Skip to main content
sharethis

ชาวเนเธอร์แลนด์มีประเพณีเฉลิมฉลองต้อนรับ 'เซนต์นิโคลาส' หรือที่นับเป็น 'ซานต้าคลอสฉบับเนเธอร์แลนด์' ด้วยพาเหรดคนแต่งกายเป็น 'พีตตัวดำ' ที่บางคนมองว่าเป็นมรดกการกดขี่ทาสยุคอาณานิคมอีกทั้งยังเป็นเหยียดสีผิวโดยการเหมารวมลักษณะคนผิวดำ

24 ธ.ค. 2557 เทศกาลเฉลิมฉลองตามประเพณีประจำปีของประเทศเนเธอร์แลนด์กลายเป็นเรื่องชวนให้ถกเถียงถึงความเหมาะสมในแง่ของการเหยียดสีผิวจากการที่ให้คนแต่งตัวเลียนแบบคนผิวดำที่เรียกว่า ที่ชื่อ "ซวาร์เต พีต" (Zwarte Piet)

ในงานช่วงเย็นก่อนหน้าวันเซนต์นิโคลาส คือวันที่ 5 ธ.ค. ของประเทศเนเธอร์แลนด์จะมีการเดินขบวนเฉลิมฉลองรำลึกถึงการต้อนรับการมาเยือนของเซนต์นิโคลาสหรือ "ซินเตอร์คลาส" ผู้เปรียบเป็น "ซานตาดลอส" ในแบบของเนเธอร์แลนด์ งานนี้มีเป็นประจำทุกปีและในขบวนเฉลิมฉลองจะมีการแต่งตัวเลียนแบบซาวร์เต พีต หรือ "พีตตัวดำ" ซึ่งจากการเล่าขานต่อกันมาระบุว่า "พีตตัวดำ" เป็นชาวมัวร์ผู้ติดตามเซนต์นิโคลาส โดยประชาชนผู้ร่วมขบวนหลายคนจะแต่งตัวด้วยชุดแบบยุคเรอเนสซองส์แล้วทาตัวเป็นสีดำ

แต่การแสดงออกในเชิงสนุกสนานเช่นนี้ก็กลายเป็นการสะท้อนเรื่องการเหยียดสีผิว การใช้แรงงานทาส และลัทธิอาณานิคม โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ จนมีการเปิดประเด็นถกเถียงถึงเรื่องนี้เพราะในอีกแง่หนึ่งก็มีคนมองว่าการแต่งตัวเลียนแบบพีตตัวดำเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวเนเธอร์แลนด์

จากเรื่องเล่าปรับปราเกี่ยวกับที่มาของซานต้าคลอสแบบเนเธอร์แลนด์พีตตัวดำจะเป็นผู้รับใช้เซนต์นิโคลาสมีหน้าที่คอยแจกลูกอมให้กับเด็กที่ทำตัวดี และตีเด็กที่ดื้อหรือซนด้วยไม้กวาดปล่องไฟ มีเพลงเกี่ยวกับซานต้าเนเธอร์แลนด์บางเพลงที่ระบุว่าเด็กดื้อจะถูกพีตตัวดำจับใส่ถุงเอากลับไปสเปนด้วย ซึ่งตำนานนี้ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องที่ชาวมัวร์เคยรุกรานดินแดนชายฝั่งทะเลของทวีปยุโรปและจับคนไปเป็นทาส

พีตตัวดำกลายเป็นตัวละครที่มาจากการมองคนผิวดำแบบเหมารวมคล้ายกับกรณีที่ในสหรัฐฯ เคยมีการแสดงที่เรียกว่า "มินสเตรล โชว์" ช่วงยุคคริสตศตวรรษที่ 1800 ซึ่งเป็นการแสดงดนตรี เต้นรำ และตลกโปกฮา ในเชิงเหมารวมคนผิวดำว่าเป็นคนโง่ ขี้เกียจ ตลกหยาบคาย เชื่อเรื่องเหลวไหล แม้ว่าการเหมารวมคนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน จะเปลี่ยนแปลงไปในยุคสมัยใหม่แต่ก็ยังคงมีการเหมารวมอยู่เช่นจากเหตุการณ์ตำรวจสังหารคนผิวสีในเมืองเฟอร์กูสัน แต่ชาวอเมริกันโดยรวมก็มองว่าการแต่งหน้าเลียนแบบคนผิวสีก็เช่นเดียวกับการใช่แรงงานทาสคือเป็นประเพณีที่ไม่ควรจะรักษาไว้

สำนักข่าวโกลบอลโพสต์ระบุว่าในช่วงปี 2393 ที่มีหลักฐานระบุถึงพีตตัวดำในยุคนั้นเนเธอร์แลนด์ยังคงออกล่าอาณานิคมและทำให้คนผิวสีเป็นทาส บางประเทศเพิ่งเป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคมเนเธอร์แลนด์เมื่อไม่นานมานี้เองในขณะที่เกาะหลายแห่งยังคงถือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

ชาวเนเธอร์แลนด์บางส่วนกลับมองว่าพีตตัวดำไม่ใช่เรื่องการเหยียดสีผิว แต่ที่พีตตัวดำเพราะเขาปีนผ่านปล่องไฟ อย่างไรก็ตามคำอธิบายนี้มีช่องโหว่ที่ว่าทำไมะทำไมการแต่งเป็นพีตถึงถึงไม่มีคราบเขม่าติดตามเสื้อผ้าและทำไมถึงใช้ทรงผมแบบแอโฟร นอกจากนี้คนที่แสดงเป็นพีตตัวดำยังพูดด้วยสำเนียงสุรินามซึ่งเป็นประเทศที่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคมของเนเธอร์แลนด์

ถึงแม้ว่าผลสำรวจโพลล์จะพบว่าชาวเนเธอร์แลนด์ราวร้อยละ 91 คิดว่าควรจะมีการรักษาประเพณีการแต่งกายเป็นพีตตัวดำไว้ แต่ก็มีคนบางส่วนโดยเฉพาะที่เป็นผู้ที่ไม่ได้มีเชื้อสายดัตช์มองว่าพีตตัวดำเป็นสิ่งที่เหยียดเชื้อชาติ พวกเขาส่วนมากคิดว่าไม่ถึงขั้นต้องทำให้พีตตัวดำหายไปแต่ค้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของพีตและมีการปรับปรุงเนื้อหาการสอนประวัติศาสตร์ในเนเธอร์แลนด์ เมื่อไม่นานมานี้ประชาชนบางส่วนเริ่มแต่งตัวเป็น "พีต" ที่มีลักษณะต่างจากเดิมเช่น "พีตสีรุ้ง"ม "พีตดอกไม้", "พีตชีส" ซึ่งแต่งหน้าสีเหลือง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีคนตั้งกลุ่มเพื่อสร้างความตระหนักรู้ว่าพีตตัวดำเป็นเรื่องเหยียดเชื้อชาติ โรลอฟ ยาน มินเนบู นักประวัติศาสตร์ผู้ก่อตั้งกลุ่ม "Zwarte Piet is Racism" (พีตตัวดำเป็นเรืองเหยียดเชื้อชาติ) กล่าวว่าพวกเขาอยากให้มีตัวละครนี้มีอยู่แต่นำลักษณะที่เป็นการเหมารวมทางเชื้อชาติออกไป มินเนบูบอกอีกว่าระบบการศึกษาของเนเธอร์แลนด์ควรมีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ช่วงใช้แรงงานทาสมากกว่าเพราะชาวเนเธอร์แลนด์หลายคนอธิบายเรื่องการกดขี่ทาสในยุคอาณานิคมไม่ได้

แต่ก็มีปฏิกิริยาจากกลุ่มขวาจัดที่ต่อต้านผู้อพยพพยายามจะผ่านร่างกฎหมายเพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของพีตตัวดำเป็นเรื่องผิดกฎหมาย


เรียบเรียงจาก

The Netherlands has a holiday blackface problem, Timothy Mcgrath, Globalpost, 12-12-2014


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Zwarte_Piet
http://en.wikipedia.org/wiki/Sinterklaas
http://en.wikipedia.org/wiki/Minstrel_show

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net