สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก

                              
18 ธ.ค. 2557 เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ สมหมาย ภาษี รมว.คลัง ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ว่า เนื่องจากที่ผ่านมา การถ่ายโอนทรัพย์สินทางกองมรดกไม่ต้องเสียภาษี ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม จึงควรจัดเก็บเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ยกระดับการดำรงชีพของประชาชนที่ยากไร้โดยไม่ให้กระทบกับผู้ได้รับมรดกพอสมควรกับการดำรงชีพ ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร นั้นเป็นการแก้ไขให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ซึ่งประมวลรัษฎากรนั้นยังมีการงดเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงจากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม

สมหมาย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรายได้จากการเก็บภาษีอยู่ที่ 18% ต่อจีดีพี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะสูงถึง 30-40% การจัดเก็บภาษีสูงนั้นไม่ได้หมายความว่าไปรีดเค้นจากประชาชน แต่เป็นการเก็บเพื่อให้มีการกระจายรายได้ ไม่ไปกระจุกอยู่ที่คนกลุ่มหนึ่ง แล้วเอาเงินมาพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีมรดก 10% จากส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทนั้น จะทำให้รายได้จากการเก็บภาษีขยับอยู่ที่ 21-22​% เรื่องภาษีมรดกนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศมีการจัดเก็บตั้งแต่ 20-40% ขณะที่ของประเทศไทยไม่ได้เก็บจากมรดกบาทแรก แต่เก็บจากเงินที่เกิน 50 ล้านบาท สมมติว่าหากมรดก 200 ล้านบาท แบ่งให้ลูก 3 คน เราจะเก็บเฉพาะส่วนที่เกินคนละ 50 ล้านบาท คือ ประมาณ 10 กว่าล้านบาท เมื่อเก็บคนละ 10% ก็จะได้คนละล้านกว่าบาท ซึ่งไม่ได้สูงมาก ประเทศฟิลิปปินส์ก็เก็บแบบขั้นบันได ประเทศ​เวียดนามก็เก็บเท่ากับประเทศไทย ขณะที่ประเทศเกาหลีอยู่ที่ 10-50% อย่างไรก็ตาม หากคนไม่มีเงินชำระภาษีก็สามารถผ่อนจ่ายได้เป็นเวลา 5 ปี โดย 2 ปีแรกนั้นไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หรือถ้าหากไม่มีเงินก็สามารถไปจัดตั้งเป็นกองมรดกได้

ด้านประดิษฐ์​ วรรณรัตน์ สนช. ลุกขึ้นอภิปรายว่า 12 ใน 25 ประเทศที่จัดเก็บภาษีมรดกนั้นปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และนอร์เวย์ เพราะไม่คุ้มค่ากับการจัดเก็บและไม่ต้องการให้รายได้ออกไปนอกประเทศจากการหลบเลี่ยงภาษีมรดก สำหรับสัดส่วน 10% นั้นถือว่าสูงเป็นลำดับที่ 5 ของโลก อีกทั้งยังถูกมองว่าก่อนจะมาเป็นมรดกนั้นก็ได้ผ่านการเก็บภาษีมาแล้วทั้งภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจ ดังนั้นการจัดเก็บภาษีมรดกจะต้องไม่ทำให้ถูกมองว่าเป็นการเสียสองต่อ ทั้งนี้ ยังมีทางเลือก​อื่น อาทิ การเพิ่มการจัดเก็บภาษีฟุ่มเฟือย ทั้งรถยนต์ เหล้า และบุหรี่ ที่จะทำให้การจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น ​ดังนั้น อยากให้พิจารณาให้รอบคอบด้วย

โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ สนช. อภิปรายว่า การจัดเก็บภาษีมรดกอาจจะทำให้ประเทศอื่นได้ประโยชน์มหาศาล เพราะอาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้เศรษฐีไทยนำเงินไปเก็บไว้ที่ประเทศอื่นซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมรดกได้ ดังนั้น ต้องพิจารณาให้รอบคอบ​ ทั้งในประเด็นการบริหารจัดการที่ต้องป้องกันไม่ให้มีการหลบเลี่ยงภาษีมรดกเหมือนกับที่หลายประเทศประสบมาแล้ว และต้องระวังเรื่องความไม่เป็นธรรมกับคนชั้นกลาง ผู้ประกอบการเอ็สเอ็มอี ที่ทุ่มเททำงานแต่ต้องมาเสียภาษีซ้ำซ้อน รวมทั้งทายาทผู้เยาว์ที่อาจจะประสบปัญหาไม่สามารถช่วยตัวเองในการรับมรดกได้อีกด้วย ​

สมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า ฝากให้พิจารณาให้รอบด้านว่า เมื่อทำแล้วจะไม่เกิดการลดการออมในประเทศ โดยจัดการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน เพราะนักวิชาการหลายมหาวิทยาลัยเห็นตรงกันว่า ภาษีมรดกยังเป็นปัญหา ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำได้ตรงจุด นอกจากนี้ อยากให้ผลักดันกฎหมายภาษีอื่นๆ ด้วย อาทิ ภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และต้องนำเข้าสู่สภาฯ โดยเร็ว ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในส่วนของที่ดินการเกษตรนั้นจะมีการยกเว้นหรือไม่ เช่น ถ้าถนนตัดผ่านแล้วทำให้ที่ดินเกษตรราคาสูงและต้องการเก็บที่ดินไว้ทำการเกษตรต่อไปนั้น ควรจะงดเว้นภาษีหรือไม่ และเจ้าของที่ดินที่เป็นบริษัทเกษตรรายใหญ่ เป็นอภิมหาเศรษฐี จะได้รับการงดเว้นหรือไม่ ขอให้มีหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วสนับสนุนกับการจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันไดเพื่อทำให้เกิดการปรับตัว จากน้อยไปหามาก เพราะจะทำให้ไม่เกิดการหลบเลี่ยงภาษี

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. อภิปรายว่า รู้สึกเป็นห่วงกับการจัดเก็บภาษีมรดกที่ไม่แน่นอน หากกระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ที่เรื่องลดความเหลื่อมล้ำนั้น จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ เพราะหากมีการตั้งกองมรดก มูลนิธิ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้ ยังไม่รวมกับการโยกย้ายไปยังต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ รู้สึกสงสัยว่า เหตุใดจึงเก็บเฉพาะภาษีการรับมรดก แต่ไม่เก็บในส่วนของกองมรดกที่เคยทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2476 แต่ยกเลิกไป ทั้งๆ ที่ทำให้รายได้เข้ารัฐเป็นกอบเป็นกำ และประเมินครั้งเดียวแต่ผลระยะยาว ส่วนที่มีการกำหนดว่าเก็บภาษีมรดกจากที่เกิน 50 ล้านบาทนั้น ต่อไปเงินเฟ้อแต่ละปีอาจจะทำให้ค่าเงินน้อยลง ซึ่งจะกลายเป็นภาระให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยได้ 

อิสระ ว่องกุศลกิจ สนช. อภิปรายว่า การจะนำภาษีที่ได้ไปใช้ช่วยเหลือผู้ยากไร้นั้น ควรมีหลักประกันเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการยกระดับชีวิตคนยากไร้ ซึ่งไม่ควรอยู่ในงบประมาณ แต่ควรจะกำหนดให้ชัดเจนว่า จะไปพัฒนาในรูปแบบไหน และหากจะเก็บภาษีนั้นต้องให้เวลากับผู้ประกอบการในการเสียภาษีมรดกด้วย อย่างไรก็ตาม การมีกฎหมายนี้จะเป็นการเร่งให้มีการโอนเงินให้กับทายาท อาจจะทำให้เป็นการสร้างความแตกแยกภายในครอบครัวให้เร็วขึ้นหรือไม่

ขณะที่สมหมาย ชี้แจงว่า สาเหตุที่เก็บภาษีมรดกในอัตราคงที่​ ไม่เป็นแบบขั้นบันไดนั้น เนื่องจากเราเจตนาที่จะเก็บจากผู้ที่มีรายได้สูงมากกว่าผู้ที่มีรายได้ปานกลางอยู่แล้ว จะเห็นได้จากการกำหนดให้เก็บภาษีจากมรดกที่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงแล้ว ​ส่วนกรณีที่หลายประเทศยกเลิกการจัดเก็บภาษีมรดก เช่น ​นอร์เวย์ นั้นเนื่องจากเขามีระบบภาษีการกระจายรายได้ที่ดีมาก คนนอร์เวย์ไม่มีคนรวยมาก จนมาก ไม่เหลื่อมล้ำ เขาใช้การเก็บภาษีอื่นได้ แต่ประเทศไทยต้องเก็บภาษีมรดกเพราะเป็นสัญลักษณ์อันหนึ่ง และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ควบคู่ไปกับภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เพื่อขยายฐานภาษีให้มีประสิทธิภาพ

สาธิต รังคสิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ประเด็นปัญหาที่ห่วงกันว่าผู้รับมรดกจะไม่สามารถชำระภาษีได้นั้น หากเป็นในส่วนของที่ดินต่างจังหวัด ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทคงไม่เป็นภาระเท่าไหร่ แต่ในส่วนที่ดินที่มีราคาแพง อาทิ ย่านเยาวราช ข้อเท็จจริงนั้นมีการทำธุรกิจควบคู่ไปกับที่อยู่อาศัย จึงมีความสามารถที่จะชำระภาษี อีกทั้งกฎหมายยังเปิดช่องให้ผ่อนชำระ 5 ปี โดย 2 ปีแรกไม่มีดอกเบี้ย และหากยังมีปัญหาก็ยังสามารถทำเป็นกองมรดกที่จะไม่ต้องเสียภาษีจนกว่าจะขายหรือมีเงินมาชำระภาษีได้อีกด้วย

ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า สำหรับบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยแต่ได้รับมรดกทรัพย์สินบนแผ่นดินไทยนั้น บุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย เช่น เป็นชาวต่างชาติแต่มาพำนักอยู่ในประเทศไทยแล้วมีภรรยาหรือลูกแต่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยนั้น หากกลับเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาเกิน 3 ปี ไม่ว่าทรัพย์สินจะอยู่ที่ประเทศไหนจะต้องเสียภาษี

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... ด้วยคะแนนเห็นชอบ 160 เสียง ต่อ 16 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว จำนวน 25 คน โดยมีระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน และระยะเวลาทำงานของกรรมาธิการฯ 90 วัน จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ด้วยคะแนนเห็นชอบ 172 เสียง ต่อ 8 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง พร้อมทั้งใช้คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดเดียวกับที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว จำนวน 25 คน โดยมีระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน และระยะเวลาทำงานของกรรมาธิการฯ 90 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท