Skip to main content
sharethis
พนักงานบริษัท แคนนอน ยุติการประท้วงขอเพิ่มโบนัส ขณะบริษัทฯ ไม่เอาผิดพนักงาน
 
นายสุพัฒน์ กองเงิน รักษาราชการแทนสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปราจีนบุรี กล่าวถึงผลความคืบหน้ากรณีพนักงานบริษัท แคนนอนปราจีนบุรี (ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุตสากรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี กว่า300 คน ปิดปากทางเข้า-ออก บริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 16-17 ธ.ค. 57 นั้น เมื่อคืนนี้ เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปราจีนบุรี พร้อมตัวแทนบริษัทแคนนอน ได้เจรจา และพิจารณาข้อเรียกร้องของพนักงาน คือ ให้โบนัสจำนวน 2.7 เดือน จากเดิมที่พนักงานได้ 1.5 เดือน พร้อมเงินตอบแทนพิเศษให้ คนละ 3,000 บาท ส่วนข้อเรียกร้องอื่น ๆ อาทิ ค่าอาหารค่าที่พัก ค่าเดินทาง นั้นจะพิจารณาหลังสิ้นปี 2557 แล้ว พร้อมกับทางบริษัทฯ ไม่เอาผิดในกรณีการประท้วงนี้ และให้กลับเข้าทำงานตามปกติในวันที่ 18 ธ.ค. 57 นี้
 
(ไอเอ็นเอ็น, 17-12-2557)
 
คนงานโรงงานสายไฟย่านปทุมธานี ยืนประท้วงหลังได้โบนัส 8 วัน
 
ตั้งแต่เช้าวันที่ 18 ธ.ค. 57 ที่บริเวณหน้า บริษัท สยาม แปซิฟิค อีเล็คทริค ไวร์ แอนด์ เคเบิ้ล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 8 ม.5 ถ.ติวานนท์ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี เป็นโรงงานผลิตลวดทองแดงเคลือบน้ำยา สายเคเบิลโทรศัพท์และสายไฟ โดยได้มีกลุ่มพนักงานกว่า 200 คน มารวมตัวกันประท้วง หลังไม่พอใจที่ทางบริษัทฯ จะจ่ายเงินโบนัสประจำปีให้คนละ 8 วัน และได้มีตัวแทนพนักงานกล่าวไฮปาร์คว่า ขอให้ทางบริษัทฯ จ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานคนละ 2 เดือน โดยมีตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สภ.ปากคลองรังสิต และเจ้าหน้าที่ทหาร คอยดูแลความสงบเรียบร้อย 
 
ต่อมา นายชยลภ ใหญ่สูงเนิน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน ได้เดินทางมาพบกับกลุ่มของพนักงาน พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดปทุมธานี และเจ้าหน้าที่จากอำเภอเมืองปทุมธานี ได้ให้พนักงานและตัวแทนสหภาพ เข้าไปพูดคุยหาข้อยุติและข้อตกลงภายในบริษัทฯ โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปร่วมรับฟัง โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ 
 
ด้าน น.ส.วัฒนาวรรณ บุญคุ้ม ผจก.ฝ่ายวางแผนการผลิต กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทุกปีที่ผ่านมา พนักงานแต่ละคนจะได้รับโบนัสกันคนละ 2-3 เดือน จนกระทั่งมาปี 2556 ที่ผ่านมา ได้รับโบนัสเหลือแค่คนละ 1 เดือนเศษ เนื่องจากทางบริษัทอ้างว่า เพิ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ และอยู่ระหว่างปรับปรุงกิจการ พวกพนักงานทุกคนก็เห็นใจบริษัทฯ แต่พอมาปีนี้ ทางบริษัทฯ มาแจ้งว่ากำไรน้อย จึงขอให้โบนัสพนักงานคนละ 8 วันเท่านั้น ทำให้พนักงานไม่พอใจ เพราะทราบว่ามีกำไรนับร้อยล้านบาท จึงได้มีการเจรจา เบื้องต้นได้ขยับมาให้เป็น 21 วัน และจะขอแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด พวกตนจึงไม่ยอมและได้ประท้วงดังกล่าว ซึ่งหากการเจรจาในวันนี้ไม่เป็นผลตามที่พวกตนขอไว้ 2 เดือน ก็จะประท้วงตลอดไป และจะไปร้องที่กรมแรงงานอีกด้วย.
 
(ไทยรัฐ, 18-12-2557)
 
กมธ.ยกร่างฯ รับข้อเสนอเครือข่ายแรงงาน 7 ข้อ
 
วันที่ 19 ธ.ค. ที่รัฐสภา องค์กรเครือข่ายแรงงาน อาทิ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) นำโดยนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. พร้อมสมาชิกเครือข่าย เข้ายื่นข้อเสนอร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในส่วนของแรงงานและการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประธาน คสรท.แจงเหตุยื่นตรง กมธ.ยกร่างฯ
 
นายชาลี กล่าวว่า มายื่นประเด็นสิทธิ เสรีภาพของแรงงานในเรื่องเศรษฐกิจ สาธารณสุข สวัสดิการ และสวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงการชุมนุมและการรวมตัวเป็นเครือข่าย ที่สำคัญมีประเด็นเกี่ยวกับศาลในคดีผู้ใช้แรงงานที่มีปัญหาการพิจารณาคดีล่าช้า ทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับผลกระทบ อาทิ การเลิกจ้าง เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เสนอต่อ กมธ.ปฏิรูป แรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปแล้ว แต่ในการรายงานข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปแรงงานต่อที่ประชุม สปช. ไม่พบประเด็นที่ทางเครือข่ายได้เสนอ จึงต้องมายื่นอีกครั้งโดยตรงต่อ กมธ.ยกร่างฯ
 
ขณะที่นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ตนพร้อมรับข้อเสนอนี้ไปพิจารณา โดยข้อเสนอบางส่วนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะพิจารณา อาทิ สิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมถึงคนต่างด้าวด้วย ส่วนการมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองต้องพิจารณาในระดับที่เหมาะสม และขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร จึงขอให้เครือข่ายแรงงานร่วมติดตามและเคลื่อนไหวสนับสนุนในกรณีที่อนาคตอาจจะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะหากมีการตัดสินใจทำประชามติ ถือว่าเครือข่ายแรงงานมีส่วนสำคัญที่จะต้องลงมติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เปิดข้อเสนอเครือข่ายแรงงานขอ 7 ข้อ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอต่อการเขียนรัฐธรรมนูญของ สรส. ว่ามีสาระสำคัญ คือ 1.หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย เสนอให้รัฐธรรมนูญฉบับให้คุ้มครองและมีหลักประกันด้านสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกหมู่เหล่า เพศ และทุกศาสนา โดยไม่ถูกละเมิดและถูกจำกัดตามกฎหมายที่มีการรับรอง โดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องใช้อำนาจที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นบุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย
 
2.หมวดความเสมอภาค เสนอให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ ภาพทางกายหรือสุขภาพ, สถานะของบุคคล ฐานทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้
 
สำหรับบุคคลที่เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐและพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดในกฎหมายหรือกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม
 
3.หมวดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ เสนอให้บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงานรวมถึงหลักประกันในการดำรงชีพระหว่างการทำงานเพื่อพ้นภาวะทำงานตามกฎหมายบัญญัติ
 
4.หมวดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน เสนอให้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระในการจัดสรรคลื่นฯ โดยเป็นไปตามความสำคัญ คือ ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ การศึกษาและวัฒนธรรม การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
 
นอกจากนั้นต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ เพื่อป้องกันมิให้มีการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือครอบงำระหว่างสื่อมวลชนด้วยกัน หรือโดยบุคคลอื่น ขณะที่ผู้ดำรตำแหน่งทางการเมืองห้ามเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อฯ ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม
 
5.หมวดสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ เสนอให้รัฐจัดบริหารสาธารณสุข ความช่วยเหลือและสวัสดิการที่เข้าถึงบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ บุคคลวิกลจริต บุคคลที่ไร้ที่อยู่อาศัยหรือไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ
 
6.หมวดเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม เสนอให้บุคคลมีสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมถึงมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพแรงงาน สหพันธ์ สหกรณ์ โดยสิทธิดังกล่าวต้องคุ้มครองถึงข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย
 
7.หมวดแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ เสนอให้รัฐต้องจัดการออมเพื่อการดำรงชีพในยามแก่ชรากับประชาชน, ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในภาคเอกชน ลดการผูกขาด รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี โดยจัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีให้ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนเองในพื้นที่ที่ทำงาน ส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจ เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนในชาติ โดยการบริหารรัฐวิสาหกิจแบบรวมศูนย์ ภายในการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐเพียงหน่วยงานเดียว และตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย โดยหักเงินจากเงินนำส่งผลกำไรของการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถพัฒนารัฐวิสาหกิจทั้งหมด ทั้งประเภทที่มีกำไร และไม่แสวงหากำไร
 
(ไทยรัฐ, 19-12-2557)
 
ก.แรงงาน ถกแนวทาง จ้างคนพิการทำงานในท้องถิ่น
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม คณะทำงานส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ให้ทำงานบริการสังคมในท้องถิ่น/ชุมชน ครั้งที่ 1/2557 ณ ห้องประชุมมิตรไมตรี 2 ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาแนวทางการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการให้ทำงานบริการสังคมในท้องถิ่น/ชุมชน ซึ่งเสนอโดยมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เพื่อส่งเสริมให้คนพิการได้มีโอกาสทำงานมีรายได้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ดำรงชีพด้วยตนเองอย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เน้นให้คนพิการทำงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ตามขอบเขตภาระงาน ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ภายใต้การดูแลและดำเนินการของ “หน่วยงาน” ด้วยการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการจาก บริษัท/สถานประกอบการ มุ่งเน้นให้เกิดการจ้างงานคนพิการในพื้นที่ ณ ที่ตั้งของ “หน่วยงาน” นั้นๆ หรือภารกิจงานขององค์กรด้านสาธารณประโยชน์ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในแนวทางดังกล่าว
       
ทั้งนี้ ข้อมูลจำนวนคนพิการจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2557 มีคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทั้งสิ้น 1,621,549 ราย โดยเป็นเพศชาย จำนวน 878,912 ราย หรือร้อยละ 54.20 และเพศหญิง จำนวน 742,637 หรือร้อยละ 45.80 ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 628,791 คน หรือร้อยละ 38.87 ภาคเหนือ จำนวน 377,537 คน หรือร้อยละ 23.29 โดยส่วนใหญ่เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จำนวน 773,509 คน หรือร้อยละ 47.70 และข้อมูลการมีงานทำของคนพิการจากการสำรวจความพิการ พ.ศ.2555 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าคนพิการที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงาน จำนวน 1,065,493 คน คิดเป็นร้อยละ 72.26
       
สำหรับคณะทำงานส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ให้ทำงานบริการสังคมในท้องถิ่น/ชุมชน มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจ้างงานคนพิการให้ทำงานบริการสังคมในท้องถิ่น สร้างรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงกำกับดูแลและการติดตามประเมินผลการจ้างงานคนพิการให้ทำงานบริการสังคมในท้องถิ่น
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-12-2557)
 
ประมงชงรับทำจีทูจีนำเข้าแรงงาน แก้ปัญหาขาดแคลนต้นตอสหรัฐยกไทยขึ้นเทียร์ 3
 
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.สมศักดิ์ ถนอมวรสิน ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ได้ร่วมกันแถลงในประเด็น "แรงงานประมงกับ Tier 3 อย่าเหมาเข่ง" ที่สหรัฐอเมริกายกระดับประเทศไทยจาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 3 ที่มีสถานะการค้ามนุษย์ร้ายแรง มีการหลอกลวงแรงงานต่างด้าว แรงงานผิดกฎหมาย จ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2557 และมีแนวโน้มที่จะตอบโต้ห้ามนำเข้าสินค้าไทยในการส่งเข้าสหรัฐในปีต่อไปเต็มที่ หากการดำเนินการแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้าว่า การที่สหรัฐยกระดับไทยขึ้น Tier 3 ถือว่าไม่เป็นธรรม และยังกล่าวหาว่ากุ้งไทยเป็นกุ้งทะเลที่ใช้แรงงานประมง
 
นายจ้างและผู้ประกอบการค้าด้านประมงและอาหารทะเลในไทยเกือบทั้งหมดมีการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรม จัดสวัสดิการที่ดีต่อลูกจ้างทั้งไทยและต่างชาติ โดยได้รับค่าจ้างสวัสดิการในระดับเดียวกัน การนำนายจ้างบางรายที่มีพฤติกรรมไม่ดูแลลูกจ้าง ซึ่งเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วน้อยมากเพียง 0.0001% แล้วมากำหนดให้สถานะไทยเป็น Tier 3 เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง จึงขอให้สหรัฐให้ความเป็นธรรม กำหนดสถานภาพไทยเสียใหม่ อย่านำเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องมาเป็นประเด็นในการกำหนดสถานภาพแรงงานประมงไทยให้เป็น Tier 3 
 
สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาของฝ่ายไทยในเรื่องนี้ ดร.สมศักดิ์กล่าวว่ามีตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 67 68 69 70 เรื่องมาตรการในการดำเนินการต่อแรงงานต่างด้าว ด้านกระทรวงแรงงานได้แก้ไขกฎกระทรวง 3 เรื่อง คือ 1.ต้องทำสัญญาจ้าง ก่อนลงเรือต้องนำลูกจ้างรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ปีละ 1 ครั้ง 2.แรงงานที่ทำงานบนเรือ ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป 3.กฎกระทรวงข้างต้น ใช้กับนายจ้างที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป 
 
นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งระบบติดตามเรือเพื่อให้รู้ตำแหน่งพิกัดเรือ ง่ายต่อการเข้าไปตรวจสอบสภาพชีวิตแรงงานประมงบนเรือ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงด้วยการตั้งศูนย์ประสานงานประมงใน 22 จังหวัดติดชายทะเลเพื่อดูแลสวัสดิการต่าง ๆ ของลูกจ้าง รวมทั้งผู้แทนกระทรวงยุติธรรมได้เดินทางไปยุโรปเพื่อทำความเข้าใจและแจ้งต่อสหภาพยุโรป (อียู) ว่าไทยอยู่ระหว่างการจัดระเบียบแรงงานเพื่อเข้าสู่ระบบให้แล้วเสร็จภายใน 31 มี.ค. 2558 ซึ่งผู้แทน อียูพอใจ แต่ภาคทัณฑ์ให้ไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นระบบตรวจสอบได้
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 19-12-2557)
 
เผยแรงงานไทยกว่า 100 ถูกหลอกทำงานประมงตกค้างอินโดนีเซีย
 
วันที่ 20 ธันวาคม นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานบนเรือประมงไทยในน่านน้ำอินโดนีเซีย ว่า ขณะนี้มูลนิธิได้ร่วมกับหน่วยงานรัฐช่วยเหลือคนไทยจากเกาะอัมบนและเกาะตวนมาได้แล้ว 28 คน แต่คาดว่ายังมีคนไทยอีกกว่า 100 คน ชาวเมียนมาร์ 200-300 คน และชาวกัมพูชา 100 คน ที่ตกเรืออยู่ตามเกาะต่างๆ ของอินโดนีเซีย   
 
“ปัญหาคนไทยและแรงงานข้ามชาติถูกหลอกไปทำงานบนเรือประมงไทยในน่านน้ำอินโดนีเซียและตกเรือเป็นปัญหาสะสมมานานกว่า 10 ปี แต่ที่ผ่านมา การทำงานของหน่วยงานรัฐยังเป็นไปในลักษณะของการตั้งรับเป็นหลัก จึงควรปรับรูปแบบมาทำงานเชิงรุกและประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างจริงจัง”
 
นายสมพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยควรเจรจากับรัฐบาลอินโดนีเซีย เมียนมาร์ และกัมพูชา เพื่อทำข้อตกลงความร่วมมือในการเร่งให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ตกค้างอยู่ รวมทั้งตั้งทีมเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อลงพื้นที่ไปสำรวจและให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งเพิ่มโทษทั้งทางแพ่งและอาญาแก่นายจ้างและผู้เกี่ยวข้องที่ทำผิดด้วย
 
นอกจากนี้ จะต้องปรับระบบการคุ้มครองแรงงานในภาคประมงโดยมีการตรวจสอบสัญญาจ้าง และให้ทำสัญญาจ้างที่เป็นธรรมและเป็นไปตามความสมัครใจทำงาน ไม่ใช่การถูกข่มขู่ บังคับ และแก้ปัญหาเรื่องการสวมสิทธิและหนังสือคนประจำเรือ (ซีแมน-บุ๊ค) ปลอมด้วย  จะช่วยลดปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมง ทำให้ไทยมีโอกาสหลุดจากประเทศที่ต้องเฝ้าระวังด้านการค้ามนุษย์ได้เร็วขึ้น
 
(มติชน, 20-12-2557)
 
สนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์เพียบ เทียบเท่าบัตรทอง ส่วนผู้พิการเฮ! ได้เงินทดแทนตลอดชีวิต
 
คณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือ กมธ. พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเพิ่มประโยชน์ให้ผู้ประกันตน และผู้ใช้แรงงาน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ประกันตนทั่วประเทศ
 
โดยเพิ่มการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรค ซึ่งจะครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพก่อนที่ผู้ประกันตนจะเจ็บป่วย การยื่นขอรับผลประโยชน์ทดแทน 7 ประการ
 
จากเดิมให้ผู้ประกันตนขอยื่นรับผลประโยชน์ภายใน 1 ปี แต่ได้มีการขยายเป็น 2 ปี การคำนวณค่าจ้างรายวันเมื่อผู้ประกันตนขาดรายได้ โดยยึดอัตราค่าจ้างที่สูงสุดมาคำนวณ
 
และเพิ่มสิทธิประโยชน์ไม่จำกัดครั้งในการคลอดบุตร และขยายเงินทดแทนสงเคราะห์บุตรจากเดิม 2 คนเป็น 3 คน และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้ประกันตน
 
กรณีได้รับความเสียหายในการรับบริการทางการแพทย์ ตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ กรรมาธิการฯได้พิจารณาเพื่อให้ทัดเทียมกับบัตรทอง
 
ขณะเดียวกันได้แก้ไขกรณีที่ผู้ประกันตนเป็นบุคคลที่สูญเสียความสามารถในการทำงานเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ถึงจะได้รับเงินชดเชย โดยได้มีการขยายให้ครอบคลุมการสูญเสียแม้เพียงเล็กก็จะได้รับเงินชดเชย
 
รวมถึงกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม ที่ครอบคลุมระยะเวลาเพียง 15 ปี แก้ไขให้ได้รับผลประโยชน์ทดแทนตลอดชีวิต
 
โดยให้ย้อนหลังกับผู้ประกันที่ทุพพลภาพจะได้รับสิทธิ์ทั้งหมด ส่วนการจ้างเหมาบริการ สัญญาปีต่อปี กรรมาธิการฯจะพิจารณาว่าถ้าเป็นการทำงานตอบแทนเป็นนายจ้าง ลูกจ้างกันจริง จะถือว่าครอบคลุมด้วย
 
(MThai News, 22-12-2557)
 
องค์การลูกจ้างยื่น 6 ข้อปฏิรูปด้านแรงงาน
 
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอการปฎิรูปด้านแรงงานเพื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ประกอบด้วย การนิยามคำว่า แรงงาน หมายถึง คนทำงานที่มีรายได้ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกวัย ที่อยู่ในโรงงานสถานประกอบการ หรือประกอบอาชีพอยู่ในท้องถิ่น ชุมนุม และในครัวเรือน องค์ประกอบของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน ความเท่าเทียมเสมอภาค ไม่เลือกปฎิบัติต่อแรงงานทั้งในและนอกระบบ และมีสิทธิในการเลือกหรือตัดสินใจในการทำงานอย่างอิสระ
 
การส่งเสริมการมีส่วนร่วม และการเข้าถึงบริการ การได้รับข้อมูลข่าวสาร การส่วนเสริมและพัฒนาศักยภาพในระดับบุคคล และ การสร้างความเป็นธรรมทั้งในด้านกระบวนการยุติธรรมแรงงาน การบังคับใช้นโยบาย และการออก พ.ร.บ.ต่างๆ ไม่ให้กระทบต่อการลิดรอนสิทธิด้านแรงงาน และการเข้าถึงบริการและเงินทุน
 
(โลกวันนี้, 22-12-2557)
 
เอ็นจีโอหวั่น สป.ดูแลต่างด้าวแทนกรมจัดหางาน ยิ่งเปิดช่องกอบโกย
 
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับภารกิจของกรมการจัดหางาน (กกจ.) ในปีหน้า รมว.แรงงาน มีนโยบายเน้นการส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ เนื่องจากมีแรงงานไทยว่างงานกว่า 3 แสนคน ยังไม่รวมบัณทิตจบใหม่ปีละ 1.5 แสนคน นอกจากนี้ ยังมีแรงงานนอกระบบอีกกว่า 26 ล้านคนได้มีงานทำทั้งในไทยและต่างประเทศจึงต้องกระจายภารกิจการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยมอบอำนาจให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน และสำนักงานแรงงานจังหวัดเข้ามาช่วยดูแลเพื่อลดภาระงานของกรมการจัดหางาน ซึ่งตนเป็นประธานคณะทำงานฯ ทำการศึกษาในเรื่องนี้ก็จะเร่งศึกษา ว่า กกจ. ควรมอบอำนาจการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานในเรื่องใดบ้างจึงจะเหมาะสมและจะเสนอต่อ รมว.แรงงาน ต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวอยู่ในระบบเกือบ 3 ล้านคน
       
ด้านนายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายผู้ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า หากมีการดำเนินการตามนโยบายข้างต้นจริงอาจจะแก้ปัญหาได้เพียงระยะสั้น และมีทั้งข้อดีข้อเสีย โดยข้อดี จะทำให้การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น เพราะสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานมีการทำงานที่ใกล้ชิดกับรัฐมนตรีมากกว่า กกจ. และการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านทำได้รวดเร็วกว่าส่วนข้อเสียจะมีปัญหาในระดับปฏิบัติเพราะเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวและต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องรื้อกันใหญ่เพราะกฎหมายให้อำนาจอธิบดี กกจ. ดูแล รวมทั้งต้องโอนภารกิจการดูแลบริษัทจัดหางานที่นำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานในไทยให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานดูแลด้วย และจะวางระบบอย่างไรไม่ให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวเกิดขึ้นอีก ที่สำคัญ ในอนาคตหากรัฐมนตรีมาจากการนักการเมืองและทำงานใกล้ชิดกับสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน อาจจะเกิดปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวขึ้นหรือไม่
        
“หากจะโอนภารกิจการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานดูแลแทน พล.อ.สุรศักดิ์ คงต้องทำการบ้านชุดใหญ่ทั้งในเรื่องของบุคลากรระดับปฏิบัติ การแก้ไขกฎหมาย การถ่ายโอนภารกิจและอำนาจต้องศึกษาอย่างละเอียดและรอบคอบให้มากที่สุด ไม่ใช่ศึกษาแค่เวลาสั้นๆ แล้วดำเนินการ และควรเปิดเวทีให้ภาคเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานต่างด้าวมาร่วมด้วย เพื่อช่วยกันคิดหาทางอุดช่องโหว่ทั้งในแง่กฎหมายและการปฏิบัติไม่ให้รัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายการเมืองและข้าราชการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวขึ้นซ้ำรอยเดิม” นายอดิศร กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22-12-2557)
 
ครม.ไฟเขียวลดค่าธรรมธรรมเนียม ตรวจลงตรา 3 สัญชาติ
 
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ เห็นชอบปรับอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติ เมียนมาร์ ลาว และ กัมพูชา ซึ่งเข้ามาทำงานในไทย ตามประกาศของ คสช.ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
 
โดยจะลดค่าธรรรมเนียมสำหรับดำเนินการขออนุญาตทำงานต่อในประเทศไทย เป็น 500 บาทต่อราย จากเดิมร่างกระทรวงกำหนดไว้ 2,000 บาทต่อราย เพื่อให้แรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุม และดูแลแรงงานต่างด้าวได้ง่ายขึ้น และ เป็นไปตามมาตรการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวของ คสช. 
 
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ โดยมีสาระสำคัญเพื่อกำหนดให้มีการจดทะเบียนรับรองว่าที่ดินเพื่อสาธารณูปโภค หรือ ที่ดินส่วนกลางของหมู่บ้านสรรจัด ที่นำมาจัดสรรเป็นสวนสาธารณะ หรือ สวนหย่อมของหมู่บ้าน ต้องนำมาใช้ประโยชน์ต่อส่วนรวม ห้ามโอน หรือ ขายโดยเด็ดขาด ขณะเดียวกันยังป้องกันการสมาชิกหมู่บ้าน หลีกเลี่ยงการชำระค่าส่วนกลางเพื่อดูแลรักษาที่ดินดังกล่าวด้วย 
 
(ครอบครัวข่าว, 23-12-2557)
 
ก.แรงงาน โต้ แรงงานไทยในอิสราเอลติดยาหนักกว่า 1.5 หมื่นคน เผยบันทึกล่าสุดพบแค่ 63 คน รับโทษตามกฎหมายแล้ว
 
(23 ธ.ค.) นายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่ว่าแรงงานไทยในอิสราเอลกว่า 15,000 คน ติดยาเสพติดซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 50 ของคนไทยที่ทำงานในอิสราเอลทั้งหมดประมาณ 26,500 คน ได้สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยและกระทรวงแรงงาน แต่อีกด้านหนึ่งพบว่า ปัญหายาเสพติดในกลุ่มแรงงานไทยในอิสราเอลมีน้อยมากและส่วนใหญ่ส่งเงินกลับบ้านทุกเดือนโดยบันทึกอย่างเป็นทางการที่มีการทำขึ้นเกี่ยวกับแรงงานไทยในอิสราเอลระบุว่า คนไทยที่ถูกจับกุม แยกเป็นกรณียาเสพติด ระหว่างปี 54 ถึง ล่าสุด 10 พ.ย. 57 มี 63 คน ปัจจุบันรับโทษ 10 คน ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคดี 7 คน ใน 10 คนนี้ มีโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี 8 เดือน และพ้นโทษถูกเนรเทศไปแล้ว 46 คน
       
ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ขั้นตอนการส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังปี พ.ศ. 2552 ที่เคยจับกุมยาเสพติดได้ 63,000 เม็ด และมีการเรียกค่าหัวคิวไปทำงานจำนวน 3 - 4 แสนบาท แต่ตอนนี้การจัดแรงงานไทยไปอิสราเอลมีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration, IOM) เป็นโครงการที่สหประชาชาติสนับสนุน องค์กรนี้ทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลครอบคลุมกว่า 150 ประเทศ มีหน้าที่คัดกรองแรงงานไทยไปอิสราเอล ขจัดค่าหัวคิวในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่แรงงานไทยปัจจุบันจ่ายไม่เกิน 7 หมื่นบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กระทรวงแรงงานกำลังทำงานกันอย่างใกล้ชิดกับสำนักงาน ป.ป.ส. มากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในทางลึก แก้ปัญหายาเสพติดในกลุ่มแรงงานไทยให้หมดไป
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-12-2557)
 
รมว.แรงงาน แจง ปรับค่าจ้างรัฐวิสาหกิจอยู่ระหว่างหารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง ก่อนเสนอเข้า ครม. 
 
(23 ธ.ค.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) กล่าวหลังเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ยังไม่มีการเสนอโครงสร้างอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ (บัญชี 58 ขั้น) ซึ่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากจะต้องเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา เช่น กระทรวงการคลังพิจารณา จึงจะนำเข้าสู่ ครม. ต่อไป
        
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 จำนวน 65 แห่ง โดยมีรัฐวิสาหกิจที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ (บัญชี 58 ขั้น) จำนวน 35 แห่ง ซึ่งมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้ให้มีการปรับโครงสร้างอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ (บัญชี 58 ขั้น) เป็นขั้นที่ 1 เริ่มที่อัตรา 9,040 บาท หรือคือขั้นที่ 12 ของโครงสร้างเดิม และให้ตัดขั้นเริ่มต้น 1 - 11.5 ขั้นออก ส่วนขั้นที่ที่ 40.5 และขั้นที่ 41 ซึ่งซ้ำกันและรับเงินในอัตรา 50,000 บาทนั้น ที่ประชุมให้ตัดขั้นที่ 41 ออก พร้อมกับให้มีการเพิ่มขั้นที่ 47 ไปจนถึง 53 ซึ่งเป็นขั้นเงินเดือนสูงสุดรับค่าจ้างในอัตรา 142,830 บาท โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 30 ก.ย. 2557
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-12-2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net