Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

-1-

ห้วงเวลานี้เมื่อ 28 ปีก่อน ที่กรุงมะนิลา ผมร่วมเดินขบวนรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนสากล เพื่อรำลึกว่า ในวันที่ 10 ธันวาคม 1950 องค์สหประชาชาติประกาศปฎิญญาสากลว่าด้วยหลักพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เพื่อบอกว่า เราต่างก็เท่าเทียมกัน เกิดมาก็มีสิทธิมีชีวิตอยู่ ได้รับการศึกษา ทำมาหากิน รับการรักษาพยายาบาลยามเจ็บป่วย พูด คิด อ่าน เขียน เชื่อหรือไม่เชื่ออะไรก็ได้ เรื่องของเราทั้งสิ้น มนุษย์ยินยันสิทธินี้ของตัวเอง ปกป้อง และ ไม่ละเมิดสิทธินั้นของผู้อื่นด้วยเช่นกัน

เมื่อ 28 ปีก่อนการเดินขบวนหรือ Marching หรือ Rally ในประเทศฟิลิปปินส์ทำกันบ่อย ตอนนั้นเพิ่งสิ้นระบอบมากอสใหม่ๆ อควิโน ผู้แม่นำขบวนการ People Power ต่อต้านระบอบเผด็จการมากอส และเธอก็ได้เป็นประธานาธิบดี นักศึกษา ประชาชน ก็เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพของตัวเองกันอย่างขนานใหญ่ พี่เล็ก (ญ) พี่บุญแทน ไปด้วยกันตอนนั้น บอกว่า นี่มันเหมือนสถานการณ์หลัง 14 ตุลา 1973 ในประเทศไทย

ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศนอกแห่งแรกที่ผมเคยไป มันเป็นการเปิดโลกทัศน์ครั้งสำคัญ ผมสนใจกิจการต่างประเทศนับแต่นั้นเป็นต้นมา ที่นั่นได้พบกับขบวนการนักศึกษาและขบวนการต่อสู้ของพวกฝ่ายซ้ายหลายกลุ่ม กลุ่มมุสลิมโมโรและตัวแทนเยาวชนพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ และเหมาอิสต์จากเนปาล ก็มาชุมนุมอยู่ด้วยกันด้วย มีคนหนึ่งเป็นนักศึกษา เขาประกาศตัวว่าเป็น เหมาอิสต์ตัวจริง ชื่อเท็ดดี้ จำได้ว่าเขาตัวอ้วนดำ ช่างพูดช่างจา คืนก่อนที่จะไปเดินขบวนพวกเขาพาเราไปปิดโปสเตอร์ในย่านธุรกิจของมะนิลา เท็ดดิ้บอกว่า เขารู้สึกปอดๆนิดหน่อย ห่วงว่าเราจะไม่ปลอดภัย ผมบอกเขาว่า แค่ติดโปสเตอร์เอง ที่เมืองไทยพวกเราทำกันบ่อยๆ ไม่มีน่ามีใครทำร้ายเราหรอก มันเป็นเสรีภาพทางการเมืองของเรานะ พวกคุณไล่เผด็จการอำนาจนิยมมากอสไปได้แล้ว ของเรายังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบอยู่เลย (ตอนนั้น)

 

-2-

ที่ประเทศไทย เราไม่รำลึกสิทธิมนุษยชนอะไรกันดูเหมือนเห็นว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอมของสังคมด้วยซ้ำไป วันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันรัฐธรรมนูญ อันที่จริงการกำหนดเอาวันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญผมถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงวาทกรรมทางการเมืองครั้งสำคัญอีกเหมือนกัน เพราะรัฐธรรมนูญของไทยนั้นควรมาจากคณะราษฎร แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้วันที่ 10 ธันวาคม 1932 (2475) นั้นกลายเป็น "ของพระราชทาน" นั่นเป็นผลจากการประนีประนอมของ "อำนาจเก่าและอำนาจใหม่" เราพูดเรื่องนี้กันเยอะแล้ว ไม่ขออภิปรายในที่นี้อีก

รัฐธรรมนูญของไทยนั้นพูดถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจของบรรดาชนชั้นสูงมากกว่าจะเป็นแม่บทแห่งการรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับและดูท่าว่าคงจะมีอีกหลายฉบับตราบเท่าที่ยังมีประเทศไทยอยู่ การต่อสู้ทางการเมืองก็ยังจะดำเนินต่อไป ที่นิยมทำกันคือ ใช้กำลังทหารยึดอำนาจและเขียนกฎว่าด้วยความสัมพันธ์แห่งอำนาจนั้นใหม่ทุกคราวไป รัฐธรรมนูญจึงกลายเป็น Declaration of Victory and Charter of the Winner อยู่เสมอๆ

มีโอกาสได้สนทนากับเพื่อนๆที่ไปร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้ ก็แอบดีใจที่เธอบอกว่า จะพากันเปลี่ยนบุคคลิกของรัฐธรรมนูญไทยใหม่ ไม่ใช่กฎของผู้ชนะอีกต่อไป แต่รัฐธรรมนูญจะเป็นสิ่งที่ประกันสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจของประชาชนทุกหมู่เหล่า ว่าต่อไปนี้เราจะอยู่กันอย่างเท่าเทียม ขออำนวยอวยชัยให้ประสบความสำเร็จ

 

-3-

กลางเดือนธันวาคม ปีนั้น ผมกลับจากฟิลิปปินส์ พ่อลงมากรุงเทพฯเข้าไปหาที่ห้องประชุม อมธ.แจ้งข่าวร้ายว่า แม่เสียชีวิตแล้ว ผมเดินทางกลับโคราชพร้อมพ่อในทันที ร้องไห้ตั้งแต่เดินลงจากตึกกิจกรรมนักศึกษาไปจนถึงบ้านปอพราน แม่เสียชีวิตได้อย่างไร ?

ก่อนไปฟิลิปปินส์ เดือนตุลาปีนั้นผมไม่ได้ไปออกค่ายอาสาที่ไหน ตัดสินใจกลับบ้านเกิด ระหว่างนั้นแม่ก็บ่นปวดหัว มีอาการหลงๆลืมๆ แม่เพิ่งอายุ 42 ก็ยังไม่ถือว่าแก่ชราอะไรและเธอไม่ค่อยป่วย แม่ไปพบแพทย์ก็ได้แค่ยาแก้ปวดและยาคลายเครียดมากินก็ไม่หาย พ่อบอกว่า แม่เป็นมากปลายเดือนพฤศจิกายน ไปโรงพยาบาลแพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการทางจิตประสาท จำอะไรก็ไม่ได้ จำใครก็ไม่ได้พูดผิดพูดถูก บ่นหาแต่ลูกชายที่ไปเมืองนอกตลอดเวลา แม่ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลจิตเวชที่อยู่ตรงข้ามอยู่พักหนึ่ง พอถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อก็กลับไปโรงพยาบาลมหาราช

วันนี้เมื่อ 28 ปีก่อนก็เป็นวันรัฐธรรมนูญ เป็นวันหยุดราชการ เช่นกัน แพทย์ พยาบาล ก็อยู่เวรเท่าที่จำเป็นนั้น แพทย์เจ้าของไข้ไม่อยู่ แม่นอนป่วยแบบได้สติบ้างไม่ได้สติบ้างที่โรงพยาบาลมหาราช เพ้ออย่างหนักและสิ้นใจโดยที่ไม่ใครช่วยได้

พ่อเล่าว่า ก่อนจะนำศพแม่ออกจากโรงพยาบาล แพทย์เจ้าของไข้มากล่าวคำแสดงความเสียใจ บอกว่า แท้จริงแล้วแม่เป็นเนื้องอกในสมอง อาการทางประสาทนั้นมาจากการที่เนื้อสมองถูกกดทับ แต่แพทย์ไม่ได้เฉลียวใจเรื่องนี้ กลับวินิจฉัยโรคเป็นอย่างอื่น โรงพยาบาลมหาราชไม่มีเครื่องมือทันสมัยพอจะตรวจได้พบโรคนี้ ฯลฯ

มานึกย้อนหลัง พ่อว่าถ้าเป็นสมัยนี้ ลงว่าได้มีลูกชายเรียนกฎหมายเราน่าฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่ตอนนั้นทำไมเราไม่คิดฟ้องร้องแพทย์หรือโรงพยาบาล แต่พ่อลูกก็ได้ข้อสรุปแล้วว่า ก็ไม่น่าจะเป็นความผิดของหมอ ถ้าหากว่า ความรู้ไม่พอ หรือ เครื่องมือไม่ดี มันอาจจะเป็นปัญหาสาธารณสุขทั้งระบบก็ได้ เนื้องอกในสมองถ้าตรวจพบ ผ่าตัดก็หายได้ เจ้าใหญ่นายโต บางคนในรัฐบาลปัจจุบัน ผ่านการผ่าตัดสมองด้วยโรคนี้มาแล้ว แต่แม่ผมเธอคงไม่ได้รับสิทธินั้น เพราะระบบไม่อนุญาตให้เธอได้รับการตรวจเซ็คทีสมบูรณ์แบบได้ หรือต่อให้หมอทราบ วินิจฉัยถูก เมื่อ 28 ปีก่อนสิทธิการรักษาพยาบาลจากสวัสดิการครูของพ่อจะครอบคลุมหรือเปล่า คงมีส่วนต่างมากจนเราอาจจะต้องขายไร่ขายนามาให้หมอผ่าตัดสมองแม่ก็ได้

ความจริงตั้งใจจะเขียนเรื่องแม่ในอีก 2 ปีข้างหน้าเมื่อครบรอบ 30 ปี แต่ไหนๆเห็นเขากำลังร่างรัฐธรรมนูญกันพอดี ก็อยากจะฝากประเด็นนี้ไว้ สิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งคือ สิทธิที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีควรได้รับการประกันเอาไว้

อย่าปล่อยให้ใครต้องเจ็บป่วยและตายไปง่ายๆ เพียงเพราะ หมอคนหนึ่งเกิดโง่ และผู้ป่วยก็ไม่มีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า (ทั้งๆที่มันมีอยู่) ได้เลย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net