Skip to main content
sharethis

"พิษณุ สุวรรณะชฏ" นำเสนอภาพพม่าปฏิรูป 4 ด้าน เจรจาสันติภาพ-การเมืองสิทธิมนุษยชน-บริหารภาครัฐ-ปฏิรูปเอกชน แนะสังคมไทยต้องไปดูพม่าให้เห็นกับตา เรียนรู้ให้ถึงแก่น และห้ามมโน ทุกฝ่ายต้องปรับวิธีดำเนินความสัมพันธ์กับพม่าอย่างสร้างสรรค์ เพื่อความสำเร็จร่วมกัน

 

คลิป พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวปาฐกถานำในการสัมมนา "ไทย-พม่าศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน" เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร

ลงทะเบียนเพื่อติดตามชมวิดีโอจากประชาไทได้ที่

 

 

18 ธ.ค. 2557 - ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน" โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 18 - 19 ธ.ค. ที่อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก นั้น

000

พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวปาฐกถานำ ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน" จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่มาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ในวันแรกของการสัมมนา มีปาฐกถานำโดย พิษณุ สุวรรณะชฏ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง โดยทูตพิษณุ ได้กล่าวถึงพัฒนาการด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือประเทศพม่า และแนะนำเรื่องการพัฒนาทัศนคติของสังคมไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่า

โดยทูตเชื่อว่าถ้ามี Mindset ที่ถูกต้องจะมีวิธีคิดที่ถูกต้อง และจะมีโอกาสที่ผู้คนทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนพบปะหารือ ทำให้เข้าอกเข้าใจกันดีขึ้น 

วันนี้สถานการณ์ในพม่าเปลี่ยนแปลงไปอีก การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน รวดเร็ว ล้วนแต่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นตลอดเวลา ในด้านการเมืองเราก็รู้กันแล้วว่ามีพัฒนาการด้านต่างๆ มาก สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ความเป็นประชาธิปไตย ความปรองดองสมานฉันท์ภายในชาติ ส่วนที่ก้าวหน้าสุดคือเรื่องการเจรจาสันติภาพ สำหรับผมเชื่อว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยก้าวข้ามพ้นจุดที่ยากที่สุดไปแล้ว แต่แน่นอนอาจจะมีกระบวนการต่างๆ ที่สะดุดอยู่บ้าง แต่เป็นเรื่องปกติของการเจรจาสันติภาพ แต่ตราบใดที่ยังสามารถรักษาเจตนารมณ์ทางการเมืองเรื่องการนำสันติภาพมาสู่สังคมได้ก็เชื่อได้ว่าการเจรจาสันติภาพจะเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้การเจรจาสันติภาพจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในพม่า ที่จะมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในการเลือกตั้งเดือนธันวาคมปีหน้า ตามแผนการที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนในพม่าตั้งใจไว้

สิ่งเดียวที่คนในสังคมไทยจะทำได้ดีที่สุดคือต้องให้กำลังใจประเทศเพื่อนบ้าน ให้การสนับสนุนทุกอย่างให้สามารถดำเนินกระบวนการสันติภาพไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น

ในเรื่องของการปฏิรูปการเมือง ทูตพิษณุเล่าว่า "การเมืองพม่า ยังเป็นการเมืองที่ขับเคลื่อนประเทศได้อย่างรวดเร็ว การเมืองของพม่าไม่ใช่รัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน แต่เป็นการเมืองของกลุ่มคนที่ต้องการปฏิรูปประเทศ และกลุ่มคนที่อาจจะเสียประโยชน์จากการปฏิรูป โชคดีที่ในพม่ากลุ่มคนที่ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดีเต็งเส่งและรัฐบาล นางออง ซาน ซูจีและพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ตุระฉ่วยมาน ซึ่งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คู่แข่งสำคัญของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ทหารในกองทัพ คนเหล่านี้ต้องการเห็นประเทศมีการปฏิรูป นี่เป็นเหตุผลในการอธิบายว่าทำไมพม่าจึงเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในด้านการเมือง"

ในด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงในพม่ารวดเร็วมาก สิทธิมนุษยชนในอดีตเป็นปัญหาอย่างมาก ปัจจุบันเป็นประเด็นที่คนให้ความเคารพอย่างมาก คนมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น การแสดงออกด้านความคิดเห็นทางการเมืองมีมากขึ้น และสามารถทำได้อย่างเสรี กระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการแสดงออกด้านความคิดเห็นเข้าสู่รูปรอยที่ดีขึ้น คนมีสิทธิมากขึ้น ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ในเรื่องการละเมิดรุกล้ำสิทธิคนอื่นก็เป็นไปอย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการต่างๆ ที่กำลังหมุนไป อย่างรวดเร็ว

คนในพม่ามีโอกาสเข้าถึงโซเชียลมีเดีย 100% ไม่มีการปิดกั้น คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในพม่าร้อยทั้งร้อยมีเฟซบุ๊คหมด สามารถใช้ไวเปอร์ ใช้ไลน์ แน่นอนอาจจะไม่ได้อยู่ในเกณฑ์รวดเร็วเหมือนไทย แต่ต้องถือว่าใช้ได้

"อาจจะมีข้อโต้แย้งว่าจะมีคนสักกี่คนเชียวในพม่าที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต แน่นอนมีคน 3% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ที่เราจะต้องเข้าใจก็คือ คน 3% ของประชากรพม่าสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในเวลาไม่ถึง 2 ปี และต้องถามกลับว่าคนกี่เปอร์เซ็นต์ของไทยที่ปัจจุบันเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และใช้เวลาในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมายาวนานกว่า 20 ปี"

"ผมคิดว่าถ้าเราตั้งคำถามลักษณะนี้ เราจะเข้าใจพัฒนาการของสังคมในพม่าที่ดีขึ้น" 

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่น่ากังวลอะไรเลย เพราะทุกคนอยากนำพม่าเข้าสู่อ้อมกอด วันนี้พม่าเปิดประเทศกว้างขวาง การเดินทางไปต่างประเทศของผู้นำพม่าทุกระดับ ทุกสาขา เป็นไปอย่างเต็มที่แข็งขัน และสร้างสรรค์ ท่านประธานาธิบดีเต็งเส่งเดินทางไปตลอดเพื่อเชื่อมสันถวไมตรีกับมิตรประเทศ นางออง ซาน ซูจี ก็ช่วยในเรื่องพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

"สิ่งหนึ่งที่เรายังไม่เคยเห็นก็คือเวลาบุคคลสำคัญของพม่าออกไปต่างประเทศ มีใครเคยได้ยินเขาไปพูดจาให้ร้ายกันบ้างไหมครับ ไม่มี ไม่มีใครเคยได้ยินนางออง ซาน ซูจี ไปพูดจาเป็นลบต่อตัวประธานาธิบดีเต็งเส่ง และรัฐบาล แน่นอนไม่มีคำพูดทางลบใดจากปากท่านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จากนางออง ซาน ซูจีเลย"

ความสำเร็จด้านต่างประเทศที่สำคัญที่สุดคือการเป็นประธานอาเซียนของพม่า ซึ่งได้ส่งมอบให้มาเลเซียเป็นประธานอาเซียนต่อไปแล้ว ในบรรดาประเทศอาเซียน 9 ประเทศ ทุกคนทึ่งในขีดความสามารถของพม่า ในการเป็นประธานอาเซียน การประชุมประสบความสำเร็จ ความสำเร็จของพม่าในเรื่องอาเซียนเป็นความมหัศจรรย์ ความสำเร็จในการประชุมอาเซียนของพม่า จะทำให้พม่าสามารถจัดการประชุมนานาชาติในระดับต่างๆ ได้แน่นอน

เรื่องการพัฒนาประเทศของพม่า หลังขั้นแรก มีการพัฒนาการเมือง การเจรจาสันติภาพ ให้มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ขั้นสอง มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปล่อยค่าเงินลอยตัว เริ่มจัดระบบธนาคาร ขั้นสาม การพัฒนาประเทศ การปฏิรูปเรื่องจัดระเบียบบริหารจัดการภาครัฐและเอกชน ขณะนี้เข้าขั้นที่สี่ ปฏิรูปภาคเอกชน ในวันนี้จะเห็นว่าการพัฒนาไปสู่การปฏิรูปประเทศดำเนินไปอย่างขนานใหญ่ ทั่วด้าน ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ภาครัฐ แต่ไปสู่ภาคเอกชนแล้ว

ในพม่าขณะนี้เราเริ่มเห็นการควบคุมกิจการ เพื่อให้เอกชนพม่าสามารถมีขีดความสามารถแข่งขันต่างประเทศได้ เช่น พม่าเปิดให้ธนาคารต่างชาติประกอบธุรกิจธนาคาร ตอนนี้มี 9 แห่งแล้ว รวมทั้งธนาคารกรุงเทพ

ตอนหนึ่ง ทูตพิษณุ กล่าวตอนหนึ่งว่า หลายคนอาจจะถามว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในพม่าเดินไปได้ ถ้าถามผมตอบได้อย่างหนึ่งว่า ศักยภาพสำคัญที่สุดของพม่าไม่ได้อยู่ที่ทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดคือ คนพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพม่าที่มีขีดความสามารถในการคิดเชิงเหตุผลที่ดีมาก ซึ่งไม่ได้เกิดจากการศึกษาในระบบ แต่เกิดจากการปฏิบัติทางพุทธศาสนา ทำให้เขามีระบบความคิดทางเหตุผลที่ดีมาก ก็มีคำถามต่อไปว่าประเทศเพื่อนบ้านของพม่าก็เป็นประเทศพุทธ ทำไมคนในสังคมในประเทศเหล่านั้นความคิดเชิงเหตุผลแย่เหลือเกิน

อีกสองส่วนที่อยากเรียนวิงวอนว่า วันนี้เมื่อปรับ Mindset ต่อเรื่องพม่าได้แล้วบางส่วน สิ่งที่สังคมไทยต้องทำต่อ ประการแรก ต้องไปดูพม่าให้เห็นกับตา เรียนรู้ให้ถึงแก่น และห้ามมโน ห้ามมโนเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับพม่าห้ามโนเด็ดขาด โดยเฉพาะไปหาว่าเขาต่ำต้อย ไร้วัฒนธรรม ห้ามมโนเด็ดขาด เพราะมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง

ประการที่สองคือ สังคมไทย ต้องรับรู้เกี่ยวกับเรื่องความเปลี่ยนแปลงในประเทศเพื่อนบ้านให้ถูกต้อง ต้องตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน วันนี้ผมบอกได้เลยสังคมไทยตามเปลี่ยนแปลงในพม่าไม่ทัน สังคมไทยมีใครบ้างที่ติดตามเรื่องโครงการพัฒนาในพม่าสามแห่ง คือ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา จ๊อกผิ่ว และทวาย มีใครรู้รายละเอียดบ้างว่าสามโครงการนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในพม่า และจะเกิดผลประโยชน์อย่างไรต่อประเทศไทย

ถ้าเราไม่รู้ข้อเท็จจริง โอกาสที่เราจะผลักดันของเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจะยิ่งยาก หลายโครงการจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะที่ติละวา และทวาย เราต้องมีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาแล้ว ผลประโยชน์จะตกกับประเทศในภูมิภาคทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศไทย ถ้าเราไม่เข้าใจ เราจะไม่สามารถเดินไปสู่จุดที่มีผลประโยชน์ร่วมกันได้

นอกจากนี้ หลายสิ่งที่ทำกับพม่าในอดีตจะไม่ประสบผล ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยไทยอยากให้ทุนนักศึกษาพม่า ผมเรียนไปว่า ลักษณะการให้ทุนกับพม่าทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้ว วันนี้คนทั่วโลกเข้ามาแข่งให้ทุนกับพม่า สถานภาพพม่าเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง พม่าเป็นคนเลือก

ยกตัวอย่าง ถ้ามหาวิทยาลัยนเรศวรจะให้ทุนนักศึกษาพม่ามาเรียนวิศวกรรม ขณะที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ก็จะให้ทุนนักศึกษาพม่าไปเรียนวิศวกรรมด้วย คิดว่านักเรียนพม่าจะเลือกที่ไหน แน่นอนคำตอบมีอยู่ในใจท่านว่าเราไม่สามารถทำแบบเดิมได้ เช่น ถ้าเราแค่ให้ทุนแบบเดิมเท่านั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เราจะได้คนแถวสองหมด และจะไม่มีโอกาสได้คนแถวแรกเลย

วันนี้สิ่งที่สถานทูตทำ หนึ่ง Redifine (จำกัดความใหม่) ทุกอย่าง ในเรื่องการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่า สอง Redesign (ออกแบบใหม่) ทุกอย่าง เกี่ยวกับแพ็กเกจการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่า

อย่างเช่น ในเรื่องของการปรับแพ็กเกจการให้ทุน โครงการหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามีผลมากคือ เราร่วมมือกับบริษัทเอกชน กับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยลงขันในแง่ยกเว้นค่าเทอมให้ บริษัทเอกชนลงขันออกค่าที่พักตลอดหลักสูตร สถานทูตในนามรัฐบาลไทย ไปช่วยคัดเลือกคน และใช้สถานที่ในการสอบต่างๆ ผลปรากฏว่าเมื่อ Redesign แพ็กเกจและวิธีการให้ทุนแล้ว ได้ผลมาก ทุนเรามีของพ่วงด้วย คือบริษัทเอกชนที่ร่วมงานกับสถานทูตนั้นรับประกันว่า นักเรียนที่ได้ทุนแล้วเมื่อจบแล้วเขารับเข้าทำงานไม่มีเงื่อนไข ทำให้แพ็จเกจของเราดูสวยงามและดีกว่า

ทั้งนี้ผลจากการเปลี่ยนแปลงในพม่า ทำให้วิธีการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่าเป็นอย่างเดิมไม่ได้ดังนั้น และมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องปรับวิธีการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่าอย่างสร้างสรรค์

ในช่วงท้าย ทูตพิษณุ ได้แนะนำให้ผู้ที่สนใจเข้าชมเว็บไซต์ของสถานทูต (thaiembassy.org/yangon) โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนรับจดหมายข่าวรายวันที่บริการข้อมูลทางธุรกิจโดยสถานทูตได้ เพื่อจะเห็นว่าพม่าเคลื่อนตัวไปอย่างไร ทั้งนี้การได้รับข้อมูลจะช่วยปรับ Mindset เพื่อให้เลิกมโนผิดๆ เกี่ยวกับพม่า และมีมุมมองที่ถูกต้องเกี่ยวกับพม่า ตลอดจนติดตามพัฒนาการต่างๆ ในพม่าได้อย่างครบถ้วน เห็นผลประโยชน์บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน สามารถเตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพม่าได้

ทูตพิษณุยังชวนผู้ร่วมประชุม "ไปดูพม่าให้เห็นกับตา" โดยสถานทูตยินดีที่จะให้การสนับสนุนผู้ที่เดินทางไปพม่า

"และสิ่งที่อยากจะวิงวอนคือ ขอให้เลิกมโนเกี่ยวกับพม่า และหันมามองในแง่ข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจพม่า และปรับตัวเราเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในพม่าได้ ตลอดจนจัดแพ็กเกจที่ดีในการปฏิสัมพันธ์กับพม่าในทุกๆ ด้าน โดยเชื่อว่าความสัมพันธ์ไทย-พม่าจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net