วิทยา อาภรณ์: หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน

วิทยา อาภรณ์ อภิปรายในงาน "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน" "คนจนเองจะต้องเรียนรู้กันอีกชุดใหญ่ ต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมๆ กับผู้ปฏิบัติงาน และปัจจุบันนี้ผมอยากจบด้วยว่าทำไปทำมา คนที่เป็นระดับผู้ปฏิบัติงานหลายๆ ที่กลายเป็นไปขัดขวางคนจนเองด้วยซ้ำไป"

4 ธ.ค. 2557 - ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเวทีสาธารณะหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน" เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งสมัชชาคนจนปีที่ 19 โดยการประชุมดังกล่าวจัดโดย สมัชชาคนจน ร่วมกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยหลังการปาฐกถาเปิด มีการเสวนาหัวข้อ “หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน” หนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายของคือวิทยา อาภรณ์ จากสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

วิดีโอการนำเสนอหัวข้อ "หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน" โดย วิทยา อาภรณ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2557 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ลงทะเบียนเพื่อติดตามวิดีโอจากประชาไทได้ที่

 

 

000

คำถามตอนแรก ที่เราตั้งประเด็นไว้ว่าจะกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยจะทำอย่างไร มันตอบไม่ยาก เพราะว่า แค่คนจนลุกขึ้นมา แล้วทำตามที่เราทำก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว ทีนี้มีสองส่วน หนึ่ง ทำแล้วก้าวหน้า สอง คนจนถูกใช้ในพลังล้าหลังด้วย ถ้าคิดเร็วๆ แล้ว ส่วนที่ล้าหลังและก้าวหน้าก็แกว่งไปมา ไม่ใช่ทำวันเดียวแล้วจะล้าหลังตลอดไป ถ้าสักช่วงหนึ่ง การขัดสี การซักฟอกของเหตุการณ์ ที่เคยล้าหลัง ที่หลังชนฝา สักพักยางกิโลกรัมละ 38 บาท ก็อยู่ได้ไม่นาน เขาก็ต้องรู้ไปถึงโครงสร้างของมัน

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า สมัชชาคนจนสั่งสมบทเรียนไว้เยอะ ผมเองมีโอกาสเข้าไปอยู่ในจุดเหตุการณ์สำคัญ ตั้งแต่ประมาณปี 2535-2536 เกิด สกยอ. ตอนนั้น ตามที่ อ.สมชาย นำเสนอเส้นความยากจน 800 บาท มีคนจน 60% แต่ไม่ใช่เพราะเหตุนั้นที่ทำให้เกิด สกยอ. ขึ้นมา ตอนนั้น เราเริ่มพูดถึงโครงสร้างมากขึ้น คนที่เป็นแกนนำชาวบ้าน คนที่ทำงานตรงนั้นบอกว่า เราน่าจะทำอย่างไรก็ตามให้ชาวบ้านเจอปัญหาจริงๆ ลุยไปเลย และทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยจากปัญหาเฉพาะหน้า ถ้ามองปัจจุบันอาจจะเป็นปัญหาที่แคบไปแล้ว แต่ตอนนั้นเราก็บอกว่าปัญหาเฉพาะหน้านี่แหละ ทำไปก็จะเกิดการเรียนรู้ เป็นการศึกษาไปด้วย เพื่อให้เห็นโครงสร้าง

ถ้าดูในปี 2535 – 2557 ก็ 22 ปีมาแล้ว ถ้าเป็นชีวิตคนก็บวชได้ ผมคิดว่า มันอาจจะเร็วกว่านี้ไม่ได้ 20 ปี อาจจะมีคนเข้ามาเป็นหัวก้าวหน้ามาก แล้วก้าวหน้ายิ่งขึ้นจนถึงปัจจุบันก็มาในทีนี้ บางคนก็หายไปอย่าง พ่อรอด ทองพูน อยากทราบข่าวเหมือนกัน แต่คนที่เก็บเกี่ยวมาจนถึงปัจจุบัน จากปี 2535-2536 จนถึงปี 2538 เกิดสมัชชาคนจน มันก็ตรงกับช่วงที่เกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจสังคมสำคัญ ตอนแรกมี 52 ปัญหา พอตบโต๊ะได้อย่างอาจารย์สมชายว่าก็ขึ้นมา 200 ปัญหา เอาไปเอามา เจอปัญหาการเมืองอื่นๆ ทับถม จนถึงปัจจุบันนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีวิทยานิพนธ์ มีงานศึกษาหลายเล่มออกมา และอยู่ในใจของสังคม ในความทรงจำของสังคม ตอนหลังๆ ผมมีโอกาสไปสอนหนังสือ เวลาพูดถึงคนจนปั๊บ นักศึกษาจะคิดถึงสมัชชาคนจนเลย กรณีชะอวดโมเดล เพราะเป็นสมาชิกสมัชชาคนจน ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ก็คือเขาฝังใจกันมาก ขบวนการที่เกิดขึ้นในสมัชชาคนจนก็ยังอยู่ในร่องเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ดิน หรือการเรียกร้องต่อรองในปัจจุบัน

ทั้งที่ในปัจจุบัน ถ้าให้ผมทบทวน ผมพยายามโฟกัสไปที่มุมมองของพี่น้องเอง ถ้ามองมากกว่านี้ก็อาจจะสับสนได้ ทีนี้ถ้ามองจากคนจน จากในส่วนของคนจนเอง ผมจะพูดสรุปเพื่อให้เห็นภาพต่อเนื่องว่าคนจนที่ถูกมองมีสองสามส่วน หนึ่ง มุมมองคนนอก มองว่าเป็นคนที่อยู่ในโลกสายลมแสงแดด ขี่ควายชมทุ่ง และต่อเนื่องมาถึงเศรษฐกิจพอเพียง อยู่ในเพลงลูกทุ่งชัด แต่ปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีในเพลงลูกทุ่งแบบนี้ เพราะมันฝืด ปัจจุบันเข็นยังไงก็ไม่ขึ้น เพลงลูกทุ่งเป็นเรื่องมือถือ เฟซบุ๊คไปแล้ว แต่ว่าภาพลักษณ์ คนจนที่พออยู่พอกินกว่าจะสร้างได้ต้องดันเยอะ ไม่ค่อยมีแล้ว

สอง ภาพลักษณ์ของความเป็นคนชายขอบ เป็นภาพของคนที่ได้รับผลกระทบและด้อยโอกาส

สาม มองคนจนเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง มองว่าคนจนเป็นมวลชนอันไพศาล อดีตก็เคยลุกขึ้นมาแล้ว เคยใช้วิธีการต่างๆ เช่น จากป่ามาสู่เมือง ปัจจุบันในที่ต่างๆ ทั่วโลก ก็มีขบวนการคนจนลุกขึ้นมาเพื่อทำการเปลี่ยนแปลง

นี่คือภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองคนจน ปัจจุบันก็มีทั้งสามภาพนั้น

ในส่วนความเป็นจริง ปัจจุบันนี้ ถ้าเรามองตัวเอง ย่อลงมาเฉพาะสมัชชาคนจนด้วย อาจจะไม่ได้พูดถึงพี่น้องคนงานในภาคโรงงาน แต่ในภาคของชนบท ภาพจริงๆ ปัจจุบันนี้ ก็คือในเรื่องของสภาวะความเป็นโลกาภิวัฒน์ ผมว่าเราคงไม่ต้องอธิบายยาวว่ามันมีผลต่อเรา เมื่อก่อนอาจจะโยงยากหน่อย แต่ปัจจุบันพูดผ่านๆ ได้เลยว่าโยงถึงแน่นอน เรื่องของวิกฤตอย่างเช่น ปัจจุบันพี่น้องพูดให้กับสมาชิกชุมชนได้ถึงเลย

อีกเรื่องคือโลกาภิวัฒน์ของผู้เสียเปรียบ ปัจจุบันก็เกิดขึ้นจริงๆ ในต่างประเทศ เช่น ขบวนการเวีย คัมเปซินา, ซาปาติสตา

ปัจจุบันนี้ ถ้าดูแล้วเรื่องความเหลื่อมล้ำ เส้นแบ่งความยากจน อย่างที่อาจารย์สมชายนำเสนอนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ใน ปี พ.ศ. 2555 คนไทยมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 2,492 บาท ต่อคน ต่อเดือน เฉลี่ยได้วันละ 83 บาท ตกมื้อละ 27 บาท นี่คือเส้นความยากจนที่มีอยู่

ถ้าดูรายได้ต่อหัว ประมาณ 180,000 บาทต่อคนต่อปี เฉลี่ยแล้วประมาณ 500 บาท ต่อคนต่อวัน นี่ของไทย รายได้ตัวหัวคิดจากเอารายได้ของพวกเราไปหารรวมกับคนรายได้มาก หารแล้วได้ 500 บาทต่อคน ซึ่งยากมากเพราะค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท

อีกตัวชี้วัดหนึ่ง คือ ดัชนีจีนี ก็คือ ตัวเลขที่ใช้วัดการกระจายตัวของทรัพยากร สมมติว่าในห้องนี้มีคน 100 คน ถ้าได้คนละ 1 เท่ากันหมด ดัชนีจีนีคือ 0 แปลว่ามีรายได้เท่ากัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ถ้าเหลื่อมล้ำมาก เช่น คนหนึ่งไม่มี คนหนึ่งได้ 2 ตัวเลขจะไม่ใช่ 0 โดยเลข 1แปลว่า มีความเหลื่อมล้ำอย่างสมบูรณ์ โดยใน พ.ศ. 2554 ประเทศ ดัชนีจีนีของประเทศไทย คือ 0.484คือสูงมากเทียบกับประเทศในเอเชีย

ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ใน พ.ศ. 2555 กลุ่มผู้ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดชุมชนร้อยละ 20 ที่มีการถือครองที่ดินมากที่สุด มีสัดส่วนการถือครองที่ดินสูงกว่ากลุ่มผู้ถือครองที่ดินร้อยละ 20 ที่มีการถือครองที่ดินน้อยที่สุด คิดเป็น 325.7 เท่า โดยกลุ่มผู้ถือครองที่ดินร้อยละ 20 ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด มีสัดส่วนพื้นที่การถือครองที่ดินสูงถึงร้อยละ 79.9 ของพื้นที่ทั้งหมด ในขณะที่ กลุ่มผู้ถือครองที่ดินร้อยละ 20 ที่ถือครองที่ดินน้อยที่สุด มีสัดส่วนพื้นที่ถือครองที่ดินเพียงร้อยละ 0.3 ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น

ในภาพรวมของคนชนบทไทย ที่ว่ามีคนน้อยลงนั้น ปัจจุบันมีคนในภาคเกษตรเหลือ 40% และมีคนสูงอายุมากขึ้น และคนในภาคเกษตรมีสัดส่วนรายได้แค่ 8.3% ขณะที่คนที่อยู่ภาคอุตสาหกรรม 14% มีรายได้ 38% ถ้าให้คนอยู่ชนบทต่อไป เขาอาจจะจนต่อไป จำเป็นต้องมีนโยบายเพื่อสร้างรายได้ให้เขาด้วย

น่าแปลกว่าทำไมประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับภาคเกษตร ทั้งที่ใน พ.ศ. 2540 เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจคนก็กลับชนบท ขณะที่เมื่อรัฐบาลใช้นโยบายจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ก็มีคนกลับไปทำนามากขึ้น เพราะฉะนั้นในปัจจุบันความซับซ้อนก็คือ ที่ดินในภาพรวม อาจจะลดความสำคัญลง แต่ก็ยังสำคัญอยู่

จากการศึกษาชนบทในภาคเหนือล่าสุด (งานของ Kelly Bird, Kelly Hattel ,Eiichi Sasaki and Luxmon Attapich ปี 2544) จะเห็นการแตกตัวของชนชั้นในชุมชนมากขึ้น คนรวยในชุมชนก็มีอยู่ แต่พัฒนาไปสู่ผู้ลงทุน เป็นเจ้าของกิจการระดับชุมชน และใช้แรงงานจากชาวบ้านในชุมชน นอกจากนี้เจ้าของที่ดินก็เป็นคนที่สูงอายุแล้ว เพราะส่งลูกไปเรียนลูกไม่กลับมาทำงานในชนบท คนแก่ซึ่งมีที่ดินจึงจ้างคนมาทำงานในที่ดินของตน ขณะที่ลูกก็ส่งเงินกลับมาด้วย

อีกส่วนหนึ่งก็มี แรงงานข้ามชาติด้วย เราต้องละเอียดอ่อนในจุดนี้มากขึ้น สมัชชาคนจนต่อไปจะรวมประเด็นของแรงงานข้ามชาติมาด้วยไหม ปัจจุบันเราเห็นเด็กพม่าออกเทปต่อไปก็จะฮิต ปัจจุบันคงมีแนวโน้มที่จะมีแรงงานข้ามชาติอยู่ในภาคแรงงานมากขึ้น รวมถึงการแต่งงานด้วย

นี่คือสภาพจริงๆ ของคนจน แบบที่ไม่ใช่ภาพลักษณ์

ประเด็นต่อไปคือ คนจนเขาหวังอย่างไร เขาคิดอย่างไร ผมสังเกตว่า จากที่ครั้งหนึ่งได้ไปเจอเพื่อนๆ ที่ไปชุมนุมยื่นเรียกร้อง เขาก็บอกว่า คนจนอะไรขี่รถกระบะเพียบเลย หรือใช้มือถือ โหลดแอบพลิเคชั่นเร็วกว่าผมอีก คือภาพลักษณ์คนยังคิดว่า คนจนต้องอยู่ในเศรษฐกิจพอยังชีพ แต่คนจนไม่ใช่แบบนั้นแล้ว และพอคนจนเองก็จะนำภาพพจน์ที่ถูกคาดหวังจากคนอื่น พอนำไปอธิบายกับสื่อด้วย มันก็ยิ่งซับซ้อนไปใหญ่ สื่อก็ตั้งคำถามว่า ไม่มีที่ทำกิน แต่ทำไมมีมือถือ หรือมีรถกระบะ แต่ถ้าดูพื้นฐานเศรษฐกิจและความใฝ่ฝันของเขานั้น จะพบว่าแม้เขาจะมีรถกระบะ แต่มีปัญหาเรื่องที่ดิน จึงเสนอว่าต้องมองให้เห็นความซับซ้อนนี้

เพราะฉะนั้นในปัจจุบัน คนจนกลุ่มหนึ่งยังสื่อว่าต้องการใช้ภูมิปัญญา พออยู่พอกิน อีกกลุ่มเสนอว่า ต้องการเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ พร้อมจะเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนเมื่อมั่นใจว่าต้องมั่นคง กลุ่มบางทีเขาใช้ศัพท์ “สิทธิชุมชน” ร่วมกับกลุ่มแรกด้วย อีกกลุ่มคือ เสนอความใฝ่ฝัน ต้องการเปลี่ยนแปลงแล้ว

จะเห็นได้ว่า หากไม่นับคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในสมัชชาคนจน คนจนกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในสมัชชาคนจนก็จะมุ่งไปที่รัฐโดยตรงเลย เช่น ถ้าไม่สร้างพรรคการเมือง ก็ต้องไปอยู่กับพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจน โดยกรณีของพรรคเพื่อไทยเป็นตัวอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้นในแวดวงสมัชชาคนจน อาจต้องมองในจุดนี้ว่า “คนจนอันไพศาล” อยู่ที่ไหนบ้าง และเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร

ดังนั้น ตัวที่กระตุ้นที่ทำให้คนจนตื่นขึ้นมาคือปัญหานั่นเอง ปัญหาเกิดขึ้นในช่วงที่ทุนนิยมขยายตัว เป็นเงื่อนไขต่างๆ เช่น ทำให้ที่ดินหลุดมือไป หรือมีโครงการที่เข้ามาใช้ทรัพยากร ก็ทำให้คนจนลุกขึ้นมา ส่วนที่เสริมเข้ามาก็มีคนทำงานทางวิชาการ นักกิจกรรม เพื่อสร้างการอธิบาย เพราะฉะนั้นพลังของคนจนคือความเดือดร้อนจากทุนนิยม ยังเป็นเงื่อนไขหลักทำให้คนจนรวมกลุ่มได้

ในส่วนของข้อสรุป วงแรกสุด เราจะลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างดีที่สุด เจ็บตัวน้อยที่สุด แบบรุกถอย และแย็บถอยได้ ก็คือการต่อสู้ในสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น ถ้าเราอยู่ในขวดโหล ต้องมีน้ำประชาธิปไตยเลี้ยง ระบอบอย่างอื่นเราขยับไม่ได้

ข้อสอง 20 ปีที่สมัชชาคนจนทำมา สะสมเอาไว้เยอะ เดิมนั้นสะสมเป็นเครือข่ายแนวราบ เรื่องการต่อรอง การจัดการ แต่ยังตันอยู่ และกลุ่มอื่นหลังๆ ที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นแนวราบ คำถามใหญ่ เราจะจัดแนวราบอย่างไร ให้เป็นแนวดิ่ง และไปด้วยกันได้อย่างเป็นระบบกว่านี้

อีกส่วนหนึ่ง คือจัดระบบของผู้ปฏิบัติงาน ในเฟซบุ๊คก็พูดกันเยอะ มีความจำเป็น แต่เอ็นจีโอนักวิชาการ คนข้างนอก ต้องดูว่าผู้ปฏิบัติการ ก็มีขบวนการของตัวเอง ดังนั้นต้องรักษาระยะห่างให้ดี นอกจากกระบวนการชาวบ้านเอง มีผู้ปฏิบัติงานของตัวเองจริงๆ ก็คงอีกสักระยะกว่าจะเป็นจริง และอีกส่วนคือ คนที่จะมาร่วมกัน ต่อไปนี้อาจไม่ใช่คนจนที่เราเห็นกันอยู่ด้วย เพราะนิยามคนจนมันยืดหดได้ ถ้าเอาเฉพาะคนในชนบทก็ไม่ใช่ แค่คนเมืองก็ไม่ใช่ อย่างเดี๋ยวนี้กลุ่ม Occupy Wallstreet เขาก็บอกเขาประสบความเดือดร้อนเช่นกัน คือเขาอาจจะด้อยโอกาส ไม่ไม่ใช่คนจน

สุดท้าย คนจนเองจะต้องเรียนรู้กันอีกชุดใหญ่ ต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมๆ กับผู้ปฏิบัติงาน และปัจจุบันนี้ผมอยากจบด้วยว่าทำไปทำมา คนที่เป็นระดับผู้ปฏิบัติงานหลายๆ ที่กลายเป็นไปขัดขวางคนจนเองด้วยซ้ำไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท