่องที่ว่าด้วยการคัดกรองเนื้อหา

ในภาวะที่สถานะองค์กรมีความไม่แน่นอน อาจถูกยุบเลิกหรือปรับโครงสร้างลดอำนาจ ดูเหมือนว่าสำนักงาน กสทช.กำลังพยายามแสดงออกให้สังคมเห็นว่าตัวเองยังสำคัญและจำเป็น ด้วยการเสนอสิ่งที่สังคมไทยส่วนหนึ่งเรียกร้องต้องการ นั่นคือการอ้างว่าตนเองสามารถสั่งปิด “เว็บหมิ่น” ได้ และปิดได้เร็วกว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสียอีกด้วย เนื่องจากไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล (และก็เป็นเรื่องย้อนแย้งไปอีก ถ้าสำนักงาน กสทช.จะยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ ด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึก ไม่ใช่ด้วยกฎหมายที่รับรองสถานะและความจำเป็นของการมีอยู่ของสำนักงาน กสทช.เอง)

ดังที่เราได้เห็นมาโดยตลอด พฤติกรรมฉวยโอกาสอ้าง “ความมั่นคงของชาติ” เช่นนี้ปรากฏในหลายหน่วยงาน ซึ่งสุดท้ายสังคมคงจะตอบได้เอง ว่าหน่วยงานเหล่านี้ทำเพื่อ “ความมั่นคง” ของชาติหรือของหน่วยงานหรือของใคร

เครือข่ายพลเมืองเน็ตยืนยันความสำคัญของ กสทช.และสำนักงาน กสทช. และยืนยันว่าองค์กรกำกับดูแลจะต้องมีความเป็นอิสระในการทำงาน ไม่อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาล เอกชน หรือหน่วยงานอื่นใด เนื่องจากหน้าที่สำคัญขององค์กรกำกับดูแลคือการปกป้อง “ประโยชน์สาธารณะ” ที่หมายถึงประโยชน์ของประชาชนในท้ายที่สุด โดยความอิสระดังกล่าวต้องอยู่ในกรอบพันธกิจ ไม่น้อยหรือมากไปกว่านั้น

ท้ายที่สุดนี้ ท่ามกลางข่าวเรื่องการดักรับและขอข้อมูลการสื่อสารโดยภาครัฐ ประชาชนยังคาดหวังให้ กสทช.ทำหน้าที่กำกับดูแลการให้บริการอินเทอร์เน็ต ตามเงื่อนไขการออกใบอนุญาตข้อ 13 ที่ว่าด้วย “สิทธิในความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล และเสรีภาพในการสื่อสารทางโทรคมนาคม” อยู่

30 ธ.ค. 2557
เครือข่ายพลเมืองเน็ต

 

ที่มา:

https://www.facebook.com/thainetizen/posts/10152971674448130

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net