Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

“ชุดนักเรียน ผมทรงนักเรียน รับน้อง โซตัส” สิ่งเหล่านี้อยู่คู่กับระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้  รัฐพยายามให้คำอธิบายแก่สิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการฝึกฝนเรื่องระเบียบวินัย ความมัธยัสถ์ ความอดทน ความสมัครสมานสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฯลฯ คำอธิบายในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เนื่องจากปฏิรูปประเทศของชนชั้นนำไทยในพุทธศตวรรษที่ 24 ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ ดังนั้นจึงเป็นภาระหน้าที่ของรัฐที่จะสลายสำนึกเชิงปัจเจกและเร้าสำนึกความเป็นชาติโดยผ่านระบบการศึกษา (โรงเรียนและมหาวิทยาลัย)

อย่างไรก็ตามท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมรวมไปถึงเทคโนโลยีทำให้เกิดค่านิยมใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีนักเรียน นิสิต/นักศึกษาจำนวนมากพยายามที่จะต่อต้านและทำลายกฎ/ระเบียบเก่าแก่ซึ่งถูกทำให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติเหล่านี้ เพื่อแสดงความเป็นปัจเจกชนออกมาให้สังคมรับรู้ สำนึกที่ขัดแย้งกันของทั้งสองฝ่ายเกิดข้อถกเถียงกันในวงกว้างเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ และถกเถียงดังกล่าวดูเหมือนจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อาจกล่าวได้ว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในปัจจุบันกำลังตกอยู่ภายใต้การช่วงชิงพื้นที่ระหว่างปัจเจกและรัฐ

 

การก่อตัวของสำนึกเชิงปัจเจกชน

หากจะกล่าวถึงความเป็น “ปัจเจก” ในสังคมไทยนั้น เราอาจจะสับสนและงุนงงได้ว่าการก่อตัวขึ้นของสำนึกแบบปัจเจกในสังคมไทยเกิดขึ้นนับตั้งแต่เมื่อไหร่ ความสับสนงุนงงนี้มิใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เนื่องจากถ้าหากลองย้อนกลับไปพิจารณาบริบททั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของเมือง/รัฐก่อนที่จะมาเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน เราก็จะเห็นได้ว่า  ชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนั้นล้วนถูกผูกติดอยู่กับเงื่อนไขบางอย่างจนอาจทำให้สำนึกแบบปัจเจกไม่สามารถก่อตัวและดำรงอยู่ภายใต้เงือนไขเหล่านั้นได้

ในทางการเมือง  นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจวบจนรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผู้คนในสังคมล้วนผูกติดอยู่กับระบบการควบคุมกำลังคนของรัฐซึ่งแบ่งชนชั้นทางสังคมอย่างชัดเจน ประชาชนทุกคนมีสถานะเป็นเพียง “ไพร่” ซึ่งสามารถแบ่งแยกได้อีกว่าจะเป็น ไพร่สม หรือไพร่หลวง แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ไพร่ทั้งสองแบบนี้จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ถึงกระนั้นไพร่ทั้งสองลักษณะนี้ก็ต้องสังกัด “นาย”  โดยไพร่จะต้องทำงานให้กับนายหรืออาจจะเสียทรัพย์สินอื่นๆเป็นการทดแทน และนายก็จะตอบแทนด้วยการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของไพร่

ในทางเศรษฐกิจ ดินแดนสุวรรณภูมิถือเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์แก่การเพาะปลูก ดังนั้นอาชีพหลักของชาวสุวรรณภูมิจึงเป็นการทำเกษตรกรรม แต่การทำเกษตรกรรมนั้นมิใช่จะทำกันได้ง่ายๆ หากแต่จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยการผลิตต่างๆจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น กำลังแรงงาน เครื่องมือเพาะปลูก รวมถึงสัตว์เลี้ยงต่างๆ ด้วยเงื่อนไขในลักษณะนี้ทำให้ผู้คนในสังคมต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อเป็นกำลังในการผลิต สังคมจึงถูกยึดโยงเข้าไว้ด้วยกันผ่านรูปแบบการผลิตทางการเกษตร   ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองและเศรษฐกิจในลักษณะนี้ อาจกล่าวได้ว่าสำนึกแบบปัจเจกของผู้คนในสังคมยุคจารีต อาจจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยก็เป็นไปได้

อย่างไรก็ตามภายใต้ความกดดันและความตึงเครียดของชนชั้นนำไทยในประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงของสยามในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ได้ผลักดันให้สยามก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ภายใต้ชื่อว่า “ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา” ซึ่งเปิดโอกาสให้กับการก่อร่างสร้างตัวและการขยับฐานะทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการปลดปล่อยแรงงานและทาสจำนวนมหาศาลออกจากระบบควบคุมกำลังคนอันล้าสมัยของชนชั้นนำไทย ส่งผลให้ผู้คนในสังคมเริ่มหันมาตระหนักถึงศักยภาพของตนเองในฐานะ “มนุษย์” ซึ่งสามารถพัฒนาศักยภาพและแสวงหาความมั่งคั่งได้โดยการใช้ศักยภาพของตน1

นอกจากนี้ การเข้ามาของวิทยาการความรู้แบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 ได้ส่งผลให้คติความเชื่อต่างๆของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นับตั้งแต่อดีตโลกทัศน์ของผู้คนไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำไปจนกระทั่งถึงชนชั้นล่างไม่สามารถแยกออกจากคติความเชื่อแบบไตรภูมิ  ผู้คนในสังคมต่างเชื่ออย่างแรงกล้าว่าชีวิตไม่ได้มีเพียงแต่โลกนี้ หากแต่ยังมีโลกหน้าซึ่งเป็นสถานีต่อไปสำหรับชีวิตตามคติแบบไตรภูมิซึ่งขึ้นอยู่กับบุญบาปที่ได้กระทำไว้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่2       ผู้คนล้วนเกรงกลัวชีวิตหลังความตายมากกว่าเกรงกลัวชีวิตในชาตินี้ ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับชีวิตในชาตินี้น้อยกว่าชีวิตในชาติ/โลกหน้า อาจกล่าวได้ว่าชีวิตของผู้คนล้วนถูกผูกติดอยู่กับคติความเชื่อแบบไตรภูมิในลักษณะของการเคลื่อนที่แบบวงกลม (Loop) ซึ่งถูกกำกับด้วยกฎแห่งกรรมและ  จินตภาพของนรกสวรรค์

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาวิทยาศาสตร์ตะวันตกได้ทำให้โลกทัศน์แบบไตรภูมิเริ่มที่จะเลือนรางลงไป หลักการเชิงเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ส่งผลให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับความจริงเชิงประจักษ์ที่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 มากยิ่งขึ้น ผลที่ตามาก็คือผู้คนหลุดพ้นจากความเชื่อเรื่องโลกหน้าและให้ความสำคัญกับชีวิตในโลกนี้มากยิ่งขึ้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมานี้เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการก่อตัวของสำนึกแบบปัจเจกชนของผู้คนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

 

การแทนที่สำนึกเชิงปัจเจกชนด้วย “สำนึกความเป็นชาติ”

นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับ “รัฐชาติ” ของตะวันตกมาเป็นองค์ประธานในการปฏิรูปประเทศ  ซึ่งแนวคิดแบบรัฐชาตินั้น ชาติประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ อำนาจอธิปไตย เขตแดน ประชากร และรัฐบาล โดยจะเห็นได้ว่าชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พยายามเป็นอย่างมากที่จะทำให้องค์ประกอบทั้ง 4 ปรากฏเด่นชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเส้นเขตแดนของชาติ การปฏิรูปการปกครองประเทศโดยการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางของรัฐบาล ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ชาตินั้นเป็นเพียง “ชุมชนจินตกรรม”3 กล่าวคือ ชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์จินตนาการขึ้นมาและขอบเขตของชาติถูกกำหนดขึ้นโดยเส้นเขตแดน4 สมาชิกในชาติไม่เคยรู้จักและไม่เคยพบหน้ากันมาก่อนเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงเป็นภาระหน้าที่ของรัฐในการ “สลายสำนึกเชิงปัจเจกชน” และเร้าสำนึกให้สมาชิกในชาติรับรู้ถึงความเป็นชาติ เพื่อให้สำนึกของความชาติก่อตัวในอารมณ์/ความรู้ของสมาชิกร่วมชาติแทนที่สำนึกแบบปัจเจก เนื่องจาก “ชาติคือผลรวมของหน่วยย่อย”5 เพราะฉะนั้นอาจะกล่าวได้ว่าสำนึกของความเป็นชาติจะไม่สามารถก่อตัวและดำรงอยู่ได้ถ้าหากสมาชิกในชาติยังคงมีสำนึกเชิงปัจเจกชนที่แรงกล้าอยู่

ทั้งนี้ในการสลายสำนึกเชิงปัจเจกและปลุกเร้าสำนึกความเป็นชาตินั้น โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถือเป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นนำทุกยุคทุกสมัย

 

โรงเรียน – มหาวิทยาลัยพื้นที่สลายสำนึกเชิงปัจเจกชน

จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่ารัฐพยายามสลายสำนึกเชิงปัจเจกชนของผู้คนในชาติ เพื่อดึงผู้คนเหล่านั้นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เนื่องจาก ชาติคือผลรวมของหน่วยย่อย5 ทั้งนี้ในการสลายสำนึกเชิงปัจเจกและปลุกเร้าสำนึกความเป็นชาตินั้น โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถือเป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นนำทุกยุคทุกสมัย

เป็นที่ทราบกันดีว่าแรกเริ่มเดิมทีสถาบันการศึกษาในสยามมิได้จัดตั้งขึ้นเพื่อราษฎรสามัญทั่วไป หากแต่จัดขึ้นสำหรับกลุ่มลูกหลานขุนนางและบรรดาเชื้อพระวงศ์เท่านั้น ทั้งนี้โรงเรียนสวนกุหลาบถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกซึ่งรับแต่เพียงโอรสของเจ้าฟ้าและบุตรชายของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือฝึกฝนคน (ชั้นสูง) เข้ารับราชการ   

จากลักษณะของการจัดการศึกษาในยุคเริ่มแรกซึ่งรับเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นการสลายสำนึกเชิงปัจเจกอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากบรรดาบุตรหลานของชนชั้นสูงเหล่านี้ต่างก็ต้องผ่านการสลายสำนึกเชิงปัจเจกโดยผ่านครอบครัวอยู่แล้ว และยิ่งการเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาซึ่งมีแต่กลุ่มคนในชนชั้นเดียวกันก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำเกี่ยวกับสำนึกทางการเมือง

อย่างไรก็ตามรัฐได้มีการขยายการศึกษาจากภายในรั้วกำแพงวังออกไปสู่ราษฎร สิ่งที่น่าสนใจก็คือเนื้อหาวิชาที่บรรจุให้นักเรียนได้เรียน ซึ่งในหลายวิชาเป็นการถ่ายทอดความคิดทางการเมืองและอุดมการณ์แห่งรัฐโดยตรง ตัวอย่างเช่น ในวิชาภาษาไทยมีการกำหนดให้อ่านพระราชพงศาวดารราชวงศ์ปัจจุบัน รวมถึงการสอบเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์6  สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยพยายามตอกย้ำให้ประชาชนรับรู้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะตัวแทนของชาติ ตลอดจนนำเสนอภาพความสูงส่งของพระมหากษัตริย์

ต่อมาเมื่อล่วงเข้าสู่ทศวรรษที่ 2500 ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารซึ่งนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัช การศึกษาระดับประถมได้ขยายขอบข่ายออกไปยังพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น  มีการตั้งโรงเรียนเป็นมาตรฐานเดียวกันตามชนบาท ทำให้เด็กในพื้นที่ต่างๆได้เข้าสู่กระบวนการสลายสำนึกเชิงปัจเจกผ่านรูปแบบการเรียนการสอนตามมาตรฐานส่วนกลาง ซึ่งกำหนดให้เด็กทุกคนต้องแต่งชุดนักเรียนสอนพูดอ่านเขียนภาษาไทยกลางและละทิ้งภาษาท้องถิ่น สอนวิชาประวัติศาสตร์และสังคมเพื่อตอกย้ำอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์7

นอกจากนี้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์  ได้มีโรงเรียนรูปแบบใหม่เกิดขึ้นซึ่งเป็นที่รู้จักกันของคนทั่วไปในชื่อ  “โรงเรียนดัดสันดาน” โรงเรียนแห่งนี้ถือว่าเป็นโรงเรียนที่มีความพิเศษคล้ายกับโรงเรียนของชนชั้นสูงในอดีต นั่นคือสร้างขึ้นมาเพื่อรับเฉพาะนักเรียนพิเศษ กล่าวคือ ภายหลังจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ได้ออกประกาศฉบับที่ 21 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ถูกจับกุมในข้อหาเป็นอันธพาลจะต้องถูกกักไว้ไว้ 30 วันและจะถูกควบคุมตัวไว้อบรม8

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการเป็นอันธพาลในความคิดหรือความรู้สึกของจอมพลสฤษดิ์มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่การใช้กำลังต่อยตีกันเท่านั้น แต่หมายรวมถึงพฤติกรรมที่แสดงความเป็นปัจเจกชนหลายๆอย่าง เช่นการร้องเล่นเต้นรำของหนุ่มสาวตามสถานบันเทิงต่างๆ การเล่นดนตรีแบบร็อคแอนด์โรล รวมไปถึงการแต่งตัวตามกระแสอเมริกันนิยมของวัยรุ่นด้วย9 พฤติกรรมเชิงปัจเจกชนเหล่านี้ส่งผลให้วัยรุ่นนับพันคนถูกจับกุมและถูกส่งเข้าโรงเรียนดัดสันดาลเพื่อสลายสำนึกเชิงปัจเจกชน

นอกจากโรงเรียนแล้ว มหาวิทยาลัยก็ถือเป็นเครืองมือสำคัญในการสลายสำนึกเชิงปัจเจกของรัฐนับตั้งแต่มีการขยายขอบเขตการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยออกไปยังภูมิภาคต่างๆ มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภูมิภาคขึ้นทั่วประเทศ เป็นผลจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ กระแสความเคลื่อนไหวของประชาชนที่แสดงความต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาสูงขึ้น และนโยบายของรัฐเองที่ต้องการผลิตกำลังคนมารองรับระบบราชการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว10 การก่อตั้งมหาวิทยาลัยภูมิภาคนี้ส่งผลให้จำนวนนิสิต/นักศึกษาเพิ่มมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามภายใต้รัฐบาลทหาร มหาวิทยาลัยถูกรัฐเข้ามากำกับดูแลอย่างเข้มงวด ซึ่งจะเห็นได้ว่าบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลมักจะลงมาดำรงตำแหน่งในมหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อคอยกำกับดูแลบรรดานักศึกษา ตัวอย่างเช่น จอมพลสฤษดิ์ได้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์11 ในขณะที่จอมพลประภาส จารุเสถียรดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2506 - 2512 นอกจากนี้ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ กิจกรรมต่างๆภายในมหาวิทยาลัยถือว่ามีความรุนแรงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการรับน้องหรือกิจกรรมการประชุมเชียร์ซึ่งลิดลอนสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา และมักเป็นเหตุนำไปสู่การทะเลาะวิวาทหรือยกพวกตีกันเสมอ12 ปัญหาความรุนแรงภายในรั้วมหาวิทยาลัยนี้มิใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ หากแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและธรรมศาสตร์

ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าปัญหาความรุนแรงในมหาวิทยาลัยเป็นผลมาจาการซึมซับค่านิยมแบบทหารของชนชั้นนำในรัฐบาล เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยของธรรมศาสตร์มักจะให้โอวาทแก่นิสิต/นักศึกษาว่า  “…ความรู้สึกรักพวกเดียวกันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสร้างให้เกิดความรู้สึกที่จะรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของกลุ่ม ทำให้ไม่มีการประพฤติผิดในเรื่องที่จะนำความเสื่อมเสียมาให้กับพวกเดียวกันและยังเป็นการผูกพันให้มีการช่วยเหลือกันต่อไปในอนาคตด้วย…”13 จากโอวาทของจอมพลสฤษดิ์สะท้อนให้เห็นค่านิยมแบบทหารซึ่งนอกจากจะเน้นการสลายความเป็นปัจเจกชนแล้วยังแฝง “ระบบอุปถัมภ์” อีกด้วย กล่าวได้ว่าค่านิยมดังกล่าวกลายมาเป็นค่านิยมของนิสิต/นักศึกษาภายในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

 

โรงเรียน – มหาวิทยาลัยกับการช่วงชิงพื้นที่

โรงเรียนในฐานะการเป็นพื้นที่สลายสำนึกเชิงปัจเจกชนก็ยังคงทำหน้าที่นั้นและมิได้ลดกำลังลงเลย “นักเรียน” ถูกนำไปยึดโยงอยู่กับทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม โดย ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ข้อที่ 18 กำหนดไว้ว่า  “...นักเรียนผู้ใดไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่ได้รับยกเว้นตามระเบียบนี้ให้สถานศึกษาพิจารณาลงโทษทางวินัยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนตามความเหมาะสม...”14

ตามระเบียบดังกล่าวของกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนต้องสวมใส่ชุดนักเรียนซึ่งจะแตกต่างกันไปตามสถานศึกษา เช่นเดียวกันกับตราสัญลักษณ์หรืออักษรย่อของสถานศึกษาซึ่งติดอยู่กับชุดนักเรียน  ดังนั้นชุดนักเรียนจึงมิใช่เพียงแค่เครื่องแต่งกายธรรมดาเท่านั้น หากแต่เป็นเครื่องแต่งกายที่ยึดโยงตัวนักเรียนกับสถาบันการศึกษานั้นๆ อย่างไรก็ตามชุดนักเรียนจะถูกใช้ควบคู่กับสิ่งที่เป็นนามธรรม อย่างวาทกรรม เช่น วาทกรรมเกี่ยวกับชื่อเสียง เกียรติยศ ศักดิ์ศรีของโรงเรียน วาทกรรมเร่งเร้าความภาคภูมิใจในโรงเรียน ดังนั้นถ้าหากนักเรียนใส่ชุดประจำสถาบันไปทำเรื่องไม่ดี สิ่งที่ตามก็คือความเสื่อมเสียของสถาบัน  สิ่งเหล่านี้ทำให้สำนึกเชิงปัจเจกชนของนักเรียนถูกจำกัดและควบคุม

อย่างไรก็ตาม การสลายสำนึกเชิงปัจเจกของโรงเรียนก็อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จเสมอไป โดยเฉพาะในปัจจุบัน โรงเรียนมิได้เป็นพื้นที่สำหรับการปฏิบัติการของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว นักเรียนจำนวนมากพยายามช่วงชิงพื้นที่โรงเรียนคืนจากฝ่ายรัฐ นักเรียนเหล่านี้ต้องการให้โรงเรียนเป็นพื้นที่การแสดง      อัตลักษณ์/ตัวตนของนักเรียน เหมือนกับโรงเรียนในต่างประเทศ  สำนึกเชิงปัจเจกที่แรงกล้าของนักเรียนนี้ รัฐอาจจะคาดไม่ถึงก็ได้

เราจะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน นักเรียนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐยกเลิกยกเลิกระเบียบข้อบังคับต่างๆที่มุ่งจำกัดการแสดงออกในฐานะปัจเจกชนของนักเรียน เช่น ยกเลิกการบังคับตัดผมสั้น ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนักเรียน ยกเลิกการบังคับใส่รองเท้านักเรียน รวมถึงยกเลิกการลงโทษต่างๆของ      ครู/อาจารย์ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในฐานะปัจเจกอีกด้วย

การช่วงชิงพื้นที่โรงเรียนระหว่างรัฐและปัจเจก (นักเรียน) มิได้ปรากฏในรูปของการใช้กำลังประหัตประหารกัน แต่มักจะเป็นการ “อารยะขัดขืน” หรือ “การดื้อแพ่ง” ต่อกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆของรัฐ เช่น การจงใจแต่งกายผิดกฎระเบียบของโรงเรียน การจงใจไม่เข้าร่วมกิจกรรมเคารพธงชาติ สวนมนต์ตอนเช้าของโรงเรียน

นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวซึ่งปรากฏให้เห็นตามโซเชียล เน็ตเวิร์ โดยเฉพาะ “Facebook” ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้สื่อออนไลน์ชนิดนี้ถึงกว่า 26 ล้านราย ทั้งนี้รูปแบบการแสดงเชิงวิวาทะของเหล่านักเรียนมีทั้งการเขียนข้อความเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะปัจเจก มีทั้งการรวมกลุ่มตั้งเพจ (Page) เพื่อหาแนวร่วม ตัวอย่างเช่น

มีการตั้งกลุ่มที่มีชื่อว่า สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย โดยมีสมาชิกกว่า 17,917 คน (13 ธันวาคม 2557) มีวัตถุประสงค์คือ “...สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย, ประกอบด้วยนักเรียนจากหลายสถาบัน จัดตั้งขึ้นเพื่อที่เราจะเป็นส่วนเล็กๆ ในการขับเคลื่อนการศึกษาไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่มากก็น้อย...” 15

กลุ่ม “องค์กรต่อต้านทรงผมนักเรียนไทยแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มกว่า 20,866 คน (13 ธันวาคม 2557) และยึดอุดมการณ์ว่า …สิ่งสำคัญไม่ใช่ที่ผมยาว ผมสั้น แต่เป็นการที่เราได้ใช้สิทธิที่เรามีได้อย่างถูกต้อง…”

กลุ่มสมาคมต่อต้านทรงผมหัวเกรียนแห่งประเทศไทยมีสมาชิกกว่า 7,574 คน (13 ธันวาคม 2557) โดยมีอุดมการณ์ว่า …ต่อต้านเพื่อสิทธิเสรีภาพของการไว้ทรงผม…”

ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเหล่านี้ถือเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่ามีนักเรียนเป็นจำนวนมากที่พยายามช่วงชิงพื้นที่สถานศึกษาของตนจากฝ่ายรัฐ

เช่นเดียวกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าค่านิยมจากยุคเผด็จการทหารจะยังมิได้สลายไปตามกาลเวลา หากแต่ได้กลายเป็น “ประเพณี” ซึ่งยังคงสืบทอดอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย

คงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าประเพณีการรับน้องใหม่ รวมไปถึงระบบการควบคุมคนแบบโซตัส (Sotus) เป็นมรดกจากยุคเผด็จการทหารซึ่งเน้นย้ำค่านิยมของการเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน/พวกเดียวกัน ค่านิยมแบบทหารในลักษณะนี้ในปัจจุบันยังคงพบเห็นได้ทั่วไปเมื่อถึงฤดูรับน้อง

นับตั้งแต่ก้าวแรกที่ “น้องใหม่” ก้าวเข้าสู่เขตแดนของมหาวิทยาลัย สิ่งแรกๆที่บรรดาน้องใหม่จะต้องพบเจอก็คือ “ป้ายชื่อ” ซึ่งมักจะมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะประจำคณะหรือประจำสาขาวิชานั้นๆ ลำดับต่อไปก็น่าจะเป็น “เสื้อ” ประจำคณะหรือประจำสาขาวิชา สิ่งเหล่านี้คือเครื่องยึดโยงที่เป็นรูปธรรมสำหรับยึดโยงน้องใหม่เข้ากับสาขาวิชา คณะ และมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชีวิตการเป็นน้องใหม่ก็คือ กิจกรรมการรับน้องและกิจกรรมร้องเพลงเชียร์ โดยทั้งสองกิจกรรมนี้อาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามมหาวิทยาลัย แต่สาระสำคัญของกิจกรรมเหล่านี้คือการสลายสำนึกเชิงปัจเจกของน้องใหม่ ซึ่งจะเห็นได้จากวาทกรรมต่างๆที่ใช้ประกอบกิจกรรม เช่น ความสามัคคี ความรักใคร่กลมเกลียว พวกเดียวกัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือเครื่องยึดโยงที่เป็นนามธรรมสำหรับยึดโยงน้องใหม่เข้ากับสาขาวิชา คณะ และมหาวิทยาลัย

ทว่า มิใช่แต่เพียงน้องใหม่เท่านั้นที่ถูกยึดโยงเข้ากับสิ่งที่ใหญ่กว่า หากแต่ตัวรุ่นพี่ซึ่งอยู่บนสุดของยอดพีระมิดโซตัสก็ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากตัวรุ่นพี่เองก็ต้องผ่านประสบการณ์ในการเป็นน้องใหม่มาก่อน และในช่วงปลายของการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย บรรดารุ่นพี่ก็ถูกมหาวิทยาลัยย้ำเตือนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนให้พึงประสงค์ เนื่องจากการก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมิได้ออกไปตัวคนเดียว หากแต่แบกเอาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยออกไปด้วย

