Skip to main content
sharethis
 
บอร์ดค่าจ้างยันไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานวอนรัฐคุมราคาสินค้าหลังเพิ่มเงิน ขรก.
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างมีมติยืนยันให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทั่วประเทศไปจนถึงปลายปี 2558 ตามมติเดิม เนื่องจากวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แล้วพบว่า ขณะนี้ค่าครองชีพไม่มีการปรับขึ้น ราคาน้ำมันลดลง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ส่วนข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานที่เรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 321 บาท นั้น ยังไม่มีการยื่นหนังสือมายังบอร์ดค่าจ้างอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการหยิบยกมาพิจารณาร่วมด้วย ส่วนกรณีที่แรงงานเป็นห่วงว่าราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับขึ้นค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่มีอัตราเงินเดือนไม่ถึง 9,000 และ 13,000 บาทนั้น ที่ประชุมพิจารณาว่ามีการปรับขึ้นแต่ค่าครองชีพเท่านั้นและเป็นจำนวนไม่มาก อีกทั้งรัฐบาลได้ให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ปรับขึ้น ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างจะมีการหารือกันอีกครั้งในช่วงปลายปี 2558
       
ด้าน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หากค่าครองชีพไม่มีการปรับขึ้นแล้วไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่มีปัญหา แต่หากมีการปรับขึ้นค่าครองชีพก็ควรจะปรับให้กับแรงงานเพราะที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องนี้มาตลอด ทั้งนี้ คิดว่า จะมีการสำรวจค่าครองชีพในช่วงต้นปีหน้าในเดือนมกราคมถึงมีนาคม จากกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนกว่า 1,000 คน ว่า การที่น้ำมันลดราคาลงแล้วทำให้ค่าครองชีพปรับลดลงด้วยหรือไม่ หากสำรวจแล้วมีผลกระทบก็จะเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อพิจารณาถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของแรงงาน ส่วนการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้นมองว่าอาจจะมีการฉวยโอกาสของพ่อค้าแม่ค้าบางกลุ่มที่ปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะเห็นว่ามีการขึ้นเงินเดือน อยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าไว้
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-12-2557)
 
สปส.ขยายเวลาสมัครประกันตน มาตรา 40
 
นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า หลังการปิดรับสมัครผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ายังมีผู้สูงอายุจำนวนมากไม่สามารถสมัครได้ทันภายในเวลาที่กำหนด  นายกรัฐมนตรี จึงมีนโยบายขอให้กระทรวงแรงงาน ไปดำเนินการแก้พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคล ตามมาตรา 40 เพื่อขยายระยะเวลาการเปิดรับสมัครให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป โดยเบื้องตน จะขยายระยะเวลาการรับสมัครให้อีก 10 วัน ซึ่งจะเริ่มนับตั้งแต่เสร็จสิ้นการแก้ไข พ.ร.ฎ. คาดว่าจะดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนเทศกาลปีใหม่นี้ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน
 
ด้าน นายโกวิท สัจจวิเศษ โฆษกสำนักงานประกันสังคม ระบุว่าวันพรุ่งนี้จะเสนอหนังสือการแก้ไขพระราชกฤษฎีกา เพื่อเปิดให้ผู้สูงอายุ มาลงทะเบียนผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ และ จะเสนอถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้า คาคมีผู้สูงอายุสมัครเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม ระบุว่ามาตรา 40 โดยเฉพาะทางเลือกที่ 3 ต้องการให้ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปี ได้ออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ดังนั้น ผู้ประกันตนในส่วนของเงินชราภาพ ที่สมัครแล้วจ่ายย้อนหลังไปถึงเดือน พ.ค. 2555 จำนวน 3,200 บาท และ รัฐทบให้อีกเท่าตัวนั้น ถ้าไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรถอนเงินออกมาใช้ ขอให้เก็บเงินก้อนนี้ไว้ในยามจำเป็นจริงๆ
 
อย่างไรก็ตาม หลังสำนักงานประกันสังคม ปิดรับลงทะเบียนผู้สูงอายุ ทำให้มีผู้สูงอายุจำนวนมากลงทะเบียนไม่ทัน ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ขยายเวลาออกไป จึงยังคงรอความหวังจากรัฐบาลว่าจะไปยื่นขอลงทะเบียนได้เมื่อใด
 
(ครอบครัวข่าว, 10-12-2557)
 
