ห่วงสถิติอุบัติเหตุปีใหม่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี อุบัติเหตุ 100 ครั้งเสียชีวิต 12 คน

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุปี 2557 ที่ผ่านออกปฏิบัติการช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินกว่า 25,959 ราย ชี้สาเหตุเกิดจากปัจจัยด้านคน-รถ-ถนน ห่วงสถิติอุบัติเหตุปีใหม่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี ชี้ 100 ครั้ง มีคนเสียชีวิต 12 คน พร้อมเปิดเส้นทางเสี่ยงทั่วไทย เตือนผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางไปภาคอีสาน ให้ขับขี่ระวังบริเวณทางหลวงเส้นที่ 1 กม. 70 และทางขึ้นเขาแก่งคอย จ.สระบุรี เหตุเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
 
 
 
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่ผ่านมานพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาส่งผลให้ปริมาณการใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น และทำให้มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเป็น 2 เท่า โดยในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2556 - 2 ม.ค. พ.ศ.2557 มีการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินรวม 25,959  ราย  โดยจังหวัดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ จังหวัดนครราชสีมา รองลงมาคือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดขอนแก่น ตามลำดับ ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้นมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1. ปัจจัยด้านคน คือเกิดจากการผู้ขับขี่ขับรถเร็วเกิดอัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร หรือมีอาการอ่อนล้า หลับใน   2. ปัจจัยด้านรถ คือ สภาพรถไม่พร้อมต่อการเดินทาง และ 3. ปัจจัยด้านถนนและสิ่งแวดล้อม คือ ถนนที่มีการเปลี่ยนแปลง ทางโค้ง ทางลาด ทางแยก ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ
 
นพ.อนุชา กล่าวว่า สำหรับการรับมือเพื่อลดอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ 2558 นั้น  สพฉ.ได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุ โดยได้ประสานไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทางการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ 78 ศูนย์ ให้ตรวจสายด่วน 1669 ให้พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง และพร้อมประสานการจัดระบบการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินทั้งทางเรือและอากาศยานไว้พร้อมหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินโดยด่วน แต่ทั้งนี้เพื่อช่วยกันลดอุบัติเหตุ และทำให้ปีใหม่นี้เป็นปีแห่งความสุข ไม่เกิดความสูญเสีย จึงอยากฝากให้ผู้ใช้รถใช้ถนปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด คือ เมาไม่ขับ คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งและสวมหมวกกันน็อคทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้หากต้องเดินทางไกลควรหยุดพักเป็นระยะและที่สำคัญคือต้องเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
 
สิ่งสำคัญที่ผู้ใช้รถใช้ถนนควรคำนึงถึงคือ หากประสบอุบัติเหตุสิ่งแรกที่จะต้องทำคือตั้งสติไม่ตื่นตระหนก รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่ทั้งนี้หากผู้ประสบอุบัติเหตุมีอาการบาดเจ็บรุนแรง  เช่น หมดสติ กระดูกหัก ห้ามเคลื่อนย้ายโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ใช้รถใช้ถนนควรมีกล่องปฐมพยาบาลฉุกเฉินติดไว้ในรถ และควรเรียนหลักในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นไว้ อาทิ การห้ามเลือด เพราะจะช่วยบรรเทาอาการฉุกเฉินได้
 
ด้าน ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย AIT กล่าวว่า การเกิดอุบัติในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้นปัญหาในแต่ละปีก็มีปัจจัยแตกต่างกันออกไป ซึ่งในช่วงที่ต้องเฝ้าระวัง 7 วันอันตรายนั้นจะแบ่งเป็นลักษณะของการเกิดเหตุ ดังนั้นในช่วงวันที่ 1-2 และวันที่ 6-7 ของช่วงเฝ้าระวัง 7 วันอันตรายนั้นลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นที่ถนนสายหลัก ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติในช่วงเวลานี้คือการขับรถเร็ว ส่วนวันที่ 3-5 ของการเฝ้าระวังช่วง 7 วันอันตรายลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเวลานี้จะเกิดที่ถนนสายรอง และสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุก็คือการเมาแล้วขับ ดังนั้นแนวทางที่จะแก้ไขและป้องกันการสูญเสียของการเกิดอุบัติเหตุจึงต้องวิเคราะห์เป็นวันๆ ไป ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการเกิดอุบัติบนท้องถนนในปีที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นกับรถมอเตอร์ไซด์ โดยสาเหตุของการเกิดเหตุคือเมาแล้วขับ และ 10-15 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นกับรถปิกอัพ โดยมีสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุคือการขับรถเร็ว
 
นอกจากนี้ยังมีสถิติที่น่าตกใจอีกเรื่องคือ ในการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551-2557 สถิติของความรุนแรงในการเกิดเหตุเพิ่มมากขึ้นถึง 12 เปอร์เซ็นต์ซึ่งหมายความว่าในการเกิดอุบัติเหตุ 100 ครั้งจะมีคนเสียชีวิต 12 คน ซึ่งเป็นข้อมูลของการสูญเสียที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก โดยสาเหตุของความรุนแรงในการสูญเสียนั้นมี 3 ส่วนด้วยกันอาทิ การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยในขณะโดยสารหรือขับรถยนต์หรือการไม่สวมหมวกนิรภัยในขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ การขับรถด้วยความเร็วสูง และอันตรายจากสิ่งกีดขวางข้างทางอาทิป้าย ต้นไม้ เกาะกลางหรือคูไหล่ทางเป็นต้น ดังนั้นการเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลปีใหม่ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งความสุขนั้น ประชาชนจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินทางมากเป็นพิเศษ โดยต้องวางแผนการเดินทางตั้งแต่เนิ่นๆ หากใครทำได้ก็อาจจะเดินทางกลับบ้านก่อนวันหยุดและอาจจะต้องเดินทางกลับกรุงเทพก่อนที่คนอื่นจะเดินทางกลับก็ได้  
 
ดร.กัณวีร์  กล่าวต่อว่า อยากฝากให้ระวังเส้นทางที่ประชาชนจะต้องสัญจรในแต่ละภูมิภาคว่า  ในแต่ละภูมิภาคนั้นมีถนนที่จะต้องระวังในหลายจุดดังนี้ ในเส้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางที่ประชาชนจะต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ทางหลวงเส้นที่ 1 เส้นวังน้อยอยุธยา กิโลเมตรที่ 70 และเส้นที่ 2 คือทางขึ้นเขาแก่งคอยสระบุรี ซึ่งถนนช่วงนี้จะเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างบ่อย  ในส่วนของการเดินทางกลับภาคใต้นั้นถนนที่ประชาชนจะต้องใช้ความระมัดระวังคือถนนทางหลวงหมายเลขที่ 35 เส้นพระราม 2 เพราะถนนเส้นนี้ประชาชนจะใช้ความเร็วในการขับรถค่อนข้างมากจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุชนท้ายหรือรถตกข้างทางเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้แล้วยังมีถนนทางหลวงหมายเลขที่ 41 เส้นจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร ซึ่งลักษณะเส้นทางเป็นภูเขาและโค้งที่เยอะจนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้งนั้นก็สร้างการสูญเสียที่ค่อนข้างรุนแรง ส่วนประชาชนที่จะเดินทางไปภาคเหนือถนนที่ประชาชนจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือถนนทางหลวงหมายเลขที่ 32 ที่จะผ่านทางจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดนครสวรรค์เพื่อขึ้นไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยถนนเส้นนี้จะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้นผู้ใช้รถใช้ถนนควรศึกษาการเดินทางให้ละเอียดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นด้วย
 
นายธรรมรัตน์ อาจวารินทร์  เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยกู้ภัย มูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์ จ.ชลบุรี กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีถือเป็นเส้นทางไปสู่ภาคตะวันออก ทำให้ช่วงวันหยุดยาวมีรถสัญจรค่อนข้างมาก โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีจุดเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 3 จุด คือ  1.ถนนทางเบี่ยงเข้าถนนเลี่ยงเมืองใกล้เคียงกับทางเข้านิคมอมตะนคร เนื่องจากสภาพถนนสร้างความสับสนให้กับประชาชน จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 2. ถนนสาย 344 ที่เป็นทางลัดไปสู่จังหวัดระยอง เนื่องจากถนนเป็นหลุมเป็นบ่อทำให้รถที่ขับมาด้วยความเร็วเสียหลัก  และ 3.ถนนมอเตอร์เวย์ กิโลเมตรที่ 53 บริเวณเขาเขียว ซึ่งจุดนี้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งโดยเฉพาะรถตู้โดยสาร เนื่องจากส่วนใหญ่ขับรถด้วยความเร็วสูง ดังนั้นเพื่อลดการสูญเสียผู้ใช้รถใช้ถนนควรระมัดระวัง ไม่ประมาท และเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญควรมีน้ำใจให้กับผู้ที่ใช้เส้นทางด้วยกัน
 
ด้านนายธีรยุทธ มังกรสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุหน่วยกู้ภัยสว่างบริบูรณ์ฯ พัทยา และนักสื่อสารกู้ชีพ สพฉ. ประจำภาคตะวันออก กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่พื้นที่พัทยาส่วนใหญ่จะเกิดจากการขับรถเร็ว และผู้ขับขี่เมาสุรา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มักมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาค่อนข้างมาก ทำให้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจุดที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ บริเวณถนนสาย 36 ตรงข้ามสนามพีระเซอร์กิจ สายกระทิงลาย-ระยอง  โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน สภาพถนนจะมืดมากเนื่องจากไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นเนินยาว ทำให้บดบังทัศนวิสัย ดังนั้นผู้ใช้รถใช้ถนนควรขับรถด้วยความระมัดระวังและศึกษาเส้นทางให้ดีก่อนเพื่อลดการสูญเสีย
 
นอกจากนี้นายธีระ กุ๋ยเอี๊ยบ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสว่างบริบูรณ์ฯ พัทยา และนักสื่อสารกู้ชีพ สพฉ. ประจำภาคตะวันออก กล่าวเสริมอีกว่า การเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ในพื้นที่พัทยา  จุดที่มีความเสี่ยงมากและมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง คือบริเวณจุดยูเทิร์นต่างๆ  อาทิ จุดยูเทิร์นหน้าโรงแรมเวฟอินทร์ จุดยูเทิร์นหน้าวัดบางละมุง จุดยูเทิร์นหน้าปั๊มน้ำมันป.ต.ท.ศูนย์พระเทพ และจุดยูเทิร์นบ้านพักคนชรา เนื่องจากจุดดังกล่าวไม่มีป้ายบอกทางที่ชัดเจน อีกทั้งไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ  ดังนั้นจึงอยากฝากเตือนไปยังผู้ใช้รถใช้ถนนผ่านเส้นทางดังกล่าวให้เพิ่มความระมัดระวังด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับทีมกู้ชีพในพื้นที่ก็เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยมีอาสาสมัครกู้ชีพเข้าประจำการในแต่ละจุดเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังเพิ่มชึ้นด้วยในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้
 
 ขณะที่นายบรรลือ เปี่ยมสินธุ์ พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นหากรถที่ประสบอุบัติเหตุไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดอันตรายซ้ำ ให้ผู้พบเห็นรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากหากเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินผิดวิธี อาจทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ทั้งนี้หากรถที่เกิดอุบัติเหตุมีควันหรือเป็นรถที่ติดแก๊สและมีความเสี่ยงว่าจะระเบิดหรือไฟไหม้ ให้รีบดับเครื่องยนต์ และผู้เข้าช่วยเหลือสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยใช้การเคลื่อนย้ายแบบ 2 คน โดยคนที่ 1 ใช้มือสอดบริเวณใต้รักแร้ของผู้ประสบอุบัติเหตุที่อยู่ในท่านั่ง ส่วนผู้ช่วยเหลืออีกคนให้ประคองขาและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งข้อควรระวังของผู้ป่วยฉุกเฉินที่ประสบอุบัติเหตุคืออาการกระดูกหักบริเวณคอ หลัง และขา ส่วนผู้ประสบอุบัติเหตุที่ยังรู้สึกตัวให้รีบออกจากบริเวณดังกล่าว โดยให้อยู่ทางด้านเหนือลมในระยะไม่ต่ำกว่า 10 เมตร และห้ามกระทำการใดๆ ที่ทำให้เกิดประกายไฟ เช่น สตาร์ทเครื่องยนต์ สูบบุหรี่
 
ส่วนการช่วยเหลือรถที่ประสบอุบัติเหตุและตกน้ำนั้น ก่อนอื่นจะต้องตั้งสติไม่ตื่นตระหนก และให้คิดเสมอว่ารถที่ตกน้ำจะไม่จมลงทันที โดยสิ่งที่ผู้ประสบอุบัติเหตุต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน คือเปิดกระจกหน้าต่างให้ได้ หากเปิดไม่ได้ก็ต้องทุบกระจก เนื่องจากว่าเมื่อรถจมลงไป แรงดันของน้ำจะดันประตูไม่ให้สามารถเปิดออกได้ ทางออกจากรถที่เหลือจึงเป็นทางกระจกเท่านั้น  อย่างไรก็ตามผู้ขับขี่ควรมีเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินสำหรับทุบกระจกติดไว้ในห้องโดยสาร  แต่หากไม่มีอาจใช้ก้านเหล็กของเบาะรองศีรษะในรถ โดยให้ทำการสอดก้านเหล็กข้างหนึ่งข้างใดเข้าไปที่ร่องหน้าต่างตรงประตูรถจากนั้นดึงส่วนที่รองศีรษะเข้าหาตัว ก้านเหล็กจะไปงัดกระจกทำให้แตกออกได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท