'สมบัติ' เดินหน้าดันเลือกตั้ง 'นายก-ครม.' ตรง

"สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" ยืนยันข้อเสนอให้เลือก "นายกรัฐมนตรี-ครม."โดยตรงเป็นข้อสรุป กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. เตรียมเดินหน้าเสนอต่อที่ประชุม สปช. 17 ธ.ค.นี้ แม้มี กมธ.ยกร่างบางส่วนไม่เห็นด้วย ด้าน "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" ระบุ กมธ.ยกร่างฯ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเลือกนายกฯ โดยตรง
 
14 ธ.ค. 2557 นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้เลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรงว่า ข้อเสนอเรื่องนี้เป็นมติเสียงข้างมากของกรรมาธิการฯ ไม่ใช่ข้อเสนอของตน จึงจะต้องเสนอต่อที่ประชุม สปช.ตามนี้ ในวันที่ 17 ธ.ค. โดยจะชี้แจงให้ที่ประชุมได้เข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็น เพราะหากยังเลือก ส.ส.และนายกรัฐมนตรีในรูปแบบเดิม ก็จะทำให้ได้ ส.ส.ชุดเดิมที่เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจนเป็นปัญหาวิกฤติของประเทศกลับเข้ามาและเลือกนายกรัฐมนตรีในกลุ่มเดิม ๆ ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้มีการปฏิรูป และไม่มีประโยชน์อะไร
 
นายสมบัติ กล่าวว่า ความเห็นของคณะกรรมาธิการฯ ที่เสนอเรื่องนี้สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่นำเสนอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งสอดคล้องกับผลการสำรวจหลายสำนัก ดังนั้นจึงได้เสนอให้คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นประธานว่าหากจะให้สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจความเห็นประชาชน ควรมีคำถามในเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเข้าไปด้วย จะได้ทราบว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร
 
เอนก เผย กมธ.ยกร่างฯ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเลือกนายกฯ โดยตรง
 
ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานอนุกรรมาธิการว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมาธิการสารัตถะที่รับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ และประมวลออกมาเป็นข้อมูลในการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เหลือเพียงชุดที่ 9 คือ คณะปฏิรูปที่จะขอฟังความเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ 15-17 ธันวาคมนี้ก่อน
 
นายเอนก กล่าวว่า ส่วนใหญ่เห็นชอบกับข้อเสนอของอนุกรรมาธิการสารัตถะในเบื้องต้น โดยเฉพาะหมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดีและผู้นำการเมืองที่ดี และคณะรัฐมนตรี ที่มีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน เสนอให้มี 2 สภา โดยสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่เปลี่ยนการนับคะแนนใหม่ ยึดแบบเยอรมันที่ให้นำคะแนน ส.ส.เขตไปคำนวณเป็นคะแนนนิยม สำหรับบัญชีรายชื่อ และที่มาของนายกรัฐมนตรีให้มาจากการเลือกในสภา แต่สามารถมีบัญชีรายชื่อคณะรัฐมนตรีแสดงเพื่อหาเสียงได้
 
นายเอนก กล่าวว่า ได้มีการหยิบยกข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองของ สปช. ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน มาพูดคุย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งฟังดูแล้วส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเท่ากับเป็นการเปลี่ยนระบบรัฐสภาเป็นระบบอื่น อย่างไรก็ตาม ในการประชุมร่วมกับ สปช. ในวันที่ 15-17 ธันวาคมนี้ จะได้รับฟังเหตุผล และในส่วนของกรรมาธิการยกร่างฯ อาจจะมีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้
 
“เรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เท่าที่ฟังดูในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่าไม่น่าจะรับ เพราะเท่ากับเราจะเปลี่ยนระบบรัฐสภาเป็นระบบอื่น ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก และคิดว่าไม่น่าจะผลีผลาม ไม่อย่างนั้นเราต้องมีธรรมเนียมประเพณีใหม่” นายเอนก กล่าว
 
สำหรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการฯ ปรองดองนั้น นายเอนก กล่าวว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรองดอง ซึ่งได้เสนอว่าการจะปรองดองได้ควรต้องมีความเข้าใจและให้อภัยกัน จึงได้เสนอเรื่องการนิรโทษกรรม แต่ก็มีเสียงใน กมธ.ยกร่างฯ เตือนว่าอย่าเขียนนิรโทษกรรมจนสุดขั้ว จนเกิดปัญหาความร้าวฉานเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องความปรองดองเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และการนิรโทษกรรมต้องทำในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ต้องดูความรู้สึกและอารมณ์ของคนในขณะนั้น ซึ่งไม่ติดใจว่าจะระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะสามารถออกเป็น พ.ร.บ. หรือออกเป็นประกาศก็ได้ ซึ่งในอดีตก็เคยทำมา แต่อนุกรรมาธิการฯ ปรองดองได้ยืนยันในหลักการว่าจะต้องไม่นิรโทษกรรมให้กับคดีทุจริต คดีที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และคดีหมิ่นสถาบัน
 
นายเอนก กล่าวว่า ขณะนี้นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ประธานอนุกรรมาธิการยกร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ได้รวบรวมข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆ เขียนออกมาเป็นรายมาตรา เพื่อให้มีกรอบของกฎหมายมากขึ้น แต่ยังรับฟังความเห็นไปเรื่อยๆ จนถึงกลางเดือนเมษายน จะรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ อีกรอบ ทั้งจาก สปช. สนช. คสช. ครม. และนำมาปรับแก้ภายใน 2 เดือน จึงส่งกลับไปขอความเห็นชอบจาก สปช. เพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากเห็นชอบก็ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท