ดิอีโคโนมิสต์ ยก 'ตูนิเซีย' เป็นประเทศดีเด่นปี 2557

ดิอีโคโนมิสต์ยกประเทศตูนิเซียซึ่งกำลังพยายามก่อร่างสร้างประชาธิปไตยหลังการปฏิวัติอาหรับสปริงให้เป็นประเทศตัวอย่างปี 2557 ตามมาด้วยอันดับสองคือประเทศอินโดนีเซียที่เพิ่งมีประธานาธิบดีพลเรือนสมัยใหม่แทนกลุ่มอำนาจเก่าอย่างกองทัพ


ภาพโดย Gwenael Piaser (Some rights reserved)

18 ธ.ค. 2557 แม้ว่าปี 2557 ดูเหมือนจะเป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดปีหนึ่งของโลกที่มีทั้งโรคระบาด สงคราม การเติบโตของกลุ่มก่อการร้ายอย่าง 'ไอซิส' หรือ 'ไอเอส' แต่ท่ามกลางเรื่องเลวร้ายเหล่านี้ ทางนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ยังระบุว่ามีบางประเทศที่ยังคงเป็นตัวอย่างที่ดีจนน่าจะได้ขึ้นปก "ประเทศแห่งปี" ของนิตยสารพวกเขาได้

ในช่วงปี 2557 ที่ผ่านมามีเหตุการณ์เลวร้ายหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ รวมถึงกับแนวคิดของคำว่า "ประเทศ" เอง เช่นกรณีกลุ่มไอซิสที่ยึดครองบางส่วนของอิรักและซีเรีย การรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซียที่ทำให้เรื่องของพรมแดนมีความยืดหยุ่นมากกว่าจะตายตัว นอกจากนี้ยังมีกรณีของกลุ่มก่อการร้ายโบโก ฮาราม กลุ่มอัลชาบับ และกรณีสงครามกลางเมืองประเทศซูดานใต้

กองบรรณาธิการดิอีโคโนมิสต์ยังได้พิจารณาถึงกรณีกลุ่มนักรบในดินแดนของชาวเคิร์ดที่ชื่อกลุ่มเพชเมอร์กาที่สามารถขับไล่กลุ่มไอซิสและอาจจะช่วยกอบกู้ประเทศอิรักได้ แต่ดินแดนของชาวเคิร์ดก็ยังไม่ถูกระบุว่าเป็นประเทศ ในขณะที่สกอตแลนด์ก็มีการเปิดลงประชามติแยกตัวเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักรแต่ผลการลงประชามติส่วนใหญ่ระบุว่ายังไม่อยากแยกสกอตแลนด์เป็นประเทศ

ประเทศอื่นๆ ที่ได้รับการพิจารณาจากดิอีโคโนมิสต์คือเซเนกัลที่มีการตอบโต้วิกฤติอีโบลาอย่างแข็งขัน อัฟกานิสถานที่แม้ว่าจะยังคงมีกลุ่มตอลีบันไล่สังหารผู้คนแต่ก็ดูมีความหวังมากขึ้นในแง่การเมือง เลบานอนก็เป็นตัวอย่างที่ดีในแง่การรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลโคลัมเบียและกลุ่มกองกำลังปฏิวัติติดอาวุธของโคลัมเบียหรือ FARC ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเจรจาสันติภาพซึ่งหากประสบผลสำเร็จอาจจะได้รางวัลประเทศแห่งปีในปี 2558

ส่วนทางด้านวัฒนธรรม ประเทศอุรุกวัยได้รับการชื่นชมจากการมีท่าทีเปิดเสรีต่อเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันกับการจัดการปัญหายาเสพติด

ดิอีโคโนมิสต์ยังชื่นชมความสำเร็จด้านประชาธิปไตยของประเทศอินเดียและอินโดนีเซียจากการเลือกตั้งในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งพวกเขาจัดให้อยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศแห่งปี 2557 จากการที่โจโค วิโดโด นักการเมืองผู้ทันสมัยสามารถชนะคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายทหารอนุรักษนิยมจนได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเพื่อปฏิรูปประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองได้

ส่วนประเทศที่ดิอีโคโนมิสต์ยกให้เป็นประเทศดีเด่นปี 2557 คือประเทศตูนิเซีย ซึ่งหลังการปฏิวัติอาหรับสปริงเป็นผลสำเร็จพวกเขาก็มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและ ส.ส. แม้ว่าทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองจะยังบอบบางอยู่ แต่การเดินทางสายกลางและวิถีแบบปฏิบัตินิยมของตูนิเซียก็ทำให้ประเทศนี้เป็นความหวังท่ามกลางพื้นที่ภูมิภาคที่โชคร้ายและในโลกที่กำลังมีปัญหา

"ประเทศดีเด่นอันดับ 1 และ 2 ของพวกเราในปี 2557 ได้รับการคัดเลือกจากที่มีวุฒิภาวะทางการเมือง ซึ่งมีการพิจารณาจากทั้งตัวผู้นำและจากประชาชนเช่นเดียวกับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อื่นๆ" ดิอีโคโนมิสต์ระบุในบทความ

 

เรียบเรียงบางส่วนจาก

Our country of the year : Hope springs, The Economist ฉบับ Leaders
http://www.economist.com/news/leaders/21636748-has-been-bad-year-nation-states-someand-one-particulardeserve

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท