3 เครือข่ายคนจนรุมทวงสัญญา คสช.

พีมูฟ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล รุมถามเมื่อไรถึง "จะทำตามสัญญา" พร้อมออกแถลงการณ์ ชี้รัฐต้องเคารพสิทธิชุมชน

17 ธ.ค. 2557 – วันนี้กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล และกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กระจายตัวเข้าทวงสัญญาจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี และรัฐสภา พร้อมเสนอให้มีการพลักดันการออกกฏหมายปฏิรูปที่ดิน 4 ฉบับ และเร่งการดำเนินการเแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูล

ที่รัฐสภา เวลาประมาณ 12.00 น. กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ ได้เข้ายื่นหนังสือ ต่อนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อขอให้มีการแก้ไขของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ66/2557 และแผ่นแม่บทป่าไม้  และได้เข้ายื่นหนังสือต่อ สมชาย แสวงการ คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้มีการระงับและทบทวนการบังคับใช้แผนแม่บท บัญญัติสิทธิชุมชนไว้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งให้มีการผลักดันการออกกฏหมายปฏิรูปที่ดิน 4 ฉบับ (พรบ.สิทธิชุมชนฯ พรบ.ธนาคารที่ดิน พรบ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พรบ.กองทุนยุติธรรม)

ที่จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (ส.ก.น) ได้ทำกิจกรรมเดินก้าวที่ 4 มายังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์ดำรงธรรม เพื่อติดตามผลการเจรจา ซึ่งตัวแทนรัฐบาลรับปากว่าจะมีการทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ พ.ศ.2557 ตามข้อเสนอของ สกน. และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) แต่วันนี้ผ่านมา 1 เดือนแล้วยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ อีกทั้ง เดินก้าวที่ 4 ไปยังมลฑลทหารบก 33 เพื่อยื่นหนังสือถึงหัวหน้า คสช.

ที่จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ราว 20 คน ได้เดินทางเข้ามาที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี และขอเข้าพบกับ เสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอให้ทางจังหวัดประสานกับ ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือถึง ปนัดดา เมื่อหนึ่งเดือนก่อน เพื่อขอให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาผลกระทบจากกรณีเขื่อนปากมูล แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา หรือพูดคุยเจรจากันแต่อย่างใด พร้อมฝากคำถามไปยัง ปนัดดา ว่าจะสามารถเปิดการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาได้เมื่อใด

ขณะเดียวกันก็ได้มีการยื่นหนังสืออีกฉบับ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงท่าทีในการคัดค้านให้ รัฐบาลลาว ชะลอการสร้างเขื่อนดอนสะฮอง เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของพันธ์ปลาในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา เพราะจะทำให้เส้นทางการเดินทางเพื่อวางไข่ และสืบพันธุ์ของปลาจะถูกปิดกั้นลง และถึงที่สุดจะส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่ชาวปากมูนเข้าไปยังศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรอพบผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีการเปิดห้องรับรองให้ชาวบ้านเข้าไปนั่งรอ แต่มีชาวบ้านพบว่าผู้ว่าฯ กำลังจะลงลิฟต์เพื่อออกจากตึก จึงได้เข้าไปสอบถาม และได้มีการตกลงกับชาวบ้านว่า จะให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับเรื่องไว้แทน เนื่องจากตนติดภาระกิจ

ภายหลังจากการพูดคุยกับ คันฉัตร ต้นเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีข้อตกลงว่าจะมีการประสานงานให้รัฐบาลรับทราบ และจะแจ้งความคืบหน้าภายใน 15 วัน  

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม พร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย ได้ร่วมกันประกาศแถลงการณ์ ต่อกรณีผลกระทบจากการประกาศใช้ คำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

แถลงการณ์ฉบับที่ 6

รัฐต้องหยุด !!! เข่นฆ่า คุกคาม ชุมชนด้วยแผนแม่บทป่าไม้

ยืนหยัดเพื่อ “สิทธิชุมชน” หยุด “ปล้นที่ดินคนจน”

พวกเราขบวนการประชานเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) เป็นส่วนหนึ่งของผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐภายใต้คำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 / 2557 รวมทั้งแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2557 จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งได้เผชิญกับประสบการณ์อันโหดร้าย เจ็บปวด  รวมถึงความสูญเสียที่ได้รับจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังพยายามทุกวิถีทางที่จะแย่งยึดแผ่นดินที่เราอยู่อาศัยทำกินมาแต่บรรพบุรุษ ด้วยการจับกุม ข่มขู่ คุกคาม ทำลายบ้านเรือนทรัพย์สิน และพืชผลอาสิน ของเราอยู่ตลอดเวลา

ภายใต้การต่อสู้เรียกร้องอันยาวนานของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และองค์กรเครือข่าย พวกเราได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ในท่ามกลางภาวะวิกฤติ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก อันเกี่ยวข้องกับการลดลงของทรัพยากรป่าไม้  การแย่งยึดที่ดินในนามของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และข้อกล่าวอ้างในการพัฒนา การก่อสร้าง และการผลักดันโครงการขนาดใหญ่เพื่อความเจริญของประเทศชาติ การแสวงหาผลกำไรสูงสุดของภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ การทำเหมืองแร่ การก่อสร้างเขื่อน การพัฒนาเมือง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ผลักไสให้คนจนและเกษตรกรรายย่อยต้องตกเป็นจำเลยของสังคมและเผชิญกับชะตากรรมอันเลวร้ายเพียงลำพัง

การปราศจากซึ่งรัฐธรรมนูญที่ให้ความเคารพและคุ้มครอง “สิทธิชุมชน” ส่งผลให้การปฏิบัติการตามคำสั่ง คสช. และแผนแม่บทดังกล่าว เป็นไปด้วยความรุนแรงและไร้ความปราณี ชุมชนเกษตรกรรายย่อย ชาวไร่ ชาวนา บนที่สูง ที่ราบ และชายฝั่ง  หรือแม้กระทั่งคนจนเมืองต่างถูกกีดกัน  ผลักดัน ให้อพยพโยกย้าย และละเมิดสิทธิในที่ดิน ทรัพยากร ชีวิต ทรัพย์สิน และอิสรภาพในชีวิต โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน เราพบว่ามีชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ยากไร้ถูกดำเนินคดีแล้วมากกว่า 300 คน ในข้อหาบุกรุก และอีกกว่า 1,700 ครอบครัว ที่ถูกประกาศยึดคืนพื้นที่ทำกิน และออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา และคาดว่าในเดือนมกราคม ถึงเดือน มีนาคม 2558 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 35,000 ครอบครัว

การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินไปอย่างเลือดเย็นและไร้ความเป็นธรรม การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมระหว่างชุมชนผู้ยากไร้กับนักลงทุน และผู้มีอิทธิพล

ผลกระทบจากแผนแม่บทฯและการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ในนามการหยุดยั้งการบุกรุกและการทวงคืน “ผืนป่า” อันเป็นแผ่นดินและถิ่นอาศัยของพวกเรา ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน และการดำรงวิถีชีวิตอย่างปกติสุขของพวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก ผู้หญิง และคนชรา ชนเผ่า คนพื้นเมือง และชาติพันธ์ ที่อ่อนไหวเปราะบางต่อการอพยพโยกย้าย อันเนืองมาจากการไล่รื้อบ้านเรือน และยึดคืนผืนดินทำกิน

การดำเนินการดังกล่าวนอกจากส่งผลโดยตรงต่อวิถีการดำรงชีพ การประกอบอาชีพ แล้วยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของคนจน รวมทั้งการดำรงอยู่  และการถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมอีกด้วย

การข่มขู่ จับกุมคมขัง การใช้กฎหมายและวิธีการนอกกฎหมาย จากการปฏิบัติการนอกเหนือจากส่งผลสะเทือนต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นคุณค่าสากล ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญในการปกป้องสิทธิของพลเมืองในประเทศแล้ว ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลและความเชื่อมั่นต่อแนวทางการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ที่รัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่อีกด้วย

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งอยู่ในขบวนการต่อสู้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูป การจัดการทรัพยากร ด้วยการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม การสร้างแนวคิด สิทธิ รูปแบบใหม่ในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วม หรือโฉนดชุมชน เพื่อแก้ปัญหาที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

เราขอเรียกร้องรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1.ยุติปฏิบัติการทั้งหมดที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิต ที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน ของประชาชน และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างยุติธรรม ชะลอการดำเนินกระบวนการทางกฎหมายในคดีความอันเนื่องมาจากปฏิบัติการฯ

2.ระงับและทบทวนการบังคับใช้แผนแม่บท และจัดกระบวนการให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในกระบวนการทบทวนและแก้ไขแผนแม่บทอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

3.ในระดับนโยบาย ผลักดันให้บัญญัติสิทธิชุมชน รวมทั้งคุ้มครองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

4.ในเชิงกลไก ให้มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ ปรับปรุงให้มีความทันสมัย และผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริม คุ้มครอง การจัดการที่ดินโดยภาคประชาชน ได้แก่ พรบ.จัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า , พรบ.จัดตั้งธนาคารที่ดิน และพรบ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร

 

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน

17 ธันวาคม 2557

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  (ขปส.)

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)     

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)     

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.)          

เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)

เครือข่ายสลัม 4 ภาค

เครือข่ายป่าชุมขนรอยต่อ5จังหวัดภาคตะวันออก

เครือข่ายปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท