Skip to main content
sharethis

24 ธ.ค.2557 ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย สมพงษ์จิตระดับหัวหน้าโครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน ร่วมกิจกรรม“แผนที่เดินดินสำรวจชุมชน”ซึ่งจัดโดยกลุ่มหนุ่มสาวบ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ จากการสนับสนุนของกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สสส. โดยรวบรวมจัดทำแผนที่เดินเท้าสำรวจชุมชน ข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แหล่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับน้องๆ โรงเรียนบ้านหนองเต่าและกลุ่มเด็กและเยาวชนในชุมชนบ้านหนองเต่า ซึ่งมีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมกว่า 60 คน ที่โรงเรียนบ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

สมพงษ์หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การที่กลุ่มคนหนุ่มสาวในชุมชนบ้านหนองเต่า ซึ่งเป็นรุ่นพี่ต้องการทำแผนที่เดินดินสำรวจชุมชนโดยชักชวนเด็กและเยาวชนทุกคนใน รร.บ้านหนองเต่าและในชุมชน มาร่วมเดินเท้าผ่านไปยังชุมชนและเข้าป่าศึกษาที่มาของหมู่บ้าน พร้อมทั้งเชิญครูภูมิปัญญา และผู้สูงอายุที่มีองค์ความรู้และประวัติความเป็นมาทั้งหมดของบ้านหนองเต่ามาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งหมด สิ่งที่บอกถึงความสำเร็จคือรูปภาพแผนที่เดินดินสำรวจชุมชนที่มีเส้นทางเริ่มต้นจาก รร.บ้านหนองเต่า ผ่านหมู่บ้าน เดินเขาเข้าป่า ผ่านลำธาร เรียนรู้กับครูภูมิปัญญาในเรื่องสมุนไพรรักษาโรค ประเพณีที่เล่าสืบกันมา เครื่องดนตรีประจำเผ่าปกาเกอะญอน้องๆ ช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวทุกอย่างอยู่บนแผนที่ทั้งหมด เห็นการร่วมมือร่วมใจสุมหัวกันทำงาน ช่วยกันวาดภาพ ระบายสี ผลงานที่ออกมามีต้นไม้ มีสีเขียว แสดงถึงการรักษ์ป่าและเห็นคุณค่าของป่าไม้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แม้ใช้เวลาไม่นาน แต่เป็นการนำเสนอผลงานของเด็กๆ  เปิดโอกาสฝึกให้เด็กได้เรียนรู้การนำเสนอในรูปแบบธรรมชาติ มีการเขินอายตามสไตล์การนำเสนอของเด็กๆ เด็กหลายคนตั้งใจฟังครูภูมิปัญญา ผู้สูงอายุ บางคนบอกว่าเพิ่งเดินป่าเป็นครั้งแรก แต่การเรียนรู้ประสบการณ์แค่วันเดียวกลับทำให้รู้สึกว่าชุมชนต้องมีคนรุ่นเด็กๆ มาดูแลต่อไป

        

“สิ่งที่ชาวปกาเกอะญอหวงแหนมากที่สุดคือผืนป่า ถ้า โรงเรียน หมู่บ้าน และป่าไปด้วยกันได้จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ” สงพงษ์กล่าวและว่า ขณะนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองเต่ากำลังทำหลักสูตรท้องถิ่นที่เหมาะสมกับหนองเต่า โดยเน้นธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม (Green Curriculum) ซึ่งที่ผ่านมาทาง รร.เคยทำหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นศิลปวัฒนธรรม แต่ไม่เกิดความต่อเนื่อง เพราะขาดงบประมาณสนับสนุน ดังนั้น การเดินหน้าจากนี้ รร.จะทำเรื่องหลักสูตรสีเขียว เพื่อดูแลรักษาความเป็นภูมิปัญญา วัฒนธรรมของชาวปะกาเกอะญอให้คงอยู่สืบไป แต่จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย ถ้ารุ่นพี่ทุกคนไม่รวมตัวกันรุกขึ้นมาทำงานหนักและเหนื่อย แต่ด้วยความหวังที่ต้องการให้รุ่นน้องอนุรักษ์ผืนป่า ท้องถิ่น ชุมชน ไม่ทิ้งหมู่บ้านไปทั้งนี้ โอกาสต่อไปอยากเห็นคน 3 รุ่นในบ้านหนองเต่า คือ รุ่นปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ รุ่นพี่ และรุ่นน้องส่งต่อวัฒนธรรม ประเพณี 
ภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอ เพราะถ้าไม่สืบต่อไม่ใส่ใจภูมิใจก็จะหายไปหมดอย่างแน่นอน สิ่งสุดท้ายที่เห็นเด็กและเยาวชนบ้านหนองเต่าเป็นเด็กน่ารัก มีความกตัญญู  รู้จักความพอประมาณไม่ล้น ถ้าเด็กในประเทศเรามีการปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน ดังที่เราได้เห็นตัวอย่างที่ดีของเด็กและเยาวชนในชุมชนบ้านหนองเต่า ได้สักครึ่งหนึ่งคงไม่มีปัญหาสังคมเหมือนทุกวันนี้” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

วรรณพร นภาคีรีรมย์ หรือน้องลูกแก้ว นักเรียนชั้น ม.6รร.สันป่าตองวิทยาคม กล่าวว่า ตนเป็นชาวปกาเกอะญอ100 เปอร์เซ็นต์ เกิดและเติบโตที่หมู่บ้านหนองเต่าเป็นศิษย์เก่า ร.ร.บ้านหนองเต่าด้วย จึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมค่อนข้างเร็วและน่าเป็นห่วง เพราะเพื่อนวัยเดียวกันเมื่อจบ ป.6 แล้วก็ไปเรียนต่อชั้นที่สูงขึ้นไป จึงทำให้เริ่มห่างจากพื้นที่และเข้าไปสู่สังคมเมือง สิ่งที่ตามมาคือการละทิ้งบ้านเกิดและชุมชน ไม่หวงแหนทรัพยากรและป่าไม้ ไม่สนใจและละเลยประเพณี วัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของตนเอง ซึ่งค่อยๆ สูญหาย เช่น การทอผ้า การเล่นเตหน่ากูเครื่องดนตรีโบราณ การทำอาหารพื้นเมือง โดยผู้หญิงชาวปกาเกอะญอจะต้องทำอาหารเป็นอย่างน้อย 10 อย่าง ซึ่งได้พยายามดึงเพื่อนวัยเดียวกันเข้ามาร่วมประชุมเยาวชนทำกิจกรรมร่วมกัน ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ ดังนั้น กลุ่มแกนนำเด็กและเยาวชนบ้านหนองเต่า  จึงหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มคนรุ่นน้องที่ยังอยู่ในชุมชน อยากให้เด็กและเยาวชนทุกคนที่บ้านหนองเต่ารักและสืบสานประเพณีที่ดีงาม และภาคภูมิใจในความเป็นชาวปกาเกอะญอ เพราะคนส่วนใหญ่จะไม่รู้ความเป็นชาติพันธุ์อย่างแท้จริง มักจะเรียกว่ากะเหรี่ยงซึ่งเป็นคำเรียกทั่วไป แต่คำสุภาพที่ควรเรียกที่สุดคือปกาเกอะญอ ดังนั้น ด้วยความเป็นชนเผ่ามาแต่กำเนิดมีเสน่ห์ และมีคุณค่าควรภาคภูมิใจ และบอกต่อความเป็นชนชาติพันธุ์ให้ทุกคนได้รู้จักความเป็นมา

“ป่าคือพ่อ แม่ ที่ดูแลเรา ถ้าไม่มีป่าเราก็ตาย เพราะป่าคือชีวิต เป็นที่กำเนิดของน้ำกิน น้ำใช้ เป็นบ้านอยู่อาศัย การรักษาป่าให้อุดมสมบูรณ์จะช่วยให้ระบบนิเวศน์อุดมสมบูรณ์น้ำไม่ท่วม โลกไม่ร้อน การที่ รร.ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับรุ่นพี่ได้เข้ามาเรียนรู้ในป่าเป็นข้อดีมากสนุก ได้ความรู้ อยากเข้ามาเรียนเดือนละ 2 ครั้ง”   ด.ช.เจษฏาศิริจี นักเรียนชั้น ป.6รร.บ้านหนองเต่า บอกเล่าด้วยความสุข

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net