เปิดใจก่อนจากลา: 22 ปีของ 'นิค นอสติชท์' ในสังคม-การเมืองไทย


ภาพโดย Burinmas Kanchanothai

นิค นอสติทช์ ช่างภาพและนักข่าวอิสระประกาศรับบริจาคระหว่างเตรียมกลับเยอรมนีบ้านเกิด หลังจากได้รับผลกระทบจากการแบ่งขั้วทางการเมืองไทยจนไม่สามารถทำงานได้  เขาอยู่เมืองไทยมากว่า 20 ปี ทำข่าวการเมืองไทยมายาวนานและจริงจังอย่างหาตัวจับได้ยาก ผลกระทบนี้ไม่ใช่เพียงปัญหาระดับปัจเจกบุคคล แต่มันสะท้อนสภาพสังคมไทยได้อย่างชัดแจ้ง

ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้นิคไม่สามารถออกถ่ายภาพข่าวการเมืองช่วงการชุมนุมของ กปปส.ได้ตลอดหลายเดือน คือ เหตุการณ์วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ใกล้ๆ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้ชุมนุมต่อต้านระบอบทักษิณเข้าล้อมกรอบเขาระหว่างเข้าถ่ายภาพตามปกติและการ์ดได้ชกเข้าที่ใบหน้าของเขา ชนวนของเหตุการณ์นี้เกิดจากการประกาศปลุกระดมของแกนนำย่อยคนหนึ่ง ข้อกล่าวหาที่ถูกมอบให้โดยไม่ทันได้มีสิทธิแก้ต่างคือ ‘เป็นนักข่าวเสื้อแดง’

อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ บริเวณศาลรัฐธรรมนูญในวันตัดสินคดีอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กรณีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2557 การ์ด กปสส.พยายามเข้าล็อคตัวนิคออกจากศาลรัฐธรรมนูญเพื่อไปพบ ‘หลวงปู่’ เขาไม่ยอมไป โวยวาย ยื้อยุดจนกระทั่งตำรวจเข้ามากันตัวเขาออกจากพื้นที่  

หลังจากนั้นยังมีการโทรศัพท์ข่มขู่เขาและครอบครัวตลอดมา ด้วยคำนึงถึงความปลอดภัยเขาจึงไม่สามารถออกถ่ายภาพข่าวได้อีกตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา แม้แต่การจะไปถ่ายภาพข่าวชาวโรฮิงยาที่ภูเก็ต นักท่องเที่ยวอังกฤษที่เกาะเต่า ฯลฯ หากเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์-กปปส. เสียแล้ว เขาเห็นว่าจำต้องหลีกเลี่ยง

ขณะที่หารายได้ไม่เข้า เงินเก็บร่อยหรอถึงขีดสุด กระบวนการรับบุตรบุญธรรมที่ยาวนานมากว่า 2 ปีก็ยังไม่เสร็จสิ้น ทำให้เขายังคงต้องอยู่ที่นี่ต่อไปเพื่อพาลูกบุญธรรมกลับเยอรมนีด้วย และระหว่างนี้ก็ประกาศรับความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงและผู้ที่สนับสนุนงานของเขา

ในวันที่เขาจะจากลาประเทศและงานที่เขารัก ประชาไทนั่งสนทนาเรื่องราวชีวิต ที่มาที่ไปของเขา มุมมองด้านสังคมจากคนนอกที่คลุกคลีกับคนชั้นล่างของสังคมไทยมายาวนานหลากหลายรูปแบบ จนอาจกล่าวได้ว่าเขารู้จักเมืองไทยดีเสียยิ่งกว่าเราท่านที่นั่งทำงานกันในห้องแอร์เสียอีก เรารับฟังมุมมองการเมืองไทยของเขาซึ่งกลั่นมาจากประสบการณ์ตรงในการติดตามการเคลื่อนไหวของทุกกลุ่มอย่างจริงจัง และเราพบว่ามันน่าสนใจที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังด้วยความเสียดายหากจะไม่มี ‘นิค’ อีกแล้วในสนามข่าวเมืองไทย

0000


ด.ช.นิค  (ภาพจากนิค นอสติทช์)

นิค มักตระเวนทำข่าวด้วยมอเตอร์ไซค์คู่ชีพ มวนบุหรี่สูบเอง ดูลุยๆ กินง่ายอยู่ง่าย อึด ถึก พูดไทยได้ด้วยสำเนียงที่ประหลาด มีเอกลักษณ์ ใครจะรู้ว่าเขามาจากครอบครัวคนชั้นสูงในเยอรมนี เป็นตระกูลเก่าแก่อายุกว่า 800 ปีและมีทรัพย์สินมากมาย

“เป็นบารอนน่ะ ถ้าเมืองไทยก็คงจะหม่อมหลวงละมั้ง” นิคว่า แต่นั่นก็เป็นอดีตอันรุ่งโรจน์เมื่อสุดท้ายครอบครัวสูญเสียทรัพย์สินทั้งหมดจากภาวะล้มละลายจากการทำธุรกิจเมื่อราวสิบปีก่อน

“ชิบหายหมดเลย ผมก็หาเงินไม่เก่ง ไม่รู้จะหาเงินยังไง ก็อาศัยถ่ายรูปนี่แหละ คนเคยมีที่ดินเยอะแยะ มีเขาของตัวเอง มันหายหมดเลย เหมือนดึงเก้าอี้ที่เคยนั่งออกไปเลย”

อย่างไรก็ตาม นิคดูจะแหกคอกตั้งแต่เด็ก เพราะเขาออกจากบ้าน ออกจากเยอรมนีมาท่องโลกในฐานะแบ็คแพ็คเกอร์ตั้งแต่อายุ 20 ปี ใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ราว 5 ปี ตระเวนไปทั่ว ทั้งอินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน อิหร่าน ศรีลังกา ทวีปแอฟริกา ฯลฯ


สมัยวัยหนุ่มที่ยังใช้ชีวิตแบ็คแพ็คเกอร์ (ภาพจากนิค นอสติทช์)

สิ่งที่ทำให้เขามาหยุดที่ประเทศไทยหลายปี คือ ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองจีนเขาเห็นหนังสือภาพถ่ายชีวิตในที่ต่างๆ ของช่างภาพญี่ปุ่นคนหนึ่ง “เอ๊ะ เราก็น่าจะทำได้” ประกอบกับเขาเริ่มอิ่มตัวกับชีวิตแบ็คแพ็คเกอร์แล้วด้วย ทำให้เขาตัดสินใจมาอยู่กรุงเทพฯ ใช้ชีวิต ‘เละเทะ’ ปาร์ตี้-ยา-ผู้หญิงในย่านอโคจรอยู่เป็นปีๆ จนผลิตหนังสือภาพถ่ายออกมาเมื่อปี 2544 "Patpong: Bangkok's Twilight Zone" อธิบายถึงอุตสาหกรรมทางเพศในประเทศไทย

แต่ช่วงที่เขาได้เงินดีที่สุดกลับเป็นช่วงของการเป็นนายแบบโฆษณาช่วงสั้นๆ ... ถ้าใครจำได้เขาโด่งดังมาจากยาน้ำแก้ไอมูโคลิด

องค์ประกอบสำคัญที่สุดที่ทำให้เขาปักหลักที่นี่ถาวรคือการเจอกับแฟนของเขาซึ่งมีอาชีพเป็นกุ๊กในร้านอาหาร ทั้งคู่ลงหลักปักฐานและรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงดู ช่วงนั้น นิคยังคงหาวัตถุดิบในการถ่ายภาพทำหนังสือแบบ ‘ฮาร์ดคอร์’ ตามสไตล์เขา นั่นคือ การใช้ชีวิตกลางคืนเพื่อติดตามไปกับรถมูลนิธิกู้ชีพต่างๆ เพื่อถ่ายภาพอาชญากรรม ซึ่งเขาทำหน้าที่ทั้งช่วยยกศพ ช่วยผู้บาดเจ็บ และถ่ายภาพของตัวเองด้วยในเคสที่น่าสนใจ เขาทำแบบนี้อยู่ 6-7 ปี เรียกว่าสนใจอะไรก็จะอยู่กับมันยาวนาน เขาบอกด้วยว่าเขาพบเจอการตายมากมายหลายแบบและหนึ่งในสิ่งที่เขาสะเทือนใจมากคือผลของนโยบายสงครามยาเสพติด จนถึงปัจจุบันนี้เขามองเรื่องนี้เป็น 'สีเทา' ที่ยากจะกล่าวโทษและชวนหดหู่

เช่นเดียวกับเรื่องการเมืองไทย

นิคติดตามการเมืองบนท้องถนนของไทยตั้งแต่แรกเริ่ม สมัยที่สนธิ ลิ้มทองกุล จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่สวนลุมพินี นิคเกาะติดและศึกษาการเมืองไทยไปพร้อมๆ กัน

“ตอนสนธิ ลิ้มฯ ชุมนุม ก็ติดตามตลอดและเริ่มเรียนรู้การเมืองไทย ยังมองไม่เห็นอะไรเท่าไหร่ แต่พอรัฐประหาร รู้เลยว่าต้องวุ่นวายไม่จบ ผมทะเลาะกับเพื่อนนักข่าวต่างประเทศหลายคน เขาคิดว่าผู้ชุมนุม นปก.เป็นขี้ข้าทักษิณ ทักษิณจ้าง ไม่มีความหมาย ผมบอกไม่ใช่ ลองมาสนามหลวง ลองมาคุยกับเขา ลองมาฟังที่เขาพูดสิ”

“ผมอาจไม่ชอบทักษิณ แต่มันไม่เกี่ยวกับชอบหรือไม่ชอบ ต้องดูใหม่ว่าทำไมคนถึงชอบเยอะขนาดนี้ พวกเขาก็มีสิทธิที่จะชอบ พวกคาราวานคนจนมา ผมก็คุยกับเขาก็พบว่าเขาไม่ใช่ไม่มีเหตุผล ถึงที่สุด เราจะชอบไม่ชอบทักษิณ มันต้องอยู่ในกระบวนการเลือกตั้ง เรื่องรัฐประหารมันไม่ถูกต้อง อยากชนะทักษิณต้องชนะในกรอบ หลายคนก็ด่า ผมยังใหม่ที่การเมือง หลายคนดูถูกผมด้วย”

นิคติดตามการชุมนุมของทุกฝ่าย แต่ตอนแรกนั้นเขาไม่ได้เขียนงาน เน้นเพียงการถ่ายรูป แต่แล้วความอึดอัดก็ทำให้เขาต้องเริ่มลงมือเขียนเอง ก็ในเมื่อนักข่าวคนอื่นไม่ได้อยู่ในจุดที่เขาอยู่ และมีน้อยคนนักที่จะทนอยู่ตลอดคืนจนเหตุการณ์สิ้นสุดเหมือนเขา

“ความรุนแรงแรกที่เห็นคือที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศวร์ โน้ตไว้ไม่ได้เขียนอะไร ถ่ายภาพอย่างเดียว แต่ผมไม่พอใจตลอด ทำไมในหนังสือพิมพ์เขาเขียนไม่เหมือนที่ผมเห็นในสนาม แต่ไม่มีใครสนใจ ช่างแม่มัน ผมทำเอง”

“สำนักข่าวต่างประเทศส่วนมากไม่สนใจ เขาสนใจรัฐประหาร แต่พอเห็นรัฐประหารไม่มีเลือดก็เลิกสนใจ ธุรกิจข่าวก็เป็นแบบนี้ใช่ป่ะ แต่ผมไม่สนใจธุรกิจข่าวอยู่แล้ว ผมสนใจสิ่งที่ผมทำมาตลอดชีวิต ผมสนใจอะไรก็จะทำนาน ลึก เหมือนที่ผ่านมา ก็ผมชอบ”

พื้นที่อย่างเว็บไซต์นิวแมนดาลา กลายเป็นพื้นที่การทำงานหลักของนิคระหว่างที่หนังสือเล่มยังผลิตไม่เสร็จ เขาเขียนบันทึกหลายต่อหลายเหตุการณ์ในการปะทะกันไม่ว่าของฝ่ายใด ทั้งที่ตอนแรกเขาค่อนข้างจะดูเบามันด้วยซ้ำ

“ตอนแรกก็คิดว่าจะเขียนทำไม ไม่ได้เงิน แล้วก็เป็นเว็บไซต์เล็กน้อย จะมีความหมายอะไร เสียเวลา แต่ตอนหลังก็ช่างแม่มัน หันมาเขียนเพราะคนอ่านก็จะเป็นคนสนใจจริงๆ ได้เขียนอะไรที่เราต้องการเขียน มาจากมุมที่เราเห็น ทำให้เราสบายใจ”

ใครอาจจะคิดว่าเขาเป็นนักข่าวเสื้อแดงแต่ข้อเท็จจริงที่เขายืนยันและเราก็เห็นดังนั้น คือ เขาติดตามทั้งสองฝั่ง ตรงไปตรงมา วิจารณ์ทั้งสองฝั่งเมื่อมีอะไรไม่เห็นด้วย แต่เขาก็ยอมรับว่าในเรื่องอุดมการณ์หลักนั้นใกล้เคียงกับฝากฝ่ายเสื้อแดงมากกว่า


ภาพกลุ่มสยามพิทักษ์ โดยนิค นอสติทช์

“พันธมิตรเขาก็รู้ผมเป็นใคร เขารู้ความคิดของผม ผมไม่ได้ปลอมตัว ผมพูดตรงไปตรงมา พันธมิตรเขาก็รับได้ แต่ตอนนี้ไม่รู้จะเป็นยังไงเพราะผมโดนใส่ร้ายเยอะ ตอนนั้นผมเคยคุยกับพันธมิตรว่าบางส่วนที่เขาว่า ผมก็เห็นด้วย แต่บางเรื่องในอุดมการณ์ของเขา ผมเห็นด้วยไม่ได้ ผมพูดกับเขาตรงๆ ผมคิดแบบผม ผมไม่ปลอมตัวว่าผมชอบคุณ อยู่ฝ่ายคุณ มันไม่มีประโยชน์ ผมคือผม ผมเป็นแบบนี้ ตรงไปตรงมา กับเสื้อแดงผมก็วิจารณ์หลายครั้ง หลายเรื่อง แต่ก็คุยกันได้ เราเป็นมนุษย์ เราทุกคนมีความคิดของเราเอง ใช่ป่ะ ผมก็มีจุดยืนของผม คนอื่นก็มีของเขา”

“หลายคนหาว่าผมตามเสื้อแดงอย่างเดียว ไม่ใช่ ผมใช้เวลาเสมอกัน ตอนพันธมิตรประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ 5-6 เดือน นักข่าวไม่ค่อยมี แต่ผมไปตลอด”

“ฝั่งแดงผมอาจเห็นด้วยมากกว่าในเรื่องอุดมการณ์การเมืองส่วนตัวของผม ไม่ใช่ตามทักษิณ ตามแกนนำ ผมไม่เป็นลูกน้องใคร ผมไม่เป็นลูกพี่ใคร ผมเป็นผมแค่นั้น ผมมีความคิดของผม อันนี้สิทธิของผม ความคิดของผมอาจใกล้ชิดของแดง แต่ไม่ใช่ผมตามทักษิณ รับเงิน ไม่ใช่ ผมมีสมองเอง”

หลังการรัฐประหาร หลายปีต่อมานิคมีผลงานหนังสือภาพถ่าย Red vs Yellow Volume 1: Thailand's Crisis of Identity พิมพ์ในปี 2552 และ Red vs Yellow Volume 2: Thailand's Political Awakening พิมพ์ในปี 2554


หนังสือภาพถ่าย Patpong: Bangkok's Twilight Zone ออกปี 2543


หนังสือภาพเล่มแรกเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ออกปี 2552

“ผมตามจริงจังเสมอกันทั้งสองฝ่าย วันที่ผมโดนกระทืบ หลายคนก็พูดว่า คนก็รู้ว่าเป็นเสื้อแดงทำไมไป กปปส.คนเขาจำได้ ทำไมยังไป...ขอโทษ เขาอาจไม่รู้ สองปีก่อน ผมตามประชาธิปัตย์ เสื้อเหลืองมากกว่าเสื้อแดง เพราะเสื้อแดงไม่มีความเคลื่อนไหวมาก ผมตามเวทีสายล่อฟ้าประมาณ 20 เวที เขามีประมาณ 60-70 เวที ผมไปมากกว่านักข่าวอื่น”

นิคยืนยันถึงสัมพันธภาพอันดีกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่า ช่วงนั้นเขาทักทายและพูดคุยกับส.ส.ผู้ใหญ่ของพรรคหลายคน และนั่นยิ่งทำให้เขาผิดหวังอย่างยิ่งกับท่าทีของพรรคดังกล่าวหลังจากเขาโดนทำร้ายเมื่อวันที่ 25 พ.ย.56

“ผมโอเคมากกับเอกณัฐ เขาคุยดี ใช้ได้ ตอนมีเรื่องก็เอสเอ็มเอสไปบอกเขา ลุงของเขาคือ นิพนธ์ พร้อมพันธ์ เมื่อปี 52 ตอนเสื้อแดงทำลายรถของนิพนธ์ ตอนแรกผมถ่ายรูป แล้วต่อมาก็ต้องหยุดถ่ายแล้วช่วยดันเสื้อแดง ผมยืนข้างรถแล้วยังบอกคนในรถซึ่งไม่รู้คือใครว่า “ผมพยายามปกป้องคุณ ใจเย็นๆ ไม่ต้องออกจากรถ อยู่นิ่งๆ ก่อน” แล้วผมก็ดันเสื้อแดงออกด้วย ผมตัวใหญ่ก็ดันๆๆ ออกเลย จนรถเขาก็ไปโรงพยาบาลได้ เอกณัฐรู้เรื่องนี้และยังขอบคุณผม แต่ที่ผมเจ็บมากคือเอกณัฐไม่ได้ติดต่อกลับ อีกวันหนึ่งมีการแถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ออกแถลงการณ์ด้วย บอกเสียใจที่นิค นอตสติทช์ เจอความรุนแรงในนี้ แต่ต้องเข้าใจผู้ชุมนุมจำนิคได้ นิคเป็นนักข่าวที่ไม่มีคุณภาพนักข่าวเลย โอ้โห หักหลังขนาดนี้ ต่อหน้าเราอย่าง ลับหลังเราอย่าง”

นิคยังคงเล่าเรื่องต่อไปด้วยความโมโหเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญ วันนั้นนักข่าวทุกคนอยู่ข้างในอาคารศาล ขณะที่เขาออกไปสูบบุหรี่ด้านนอก และโจนาธาน เฮด นักข่าวชื่อดังของบีบีซีก็กำลังถ่ายทอดสดอยู่ด้านนอกเช่นกัน