อย่างไรก็ตาม กระบวนการสลายสำนึกเชิงปัจเจกภายในรั้วมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ดูเหมือนจะให้ผลสำเร็จที่น้อยกว่าเมื่อก่อนเป็นอันมาก มหาวิทยาลัยมิได้เป็นพื้นที่ของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเครือข่ายข้อมูลข่าวสาร ในปัจจุบันมีนิสิต/นักศึกษาเป็นจำนวนมากที่พยายามช่วงชิงพื้นที่มหาวิทยาลัยจากรัฐ นิสิต/นักศึกษาเหล่านี้ต้องการหลุดพ้นจากประเพรีการรับน้องและระบบโซตัสซึ่งเบียดบัง/กดทับความเป็นปัจเจกชนของพวกเขา

ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลกในปัจจุบันถ้าหากนิสิต/นักศึกษาจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านบางสิ่งบางอย่างภายในมหาวิทยาลัย ตัวอย่างเช่น การต่อต้านเรื่องชุดนิสิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยการใช้โปสเตอร์รูปนักศึกษาสวมชุดนักศึกษาแสดงท่าทางยั่วยวนส่อไปในทางลามกอนาจารติดทั่วพื้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อต่อต้านกฎการสวมชุดนักศึกษา16 หรือการชูป้ายที่มีข้อความว่า “เผด็จการ” ของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามในกิจกรรมการรับน้องของมหาวิทยาลัย17

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของบรรดานิสิต/นักศึกษาซึ่งปรากฏให้เห็นตามโซเชียล เน็ตเวิร์ค อย่าง “Facebook” ซึ่งมีการรวมกลุ่มของนิสิต/นักศึกษาจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น  กลุ่ม ANTI SOTUS” ซึ่งมีสมาชิกกว่า 6,841 คน (14 ธันวาคม 2557)  คำอธิบายบางส่วนของกลุ่มคือ “...ปัจจุบันกิจกรรมเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อร่างกาย จิตใจ จนถึงกรอบแนวคิดปฏิบัติกลายเป็นการสร้างความเชื่อและลัทธิของกลุ่มคนที่หลงผิดคิดว่าตนมีอำนาจ ซึ่งอำนาจนั้นอันมิได้มาโดยสุจริตหรือชอบธรรม...”18 อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นความพยายามในการสร้างเครือข่าย/แนวร่วม รวมไปถึงแชร์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมที่พวกเขาเหล่านั้นมองว่าไม่เหมาะสมในมหาวิทยาลัย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามช่วงชิงพื้นที่มหาวิทยาลัยของบรรดานิสิต/นักศึกษา

                 

บทสรุปและทัศนะของผู้เขียน

จากที่ได้กล่าวมานี้ ผู้เขียนต้องการจะชี้ให้เห็นว่าชนชั้นนำทุกยุคทุกสมัยพยายามเป็นอย่างยิ่งในการสลายสำนึกเชิงปัจเจกของคนในชาติ และโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยก็คือพื้นที่แห่งการสลายสำนึกเชิงปัจเจกของบรรดานักเรียน นิสิต/นักศึกษา อันเป็นกระบวนการหนึ่งในการผลิต “พลเมืองดี” ออกไปเป็นกำลังของชาติ เนื่องจากพลเมืองดีในความหมายของชาติคือ “เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนมีอยู่เพื่อทำให้ชาติมั่นคงและก้าวหน้า ทั้งทรัพย์และแม้แต่ชีวิต”19 ดังนั้นจึงเป็นภาระหน้าที่ของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในการผลิตพลเมืองดีตามที่ชาติต้องการ แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนักเรียน นิสิต/นักศึกษาพยายามที่จะช่วงชิงโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมาจากฝ่ายรัฐ พวกเขาต้องการที่จะเป็นผู้ให้ความหมายของสถานที่เหล่านี้ด้วยตัวของพวกเขาเอง

อย่างไรก็ตาม การเป็นพลเมืองดีของชาตินั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่อย่างใด แต่การเป็นพลเมืองดีนั้นจำเป็นด้วยหรือที่ต้องยึดติดอยู่กับความหมายตามที่ชาติกำหนดเท่านั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าหากเราจะเป็นพลเมืองดีของชาติ และในขณะเดียวกันเราก็มีความเป็นปัจเจกชนด้วย ?  ถ้าหากเราลองหยุดกระบวนการสลายความเชื่อมั่นในศักยภาพของปัจเจกชน อาจจะได้ผลสำเร็จที่ดีกว่า ดังที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวไว้ในบทความ “รับน้อง...ต้นตอแห่งปูมอำนาจ” ว่า  “..ถ้าอยากแก้ไข ไม่ใช่ไปแก้ที่ตัวพิธีกรรมซึ่งทำหน้าที่เพียงช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์ทางสังคมที่ผู้คนยอมรับอยู่แล้วเท่านั้น แต่ต้องไปแก้ให้ระบบการศึกษาเป็นระบบการเรียนรู้ที่ไม่สร้างบันไดแห่งอำนาจบันไดเดียว เช่น มีเด็กที่ได้เป็นวีรบุรุษ-วีรสตรีเต็มไปทั้งห้อง (เมื่อไหร่เด็กคะแนนบ๊วย แต่วาดเขียนเก่งจึงจะได้รับการยกย่องเท่ากับที่หนึ่งของห้องเสียที) ในขณะเดียวกันก็ต้องไปแก้ที่ระบบการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มชนชั้นนำนั่นแหละ ให้ยอมรับอำนาจที่หลากหลาย และ ปฏิบัติการทางอำนาจ ที่ต้องใช้เหตุผลกันมากขึ้น..” 20

 

เชิงอรรถ

1อรรถจักร สัตยานุรักษ์ , การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่๔ถึงพุทธศักราช๒๔๗๕ , (กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2541) , หน้า 215.

2พระไพศาล วิสาโล , พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ , (กรุงเทพฯ:มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ , 2546) , หน้า 9.

3เบน แอนเดอร์สัน , ชุมชนจินตกรรม , แปล กษิร ชีพเป็นสุขและคณะ , (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552) , หน้า 9.

4ธงชัย วินิจจะกูล , กำเนินสยามจากแผนที่ , (กรุงเทพฯ:คบไฟ, 2556)

5อรรถจักร สัตยานุรักษ์ , อ้างแล้ว , หน้า 166.

 6เรื่องเดียวกัน , หน้า 184.

7คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร , ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย , (กรุงเทพฯ:มติชน , 2557), หน้า 262.

8ทักษ์ เฉลิมเตียรณ , การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ , ( กรุงเทพ :มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ , 2552) , หน้า 230.

9เรื่องเดียวกัน  , หน้าเดียวกัน

10ประจักษ์ ก้องกีรตื , ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ:การเมืองและวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ , (กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2548 , หน้า 43.

11เรื่องเดียวกัน , หน้า 87.

12เรื่องเดียวกัน ,  หน้า 86.

13เรื่องเดียวกัน  , หน้า 87 – 88.

14ณ.ธรรมวงศ์ , ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 , https://www.gotoknow.org/posts/369248

15สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย , https://www.facebook.com/Thailandstudentmovement

16แห่! วิจารณ์ภาพโปสเตอร์นศ.ธรรมศาสตร์ ต่อต้านใส่เครื่องแบบ , http://news.mthai.com/general-news/268761.html

17การประท้วงการรับน้องมหาวิทยาลัยมหาสารคาม , http://mosza-politics.blogspot.com/2011/06/blog-post_24.html

18ANTI SOTUS  , https://www.facebook.com/AntiSOTUSPage/info?tab=page_info

19อรรถจักร สัตยานุรักษ์ , อ้างแล้ว , หน้า 167.

20นิธิ เอียวศรีวงศ์  “รับน้อง : ต้นตอแห่งปูมอำนาจ” จาก  http://www.newmana.com/phpbb/viewtopic.php?f=1&t

=5993&p=84096

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน ปัจจุบัน วรยุทธ พรประเสริฐ เป็นนิสิตปริญญาตรี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net