Skip to main content
sharethis


โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) จัดเสวนาเรื่อง "บทบาทของ กสทช.ในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสท. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต และ วสันต์ ลิ่วลมไพศาล ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บข่าวไอที Blognone รายละเอียด มีดังนี้


สุภิญญาเสนอ กสทช.กำกับดูแลเน็ต ส่วนก.ไอซีทีดูแลอาชญากรรมคอมฯ
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสท. และอดีตผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า บทบาทต่อเรื่องอินเทอร์เน็ตที่เด่นชัดที่สุดของ กสทช. ที่ผ่านมา เป็นเรื่องเอาคลื่นความถี่มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่ในมิติการแข่งขันยังครึ่งๆ กลางๆ กล่าวคือ มีการประมูลสามจีเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายมากขึ้น แต่ยังไม่มีการกำกับราคา ซึ่งถูกวิจารณ์ว่ายังไม่ได้ลดลงเท่ากับต้นทุนของคลื่นที่ถูกลง รวมถึงการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ เช่น เน็ตรั่ว โรมมิ่ง เก็บค่าบริการเกิน สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นจุดอ่อนที่สุดในการกำกับดูแลของ กสทช.ในด้านโทรคมนาคม

สุภิญญา กล่าวต่อว่า แต่หากลงลึกไปอีก มากกว่าการคุ้มครองผู้ใช้บริการทั่วไป คือการกำกับดูแลเนื้อหา เรื่องนี้เป็น dilemma ของการกำกับดูแล แง่หนึ่ง กสทช. ถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพมาก หลังรัฐประหาร กสทช. ถูกวิจารณ์ในเรื่องการปิดกั้นเว็บ ขณะที่อีกมุมบอกว่า กสทช.ไม่ทำอะไร ปล่อยให้เกิดเว็บมีปัญหาเยอะแยะไปหมด จึงท้าทายว่าการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตในยุคดิจิทัลที่ซับซ้อนจะมีนโยบายอย่างไร 

ปัจจุบัน กสทช. ยังไม่มีบทบาทที่ชัดเจน แม้ กสทช. จะมีอำนาจกำกับดูแลไอเอสพีแต่เฉพาะแค่เรื่องการบริการ เว้นแต่ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ที่ทำให้สำนักงาน กสทช. เข้าไปพยายามจัดการไอเอสพี แต่ในเงื่อนไขปกติ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการจัดการเนื้อหาไว้ โดยเรื่องนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงไอซีทีผ่านการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมา มาตรา 14 และ 15 ก็ถูกใช้พร่ำเพรื่อและผิดทาง

สุภิญญา เสนอว่า หากจะมีการปรับแก้กฎหมาย ต้องเคลียร์ให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นคนวางกรอบในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ตามหลักสากลนั้น คิดว่า อำนาจในการกำกับดูแลจะอยู่ที่ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแล ส่วน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควรจะใช้กับอาชญกรรมคอมพิวเตอร์จริงๆ เช่น การแฮก ฟิชชิ่ง ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

เธอขยายความว่า เรื่องของเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต ส่วนตัวเห็นว่า ระยะยาวควรโอนมาเป็นอำนาจขององค์กรอิสระ แต่ต้องเขียนข้อกำหนดอำนาจไว้ เช่นเดียวกับการกำกับดูแลโทรทัศน์ ที่มีเส้นแบ่งระหว่างการปล่อยให้ไอเอสพีกำกับกันเอง ผู้ใช้กำกับดูแลกันเอง หรือผิดกฎหมายมากๆ ก็เป็นอำนาจขององค์กรกำกับดูแล

อย่างไรก็ตาม สุภิญญา ชี้ว่า สำหรับสื่ออินเทอร์เน็ต ไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตเท่านั้นที่ผลิตเนื้อหาเข้าสู่ระบบได้ แต่ผู้ใช้ทั่วไปก็ผลิตเนื้อหาได้ แต่จากสื่อทีวี วิทยุ จึงอาจต้องมีกรอบที่ต่างกันอยู่บ้าง หรือหากจะมองว่าเรากำลังจะเข้าสู่ยุคหลอมรวม ทุกอย่างเป็นดิจิทัล มี interactive ที่สื่อไม่ได้จบในตัวของมันเอง มีการส่งไปส่งกลับ อาจขยายโปรแกรมประยุกต์ไปได้ลึกซึ้ง แปลว่าเลยจุดที่ผู้รับใบอนุญาตจะควบคุมปลายทางของเนื้อหาได้ ตั้งคำถามว่าเราจะวางกรอบใหม่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้นไหม

สุภิญญา ชี้ว่า นี่ยังเป็นสมการที่ยังแก้ไม่ตกแม้กระทั่งในระดับสากล ระหว่างการปล่อยให้อุตสาหกรรมกำกับตนเอง ผู้ใช้กำกับกันเอง กับการที่รัฐรวมศูนย์การกำกับ โดยเฉพาะในบริบทของไทย ที่มีเนื้อหาต้องห้ามเต็มไปหมด และต้องใช้กับอุตสาหกรรมที่เปิดกว้างขึ้นและประชาชนที่ตื่นตัว ก็น่าจะเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ก็เสนอว่าจะต้องศึกษาบทเรียนจากต่างชาติ ดูบริบทของไทย และวางกรอบร่วมกันให้ชัดเจน


นักวิชาการแนะ แบ่งการกำกับใหม่ เป็นด้านเทคนิคกับเนื้อหา
สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กับภาคอุตสาหกรรม แสดงความเห็นต่อรายงานของ NBTC Policy Watch ซึ่งพบว่า กสทช. ยังบกพร่องในการกำกับดูแลความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในอินเทอร์เน็ต (อ่านข่าวที่นี่) ว่า โดยเสนอว่า หนึ่ง ให้ กสทช. ออกมาตรการให้โอเปอเรเตอร์ทำ Internal IT Audit เกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแล้วส่งให้ กสทช. สอง กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ควรมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบกรณีต่างๆ เช่นเดียวกับเวลาตึกถล่มแล้วเราไปขอให้สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยตรวจสอบ สาม กสทช. ควรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลต่างๆ ที่โอเปอเรเตอร์ส่งมา เป็นรายปี

ส่วนการกำกับดูแลสื่อในยุคหลอมรวมนั้น สุพจน์ เสนอว่า เส้นแบ่งตาม พ.ร.บ.ที่แบ่งเป็นฝั่งกระจายเสียงและฝั่งโทรคมนาคมน่าจะใช้ไม่ได้แล้ว การแบ่งว่า เสาต้นนี้ฝั่งกระจายเสียงดูแล เสาต้นนี้โทรคมนาคมดูแลนั้นประหลาดมาก เพราะผู้ประกอบการก็ใช้เสาต้นเดียวในการทำหลายอย่าง ดังนั้น หากจะมีการปรับโครงสร้างองค์กร ควรจะแบ่งเป็นการกำกับเชิงเทคนิคคือการกำกับโครงข่ายและการบริการ กับการกำกับเนื้อหา 

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น สุพจน์ กล่าวว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. คือ Digital divide หรือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงดิจิทัล ซึ่งต้องเน้นที่การสื่อสารสองทางและอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ดังนั้น กสทช.จะต้องทำให้โครงการ USO (การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม) บังคับใช้ได้จริง และ สอง กสทช.ต้องกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการ โดยมีมาตรการกำหราบและป้องกัน เนื่องจากสังเกตว่า ทุกครั้งก่อนที่จะมีการออกเทคโนโลยีใหม่ คุณภาพของเดิมจะด้อยลงทันที สาม ย้ำว่าเรื่องความปลอดภัยของระบบเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นพื้นฐานของการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

สุดท้าย เขาชี้ว่า แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรอย่างไร ก็ควรดูที่พฤติกรรมเฉพาะบุคคล พร้อมย้ำว่า กสทช. ควรจะเป็นองค์กรอิสระ ไม่ควรไปอยู่ใต้กระทรวงใด


ผู้เชี่ยวชาญยกตัวอย่างเกาหลีใต้ ชี้กระบวนการไม่โปร่งใสทำเอกชนพัง
วสันต์ ลิ่วลมไพศาล ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บข่าวไอที Blognone  กล่าวว่า การกำกับด้านความปลอดภัย สิ่งที่ กสทช. ทำได้ในทางเทคนิค ได้แก่ การขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปใช้บริการเข้ารหัสภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือมีการเตือนว่าการให้บริการไม่ได้เข้ารหัส เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกดักฟังและขโมยรหัสผ่านการใช้เว็บต่างๆ รวมถึงให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแจ้งเตือนผู้ใช้เมื่อเจอช่องโหว่ในระบบ

สอง ที่ผ่านมา มีการบล็อคเว็บด้วยเหตุผลทางเนื้อหาจำนวนมาก แต่ก็มีมัลแวร์หรือปลอมเว็บธนาคารซึ่งมีผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งควรจะบล็อคหรือจัดการได้ เช่น มัลแวร์ผ่าน SMS ที่ทำให้มีการส่ง SMS หามือถือเพื่อนเอง กทช. ควรกำหนดให้ผู้ให้บริการมือถือบล็อคมัลแวร์เหล่านี้ได้ ซึ่งจะมีข้อถกเถียงน้อยเพราะเป็นผลกระทบต่อประชาชนจริงๆ

ด้านกระบวนการเก็บข้อมูลผู้ใช้ กทช. มีผลงานแอพ "สองแชะ" ที่พยายามให้ประชาชนลงทะเบียนซิมมือถือ มองว่า เมื่อเป็นนโยบายว่าจะเก็บข้อมูลผู้ใช้ ก็ควรจะโปร่งใสว่าเก็บอะไรบ้าง เพื่ออะไร เก็บอย่างไร ที่ไหน และใครเข้าถึงข้อมูลบ้าง ที่ผ่านมา เคยวิเคราะห์แอพ พบว่า ระบบจะส่งข้อมูลให้ผู้ให้บริการมือถือและ กสทช. รวมถึงพิกัดที่ลงทะเบียนอยู่ ทั้งที่ประชาชนไม่รู้

ส่วนเรื่องของเศรษฐกิจกับการดำเนินนโยบาย วสันต์ยกตัวอย่างกรณีเกาหลีใต้ ที่มีการใช้กฎหมายพิเศษในการขอดักฟังข้อความได้ โดยใช้กับแอพแชท Kakao Talk สุดท้าย รายงานนี้หลุดออกมา เมื่อประชาชนรู้ว่ามีการส่งข้อความแชทให้รัฐบาล ทำให้คนแห่ไปใช้โปรแกรมแชทตัวอื่นแทน จะเห็นว่า กระบวนการที่ทำแบบไม่มีรูปแบบ ไม่มีความชัดเจน จะทำให้บริษัทในประเทศเสียตลาด โดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิด


เสนอ กสทช.ดูแลแค่โครงข่าย ส่วนเนื้อหาให้องค์กรที่มีอยู่แล้วดูแล
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวถึงการกำกับดูแลโดยใช้กรอบของ Lessig Code ซึ่งประกอบด้วย สถาปัตยกรรม ตลาด ปทัสถาน (ค่านิยมทางสังคม) และกฎหมาย

โดยด้านสถาปัตยกรรมนั้น เมื่อเทียบกับตลาดโทรคมนาคม จะเห็นว่าส่วนของโครงข่ายมันก้าวหน้าไปไกลมากแล้ว เสาเดียวส่งได้ทั้งโทรคมนาคมและบรอดคาสต์ทำได้หลายอย่าง

ด้านตลาด ตลาดมีการหลอมรวมอุตสาหกรรม ให้บริการโทรคมนาคมและบรอดคาสต์ บางที่ให้บริการการเงินด้วย ในสหรัฐฯ ดิสนีย์ ฟอกซ์ ให้บริการข้ามไปมา ระหว่างโครงข่าย คอนเทนต์ แอปพลิเคชั่น ของไทยก็มีทรู ที่มีทั้งเคเบิล ช่องทีวี โทรศัพท์มือถือ และบริการเติมเงินออนไลน์ 

ค่านิยม เปลี่ยนไปเป็น convergent culture กรณีของไทย เริ่มมีจอที่สอง คือดูทีวีไปพร้อมกับใช้อินเทอร์เน็ต ดูเดอะวอยซ์ในทีวีแล้วก็มาคอมเมนต์ การเสพสื่อไม่ได้เสพสื่อเดียวอีกต่อไป แต่เป็นหลายสื่อพร้อมกัน และผลิตบางอย่าง เช่น มีคนเอาภาพจากเดอะวอยซ์มาประกอบกัน แล้วอัพกลับขึ้นไป กลายเป็น procumer (producer+consumer)

จะเห็นว่าทั้ง สถาปัตยกรรม ตลาด และค่านิยม เปลี่ยนไปหมดแล้ว โดยมีการหลอมรวมกัน มีแต่กฎหมาย ที่ยังไม่เปลี่ยน สื่อ โดยสิ่งพิมพ์ ใช้ พ.ร.บ.สิ่งพิมพ์ฯ โทรคมนาคม ใช้กฎหมายโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พอเป็น วิดีโอเกม หรือหนัง ใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์และวีดิทัศน์ เท่ากับว่า ต่อให้เป็นเนื้อหาอย่างเดียวกัน แต่พออยู่ในคนละสื่อ เกณฑ์ก็ไม่เหมือนกันเลย

อาทิตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.บ.สิ่งพิมพ์นั้นให้การคุ้มครองเยอะมาก เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.คอมฯ โดยยกตัวอย่างกรณีสุภิญญาโดนช่อง 3 ฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมฯ หลังรีทวีตข้อความหนึ่ง (ปัจจุบันถอนฟ้องไปแล้ว) ว่า หากลองนึกว่า สุภิญญาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในทำนองเดียวกัน คืออ้างถึงทวีตๆ หนึ่ง โอกาสโดนฟ้องก็จะน้อยกว่า พ.ร.บ.คอมฯ

อาทิตย์ ชี้ว่า เมื่อเหลือกฎหมายที่ยังไม่เปลี่ยน กสทช. ต้องหาให้ได้ว่าถ้าเทคโนโลยีเปลี่ยนแล้ว รัฐทั้งหมดจะจัดการอย่างไรให้การกำกับดูแลทั้งแผงไปด้วยกัน กับสิ่งที่เปลี่ยนไปแล้วได้

เขาเสนอว่า ต้องแบ่งกันใหม่ แบ่งตามสื่อไม่ได้แล้ว แต่อาจแบ่งเป็นการกำกับโครงข่าย ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค เป็นส่วนงานที่ กสทช ดูแลได้โดยข้อขัดแย้งน้อยกว่าการกำกับเนื้อหา

ด้านเนื้อหา ซึ่งอาจรวมถึงแอปพลิเคชันด้วย อาจไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. เพราะน่าจะมีหน่วยงานเฉพาะอยู่แล้วในระดับออฟไลน์ เช่น ถ้าเป็นเรื่องธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่ดูเรื่องมาตรฐานการจ่ายเงิน แง่การค้า ก็มีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีกลไกอยู่แล้ว ทุกอย่างในอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องใหม่ มันต้องมีอะไรที่กำกับอยู่แล้ว เช่น เรื่องยา องค์การอาหารและยาก็ทำอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง grab taxi ซึ่งเป็นแอพบริการแท็กซี่ ก็น่าจะต้องเป็นกรมการขนส่งทางบก

อาทิตย์ ย้ำว่า ต้องลดขนาดและทำภารกิจของ กสทช. ให้ชัดเจน ทำเฉพาะเรื่องที่ต้องทำ ข้อขัดแย้งระหว่างองค์กรจะน้อยลง อะไรที่เป็นอาชญากรรม ก็ให้ สตช. แผนกคดีพิเศษ หรือดีเอสไอทำ เน้นว่าทำยังไงที่จะตั้งองค์กรใหม่ให้น้อย งานที่เป็นเนื้อเดียวกันจัดมาอยู่ด้วยกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net