พนง.โรงงานอุตสาหกรรมปราจีนฯผละงานประท้วงขอเพิ่มโบนัส
 
เมื่อเวลา 0.20 น.วันนี้ 10 ธ.ค.57 พนักงานโรงงานอุตสาหกรรม สองแห่งในนิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ผละงานประท้วงในปลายปีนี้ ไม่พอใจผู้บริหารตัดเงินโบนัสลง จนเกิดการ นัดหยุดงาน ตั้งช่วงสายวันนี้จรดยันดึกเที่ยงคืน  ทั้งนี้ มีพนักงานโรงงานซันชาย ซึ่งเป็นโรงงานผลิตหัวเชื้อน้ำส้มกว่าหนึ่งร้อยคน จากพนักงานทั้งหมดสี่ร้อยกว่าไม่ยอมเข้าทำงาทนตามปกติ หลังทราบว่าทางผู้บริหารซึ่งเป็นชาวจีน ได้ปรับลดเงินโบนัสจาก สองเดือน เหลือ เพียง 1.6 เดือน และยังมีการแบ่งจ่าย ซึ่งสร้างความไม่พอใจ จึงมีการหยุดงาน พร้อมมีการตั้งเต๊นท์ร้องรำทำเพลง พร้อมทั้งมีการขัดขวางพนักงานบางคนที่ไม่ทราบเรื่อง และจะเข้าไปทำงานตามปกติ สุดท้ายหลังมีการส่งตัวแทนข้าเจรจา โดยมีทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี เข้าพูดคุยจนทางผู้บริหารยอมจ่ายโบนัสให้เท่าปีที่ผ่านมา คือ 2 เดือนแต่ขอจ่ายให้สองครั้งคือ สิ้นเดือนธันวาคม 57 และอีกงวดคือสิ้นเดือน กุมภาพันธ์ 2558 เนื่องจากทางบริษัทอยู่ในระหว่างการก่อสร้างขยายการผลิต พนักงานส่วนหนึ่งที่ออกมาประท้วงจึงไม่พอใจและคงปักหลักประท้วงต่อ
 
ขณะที่อีกแห่ง บริษัท ยาโน่ อีเล็คทริก (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ถ่ายภาพ และแผงวงจรอีเล็กทรอนิกส์ เริ่มมีการรวมตัวของพนักงานปละปลายตั้งแต่ช่วงกลางวันจนกระทั่งค่ำที่ผ่านมา ขณะที่พนักงานกะกลางวัน จะออกกะสลับกับ กะกลางคืน(ดึก) ได้เกิดการผละงานประท้วงผู้บริหารที่จะมีการปรับลดโบนัสลงเหลือ 3 เดือนจากที่เคยได้รับ 4 เดือน โดยอ้างเหตุผล บริษัทตกอยู่ในสถานะขาดทุนสินค้าส่งออกไม่ได้โดยไม่ได้ทำความเข้าใจกับพนักงาน จึงมีการผละงานของพนักงานทั้งสองกะ กว่า 800 คน จนทางโรงงานต้องสั่งหยุดการเดินการผลิต พร้อมเจรจากับตัวแทนพนักงาน โดยมี ส่วนราชการทั้ง ฝ่ายปกครองอ.ศรีมหาโพธิ และ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.ปราจีนบุรีวิ่งวุ่น เข้าไปเป็นสักขีพยานในการเจรจา โดยเบื้องต้นทางโรงงานขอเพิ่มให้เป็น 3.6 แต่ทางพนักงานไม่ยอมขอเป็นเท่าเดิมคือ 4 เดือน และไม่ต้องจัดเลี้ยงปีใหม่ ซึ่งล่าสุดการเจรจายังไม่บรรลุผล
 
โดยทางพนักงานที่ผละงานต่างจับกลุ่มอยู่ด้านหน้าเพื่อรอคำตอบ ขณะที่บางส่วนอาศัยสนามหน้าโรงงานนั่งจับกลุ่มพูดคุย พร้อมกับพนักงานกะกลางคืน ที่อยู่ด้านนอก ต่างโห่ร้องปรบมือเชียร์ให้กำลังใจแกนนำที่เข้าไปเจรจา ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการเจรจาที่ยืดเยื้อเนื่องจากทางผู้บริหารยังคงยืนกราน 3.6 เท่าเดิม
 
ซึ่งตลอดเวลามีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี คอยดูแลรักษาความปลอดภัยเนื่องจากมีพนักงานบางกลุ่มตั้งวงดื่มสุรา จนเวลาผ่านไปนานหลาย ชั่วโมง ในที่สุดการเจรจาเป็นผลสำเร็จโดยทางบริษัทยอมจ่ายให้ตจามที่พนักงานร้องขอ หลังจากนั้นพนักงานต่างแยกย้ายกลับ
 
(คมชัดลึก, 10-12-2557)
 
ไทยแอร์โรว์ 2 พันคน ประท้วงหยุดงาน เรียกร้องโบนัส 7 เดือน
 
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงงานบริษัทไทยแอร์โรว์ จำกัด ม.7 ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก พนักงานไทยแอร์โรว์ กะเช้า กว่า 2,000 คน ได้นัดหยุดงานประท้วง ไม่เข้าทำงาน โดยรวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าโรงงาน เรียกร้องผู้บริหาร ขอเงินโบนัสเพิ่ม ซึ่งเบื้องต้นปีนี้บริษัทจะจ่ายเงินโบนัสให้พนักงาน จำนวน 6 เท่าของเงินเดือน บวกเงินอีก 5,500 บาท แต่พนักงานเรียกร้องขอโบนัส 7 เท่าของเงินเดือน บวก 10,000 บาท 
 
ขณะที่ปีที่แล้ว บริษัทจ่ายโบนัสให้พนักงาน 7.8 เท่าของเงินเดือน บวกเงิน 12,000 บาท ทั้งนี้พนักงานยังคงปักหลักประท้วง มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองสวัสดิการแรงงานเดินทางเข้าไปยังภายใน โดยเบื้องต้นยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรง
 
ทั้งนี้บริษัทไทยแอร์โรว์ จำกัด เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดใน จ.พิษณุโลก ผลิตระบบสายไฟและอุปกรณ์ มีพนักงานประมาณ 4,200 คน 
 
(ข่าวสด, 11-12-2557)
 
แจงออก พ.ร.ฎ. ขยายยื่น ม.40 ใช้เวลากว่า 2 ด.คาดรับสมัคร 7-16 ก.พ
 
วันที่ 11 ธ.ค. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรณี การเปิดรับสมัครผู้ประกันตน มาตรา 40 สำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ปรากฏว่า มีผู้สูงอายุให้ความสนใจ สมัครเป็นจำนวนมาก และมีส่วนหนึ่งพลาดโอกาส จึงเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมขยายเวลารับสมัคร
 
ล่าสุด ในการประชุมครม.วันที่ 9 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ขยายเวลา โดยขณะนี้ทางสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการแก้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคล ซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2554 (มาตรา 40) เพื่อขยายระยะเวลาการเปิดรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้กับประชาชนที่มีอายุเกิน 60 ปี ที่ตกค้างไม่สามารถสมัครได้ทัน ซึ่งได้หารือกับฝ่ายกฎหมายและได้แจ้งว่า จะขยายระยะเวลาการรับสมัครให้อีก 10 วัน ภายหลังการแก้ไข พ.ร.ฎ. เสร็จสิ้น ทั้งนี้ จะดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนปีใหม่ เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน
 
อย่างไรก็ตาม ด้วยขั้นตอนต้องใช้เวลา คาดว่าจะไม่ทันก่อนปีใหม่ โดยสำนักประกันสังคม ได้ทำเอกสารแจงขั้นตอนดำเนินงานแก้ไข พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ระบุว่า ได้ทำเอกสารเสนอคณะกรรมการประกันสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ได้ทำหนังสือเสนอปลัดกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอ ครม.คาดว่าวันที่ 30 ธ.ค.นี้ จากนั้นนำไปสู่ขั้นตอนต่างๆ ตามกระบวนการ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 30 ม.ค. 2558
 
ทั้งนี้ ได้มีการคาดว่า จะสามารถรับสมัครผู้ประกันตนกลุ่มใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 7-16 กุมภาพันธ์ 2558 ตามเป้าหมาย แต่ขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธยใน พ.ร.ฎ.นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กลับลงมา ส่วนกรณีที่กระทรวงแรงงานสามารถนำนโยบายของนายกรัฐมนตรีไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คาดระยะเวลาอาจสำเร็จในเวลารวดเร็วกว่าที่กำหนด
 
(ไทยรัฐ, 11-12-2557)
 
หนุนผู้พิการมีงานทำ เร่งแก้กม. จ้างผู้พิการเข้าทำงาน เผยนายจ้างมีความต้องการแรงงานกว่า 3 หมื่นคน
 
(11 ธ.ค. ) นายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมการส่งเสริมการจ้างผู้พิการ โดยมีผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถานประกอบการ และตัวแทนผู้พิการ ว่า ในที่ประชุมมีการหารือถึงการมีงานทำของคนพิการซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายให้คนไทยมีงานทำ ของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยเน้นแนวทางให้ผู้พิการเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการแต่สามารถทำงานอยู่ที่บ้าน ลดปัญหาการเดินทางเนื่องจากระบบสาธารณูปโภคยังไม่เพียงพอรวมถึงประหยัดค่าใช้จ่าย และได้รับการคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม
       
“ปัจจุบันผู้พิการในฐานข้อมูล 1.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นวัยทำงาน 700,000 คน ในมีศักยภาพทำงานได้จริง 500,000 คน โดยปัจจุบันนายจ้างมีความต้องการจ้างผู้พิการจำนวน 30,000 คน ขณะที่ผู้พิการเสนอให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้พิการให้มากขึ้น และพัฒนาระบบขนส่งสำหรับคนพิการโดยเร็ว โดยกระทรวงแรงงานจะเร่งให้มีการจ้างงานและแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคจากการจ้างงานและการทำงานของผู้พิการ โดยเร็ว” นายนพดล กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-12-2557)
 
พนักงานบริษัท 'ฮิตาชิ' ประท้วงปิดหน้าโรงงาน ขอขึ้นเงินโบนัส-โอที
 
เวลา 19.00 น. วันที่ 12 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงาน บริษัท HGST หรือ ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จับกลุ่มประท้วงบริเวณหน้าโรงงาน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 304 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับเงินโบนัสประจำปี จำนวน 8 ข้อ
 
ทั้งนี้ บริเวณหน้าโรงงาน พนักงานจำนวนกว่าพันคนรวมตัวกัน เรียกร้องให้ทางโรงงานปรับเงินโบนัส เงินโอที หรือ ทำงานค่าล่วงเวลา รวมทั้งเงินพิเศษจำนวน 8 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขอโอทีในอัตรา 3.5 ชั่วโมง 2. ยกเลิกโบนัสตัดเกรด เป็นจ่ายทีเดียวสิ้นปี ขอ4เดือนทุกปี 3. โอทีวันหยุดขอเป็น 11.5 ชั่วโมงต่อคืน 4.ขอค่าข้าวรายวันและค่าข้าวโอทีเป็น 50 บาท 5.ค่ากะเพิ่ม 100 บาท 6.ขอเงินพิเศษคืน 7.พนักงานอายุ 5 ปี ขอปรับขึ้นเป็นรายเดือน 8.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ6% ทั้งรายวันรายเดือน
 
โดยทางกลุ่มผู้ประท้วงได้ยื่นหนังสือให้กับตัวแทนของบริษัทในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. แต่ไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ ทำให้กลุ่มพนักงานยังคงปลักหลักกันอยู่บริเวณหน้าโรงงาน
 
กระทั่งเวลา 18.00 น. ทางคณะกรรมการสวัสดิการ บริษัทฯ ได้ร่วมประชุมหารือกับกรรมการผู้จัดการ มีข้อสรุปร่วมกันคือ จะจ่ายเงินรางวัลพิเศษให้กับพนักงานทุกคน คนละ 5,000 บาท แต่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ประท้วงไม่ยอมรับข้อเสนอ ทางผู้บริหารโรงงานจึงให้ทางกลุ่มผู้ประท้วงส่งตัวแทน 5-10 คน เข้าพูดคุยเพื่อหาข้อยุติ แต่ทางกลุ่มผู้ประท้วงไม่ยอมส่งตัวแทนเข้าประชุม แต่ต้องการให้ผู้บริหารออกมาคุยที่หน้าโรงงาน และต้องการให้บริษัททำตามข้อเรียกร้องทั้ง 8 ข้อ เท่านั้น
 
สถานการณ์ล่าสุด ยังหาข้อยุติของ2ฝ่ายไม่ได้ และกลุ่มพนักงานยืนยันจะประท้วงปิดหน้าโรงงาน จนกว่าทางบริษัทจะยินยอมทำตามข้อเสนอทั้งหมด
 
(ไทยรัฐ, 12-12-2557)
 
พนง.ฮิตาชิยุติประท้วง ตกลงจ่ายโบนัส 2 เดือน
 
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า หลังจากพนักงานบริษัท ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ( HGST ) กว่า 1,000 คน ในเขตนิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ได้ร่วมกันปักหลักประท้วง ตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ 12 ต่อ เนื่องมาถึงเช้าวันที่ 13 โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานรายวัน ซึ่งต้องการสวัสดิการ ประกอบด้วย 1. ขอเงินล่วงเวลา (โอที) ในอัตรา 3.5 ชั่วโมง 2. ยกเลิกโบนัสตัดเกรด เป็นจ่ายทีเดียวสิ้นปี รวม 4 เดือน 3. เงินล่วงเวลาวันหยุดขอเป็น 11.5 ชั่วโมง ต่อคืน 4.ค่าอาหารรายวัน เป็น 50 บาท 5.ขอค่ากะเพิ่ม 100 บาท 6.ขอเงินพิเศษคืน 7.พนักงานอายุ 5 ปี ขอปรับขึ้นเป็นรายเดือน การเจรจาจากเดิมจาก 7 ข้อ ลดลงเหลือ 3 ข้อ คือ 1.ให้มีการเพิ่มค่ากะจาก60 บาท เป็น 100 บาท 2. เพิ่มค่าอาหารจาก 20 บาทเป็น 50 บาท และ 3.โบนัสขอเป็น 4 เดือน อย่างไรก็ตามในการหารือ ระหว่างตัวแทนผู้ชุมนุม โดยมีนายนคร ตั้งสุจริตกุล รองกรรมการผู้จัดบริษัท รวมถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมกับสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งชาติ ได้ข้อสรุปเป็นทางการคือให้โบนัส พนักงาน 2 เดือน และรวมถึงเงินพิเศษ 5,000 บาท โดยข้อตกลงนี้สร้างความพอใจให้กับพนักงาน ส่วนอีก 7 ข้อที่เหลืออีกภายใน 3 เดือน ทางบริษัทจะมีการหารือกันอีกครั้งเมื่อผู้ชุมนุมทราบผลจึงยอมเจรจา
 
(เนชั่นทันข่าว, 13-12-2557)
 
เครือข่ายแรงงานจี้ปฏิรูปประกันสังคม
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า คสรท. และเครือข่ายแรงงานได้สรุปข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอต่อ พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อให้พิจารณานำข้อเสนอปฏิรูปด้านแรงงาน 3 ข้อ ไปบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้แก่ 1. ด้านการคุ้มครองแรงงาน รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนมีหลักประกันในการทำงานอย่างมั่นคง แรงงานทุกสาขาอาชีพได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ทั้งแรงงานเด็ก สตรี คนชรา คนพิการ โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ให้ได้รับสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ปรับโครงสร้างค่าจ้างที่เป็นธรรม รวมทั้งจัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิแรงงานเพื่อเป็นหลักประกันการถูกเลิกจ้างให้ได้รับค่าชดเชยและพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างทั่วถึงมีประสิทธิภาพ
       
2. ด้านแรงงานสัมพันธ์ โดยรัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง รวมถึงอนุสัญญาฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพรัฐต้องให้สิทธิเสรีภาพรวมทั้งส่งเสริมในการรวมตัวของแรงงานทุกสาขาอาชีพ และรัฐต้องออกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้ครอบคลุมแรงงานทุกประเภทและสอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศรวมทั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง
       
และ 3. ด้านสวัสดิการแรงงานรัฐต้องปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยประธานกรรมการและเลขาธิการ สปส. ต้องเป็นมืออาชีพ มาจากการสรรหาและผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วมเลือกผู้แทนเข้ามาบริหารโดยตรง รัฐต้องเร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน นอกจากนี้ รัฐต้องบังคับใช้พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เพื่อสร้างวินัยการออมในวัยทำงาน พร้อมทั้งจัดให้มีที่พักของคนงานและจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กให้แก่แรงงานในบริเวณอุตสาหกรรม จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมและธนาคารแรงงาน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-12-2557)
 
คาดอีก 5 ปี ขาดแคลนแรงงานกว่า 5 แสนคน หนุนอาชีวะฝึกงานสถานที่จริงเรียนจบทำงานทันที
 
( 15 ธ.ค.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมหารือถึงความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วม เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าร่วม ว่า ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่าในอนาคต 3 - 5 ปีข้างหน้า จะขาดแคลนแรงงานประมาณ 3 - 5 แสนคน ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการว่าสภาพเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ซึ่งต้องเพิ่มกำลังแรงงาน แต่หากมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ดีขึ้นก็อาจจะช่วยลดความต้องการกำลังแรงงานลงได้ เนื่องจากสามารถทำงานได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น
       
