Skip to main content
sharethis

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยมีมติใช้ระบบเลือกตั้งแบบประเทศเยอรมนี หรือระบบผสมแบบอิงสัดส่วน กำหนดจำนวน ส.ส. 450 คน แบ่งเขต 250 สัดส่วน 200 พร้อมระบุไม่ได้มีเจตนาทำให้การเมืองอ่อนแอ แต่ไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็งเกินไป

ที่มาภาพ : เว็บข่าวรัฐสภา

25 ธ.ค. 2557 เมื่อวานนี้ ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่อง ระบบการเลือกตั้งและผู้นำทางการเมืองที่ดี ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ใช้ระบบการเลือกตั้งระบบผสมแบบอิงสัดส่วน(Mixed Member Proportional - MMP) โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบระบบสัดส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับสังคมไทย ที่ควรมีทั้งผู้แทนของประชาชนในเขตจังหวัด และเป็นผู้แทนของประชาชนที่ไม่มีฐานเสียงในเขตจังหวัด โดยให้การเลือกตั้งแบ่งเป็น แบบแบ่งเขตจำนวน 250คน และการเลือกตั้งแบบระบบสัดส่วนจำนวน 200คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 450 คน แต่ทั้งนี้ อาจจะมีส.ส.เกินกว่าจำนวนดังกล่าวได้ ประมาณ 20-30 คน

“ยกตัวอย่างเช่น หากพรรคการเมืองใดได้คะแนนของระบบสัดส่วนคิดเป็น 10 % เท่ากับจะได้จำนวน ส.ส. 45 คน โดยถ้าพรรคยังได้ ส.ส. แบ่งเขตไม่ถึง 45 คน ก็จะนำจำนวน ส.ส.ระบบสัดส่วนมาเติมให้ได้ครบ 45 คน แต่ในทางกลับกันถ้าพรรคนี้ได้ ส.ส.ระบบแบ่งเขตเกิน 45 คนแล้วก็จะไม่มีการเพิ่ม ส.ส.จากระบบสัดส่วนให้อีก อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้งลักษณะนี้อาจทำให้มี ส.ส.เกิน 450 คน เพราะมีสาเหตุจากการที่พรรคการเมืองได้ ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้งจำนวนมาก”พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

ทั้งนี้พล.อ.เลิศรัตน์ได้กล่าวต่อไปว่า ไม่ได้มีเจตนาทำให้การเมืองอ่อนแอ แต่ไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็งเกินไปจนถูกตรวจสอบไม่ได้ ถ้ามีพรรคการเมืองใหญ่มากๆมี ส.ส.เกินครึ่งหนึ่งไปตั้งรัฐบาลจะทำให้เสียงของ ฝ่ายนิติบัญญัติอ่อนมาก เพราะทำตามสิ่งที่รัฐบาลต้องการดังนั้น รูปแบบนี้จะทำให้การตรวจสอบสามารถทำได้ ซึ่งอาจมีรัฐบาลผสมประมาณ 2-3 พรรค เพื่อให้มีเสียงในสภาเกิน 60 % ในอดีตก็มีรัฐบาลผสมมาแล้ว และการให้มีพรรคเล็กมี ส.ส.เข้าสภาพรรคละ 3-4 คน จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมให้มีสิทธิมีเสียงในสภา ดีกว่าอยู่บนถนน

ส่วนการแบ่งโซนพื้นที่เลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วน จะแบ่งเป็น 8 กลุ่ม โดยใช้ภูมิภาคเป็นตัวแบ่งเขต และจะพยายามให้มีจำนวนประชากรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ใกล้ เคียงกัน นอกจากนั้น ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เห็นพ้องกันว่าให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการคัดเลือกคณะรัฐมนตรี ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อความเป็นอิสระในการทำงานในสภา แต่สามารถสมัครเป็นกลุ่มได้ ซึ่งจะต้องมีการออกแบบวิธีการลงทะเบียนกลุ่มอีกครั้ง

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดี ฝ่ายการศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใน ประเด็นดังกล่าวข้างต้นด้วย

ทั้งนี้ในปัจจุบันมีทั้งหมด 9 ประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวได้แก่ เยอรมนี แอลเบเนีย เลโซโท โบลิเวีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เวเนซุเอลา อิตาลี ฮังการี

เรียบเรียงจาก : เว็บข่าวรัฐสภา , มติชนออนไลน์, โพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net