Skip to main content
sharethis

16 ธ.ค.2557 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘คืนความจริง’ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักวิชาการจากภาควิชาการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้สนใจปัญหาประวัติศาสตร์การใช้ความรุนแรงของรัฐไทยต่อประชาชนในมิติต่างๆ เจ้าของผลงาน Revolution Interrupted, Farmers, Students, Law, and Violence in Northern Thailand รวมทั้งเป็นผู้สนใจการใช้ศิลปะในแขนงต่างๆ ในการสะท้อนปัญหา ทางสังคมการเมือง

สำหรับบทสัมภาษณ์นี้มี 2 วิดีโอ ความยาม 4.28 และ 7.23 นาที เป็นการพูดถึงประเด็นความสำคัญของเสรีภาพกับศิลปะ และบทบาทศิลปินในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ตัวอย่างในต่างประเทศ รวมถึงมุมมองต่อละครเจ้าสาวหมาป่า ที่มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากละครดังกล่าวด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย

ไทเรล กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับเสรีภาพเป็นความสัมพันธ์โดยตรง ทุกครั้งที่มีการต่อสู้เพื่อเสรีภาพศิลปินก็เป็นแนวหน้าของการต่อสู้ การจำกัดเสรีภาพในงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นการเขียน การเล่นละคร วาดภาพ ทำหนัง หรือเขียนงานอะไรบางอย่าง ก็เป็นสัญญาณที่ปิดกั้นเสรีภาพในสังคมที่เกิดขึ้น

เธอเห็นว่าไม่ควรจะมีข้อจำกัดอะไรเลย ศิลปินต้องมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการแสดงออก โดยถ้าจะพูดถึงกฏหมาย กฏหมายควรปกป้องศิลปินในการแสดออก ในการพูดถึง คุยกัน การทำงาน ไม่ควรจะมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพสำหรับทุกคน แต่ครั้งแล้วครั้งเล่าศิลปิน นักเขียน จะเป็นคนที่จะโดนเผด็จการกดขี่ เพราะรัฐเองก็มองว่าศิลปินเป็นคนที่เข้าถึงประชาชนได้

โดยเธอ ได้ยกตัวอย่าง คนที่วิจารณ์วิเคราะห์การกดขี่การจำกัดเสรีภาพของรัฐบาลจีน ที่เธอมองว่าดีที่สุด คือ Liao Yiwo ซึ่งใช้วิธีการวิจารณ์ด้วยการเขียนบทกวี และเล่าถึงประวัติของตัวเอง โดยไม่ได้พูดถึงกฏหมายหรือกิจกรรมต่างๆ ที่รัฐทำ แต่พูดถึงความรู้สึกของคนตอนที่ถูกจำกัดเสรีภาพ เพื่อแสดงถึงความโหดร้ายของการจำกัดเหล่านั้นต่อความรู้สึก ต่อความเป็นมนุษย์ ศิลปินใช้วิธีการอ้อมในการวิจารณ์ เป็นสิ่งที่ผลักให้ประชาชนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น

สำหรับละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่านั้น ไทเรล มองว่าเป็นบทละครที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจ และคนในสังคม เป็นวิธีการวิเคราะห์ลักษณะของผู้มีอำนาจในสังคม และบทบาทของเขา สำหรับความเห็นของเธอ เธอมองว่าไม่มีอะไรที่ผิดกฏหมาย และรู้สึกว่าเป็นกรณีหนึ่งของการแสดงออกที่ควรจะใช้กฏหมายปกป้องผู้ที่ทำละคร

ตำรวจและกระบวนการยุติธรรมควรจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของคนที่ทำละคร มากกว่าไปจับ โดย  ไทเรล เห็นว่าการจับหรือการพยายามตั้งข้อหาเป็นกระบวนการที่น่าเป็นห่วงมาก คือ เยาวชนที่ทำละครเพื่อสะท้อนความคิด ที่พยายามสื่อสารและตั้งคำถามในสังคม กลับเป็นสิ่งที่มีผลร้ายในชีวิตกับคนเหล่านั้น มากกว่านั้น ยังเป็นการใช้วิธีการสร้างความหวาดกลัว ข่มขู่คนอื่นในสังคมที่อยากจะตั้งคำถาม เพราะในความเป็นมนุษย์ของคนๆ หนึ่ง การตั้งคำถามและการวิเคราะห์สังคมเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องทำ

ไทเรล กล่าวตอนท้ายด้วยว่า ในโลกปัจจุบัน ศิลปินต่างๆ ก็จะเป็นแนวหน้าของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อการปกป้องสิทธิเสรีภาพ นวนิยายก็เป็นพื้นที่ที่ได้วาดภาพของความยุติธรรม ถ้านึกถึงกรณีประเทศไทยก็นึกถึงงานเขียนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ และหนังสือแลไปข้างหน้า เป็นนวนิยายที่เขียนถึงสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ผลักให้เกิดจิตสำนึกถึงความเป็นธรรม และหวังว่าศิลปินต่างๆ จะได้ลงมือเพื่อชี้แนวทางให้สังคมกลับไปเป็นสังที่มีมีความเป็นประชาธิปไตยที่มีสิทธิมนุษยชน มีหลักนิติธรรม 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net