“ตัวแทนภาคอุตสาหกรรม อยากให้พัฒนาคุณภาพนักศึกษาอาชีวะ ให้สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อเรียนจบ โดยการร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม สถานศึกษาและกระทรวงแรงงาน นำเด็กเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อให้มีประสบการณ์” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว
       
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาความต้องการแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และคณะทำงานศึกษาการนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยมี นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน และมีผู้แทนจากกรมต่างๆ เข้าร่วม เช่น แรงงานประมงที่ขาดแคลนเป็นจำนวนมากและคนไทยไม่นิยมทำ ก็อาจจะต้องหาแรงงานจากประเทศอื่นเข้ามาทำงานแทน ส่วนกรณีแนวคิดการนำผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษมาทำงานประมงนั้น ขอยืนยันว่าเป็นเพียงทางเลือกในการฝึกอาชีพรองรับการพ้นโทษเพื่อไม่ให้กลับไปทำผิดซ้ำเท่านั้น ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคประมง
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-12-2557)
 
เครือข่ายแรงงานนอกระบบยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้พิจารณายืดระยะเวลาการเข้าถึงการประกันสังคม ตามมาตรา 40
 
สภาเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กว่า 50 คน นำโดย นายสมคิด ด้วงเงิน นายกสมาคมเครือข่ายฯ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณายืดระยะเวลาการเข้าถึงการประกันสังคมตามมาตรา 40 และประกาศขยายระยะเวลาให้แรงงานนอกระบบที่มีอายุเกิน 60 ปี สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนเพิ่มอีก 10 วันนั้น ขอให้มีการขยายเวลาให้ถึงสิ้นปี 2558 เนื่องจากการขยายเวลาเพียง 10 วันนั้น จะทำให้แรงงานนอกระบบที่อยู่ตามชนบทหรือชานเมือง ยังไม่ได้รับข่าวสารและไม่สามารถมาทันตามกำหนดได้ เพื่อทำให้แรงงานนอกระบบได้รับสวัสดิการสังคมที่รองรับความเสี่ยง เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุหลายหมื่นคนต่อไป
 
ทั้งนี้ นายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชน เป็นผู้รับเรื่องไว้เพื่อส่งไปยังนายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
 
(สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 15-12-2557)
 
เตือนแรงงาน ระวังถูกหลอกไปสร้างเขื่อน-สนามบินในลาว
 
น.ส.ปัทมพร ผุดเพชรแก้ว จัดหางานจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการชักชวนคนหางานในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงให้สมัครไปทำงานก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ สนามบินนานาชาติ และสร้างรถไฟทางคู่ มูลค่าหลายแสนล้านบาทใน สปป.ลาว โดยอ้างว่าบริษัทของตนได้รับสัมปทานก่อสร้างโครงการ ต้องการคนงานในตำแหน่งโฟร์แมน แม่ครัว ช่างก่ออิฐ ช่างปูกระเบื้อง ช่างไม้ ช่างผูกเหล็ก ช่างประปา ช่างเชื่อม ช่างทาสี
       
ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าผู้สนใจจะไปทำงานต้องจ่ายค่านายหน้าใช้ดำเนินการคนละ 20,000 บาท และจะได้ค่าจ้างเดือนละ 30,000-45,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบในระบบจัดหางานของกรมแรงงานแล้วปรากฏไม่มีโครงการก่อสร้างดังกล่าว และไม่มีบริษัทใดประกาศหาคนงานไปทำงานใน สปป.ลาว จึงขอเตือนแรงงานอย่าได้หลงเชื่อกลุ่มนายหน้าเถื่อน เพราะไม่สามารถจัดส่งคนงานไปทำงานตามที่อ้างได้จริง
       
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการทราบตำแหน่งงานที่ว่างและต้องการคนงาน ให้มาตรวจสอบกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุบลราชธานี ที่ถนนเลี่ยงเมือง ต.แจระแม อ.เมือง โทร. 0-4520-6226 เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อและสูญเสียเงินให้กลุ่มผู้หลอกลวง 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-12-2557)
 
คลังจ่อปรับเงินเดือน 37 รัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. 2หมื่นคนรอเฮ! ควัก 60 ล้านบาทจ่ายเพิ่ม
 
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็ว ๆ นี้ เรื่องปรับโครงสร้างเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ 37 แห่ง ที่ต้องอาศัยอำนาจ ครม.กำหนดโครงสร้างเงินเดือนให้ ซึ่งเป็นการปรับให้สอดคล้องอัตราค่าครองชีพ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน และปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท/เดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้พนักงานรัฐวิสาหกิจบางส่วนได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีพนักงานใหม่ได้รับเงินเดือนค่าจ้างในระดับที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกับพนักงานเดิม
 
"รัฐวิสาหกิจจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก กำหนดโครงสร้างเงินเดือนได้เองกลุ่มที่สอง การกำหนดโครงสร้างเงินเดือนต้องเสนอ ครม.ด้วย โดยกลุ่มนี้หากจะดำเนินการก็จะพิจารณาเป็นรายแห่งไป และกลุ่มที่สาม ต้องให้ ครม.กำหนดโครงสร้างเงินเดือนให้ ซึ่งกลุ่มหลังนี้มี 37 แห่ง ที่ต้องให้ ครม.เห็นชอบพร้อมกัน"
 
ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจ 37 แห่งที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้าง 58 ขั้น ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ อาทิ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ขนส่ง จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นต้น
 
ขณะที่รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ ครม.ให้สามารถกำหนดอัตราเงินเดือนค่าจ้างและสวัสดิการเองได้ ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อาทิ บมจ.ปตท. บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.ทีโอที บมจ.อสมท บมจ.การบินไทย เป็นต้น รวมทั้งสิ้นมี 13 แห่ง
 
ส่วนกลุ่มที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างเป็นของตัวเอง มี 16 แห่ง อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน เป็นต้น
 
ก่อนหน้านี้มีข้อเรียกร้องจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) ขอให้รัฐบาลปรับปรุงบัญชีโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจ 37 แห่ง ที่มี 58 ขั้น เนื่องจากโครงสร้างปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งเงินเดือนขั้นที่ 1 อยู่แค่ 5,780 บาท และขั้นที่ 58 อยู่ที่ 113,520 บาท ดังนั้น สรส.จึงได้เสนอขอปรับปรุงบัญชีเงินเดือนอัตราค่าจ้างของรัฐวิสาหกิจใหม่ โดยกำหนดให้ขั้นที่ 1 อยู่ที่ 9,040 บาท ส่วนขั้นต่อไปปรับขึ้นเฉลี่ยในอัตรา 4.3% ของฐานเงินเดือน ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเดือนขั้นที่ 58 อยู่ที่ 189,330 บาท
 
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาทางภาครัฐมีการพิจารณาแนวทางการปรับบัญชีโครงสร้างเงินเดือนใหม่ โดยอาจจะปรับจากเดิมที่มี 58 ขั้น เป็น 70 ขั้นด้วย
 
ด้านแหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.กล่าวว่า ธ.ก.ส.เป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถกำหนดโครงสร้างเงินเดือนได้เอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทำเรื่องเสนอกระทรวงการคลังอนุมัติปรับเงินเดือนพนักงานแรกเข้าเป็น 1.7 หมื่นบาทต่อเดือน และปรับฐานให้พนักงานเก่าด้วย ซึ่งเป็นข้อเสนอมาตั้งแต่ปี 2556 หลังมีการปรับเงินเดือนข้าราชการเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ทั้งนี้ พนักงาน ธ.ก.ส.มีทั้งสิ้นเกือบ 2 หมื่นคน ซึ่งจะได้ปรับฐานหมด
 
"ครั้งนี้ ธ.ก.ส.ขอปรับขั้นต้น โดยให้เงินเดือนแรกเข้าพนักงานวุฒิปริญญาตรี เริ่มต้นที่ 1.7 หมื่นบาทต่อเดือน ใช้งบฯดำเนินการกว่า 30 ล้านบาท และอีกส่วนจะต้องปรับฐานให้กับพนักงานเก่าที่ต้องขยับขึ้นไปให้หนีพนักงานใหม่ น่าจะใช้เงินอีกกว่า 10 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จทั้งหมด 60 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของเงินที่จ่ายเงินเดือนปัจจุบัน"
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 16-12-2557)
 
กมธ.แรงงาน เสนอ 7 ข้อป้องสิทธิผู้ใช้แรงงาน พร้อมหนุนการออม
 
วันที่ 16 ธ.ค. พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธาน กมธ.ปฏิรูปการแรงงาน สปช. กล่าวรายงานความเห็นและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่อที่ประชุม สปช.ว่า ปัจจุบันมีแรงงานทั้งหมดในประเทศคือ แรงงานนอกระบบมีรวม 24.1 ล้านคน หรือร้อยละ 62.3 แรงงานในระบบมีจำนวน 14.6 ล้านคน หรือร้อยละ 37.7 กมธ.คิดถึงการช่วยเหลือภาคแรงงานที่อยู่ในระบบ และแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระจึงเสนอ 7 ประเด็นสำคัญ ที่ควรบรรจุในรัฐธรรมนูญใหม่ คือ
 
1.ประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการใช้แรงงาน ต้องได้รับสิทธิที่ไม่ถูกบังคับให้ทำงาน หรือต้องทำงานโดยไม่มีทางเลือก หรือที่ผิดจากข้อตกลง หรือการล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อให้สิทธิของแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานสากล 2.ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการพัฒนาทักษะฝีมือในทุกสาขาอาชีพและการเข้าถึงข้อมูลตลาดแรงงาน
 
3.ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับการคุ้มครอง ความปลอดภัยในการทำงาน และค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รวมถึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสตรีที่มีครอบครัว แรงงานพิการ แรงงานสูงวัย ย้ำสงวนอาชีพให้คนท้องถิ่น 4.นายจ้างและลูกจ้างมีเสรีภาพในการจัดตั้งและเข้าร่วมองค์การของตนเองตามที่กฎหมายบัญญัติ 5.ต้องมีระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมถึงแรงงานที่ขาดรายได้ และส่งเสริมการออมในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน 6.ต้องคุ้มครองและสงวนอาชีพให้กับคนท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทการบริหารจัดการตามที่กฎหมายบัญญัติ
 
7.สำหรับการจัดนโยบาย หรือมาตรการเกี่ยวกับแรงงาน โดยรัฐ ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ สปช.ชงตั้งธนาคารแรงงานสร้างหลักประกัน นางกูไซหม๊ะวันซาฟิหน๊ะ มนูญทวี และนายสรณะ เทพเนาว์ สปช. ได้อภิปรายมีสาระสำคัญ คือ ให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งธนาคารแรงงาน ที่มีองค์ประกอบและความร่วมมือจาก 4 ภาคส่วน ได้แก่
 
รัฐบาล สถาบันการเงิน ประชาชน ภาคธุรกิจ เอกชน และอุตสาหกรรม เพื่อทำหน้าที่วางแผน พัฒนา สร้างหลักประกัน เพิ่มศักยภาพที่เหมาะสมกับแรงงาน ให้องค์ความรู้ด้านสิทธิและกฎหมายแรงงาน เพื่อยกระดับการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย และขอให้มีข้อกำหนดการออกใบรับรองแรงงานที่มีฝีมือของไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 เพื่อรองรับการเคลื่อนย้านแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน
 
ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช. กล่าวว่า ขอเสนอให้ กมธ.ยกร่างฯ ระบุถึงระบบคุณวุฒิวิชาชีพแรงงานไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานไทยให้เป็นหนึ่งในแนวนโยบายพื้นฐานที่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล ที่รัฐต้องสนับสนุนการจัดสรรงบฯ ส่วนหนึ่งช่วยพัฒนาแรงงาน ร่วมกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการต่างๆ พร้อมเปิดหลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพตามคุณวุฒิสาขาวิชาชีพแรงงาน มีใบรับรองวิชาชีพแรงงาน เพื่อเพิ่มสมรรถนะความสามารถในการทำงานและยกระดับฝีมือแรงงาน กมธ.ยกร่างฯเห็นพ้องธนาคารแรงงาน
 
ด้าน พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวสรุปว่า ข้อเสนอการปฏิรูปแรงงาน อาทิ การประกันสังคม การไม่บังคับแรงงานทำงาน การสิทธิในการจัดตั้งองค์กรต่างๆ ของแรงงาน เช่น สหภาพแรงงานต่างๆ การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม เป็นสาระสำคัญที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนแนวคิดตั้งธนาคารแรงงาน กมธ.ยกร่างฯ จะรับไปพิจารณา เพื่อประโยชน์ต่อแรงงาน รวมถึงการคุ้มครองแรงงานในท้องถิ่น ซึ่งตรงกับหลักการกระจายอำนาจในท้องถิ่น
 
(ไทยรัฐ, 16-12-2557)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net