Skip to main content
sharethis

triple H music จัดแถลงข่าวเปิดอัลบั้ม Sound Of Silence กับ 16 เพลงหลังพานักดนตรีเยาวชนลงพื้นที่ปัญหาฐานทรัพยากร สิทธิชุมชน ความเป็นธรรม คนชายขอบ ฯลฯ พร้อมคอนเสิร์ต “เพลงประกอบภาพยนตร์” ตอน ปลูกเสียงเพลงให้แผ่นดิน

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 18.00 น. 'triple H music' หรือโครงการดนตรีเพื่อการเรียนรู้ จัดแถลงข่าวเปิดอัลบั้ม Sound Of Silence และการแสดง คอนเสิร์ต “เพลงประกอบภาพยนตร์” ตอน ปลูกเสียงเพลงให้แผ่นดิน ที่โรงภาพยนตร์ ธนบุรีรามา โดยในงานดังกล่าว มีการเสวนาพูดคุยแนะนำสามพลังที่ร่วมกันสร้างโครงการ “ดนตรีเพื่อการเรียนรู้” ในหัวข้อ : คิดยังไงถึงพานักดนตรีไปออกค่ายอาสา โดย ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วีรพงษ์ เกรียงสินยศ ที่ปรึกษาโครงการ ดนตรีเพื่อการเรียนรู้, รัชพงศ์ โอชาพงศ์ ผู้รับผิดชอบโครงการดนตรีเพื่อการเรียนรู้ และตัวแทนนักดนตรีผู้เข้าร่วมโครงการ ร่วมพูดคุย

ศิริเกียรติ กล่าวว่า  กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งเป็นการสร้างสุขภาพด้านจิตใจและปัญญา ศิริเกียรติ ยังยกคำพูดของ  สมศรี ธรรมสารฏโสภณ เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี  ที่มองว่าเยาวชนเหมือนต้นไม้ยักษ์ แต่เอาพวกเขามาใส่กระถาง ผ่านการเรียนบทเรียนโบราณ ทั้งๆ ที่ยุคนี้กดสมาร์ทโฟนนิดเดียว ก็รู้ทั้งโลกแล้ว

ศิริเกียรติ จึงมองว่าโครงการนี้ที่นำเอาเยาวชนนักดนตรีไปเรียนรู้สังคม จึงเป็นการเรียนรู้นอกกระถาง เอาความสามารถแบบกลุ่มเชื่อมโยงกับสังคมถ่ายทอดมาเป็นบทเพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ สสส. อยากเห็น ในฐานะกระบวนการสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ 

เสวนา คิดยังไงถึงพานักดนตรีไปออกค่ายอาสา 

รัชพงศ์ โอชาพงศ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้จากคำถามว่าทำไมตอนนี้เวลาแต่งเพลงไม่แต่งเพลงเพื่อสังคม ด้วยเหตุนี้จึงอยากพานักดนตรีไปเรียนรู้ในโลกความเป็นจริงเพื่อให้แต่งเพลงที่มากกว่าความรักอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อพบกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าวย่อมส่งผลให้เนื้อหาการแต่งเพลงของนักดนตรีเปลี่ยนไป

วีรพงษ์ เกรียงสินยศ มองว่า ศิลปะวัฒนธรรมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะดนตรีและละคร งานวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นเรื่องที่วัยรุ่นสนใจ ด้วยแนวคิดของ 3H ที่ประกอบด้วย หัวใจ มือ และหัว ที่มีความมุ่งหมายต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผ่านการที่ให้นักดนตรีเกิดความคิดเข้าใจสังคม ถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงและให้คนฟังได้ซาบซึ้งเนื้อหาเหล่านั้น โดยโครงการนี้มีการทำงานประสานกับพื้นที่ๆ มีถึง 15 พื้นที่ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร เยาวชน เป็นต้น จึงมี

ภาพบรรยากาศบริเวณงาน

พีจากวัง ‘Hardware’ หนึ่งในนักดนตรีที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ในค่ายของโครงการนี้มีเวิคช็อป ที่พัฒนาให้ดนตรี รวมทั้งพบด้านที่ไม่เคยพบคือด้านที่เป็นอาสาสมัครไปทำงานกับสังคม เรียนรู้เข้าไปกับสังคมได้ โดยพื้นที่ที่ลงไปนั้นเป็นประเด็นคนไร้บ้าน เสาชิงช้า สนามหลวง ซึ่งเป็นเหมือนจุดรวมของปัญหา และพบว่าสังคมติดภาพลบกับคนไร้บ้านเหล่านี้ พอเข้าไปพบว่าภาพลบดังกล่าวเป็นการมองแบบเหมารวมเท่านั้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ไร้บ้านจะมีแต่ด้านลบ เช่น บางคนเพียงเพราะเขาไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่มีโอกาสต่างๆ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล สวัสดิการอื่นๆ ของรัฐ  และด้วยประเด็นคนไร้บ้านนั้นค่อนข้างกว้าง ดังนั้นสิ่งสำคัญนการแก้ปัญหาตรงนี้จึงต้องมีโอกาสมีทางเลือกให้เขา เลยแต่งเพลง ‘ทางเลือก’ ขึ้นมา เพราะตอนเด็กๆ เชื่อว่าจะทำอะไรก็ทำสิ่งนั้นแล้วก็จะประสบความสำเร็จ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่เหมือนกันเพราะทุกคนมีโอกาสในทางเลือกไม่เท่ากัน

สำหรับโครงการ ‘Triple H Music’ นั้น รัชพงศ์ ระบุไว้ในเอกสารประกอบอัลบั้ม ‘Sound Of Silence’ ด้วยว่า โครงการนี้เดินทางมาถึงปีที่ 4 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาในฐานะผู้ทำโครงการและอีก 10 ปี ในการทำงานเป็นคนเบื้องหลังในวงการอุตสาหกรรมเพลงไทย จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตขอนักดนตรีรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่จะเติบโตไปผลิตผลงานสร้างสรรค์ทางปัญญาสู่สังคมวงกว้างว่าพวกเขาเหล่านั้นเติบโตมากับอะไรบ้าง สิ่งที่เห็นคือสิ่งแวดล้อมเพียงไม่กี่อย่าง มหาวิทยาลัย ร้านเหล้า ห้องซ้อม ซึ่งอาจเป็นเพราะการแข่งขั้นสูงมากในวงการเพลงทำให้นักดนตรีต้องแข่งกันเล่นดนตรีให้เก่ง แต่ปัญหาคือความคิดสร้างสรรค์กับการเล่นดนตรีให้เก่ง มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะคนเล่นเก่งอาจไม่ใช่คนที่คิดเก่งก็ได้

รัชพงศ์ กล่าวด้วยว่า โครงการนี้จึงเป็นการทดลองนำเอาค่ายดนตรีที่ทำกันมาทั้ง 3 ปี มาบวกกับกระบวนการค่ายอาสาฯ  โดยพานักดนตรีออกจากสิ่งแวดล้อมที่เคยชินไปเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในสังคม ไปเห็นรอยยิ้ม เห็นน้ำตา เห็นความสุข ความเศร้าที่เป็ฯชีวิตจริงๆ ของคนในสังคมนี้ แม้พวกเขาจะเคยเห็นผ่านสื่อจนชินและมองเป็นเรื่องปกติมาแล้วก็ตาม แต่การพาไปสัมผัสจริงและใช้หัวใจ ความรู้สึกกลั่นกรองเรื่อราวเหล่านี้ออกมาเป็นผลงานเพลงในอัลบั้มนี้คือ Sound Of Silence

ปกอัลบั้ม

โดย รัชพงศ์ อธิบายความหมายของอัลบั้ม Sound Of Silence ด้วยว่ามาจากชื่อเพลงของ Simon and Garfunkel ที่แปลว่า เสียงของความเงียบ เพราะในขณะที่เราเงียบมีคนบางคนกำลังตะโกนเพื่อให้เพื่อนร่วมสังคม้ขาได้รับรู้ถึงปัญหาที่เขาเหล่านั้นกำลังเผชิญอยู่ และความเงียบเหล่านี้เป็นสิ่งที่โครงการเราพยายามพานักดนตรีทั้ง 15 วง เข้าไปเรียนรู้มัน ดังนั้นหลายเพลงในอัลบั้มจึงมีร่องรอยของความไม่เรียบร้อย บางเพลงมีเนื้อหาที่กราดเกรี้ยวเพราะมาจากการรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาได้เห็นต่อหน้านั่นเอง  

ตัวอย่างเพลงในอัลบั้ม ‘Sound Of Silence’ ซึ่งจัดแสดงในงานครั้งนี้

เพลง ‘ขอบคุณ’ จาก Triple H Music

โดยเพลงขอบคุณนี้มีที่มาจาก บ้านครูน้ำ โรงเรียนบ้านอุ้นรัก อ.สังขละบุรี กาจนบุรี ประเด็นปัญหาคนไร้สัญชาติในพื้นที่สังขละบุรี ที่บ้านครูน้ำ บ้านของคุณครูที่สอนนักเรียนอยู่ที่บ้านอุ้นรัก นอกจากจะเป็นบ้านของครูน้ำแล้ว บ้านหลังนี้ยังเป็นบ้านพักของเด็กๆ ซึ่งมีอยู่หลายสิบคน และหลายๆ ส่วนในบ้านหลังนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยอาสาสมัครชาวต่างชาติ ที่แวะเวียนมาเยี่ยมอยู่บ่อยๆ ครูน้ำได้มาขอกับทีมงาน TRIPLE H MUSIC ว่า "แต่งเพลงให้กับเด็กๆ ที่นี่หน่อยสิ" จึงทำเพลงโดยมีเนื้อหาที่ให้เด็กๆ ร้องตามง่ายๆ เพื่อให้ใช้ขอบคุณทุกคนที่มาเยี่ยมหรือสร้างถาวรวัตถุให้กับน้องๆ ซึ่งเพลงนี้เป็นเหมือคำขอบคุณที่ TRIPLE H MUSIC อยากจะบอกกับทุกองค์กรที่ได้ไปเรียนรู้ ผู้ที่สนับสนุนและให้คำปรึกษาแก้โครงการเช่นกัน

เพลง ‘ยังไม่มี’ จาก วง NEFHOLE

เพลง 'ยังไม่มี' นี้มีที่มาจากประเด็นพื้นที่อยู่อาศัยข้างทางรถไฟ พื้นที่ชุมทางรถไฟถนนจิระ จ.นครราชศรีมา โดยนักดนตรีวงนี้ระบุด้วยว่าวันแรกที่พวกเขาลงพื้นที่ ชาวบ้านในชุมนุมต่างหวาดระแวง เพราะเมื่อ 2-3 วันก่อน ชาวบ้านพึ่งถูกกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายบุกรุกเข้ามาไล่ที่ ทำให้พวกเขาระแวงการที่นักดนตรีกลุ่มดังกล่าวเข้าไปศึกษาปัญหา อย่างไรก็ตามนักดนตรีกลุ่มนี้เล่าด้วยว่า เมื่อพูดคุยความเป็นมาของโครงการและกลุ่ม ชาวบ้านก็เข้าใจและให้ความช่วยเหลือข้อมูลสำหรับการศึกษาประเด็นปัญหา

เพลง ‘สิ่งสำคัญ’ จาก วง NOT WEST เป็นเพลงที่มีที่มาจากการที่วงนี้ลงพื้นที่ในประเด็นเด็กพิการซ้ำซ้อน บ้านนนทภูมิ ปากเกล็ด

นอกจากนี้ยังมีเพลงอื่นๆ เช่น เพลง ‘สักทองผืนสุดท้าย’ จากวง SINCE 1992 จากการลงพื้นที่ประเด็นการต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น บ้านดอนชัย ต.สะเอียบ จ.แพร่ เพลง ‘เขาเขียว’ จากวง เยาวชนคนต้นน้ำ จกการลงพื้นที่ผลกระทบจากเหมืองแร่ บ้านเขาเขียว อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เพลง ‘วาทประมาณคนดี’ จากวง คันฉ่อง จากการลงพื้นที่ประเด็นที่ดินชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ บ้านโป่งปูเฟือง ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เพลง ‘หลงบุญ’ จากวง เติมเต็ม จากการลงพื้นที่นายทุนกับการเข้ายึดครองที่ดินสาธารณะ หมู่บ้านคำกลาง ต.บุ้งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพลง ‘สิ่งเล็กๆ กับชายคนหนึ่’ง จากวง กิเลน จากการลงพื้นที่ประเด็นเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กถูกทอดทิ้งและเด็ดที่ถูกทารุณทางร่างกายจิตใจ ที่บ้านลูกรัก มูลนิธิช่วยเหลือเด็กบ้านโนนทัน ต.ในเมือง อ.เมือ จ.ขอนแก่น เพลง ‘กำแพงใจ’ จากวง KATNISS FLOWER จากากรลงพื้นที่ประเด็นผลกระทบของชาวบ้านจากเหมืองแร่ทองคำ บ้านหนองบง จ.เลย เพลง ‘ทางเลือก’ จากวง Hardware จากการลงพื้นที่ประเด็นคนไร้บ้าน เสาชิงช้า สนามหลวง เพลง ‘ภาพ’ จากวง Machine9 จากการลงพื้นที่ประเด็นผลกระทบจากเหมืองแร่  บ้านอุมุง อ.เชียงคาน จ.เลย เพลง ‘กฎหมายไม่เคยถามความจน’ จากวง ลำนำ จากการลงพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่อาศัยกับพื้นที่ป่าสงวน ดงมูล อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ เพลง ‘กุ้งแช่น้ำตา’ จากวง TRAVEL จากการลงพื้นที่ประเด็นแรงงานข้ามชาติ  มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน จ.สมุทรสาคร เพลง ‘เท่าเทียม’ จากวง PEACE จากการลงพื้นที่ประเด็นคนไร้สัญชาติ สังขละบุรี เพลง ‘อีสานฮ้องไห้’ จากวง สไบแพร จากประเด็นพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยถูกประกาศใช้เป็นโบราณสถาน ต.กู่สันตรัตน์ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net