Skip to main content
sharethis

นักปฏิบัติการสันติภาพชาวโคลอมเบีย ถอดบทเรียนความขัดแย้งที่ใช้กำลัง ความเหลื่อมล้ำที่ก่อเกิดสงครามกองโจรในโคลอมเบีย กระบวนการสันติภาพที่ล้มเหลวหลายครั้งนำไปการหลอกสังหารหมู่ ขณะที่กระบวนการสันติภาพภายใต้ผู้นำคนใหม่เป็นความหวังใหม่ให้ชาวโคลอมเบีย ท่ามกลางความเสี่ยงและความท้ายที่ยังมีอยู่


เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ที่เรือนพักรับรอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โรงเรียนวิชาการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ร่วมกับห้องเรียนสันติภาพ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)และสถาบันสันติภาพและการพัฒนาศึกษานานาชาติ(IIPDS) จัดบรรยายสาธารณะหัวข้อ “สงครามกองโจรและกระบวนการสันติภาพในโคลอมเบีย:เราจะทำงานร่วมกัน (กับศัตรู) อย่างไร?” โดย นพ.วิกเตอร์ เดอ เคอรีอา-ลูโก(Dr. Víctor de Currea-Lugo)นักวิชาการและนักปฏิบัติการด้านสันติภาพชาวโคลอมเบีย โดยมีตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมประมาณ 40 คน มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

กระบวนการสันติภาพภายในประเทศโคลอมเบียมีความยากลำบากอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มขบวนการที่ต่อต้านรัฐมองว่า ต้องเอาชนะรัฐบาลโคลอมเบียด้วยการใช้ความรุนแรงในรูปแบบของการก่อสงครามกองโจรหรือสงครามจรยุทธ์ หรือที่รู้จักกันว่าเป็นขบวนการกอริลล่า (guerrilla movement) ส่วนรัฐบาลโคลอมเบียมองว่าฝ่ายตนสามารถเอาชนะขบวนการต่อต้านรัฐได้ด้วยการใช้กองกำลังปราบปราม ทำให้การผลักดันกระบวนการสันติภาพในประเทศโคลอมเบียเป็นไปด้วยความยากลำบาก
 

รากเหง้าความขัดแย้ง

นพ.วิกเตอร์ เริ่มต้นการบรรยายว่า เราจำเป็นต้องเข้าใจรากเหง้าของความขัดแย้งเป็นเบื้องต้น สำหรับโคลอมเบียนั้นเราจะเห็นได้ว่า พื้นที่ความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ นี่เป็นผลมาจากรากเหง้าสองสามประการ

ประการแรก มาจากสาเหตุการกีดกันทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ

ประการที่สอง การสร้างความรักชาติโคลอมเบีย ซึ่งทำให้ประชาชนที่อยู่ในชนบทมีความรู้สึกรักษาชาติน้อยมาก เพราะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้พรมแดนติดกับประเทศเอกวาดอร์รู้สึกว่าตัวเองเป็นชาวเอกวาดอร์ ส่วนคนที่อาศัยอยู่บริเวณพรมแดนติดกับประเทศเวเนซุเอลามีความรู้สึกตัวเองเป็นชาวเวเนซุเอลา

ประการที่สาม การสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในโคลอมเบียที่ส่งผลให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองโบโกต้า ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย ทำให้ประชาชนที่อยู่ตามชนบทต่างๆ มีความรู้สึกว่าถูกผลักออกจากสังคม

กองกำลังที่เคลื่อนไหวในประเทศโคลอมเบียมีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มแรกกองกำลังของรัฐบาลโคลอมเบีย ประกอบด้วย ตำรวจ ทหาร มีกำลังพลจำนวน 500,000 คน ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา

กลุ่มที่สอง คือ กองกำลังติดอาวุธอิสระ หรือ paramilitary ซึ่งเป็นกองกำลังที่บรรดาเจ้าที่ดินจัดตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ปกป้องคุ้มกันและขับไล่ชาวนาออกจากที่ดิน รวมทั้งต่อต้านกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นกลุ่มที่สาม อันได้แก่ ขบวนการกอริลล่าที่ประกอบด้วย 2 กลุ่มหลักๆ คือ 1) กลุ่มฟาร์ก (FARC, Revolution Armed Farce of Colombia)เป็นขบวนการต่อต้านรัฐบาลโคลอมเบียใหญ่เป็นอันดันที่หนึ่ง และ 2) กลุ่มอีแอลเอ็น (ELN,National Liberation Army) หรือกองกำลังปลดแอกแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิกระดับแนวหน้ารวมทั้งสิ้น 12,000 คน

ในอดีตมีกลุ่มต่อต้านรัฐจำนวนมากหลายกลุ่ม และมีความแตกต่างกันในทางอุดมกาณ์ เช่น กลุ่มที่ยึดถือแนวทางสตาลิน แนวทางเหมาอิสต์ และแนวทางเทววิทยาซึ่งรวมแนวคิดระหว่างชาตินิยม สังคมนิยม และความเป็นคริสเตียนไว้ด้วยกัน แต่ในปัจจุบัน ถือว่าสองกลุ่มข้างต้นยังคงเคลื่อนไหว มีกองกำลังและทรงอิทธิพลมากที่สุดกล่าวโดยสรุปแล้ว กองกำลังที่เคลื่อนไหวทั้ง 3 ฝ่ายนี้ ล้วนแล้วแต่มีการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยธรรมระหว่างประเทศในระหว่างการต่อสู้เช่นเดียวกัน
 

กำเนิดสงครามกองโจร

ในปี ค.ศ.1948 – 1957 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงระดับท้องถิ่นในประเทศโคลอมเบียจำนวนมาก หลังการสังหารผู้นำชาวนาคนสำคัญ เป็นที่มาของการสังหารผู้คนจำนวนมาก จนเรียกกันว่าเป็น “ช่วงเวลาของความรุนแรง” (La Violencia) และนำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นขบวนการที่ใช้กลยุทธ์แบบกองโจรซึ่งถือกำเนิดเป็นแห่งแรกในละตินอเมริกา ไม่ใช่คิวบาอย่างที่เข้าใจกัน

ประกอบกับการต่อสู้ระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคหัวก้าวหน้า ต่อมาเกิดการรัฐประหารในประเทศโคลอมเบีย มีการเรียกร้องให้มีเจรจากับกลุ่มชาวนาหัวก้าวหน้าและมีการตกลงสันติภาพกันกับรัฐบาลโคลอมเบีย โดยกลุ่มชาวนาหัวก้าวหน้า มีการยุติการเคลื่อนไหวและวางอาวุธที่มีอยู่ทั้งหมด แต่ปรากฏว่าสมาชิกชาวนาหัวก้าวหน้าโดนสังหารทั้งหมด เหมือนกับหลอกให้เข้าในกระบวนการสันติภาพ แต่เมือฝ่ายชาวนาหัวก้าวหน้าวางอาวุธ รัฐบาลโคลอมเบียมีการกว้างล้างสมาชิกชาวนาหัวก้าวหน้าทั้งหมด จนเป็นเหตุผลให้กลุ่มกอริลล่าตัดสินใจไม่เข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพในอีกหลายครั้งต่อมา

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การเจรจาก็เกิดขึ้นอีกหลายครั้งตามเงื่อนไขในแต่ละช่วงเวลา แต่ความรุนแรงก็เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความล้มเหลวของแนวทางสันติวิธีตลอดมาเช่นเดียวกัน

ในบางช่วงเวลา มีการผ่อนคลายในทางการเมือง และเปิดโอกาสให้กลุ่มกบฎที่เคยเคลื่อนไหวแบบใต้ดินได้มีโอกาสจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งก็คือ พรรคการเมืองที่ชื่อว่า Patriotic Union ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของกลุ่ม FARC และลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ในปี 1987 หัวหน้าพรรคและแกนนำคนสำคัญก็ถูกลอบสังหาร ตลอดจนมีการสังหารหมู่ตามมาอีกจำนวนมาก โดยฝีมือของกองทัพ กองกำลังอิสระของเจ้าที่ดิน และขบวนการค้ายาเสพติด และเป็นครั้งแรกที่โลกได้รู้จักกับคำว่า “การสังหารหมู่ทางการเมือง”
 

ชะตากรรมของกระบวนการสันติภาพ

ในปี 1989 กำแพงเบอร์ลินได้ถูกทำลายลง กลุ่มกอริลล่าหลายกลุ่มที่มีแนวคิดสังคมนิยมเริ่มเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ ซึ่งมีทั้งกลุ่ม M-19, EPL และ PRL แม้ว่าจะมีการลงนามกันในข้อตกลงที่ถือว่าก้าวหน้าหลายประการ แต่ปรากฏว่าไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใดๆ อีกทั้งยังคงมีการตามสังหารผู้นำขบวนการอีกตามมา

แม้แต่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งรวมทั้งตัวแทนของกลุ่มกอริลล่าบางกลุ่มก็ถูกสังหารทั้งหมดทั้ง 4 คน ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง จึงอาจถือได้ว่ากระบวนการสันติภาพในรอบดังกล่าวนั้น เกิดความล้มเหลวขึ้นอีกครั้ง แต่สิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้จากกรณีนี้ก็คือ วาระหรือข้อเสนอในเวทีต่างประเทศนั้น สามารถบ่งบอกหรือส่งอิทธิพลว่า ควรดำเนินการกระบวนการสันติภาพด้วยหรือไม่และอย่างไร

บทเรียนสำคัญจากประสบการณ์การดำเนินการกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมาในช่วงนี้คือ ทำให้เรียนรู้ได้ว่า ชาวโคลอมเบียที่ไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองตามประเพณีนิยมหรือตั้งแต่ต้น จะถูกกีดกันไม่ให้มีบาบาททางการเมือง และบทเรียนอีกประการคือ หัวหน้าของฝ่ายเจรจาอีกฝ่ายหนึ่งมักถูกตามสังหาร ซึ่งทำให้สูญเสียโอกาสของสันติภาพไป

ถึงจุดนี้ นพ.วิกเตอร์ สะท้อนว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนเองเห็นว่ามีโอกาสที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศโคลอมเบียด้วยสันติวิธีอยู่หลายครั้งตลอดระยะเวลาของความขัดแย้งหลายสิบปี แต่การสังหารผู้นำของฝ่ายต่อต้านและหลายครั้งเมื่อมีข้อตกลงจากการเจรจาแล้ว รัฐบาลไม่ได้รักษาสัญญาที่เคยตกลงกันไว้ สิ่งนี้ได้นำไปสู่การอ้างเหตุผลรองรับให้กับกลุ่มกอริลล่าที่จะใช้ความรุนแรงต่อไป
 

สงครามกองโจรในยุคต่อต้านก่อการร้าย

หลังเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ใน ค.ศ.2001 คำศัพท์ที่ใช้เรียกการต่อสู้ด้วยกองกำลังหรือความขัดแย้งเปลี่ยนมาเป็นการต่อสู่กับกลุ่มก่อการร้าย หรือสงครามต่อต้านการก่อการร้ายนี้เป็นผลมาจากอิทธิพลของสหรัฐฯ ในละตินอเมริกาด้วย ความล้มเหลวของกระบวนการสันติภาพในหลายปีก่อนหน้านั้น ทำให้ผู้คนคิดว่า หนทางเดียวเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศโคลอมเบียคือ การก่อสงครามต่อต้านก่อการร้าย

ในปี 2002 มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทุกพรรคการเมืองที่ลงสมัครเลือกตั้งหาเสียงว่า กระบวนการสันติภาพไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดในประเทศโคลอมเบียได้ ดังนั้นวิธีการที่จัดการความขัดแย้งคือสงคราม ซึ่งถูกนำเสนอในสื่อของประเทศโคลอมเบียด้วย ทำให้ความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น

คนที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคือ อัลวาโร อูริเบ (Álvaro Uribe) มีความเชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต้องแก้ด้วยการใช้กองกำลังเท่านั้น ส่งผลให้ยิ่งเกิดความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลอูริเบก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก ขณะเดียวกันนโยบายของเขาไม่เคยกล่าวถึงปัญหารากเหง้าที่เกิดจากการกีดกันทางการเมือง การแก้ปัญหาความยากจนและการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในประเทศโคลอมเบียใดๆ เลย


กระบวนการสันติภาพรอบใหม่

ในช่วงการเลือกตั้งในปี 2010 คู่แข่งของทายาทางการเมืองของอูริเบ คือ ฮวน มานูเอล ซานโตส (ำJuan Manuel Santos) ผู้ประกาศนโยบายว่า จะสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ นพ.วิกเตอร์ เดอ เคอริอา-ลูโก เป็นหนึ่งในคนที่โหวตให้กับเขาด้วยนโยบายดังกล่าว

ท้ายที่สุด ซานโตสได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีแต่ก็ได้คะแนนเสียงที่ก้ำกึ่งกันระหว่างคู่แข่งที่ยืนยันจะคงทิศทางการใช้กำลัง ด้วยเหตุนี้ โคลอมเบียจึงเป็นสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างหนักในแนวทางการรับมือกับบรรดาขบวนการกอริลล่า

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการกระบวนการสันติภาพในครั้งนี้ มีความแตกต่างจากกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมาคือ มีการพบปะพูดคุยในต่างประเทศ โดยมีประเทศคิวบากับนอร์เวย์ร่วมกันเป็นคนกลางไกลี่เกลี่ย (Mediators) และดำเนินเจรจาอย่างลับๆ เป็นเวลาสองปี จากนั้นในปี ค.ศ.2012 จึงมีการประกาศแก่สาธารณชน

สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม คือ การให้ความสำคัญกับวาระ (agenda) ของฝ่าย FARC ในการหยิบยกขึ้นมาพูดคุย อันได้แก่ 1) การพัฒนาชนบทในประเทศโคลอมเบีย 2) การสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทุกกลุ่ม 3) FARC จะยุติการผลิตยาเสพติดและรัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนอาชีพทางเลือกแก่คนที่ประกอบอาชีพค้ายาเสพติด นอกจากนั้น ทั้ง FARCและรัฐบาลจะต้องลงโทษคนที่เข้าไปเกี่ยวกับยาเสพติด

4) ปัญหาการละเมิดหลักการกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่กระทำต่อเหยื่อ 5) การยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการใช้กำลัง และ 6) การแปรข้อตกลงต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งหมดนี้มีความคืบหน้าในการพูดคุยไปค่อนข้างมาก

 

มีสัญญาณบวกหลายประการ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในกระบวนการสันติภาพดังกล่าว กลุ่ม ELN จะยังไม่ได้มีเข้าร่วมมากนักก็ตาม เพราะพวกเขามีจุดยืนที่เน้นว่า หากมีการเจรจาจะต้องไม่เพียงแต่เจรจากับรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ต้องเจรจากับสังคมและผู้คนกลุ่มต่างๆ ด้วย นพ.วิกเตอร์ และเพื่อนนักวิชาการในมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง ก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพูดคุยเจรจากับ ELN ขึ้นด้วยในขณะนี้

สัญญาณเชิงบวกมีขึ้นหลายประการ เช่น ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ (18 ธ.ค.) ทางฝ่าย FARC ได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว (unitary ceasefire) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับกระบวนการ ในขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน ทางขบวนการก็ได้ปล่อยตัวนายพลที่ได้ถูกลักพาตัวไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

โดยส่วนตัวแล้ว นพ.วิกเตอร์เชื่อมั่นว่าในขณะนี้ทุกฝ่ายมีความมุ่งมั่นที่จะยุติความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างจริงจัง ไม่เว้นแม้แต่ชนชั้นนำของประเทศโคลอมเบีย ซึ่งเคยคัดค้านแนวทางดังกล่าวนี้มาโดยตลอด แต่ถึงอย่างนั้น ความท้าทายที่กระบวนการสันติภาพจะล้มเหลวก็ยังคงมีอยู่หลายประการ ในขณะที่ประเด็นปัญหาอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายอย่างจริงจัง

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ นพ.วิกเตอร์ บรรยายและแลกเปลี่ยนนั้น มีจุดเน้นสำคัญอยู่ที่ว่า ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่มีความขัดแย้งที่ใดที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงที่ไม่สามารถเรียนรู้กันได้ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันหลายลักษณะ แต่ก็สามารถเรียนรู้กันได้ นอกจากนี้ การทำความเข้าใจรากเหง้าของปัญหาเป็นสิ่งสำคัญต่อการรับมือกับความขัดแย้ง เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างความเข้าใจระหว่างคู่ขัดแย้งให้มีความชัดเจน

ที่สำคัญ การทำงานสันติภาพนั้นจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันกับศัตรู ไม่มีประโยชน์และไม่สมเหตุสมผลที่เราจะทำงานแต่เฉพาะกับเพื่อนของเราเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมด้วยว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสันติภาพนั้นสำคัญ เพราะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการสันติภาพอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net