“ตอนนั้นการ์ด กปปส.คนนึงมากับมอเตอร์ไซด์ แล้วก็เรียกอีกสองคนเดินเท้ามา สองคนเดินมาประกบซ้ายขวา คนหนึ่งยืนข้างหน้า บอก ไอ้นิคหรือ ไปหาหลวงปู่ฯ ผมบอกไม่ไป เขาก็บอกว่า เราเชิญ ต้องไป ผมไม่ยอมไปเพราะเสี่ยงมาก  ผมยืนขึ้นจะเข้าข้างใน คนที่ยืนข้างหน้าก็ดันผมหนักจนเซลงไปนั่ง ผมก็ยืนอีก สองคนพยายามจะล็อคตัวผม แต่ผมพยายามสะบัดเขาออก แล้วก็โวยวาย ตำรวจอยู่ไม่ไกล โจนาธานก็โวยวายกับตำรวจด้วย พอตำรวจเดินมา 3 คนก็เลยถอย แล้วเขาก็โวยวายว่า คนนี้ถ่ายรูปการ์ด เราต้องตรวจมัน...โอ้โห มึงไม่ต้องมาโกหก กล้องถ่ายรูปยังอยู่ในกระเป๋ากูอยู่เลย”

จากนั้นตำรวจก็คุมตัวนิคออกจากพื้นที่ และให้ตำรวจอีกนายนำรถมอเตอร์ไซค์นิคออกมาด้วย นิคต้องไปนั่งอยู่ สน.ทุ่งสองห้องหลายชั่วโมง กว่าเจ้าหน้าที่จะปล่อยกลับบ้าน

“ตอนที่ผมออกมาแล้ว การ์ด กปปส.ก็เข้าตึกข้างในแล้วถามหาผม เพื่อนนักข่าวโทรมาบอกว่ามีคนมาถามหานิค ให้ดูภาพในสมาร์ทโฟนแล้วเที่ยวถามคนใหญ่ ตอนหลังตำรวจสายสืบก็มาบอกอีกว่า พวกนั้นเอามอเตอร์ไซด์ประมาณสิบคันตามหาทั่วศูนย์ราชการแล้วก็ถนนแจ้งวัฒนะด้วย ผมเลยต้องอยู่ สน.หลายชั่วโมงกว่าจะได้กลับบ้าน” 

ตลอด 7   เดือนที่ผ่านมา นิคบอกว่าเขาอยู่กับอารมณ์ 2 อย่าง

“หนึ่งกลัว สองโมโห กลัวเพราะเราต้องรักษาชีวิตเรา ใครก็ช่วยเราไม่ได้ โมโหเพราะว่ามันไม่ยุติธรรม แล้วผมก็หาเงินไม่ได้ ธุรกิจข่าวสนใจ กปปส.แต่ผมเข้าไปถ่ายไม่ได้ อย่างช่วงปี 53 เสื้อแดงประท้วง ช่วงสองเดือนกว่านั้นผมมีรายได้เกือบ 400,000 นสพ. หรือนิตยสารจ้างเป็นรายวัน แต่ช่วง กปปส. จบเลย ผมเข้าใกล้ไม่ได้ รายได้ 7 เดือนไม่ถึง 20,000”

“ที่ผ่านมา ผมอยู่แนวหน้าตลอด เหตุการณ์สุดท้ายก็ที่หลักสี่ที่ยิงกันก่อนเลือกตั้ง สิบนาทีนอนอย่างเดียว ลูกปืนผ่านหัวเราไป ห่างจากผม 4-5 เมตรผู้หญิงโดนยิงแขน อก ห่างไป 30-40 เมตร อาแกวนอนนิ่งอยู่ เหตุการณ์ที่รามคำแหงผมก็อยู่ข้ามคืน”

จริงดังว่า เขาอยู่แนวหน้าตลอดในเหตุการณ์ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ นักข่าวหลายคนยืนยันว่านิคมีลักษณะพิเศษมากกว่าช่างภาพทั่วไป นั่นคือ เขาพร้อมจะวางกล้องลงแล้วเข้าช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ว่าอาจจะพลาดช็อตที่ดีที่สุดไปก็ตาม เช่น การเข้าเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมสองฝั่งหลายต่อหลายครั้ง การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ แม้กระทั่งการให้ใช้ภาพ ใช้ปากคำของตัวเขาเองเป็นพยานให้การในศาล เช่นกรณีการตายของชาญณรงค์ พลศรีลา เนื่องจากเขาอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยระหว่างมีการสลายการชุมนุม เมื่อ 15 พฤษภาคม 2553


นิค นอสติทซ์ เล่าเหตุการณ์วันสลายการชุมนุม ให้มนชยา พลศรีลา 
ลูกสาวของชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้เสียชีวิตจากการเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 ฟัง

เราถามเขาว่า ทำไมไปโผล่ในจุดอันตรายตลอด ไม่กลัวหรืออย่างไร ?

“กลัวเหมือนกัน ส่วนหนึ่งมันก็เป็นหน้าที่เราด้วย เราอยากอยู่ ที่เราศึกษาเรื่องแดงเหลือง เราไม่ชอบให้เขาปะทะกัน แต่ถ้าเราไม่อยู่ในสนามด้วยเราจะไม่เห็นว่าใครยิงใคร สถานการณ์เป็นยังไง เราจำเป็นต้องอยู่ เพราะคนอื่นก็ไม่ทำกัน ข้อเท็จจริงยังไงก็สำคัญมาก ถ้าปะทะกันธรรมดา แบบแก๊สน้ำตา ผมชอบ สนุกดี มันส์ดี เพราะมันไม่ได้รุนแรงอะไร แต่ถ้าฟันกัน ยิงกัน ผมไม่ชอบเลย ผมไม่ชอบ”

“จำได้ไหม ปี 53 มันแย่มาก บางครั้งนักข่าวฝรั่งผมก็ไม่ค่อยเข้าใจ กลางวันถ่ายรูปที่สนามรบ กลางคืนก็มีงานปาร์ตี้  ผมทำไม่ได้ กลางวันผมถ่ายรูปคนเจ็บคนตาย ปะทะกันหนัก ผมไม่ใช่เสียใจนิดหน่อย ผมเสียใจมาก ผมไม่มีอารมณ์ไปปาร์ตี้ ผมมีอารมณ์ร้องไห้อย่างเดียว ทุกวันช่วงนั้นจะถ่ายรูป กลับบ้าน กินข้าว นอนแป๊บนึงแล้วก็ออกอีก ผมเสียใจมากที่มันเป็นแบบนี้ ยิงกัน ทหารยิง ชุดดำยิง คนเจ็บคนตายทั้งสองฝ่าย”

เราถามเขาว่างานของเขาขายได้ราคาไหม เมื่อต้องเสี่ยงชีวิตขนาดนี้?

“ไม่มี ไม่มีราคา ธุรกิจข่าวเขาจ้างเราเป็นรายวันในช่วงสถานการณ์ ค่าตัวเราแพงแต่ก็จ้างไม่นาน  แต่ถ้าส่งรูปแบบอิสระเราก็ส่งไม่ทันด้วย กว่าเราจะกลับ เอารูปลงคอม รอยเตอร์ เอพี เอเอฟพี เขาส่งไปหมดแล้ว ก็จบ ไม่มีใครซื้องานของเรา ศูนย์ข่าวใหญ่ๆ มีช่างภาพเยอะกระจายตัว แล้วก็ทำงานเร็วมาก ธุรกิจข่าวมันเร็วมาก เดดไลน์ต่างประเทศกี่โมงต้องดู กำลังจะปะทะกันเต็มที่ ถ้าจะถึงเดดไลน์แล้วเราต้องถอยส่งภาพ ซึ่งไม่ใช่ผม ผมจะอยู่ถึงที่สุด ที่รามคำแหงผมอยู่ข้ามคืนจนเหตุการณ์สงบ ตอนนั้นไม่มีนักข่าวต่างประเทศเลย แต่ผมก็ขายภาพไม่ได้ เพราะเหตุการณ์มันเล็กมาก ต่างประเทศเขาไม่ได้สนใจขนาดนั้น”


มอเตอร์ไซด์คู่ชีพ

เราสมมติสถานการณ์บางอย่างกับเขา “ถ้าสมมติไม่มีปัญหาเรื่องเงิน ในสถานการณ์ที่การเมืองก็มาไกลมากแล้วแบบนี้ คุณยังจะทำงานอยู่เมืองไทยต่อไหม” 

นิคเงียบไปพักใหญ่ ก่อนจะตอบว่า “มันก็ยาก กปปส. พรรคประชาธิปัตย์มองไอ้นิคเป็นศัตรูไปแล้ว มีหลายคนประสานให้เคลียร์กันแต่เขาปฏิเสธจนวันนี้ แล้วผมก็ไม่รู้อนาคตจะวุ่นวายอีกไหม เหมือนช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ผมก็ต้องสู้ชีวิตทุกวัน แต่ใครๆ ก็สู้ชีวิต ช่วงชัตดาวน์กรุงเทพฯ ก็ลำบากมาก ออกไม่ได้ ซื้ออาหารกินก็ไม่ได้ ต้องให้แฟนออกมาซื้อ เป็นแบบนี้อีกครั้งหนึ่ง ผมไม่อยากจะผ่านอีกแล้ว มันแย่ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่านำโชคของเรามันถึงไหน เราไม่รู้ เวลาเขาเกลียดเราเฉยๆ ก็ช่างแม่มัน แต่ถ้าเป็นแบบ 7 เดือนที่ผ่านมาผมก็ไม่ไหว บางช่วงก็ฝันร้ายตลอดด้วย ถ้าถามใจผมอยากจะอยู่เมืองไทย ผมอยู่นี่ 22 ปี นานกว่าที่อยู่เยอรมันอีก”

วางแผนชีวิตที่เยอรมันยังไง?  

“ผมก็ไม่ค่อยรู้ว่าชีวิตที่ยุโรปเป็นยังไงแล้ว ผมพยายามวางแผนเพราะผมไม่มีค่าเท่าไรที่เยอรมัน แต่แฟนผมทำอาชีพเป็นกุ๊ก อยากจะทำร้านอาหารเล็กๆ แบบ take away อาหารไทยจีน มันน่าจะพออยู่ได้ ผมก็จะเขียนหนังสือเรื่องสิบปีที่ผ่านมา แล้วก็มีเล่มสองของหนังสือชีวิตกลางคืน ลองดูก่อนว่ามันจะเป็นยังไง ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นที่เมืองไทย ....เป็นเมืองไทยจะทำอยู่ไหม....อืม บางครั้งผมก็ต้องสงสารลูกผมด้วย เขายังเป็นเด็กน้อย แฟนเคยเล่าให้ฟัง ลูกชายนั่งหน้าโทรทัศน์ช่วงปี 53 เขาก็ไม่กี่ขวบ เห็นผมในโทรทัศน์ในโซนที่ยิงกัน เขาก็ตะโกนว่า แดดดี้ อันตราย วิ่งหนีเลย แดดดี้ อันตรายๆ  เวลาแฟนเล่าให้ฟังเราก็สงสารเขา บางครั้งเราทำงานจนลืมทุกอย่างไป”

ทั้งหมดนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างนิค นอตสติทช์ กับ ประเทศไทย  น่าเสียดายที่ประเทศนี้ไม่เอื้อต่อการทำงานแบบ ‘นิค’ ความใฝ่ฝันแบบ ‘นิค’ อีกต่อไป  

 

หากท่านต้องการสนับสนุน-ช่วยเหลือนิค สามารถบริจาคได้ที่ 

1) Nikolaus Nostitz
Siam Commercial Bank, Bangpho Branch
209 Pracharat Sai 2 Rd.
Bangsue
Bangkok 10800
Thailand
Acc. No.: 027-261598-2
SWIFT: SICOTHBK

2) Nikolaus Nostitz
Unicredit Bank AG, Muenchen
Kardinal Faulhaber Str. 
Germany
Acc.No.: 101193080
BLZ: 700 202 70
IBAN: DE26700202700101193080
SWIFT (BIC): HYVEDEMMXXX

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท