Skip to main content
sharethis

กมธ.ปฏิรูปการเมือง เสนอให้เลือกนายกฯ-ครม. โดยตรง ขณะที่สมาชิกหลายคน ไม่เห็นด้วยหวั่นมีอำนาจมากเกิน  กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นเสนอจัดสรรงบตามพื้นที่และภารกิจเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น กมธ.ปฏิรูปการบริหารแผ่นดินเสนอตั้งคณะกรรมการจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ

17 ธ.ค. 2557 การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันนี้ โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธาน สปช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติถึงแนวทางยกร่างรัฐธรรมนูญต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยนายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เสนอให้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้รัฐ ส่งเสริมความเป็นอิสระทางการคลังของท้องถิ่น โดยจัดให้มีระบบคู่ขนาน คือการจัดสรรงบประมาณตามพื้นที่ ควบคู่การจัดสรรงบประมาณตามภารกิจ ภายใต้หลักการที่มุ่งสร้างความยืดหยุ่นคล่องตัวให้ท้องถิ่น ซึ่งรายได้ของรัฐที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นใดให้ขึ้นบัญชีเป็นรายได้ท้องถิ่นนั้น ทั้งนี้ รายได้ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นให้จัดสรรแก่ท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 นอกจากนี้ ต้องมีระบบการคัดกรองที่ดีเพื่อให้ได้ผู้มีคุณธรรมเข้ามาบริหารงานท้องถิ่น และประชาชนต้องถอดถอนผู้นำท้องถิ่นได้

สมาชิกสปช.ส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วยกับข้อเสนอของกรรมาธิการฯ แต่แสดงความเป็นห่วงเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พบว่ามีปัญหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่นจำนวนมาก และต้องหามาตรการป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาอีก อีกทั้งต้องจัดดุลอำนาจในท้องถิ่นด้วยการเพิ่มกลไกดูแลตรวจสอบฝ่ายต่างๆ อาทิ ตั้งสภาพลเมือง สภาประชาชน เพื่อดูแลกำกับและตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิก สปช. อภิปรายว่า ต้องให้ความสำคัญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการกระจายอำนาจ และอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากการทุจริตที่เกิดขึ้นมากเพราะไม่กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น จึงฝากไปถึงผู้มีอำนาจว่าอย่าหวงอำนาจ

นายวุฒิสาร ตันไชย กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่ากรรมาธิการรับฟังข้อเสนอแล้วได้แนวทางใหม่ที่สอดคล้องกับแนวคิดกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการปฏิรูป หลายเรื่องสามารถบรรจุไว้ได้ในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญใหม่ควรวางหลักการสำคัญและวางเรื่องใหม่ในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งการกระจายอำนาจต้องเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ ด้วย ดังนั้น ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญต้องเปิดกว้างเพื่อความหลากหลาย รวมถึงต้องทบทวนกฎหมายที่มีอยู่ และยกร่างกฎหมายใหม่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

กมธ.ปฏิรูปการบริหารแผ่นดินเสนอตั้งกก.ธรรมาภิบาลแห่งชาติ

ขณะที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน นายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ เพื่อรับผิดชอบพัฒนาระบบและกลไกเกี่ยวกับการใช้หลักธรรมาภิบาล การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งลดการแทรกแซงของภาครัฐในกลไกตลาด และการบริหารราชการแผ่นดินต้องจัดแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ชาติและประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่ยึดตามนโยบายพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียงจนขาดความต่อเนื่อง ไม่รอบคอบ

นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอขององค์กรต่างๆ ที่ให้มี พ.ร.บ.ระเบียบบริหารจังหวัดปกครองตนเอง เพราะจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคง เนื่องจากจะต้องยกเลิกหน่วยงานของท้องถิ่น แต่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นและให้คงการปกครองส่วนภูมิภาคไว้ พร้อมขอเสนอให้มอบอำนาจการบริหารจัดการงบประมาณให้จังหวัด โดยจังหวัดสามารถตั้งงบประมาณขึ้นมาตามโครงการต่างๆที่ท้องถิ่นเสนอ ซึ่งจะสามารถลดภาระการบริหารงานของส่วนกลางและทำให้เกิดความเท่าเทียมของประชาชนในแต่และท้องถิ่นได้ พร้อมกันนี้ยังเสนอให้จังหวัดเป็นศูนย์รวมอำนาจในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในจังหวัดของตัวเองได้โดยไม่ขึ้นกับส่วนกลาง

สปช.หลายคนค้านเลือกนายกฯโดยตรง หวั่นอำนาจมากไป

นอกจากนี้ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง เสนอให้ประชาชนเลือกตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรง โดยให้พรรคการเมืองระบุชื่อนายกรัฐมนตรีและ ครม.ทั้งคณะ หากปรากฏว่าการเลือก ครม. รอบแรกไม่มีผู้สมัครคณะใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้นำคณะที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งและสองมาเลือกตั้งใหม่ภายในเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ ระหว่างการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลรักษาการ โดยให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาการแทนรัฐมนตรี ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดให้มี ส.ส. 350 คน โดยใช้ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ส่วนที่มาส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และเลือกจากกลุ่มองค์กรวิชาชีพและกลุ่มอาชีพอื่นๆ อีก 77 คน รวมทั้งหมด 154 คน

คณะกรรมาธิการฯ ยังเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง ไม่ต้องผ่านอัยการ และให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ ควรตั้งศาลว่าด้วยคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการและให้พนักงานอัยการสามารถสอบสวนคดีอาญาได้โดยตรง เพื่อสอดคล้องหลักสากล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจเพียงการจับกุม

จากนั้นเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช. ที่ลงชื่อไว้ 39 คน อภิปราย มีสมาชิกหลายคนอภิปรายไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกรรมาธิการเสียงข้างมาก เช่น นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เสนอให้มองภาพรวม ไม่ใช่แก้ปัญหาหนึ่งแต่ทำให้เกิดปัญหาหนึ่ง เช่นเลือกนายกรัฐมนตรีตรง อาจทำให้เกิดปัญหาการแทรกแซงนายกรัฐมนตรีโดยตรง ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง ควรลดทอนอำนาจ กกต. ให้มีศาลคดีเลือกตั้ง อีกทั้งเห็นว่าไม่ควรควบรวม ป.ป.ช.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) เข้าเป็นองค์กรเดียวกัน แต่ให้บูรณาการการทำงาน

นายชัย ชิดชอบ สมาชิก สปช. ไม่เห็นด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพราะเชื่อว่าไม่สามารถขจัดนายทุนพรรค หรือลดการซื้อสิทธิขายเสียงได้ และที่ผ่านมา ไม่มีใครสามารถจับนักการเมืองที่ทุจริตได้ ควรบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองและต้องเป็น ส.ส. ส่วน ครม. เป็นอำนาจของสภาฯ ที่จะเห็นชอบ และต้องบัญญัติกลไกขจัดการทุจริตด้วย

“จากเดิมเลือก ส.ส. คนนึง อาจเสียเงิน 100-500 บาท ต่อไป เลือกทั้ง ส.ส. และ ครม. คงต้องเสียไม่ต่ำกว่า 1,000-10,000 บาท ผมอยากให้รัฐธรรมนูญมีมาตรการสกัดกั้น การซื้อสิทธิขายเสียงให้ชัดเจน” นายชัย กล่าว

นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. อภิปรายว่า ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว เพราะปี 2550 เกิดปัญหาระหว่าง ส.ว. สรรหาและ ส.ว. เลือกตั้ง ที่ ส.ว. เลือกตั้งเข้าชื่อยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. อีกทั้ง ส.ว.สรรหาไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง และ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองเป็นหัวใจในการปกครองของระบบพรรคการเมือง ดังนั้น พรรคการเมือง ต้องถูกส่งเสริมให้มีความเข้มแข็ง ส่วนจำนวน ส.ส. เห็นว่า จำนวน ส.ส.เท่าเดิม คือ 500 คน โดย 400 คน มาจากการเลือกตั้ง และอีก 100 คนมาจากบัญชีรายชื่อนั้นมีความเหมาะสมแล้ว

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช. อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการเลือกนายกรัฐมนตรีและ ครม. โดยตรง เพราะไม่ได้ลดอำนาจรัฐ แต่กลับเพิ่มอำนาจรัฐมากยิ่งขึ้น และจะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับที่ผ่านมา ที่รัฐบาลมีอำนาจและเสถียรภาพมากจนเกินไป ไม่รับฟังเสียงของประชาชน และทำให้ยากต่อการตรวจสอบ เช่นเดียวกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน มองว่าจะยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหามากขึ้น เพิ่มอำนาจให้เกิดการผูกขาดของพรรคการเมือง พร้อมกันนี้เปรียบเทียบว่าที่ผ่านมาพรรคการเมืองของไทย เป็นเพียงบริษัทนิติบุคคล ที่ให้โอกาสกลุ่มทุนการเมืองและนักการเมืองที่แสวงหาอำนาจ เข้ามาแสวงหาประโยชน์

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. เห็นว่า ส.ส. ต้องมาจากการเลือกตั้งและจากบัญชีรายชื่อ ขณะที่ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และจากการเลือกตั้งองค์กรวิชาชีพต่างๆ พร้อมกันนี้เสนอให้มีศาลปราบปรามทุจริตการเลือกตั้ง และศาลเลือกตั้ง เพื่อตัดสินคดีต่างๆที่เกิดจากการทุจริตการเลือกตั้ง

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ยืนยันว่าข้อเสนอทั้งหมด กรรมาธิการยกร่างฯ จะนำไปพิจารณา รวมถึงข้อเสนอที่ให้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งประเด็นนี้แม้จะกรรมาธิการยกร่างฯ บางคนสนับสนุน แต่ขอตั้งข้อสังเกต ว่า กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ไม่ได้ให้หลักประกัน ว่าการเลือกตั้งครั้งใหญ่ จะป้องกันการใช้เงินในระบบเลือกตั้งเป็นจำนวนมากได้อย่างไร ขณะที่กระแสสังคมก็ไม่เห็นด้วยในประเด็นเรื่องการเลือกนายกฯและครม. โดยตรง

“แม้แต่ตัวนายบวรศักดิ์ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเอง ก็เปิดเผยในห้องประชุมหลายครั้งว่า เคยทำผิดพลาด แล้ว 2-3ครั้ง ที่ไม่สามารถขจัดปัญหาที่มาจากระบบการเลือกตั้งได้ และไม่อยากให้มันซ้ำรอยอีก” นายคำนูณ กล่าว

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net