คำสั่ง คสช.64, 66 กระทบหนัก ฟ้องชาวบ้าน 500 คดี อีสานอ่วม-นัดถก ‘ดาวพงษ์’ พรุ่งนี้

ภาคประชาชนแถลงผลกระทบ คำสั่ง คสช.64-66-แผนแม่บทป่าไม้ ชาวบ้านเจอฟ้อง 500 คดี อีสานหนักสุดเรียกรับข้อกล่าวหา 1,764 ครอบครัว เตรียมถก ‘ดาวพงษ์’  รมว.กระทรวงทรัพฯ พรุ่งนี้

17 ธ.ค.2557 องค์กรภาคประชาชนกรณีปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ จัดแถลงข่าวผลกระทบอันเนื่องจากคำสั่ง คสช.ที่ 64, 66 และแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน โดยมีตัวแทนภาคประชาชนจากภาคเหนือ อีสาน ใต้ ตะวันออก และกรุงเทพฯ ร่วมแถลงข่าว

ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวว่า แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64 และ 66 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐเป็นจำนวนมากในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีการดำเนินคดีมากกว่า 500 คดี และมีครอบครัวที่ถูกประกาศเรียกรายงานตัวเพื่อยึดคืนพื้นที่มากกว่า 1,700 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือ

ที่ปรึกษาพีมูฟ อ้างคำแถลงของ กอ.รมน.ที่กล่าวว่า ในการดำเนินคดีกับชาวบ้านข้อหามีไม้ไว้ในครอบครอง 500 คดีเศษนั้น พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่นายทุนหรือผู้บุกรุกรายใหญ่และไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าไม้ ซึ่งการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของแผนแม่บทป่าไม้และคำสั่ง คสช.ที่ 66 ซึ่งระบุว่าการดำเนินการใดๆ ต้องไม่กระทบต่อผู้ยากไร้และผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้นก่อนวันที่ 17 มิ.ย.57

ประยงค์กล่าวด้วยว่า สิ่งองค์กรภาคประชาชนมีความกังวลอยู่ในขณะนี้คือ การที่อาจไม่มีการบรรจุประเด็นเรื่อง ‘สิทธิชุมชน’ ไว้ในกรอบของร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่พบอยู่ในข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่าง ทั้งที่สิทธิชุมชนเคยได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับคือ ฉบับปี 2540 และ 2550

เหลาไท นิลนวล จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนในภาคอีสาน 20 จังหวัดได้ติดตามผลกระทบการใช้คำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 ในช่วง 6 เดือนเศษที่ผ่านมา พบว่ามีเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีฐานะยากจนถูกดำเนินคดีโดยคดีที่ขึ้นการพิจารณาของศาลแล้วอย่างน้อย 103 ครอบครัว ขณะนี้ชาวบ้านกำลังมีความกังวลว่าจะตกเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกินในทันที

ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงคือคนที่อยู่ระหว่างถูกหมายเรียกตัวให้มารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งมีจำนวนถึง 1,764 ครอบครัว ที่หนักหนาสาหัสอยู่ในจังหวัดสกลนคร ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และในพื้นที่เทือกเขาภูพาน ซึ่งขณะนี้ถูกห้ามไม่ให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ทำกินแล้ว

เหลาไทกล่าวว่า คำสั่งของ คสช.และแผนแม่บทป่าไม้ ไม่มีกระบวนการที่ให้ความเป็นธรรมในการพิสูจน์สิทธิ หรือให้สิทธิประชาชนในการนำเสนอข้อมูล แต่เป็นการดำเนินการโดยใช้กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือ

“การใช้กฎอัยการศึก เป็นปัญหามากในการละเมิดสิทธิของชุมชนและของชาวบ้านผู้ยากไร้ และแนวโน้มบอกได้ว่าความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น” เหลาไทกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการเลือกปฏิบัติในทวงคืนพื้นที่ป่าในลักษณะที่เป็น 2 มาตรฐาน โดยเขากล่าวว่า มีการยึดคืนเฉพาะพื้นที่ของเกษตรกรรายย่อย ในขณะที่ไม่มีการแตะต้องพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ พลังงาน และอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการสร้างความไม่ยุติธรรมในการเข้าถึงฐานทรัพยากร ในขณะที่การยึดคืนพื้นที่ป่ากลับเป็นการควบรวมและเพิ่มอำนาจให้กับหน่วยงานป่าไม้ของรัฐ รวมทั้งการเพิ่มงบประมาณ โดยปราศจากการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนในการร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ป่า

“ประกาศชัดเจนว่าจะร่วมกับพี่น้องทั้ง 4 ภาค ต้องมีการปฏิรูปนโยบายฐานทรัพยากร เรื่องของคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ คือ 64 และ 66 และนโยบายแผนแม่บทของป่าไม้” ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานกล่าว

กรณีของภาคใต้ กันยา ปันกิตติ จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) กล่าวว่า หลังมีคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66  สถานการณ์ในพื้นที่เทือกเขาบรรทัดทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถเจรจากับเจ้าหน้าที่ได้ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้น ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่สวนยางที่ปลูกไว้ได้และเสียสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์สวนยาง และในบางพื้นที่ของ จ.สุราษฎร์ธานี และกระบี่ มีการตัดฟันและทำลายต้นยางของชาวบ้านด้วย

ส่วนผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้อื่นๆ วิษณุ เหล่าธนะถาวร จากเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) กล่าวว่า มีชุมชนอย่างน้อย 2 แห่งใน จ.ภูเก็ต คือ ที่มะลิแก้วและหลีเป๊ะ ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาด โดยนายทุนได้นำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ วิษณุกล่าวว่าต้องยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 และต้องปรับปรุงแผนแม่บทป่าไม้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ในตอนท้ายของการแถลงข่าว มีการอ่านแถลงการณ์ถึงกรณีผลกระทบจากการประกาศใช้ คำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ (อ่านแถลงการณ์) โดยหลังจากนี้ ตัวแทนองค์กรภาคประชาชนจะเดินทางไปประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนแม่บทป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ร่วมกับพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค.) เวลา 9.30 น.ที่ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคารสำนักงาน ก.พ.เดิมด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท