'พนักงานประกันสังคม' วอนลดความเหลื่อมล้ำในองค์กร-เพิ่มสวัสดิการ

ทั้งๆ ที่เป็นพนักงานที่ต้องดูแลจัดเก็บและจ่ายเงินด้านสิทธิประโยชน์ให้คนทำงานทั่วประเทศ แต่กลับพบความเหลื่อมล้ำในองค์กร วอนผู้บริหารของกระทรวงแรงงานขอขึ้นสวัสดิการ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ-เงินบำนาญเกษียนอายุ-ขยับฐานเงินเดือน"
 
 
 
19 ธ.ค. 2557 แหล่งข่าวจากสำนักงานประกันสังคมเปิดเผยว่า พนักงานของสำนักงานประกันสังคมจำนวนหนึ่งได้พยายามร้องเรียนไปยังผู้บริหารของกระทรวงแรงงานเพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาค่าตอบแทน สวัสดิการ และอื่นๆ แก่พนักงานประกันสังคม
 
โดยพนักงานกลุ่มนี้ระบุว่า สำนักงานประกันสังคม เป็นหน่วยงานราชการ มีภารกิจจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง /ผู้ประกันตน เข้ากองทุนประกันสังคม กรณีไม่เนื่องจากการทำงาน และจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างฝ่ายเดียว เข้ากองทุนเงินทดแทน กรณีเนื่องจากการทำงาน ดังนั้น ทั้ง 2 กองทุน ต่างให้เกิดสิทธิประโยชน์ทดแทน กรณีต่างๆ และสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้กำกับดูแล ภารกิจดังกล่าว รวมทั้งสำนักงานประกันสังคมบริหารงานมีบุคลากรจำนวนมาก รวมทั้ง ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และพนักงานประกันสังคม ดังนั้นบุคลากรทุกคนของสำนักงานประกันสังคม ก็เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงาน โดยมีจุดมุ่งหมายในการทำงานเพื่อหวังมีความก้าวหน้าในอาชีพ มีรายได้ มีเงินเดือน เพื่อดำรงชีวิตของตนเอง และครอบครัว รวมทั้งมีจุดมุ่งหมายในการบริหารงาน และการปฎิบัติงานภายในองค์กร เพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์ ในการพัฒนาองค์กรแบบองค์รวม
 
ทั้งนี้พนักงานประกันสังคมมี 2 สถานะในองค์กรคือ มีสถานะ 1. นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ร้อยละ 5 เช่นเดียวกับผู้ประกันตนทั่วๆ ไป เพื่อให้เกิดสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีต่างๆ และสถานะที่ 2. ก็เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงานของสำนักงานประกันสังคมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งในส่วนกลาง สำนัก กอง สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา และศูนย์ฟื้นฟูในจังหวัดต่างๆ ดังนั้น บุคคลากรสำนักงานประกันสังคมในปัจุบันมีจำนวน 4 ประเภทได้แก่ (ข้อมูลตัวเลข ณ เดือนพฤศจิกายน 2556)
 
1. ข้าราชการ 1,885 อัตรา 2. ลูกจ้างประจำ 189 อัตรา 3. พนักงานราชการ 158 อัตรา และ 4. พนักงานประกันสังคม ซึ่งยังแบ่งย่อยออกเป็นอีก 6 ประเภท ดังนี้
 
(1) พนักงานประกันสังคมที่เป็นพนักงานประจำ 3,662 อัตรา มีรายละเอียดอาทิ จำนวนไม่น้อยปฏิบัติงานตั้งแต่สำนักงานประกันสังคมเปิดทำการ (กันยายน พ.ศ. 2533), จำนวนไม่น้อยปฎิบัติงาน ใช้วุฒิการศึกษา ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ทั้งที่ตนเองมีวุฒิการศึกษาสูงกว่าที่ใช้ในการสมัครงาน, จำนวนไม่น้อยได้รับทุนสำนักงานประกันสังคมเรียนต่อปริญญาโท (ภายในประเทศ) แต่เมื่อจบการศึกษามาแล้ว การบริหารงานไม่ได้ให้บุคลากรเหล่านี้มาพัฒนาองค์กร ทำให้การลงทุนด้านการศึกษาไม่คุ้มทุน (จบมาแล้วไม่มีการปรับวุฒิปริญญาโทให้), จำนวนไม่น้อยที่มีความสามารถในการปฏิบัติงาน แต่องค์กรมองข้ามความสามารถ อาจจะด้วยระบบโครงสร้างส่วนงานราชการมาบริหาร, จำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐที่มีวุฒิปริญญาตรีพนักงานเข้าทำงานใหม่ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท พนักงานเก่า ๆ ฐานเงินเดือนเกิน 15,000 บาท ณ ตอนนั้นและปัจจุบันฐานเงินเดือนเท่ากัน แต่คนเก่า ๆ ทำงานมานาน ทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำ และไม่ยุติธรรมในการบริหารงาน (เมื่อพนักงานเก่า ๆ ทวงถามได้รับคำตอบคือ "ต้องรับสภาพ")
 
(2) พนักงานประกันสังคม มาตรา 40 (ชั่วคราว) จำนวน 100 อัตรา
 
(3) พนักงานประกันสังคม เร่งรัดหนี้ฯ (ชั่วคราว) จำนวน 175 อัตรา
 
(4) พนักงานกองทุนเงินทดแทน (ชั่วคราว) จำนวน 46 อัตรา
 
(5) พนักงานประกันสังคม ฝ่ายอุทธรณ์ (ชั่วคราว) จำนวน 6 อัตรา
 
(6) พนักงานประกันสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ชั่วคราว) จำนวน 28 อัตรา
 
แหล่งข่าวตัวแทนพนักงานสังคมระบุว่า ส่วนใหญ่แล้วพนักงานต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการความยุติธรรม ต้องการมีส่วนร่วมในการบริหาร ไม่ต้องการให้เกิดความเหลื่อมล้ำในองค์กร จึงเตรียมเพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารของกระทรวงแรงงานพิจารณาค่าตอบแทน สวัสดิการ และอื่นๆ ให้กับพนักงานประกันสังคม ซึ่งพนักงานกว่า 4,000 คน นั้นก็จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเหมือนกัน จึงอยากให้บอร์ดประกันสังคมพิจารณาสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่พนักงานดังนี้
 
1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน
 
2. เงินบำนาญแก่พนักงานประกันสังคม เมื่อยามเกษียนอายุ
 
3. ค่าตอบแทนทุกสิ้นปี จาก 1 เดือน ขอเพิ่มเป็น 2 เดือน
 
4. สวัสดิการเงินกู้บ้านและที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ 1
 
5. ทบทวนการขยับฐานเงินเดือนให้กับพนักงานที่ทำงานมานานก่อนที่นโยบายเงินเดือนวุฒิปริญาตรี 15,000 บาท จะประกาศใช้ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพนักงาน และให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานที่ทำงานมานาน 
 
6. มีกองทุนกู้เงินอัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่พนักงาน
 
7. มีสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ครอบครัวรวมพ่อแม่และบุตร
 
และ 8. มีทุนการศึกษาให้บุตรของพนักงาน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท