เปิดคำร้อง ‘จิตรา’ ยก รธน.ฉ.ชั่วคราว 57 + กติการะหว่างปท.ว่าด้วยสิทธิพลเมืองฯ สู้ไม่ควรขึ้นศาลทหาร

เปิดคำร้อง ‘จิตรา คชเดช’ ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ขอศาลรธน.วินิจฉัย กม.ที่ใช้คดีนี้ขัด รธน. ฉ.ชั่วคราว 2557 ม.4 ที่ยอมรับพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยยกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สู้พลเรือนไม่ควรต้องขึ้นศาลทหาร ที่ไม่ให้สิทธิอุทธรณ์

วานนี้(9 ธ.ค. 57) ที่ กรมทหารพระธรรมนูญ จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เดินทางมาตามที่ศาลทหารนัดพร้อมคดี โดย จิตรา ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับกับคดีตนนั้น ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและเลื่อนการพิจารณาพิพากษาเพื่อรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

โดยอัยการศาลทหารในฐานโจทก์ในคดีนี้ แถลงต่อศาลด้วยว่า พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ พยานโจทก์ที่นัดไว้มาศาลไม่ได้ เนื่องจากติดราชการเร่งด่วน ศาลทหารอนุญาตให้เลื่อนสืบพยานไปในวันที่ 6 มี.ค. 58   

จิตรา คชเดช

สำหรับ จิตรา ถูกคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557 เรียกรายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ ในวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ในขณะนั้นเธออยู่ในระหว่างเดินทางดูงานกิจกรรมสหภาพแรงงานที่สวีเดน และในวันที่ คสช.นัดได้เดินทางเข้ารายงานตัวกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในสวีเดนแล้ว แต่ภายหลังกลับถูกออกหมายด้วยข้อหาดังกล่าว และเมื่อเดินทางกลับในวันที่ 13 มิ.ย. ตามกำหนดการที่วางไว้ล่วงหน้าจึงถูกควบคุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิและดำเนินคดีดังกล่าว (อ่าน : คุยกับ ‘จิตรา คชเดช’ ทำไมกลับไทยกับเงื่อนที่คสช.ผูกและกระบวนการทำให้เป็นนักโทษ)

สำหรับคำร้องที่ จิตรา ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับกับคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  โดยภาวิณี  ชุมศรี  ทนายความของจิตรา เป็นผู้เรียงและเขียนนั้น มีรายละเอียดดังนี้

ข้อ 1. คดีนี้  ศาลนัดพร้อมในวันนี้  จำเลยมีความเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับในคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  จึงได้ทำคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับกับคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ   ดังรายละเอียดต่อไปนี้                                                                                                                                                     

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร  ลงวันที่  25  พฤษภาคม  2557  และฉบับที่  38/2557  เรื่อง  คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร  ลงวันที่  25  พฤษภาคม 2557  และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร  2498 มาตรา 10 และมาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติกฎหมายที่ใช้บังคับโดยตรงในคดีนี้  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  มาตรา 4 และมาตรา  26  และกล่าวคือ

 

1.1  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา  4  ที่บัญญัติว่า  “ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิทธิ  เสรีภาพและความเสมอภาค  บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว  ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”  จากบทบัญญัตินี้แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยอมรับว่าประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี  โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  เมื่อวันที่ 29  ตุลาคม  2539  โดยไม่ได้ตั้งข้อสงวนแต่อย่างใด  และมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่  29  มกราคม  2540

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  ข้อ 2  (1) กล่าวว่า  รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติกานี้รับที่จะเคารพและประกันแก่ปัจเจกบุคคลทั้งปวงภายในดินแดนของตนและภายใต้เขตอำนาจของตนในสิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในกติกานี้  โดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ อาทิ  เชื้อชาติ  ผิว  เพศ  ภาษา  ศาสนา  ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่นใด  เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม  ทรัพย์สิน  กำเนิด  หรือสถานะอื่นๆ”                                                               

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  ข้อ 14  (1)  กล่าวว่า “บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคในการพิจารณาของศาลและตุลาการ ในการพิจารณาคดีอาญาอันบุคคลต้องหาว่ากระทำหรือการพิจารณาข้อพิพาททางสิทธิและหน้าที่ของตน ทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณา อย่างเป็นธรรมและเปิดเผยในศาลที่มีอำนาจมีอิสระและเป็นกลาง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย หนังสือพิมพ์หรือสาธารณชนอาจถูกห้าม รับฟังการพิจารณาคดีทั้งหมด หรือบางส่วนได้ก็ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติในสังคมประชาธิปไตย หรือด้วยเหตุผลด้านความเป็นอยู่ ส่วนตัวของคู่กรณี หรือในกรณีศาลเห็นเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นพฤติกรรมการณ์พิเศษ ซึ่งการเป็นข่าวอาจทำให้กระทบต่อความยุติธรรม แต่คำพิพากษาในคดีอาญา หรือข้อพิพาททางแพ่งย่อมเป็นที่เปิดเผย เว้นแต่จำเป็นเพื่อผลประโยชน์ของเด็กและเยาวชน หรือเป็นกระบวนการพิจารณาคดีเกี่ยวด้วย ข้อพิพาทเรื่องทรัพย์สินของคู่สมรส หรือการเป็นผู้ปกครองเด็ก ”

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  ข้อ 14  (5)  กล่าวว่า  “บุคคลทุกคนที่ถูกลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การลงโทษ และคำพิพากษาต่อศาลสูงให้พิจารณาทบทวนอีกครั้งตามกฎหมาย” 

รายละเอียดปรากฏตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข  1 

ดังนั้น  จำเลยจึงมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองทุกประการ  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  มาตรา  4                                                                                                                                          

1.2  คสช. ได้มีประกาศ คสช.  ฉบับที่  37/2557  และฉบับที่  38/2557  ลงวันที่  25  พฤษภาคม  2557  ที่กำหนดให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาบางประเภทที่เป็นพลเรือนอยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลทหาร  รวมทั้งคดีของจำเลยด้วย  ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4  และมาตรา  26  ประกอบกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 

ประเทศไทยในฐานะเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองยอมรับว่าจะเคารพและประกันแก่ปัจเจกบุคคลทั้งปวงภายในดินแดนของตนและภายใต้เขตอำนาจของตนในสิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในกติกานี้  โดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ อาทิ  เชื้อชาติ  ผิว  เพศ  ภาษา  ศาสนา  ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่นใด  เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม  ทรัพย์สิน  กำเนิด  หรือสถานะอื่นๆ  ตามกติกาฯ ข้อ 2 (1)  บทบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับหลักความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติที่มีสาระสำคัญว่า “จะต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้เหมือนกัน  และจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญไม่เหมือนกันให้แตกต่างกัน” แต่ประกาศคสช.ได้มีประกาศคสช.  ฉบับที่  37/2557  และฉบับที่  38/2557  ลงวันที่  25  พฤษภาคม  2557  ที่กำหนดให้  (1) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  ในหมวดความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา 107 ถึง มาตรา 112  และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113  ถึง มาตรา 118  และ (2) ความผิดตามประกาศคสช.  อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร  ซึ่งเป็นคดีที่ล้วนแล้วแต่เป็นความผิดอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจมาจากทางการเมืองหรือเป็นคดีทางการเมืองทั้งสิ้น  กล่าวคือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107 ถึง มาตรา 112  และมาตรา 113  ถึง มาตรา 118  อยู่ในลักษณะ 1 ของประมวลกฎหมายอาญา  อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร  ซึ่งถือเป็นความผิดทางการเมืองแท้  ปรากฏตามคำอธิบายกฎหมายอาญา จิตติ  ติงศภัทิย์  เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข  2          

ส่วนความผิดตามประกาศคสช.  เป็นความผิดที่มีในภายหลังจากการประกาศยึดอำนาจของคสช.เพื่อเป็นมาตรการในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ  หากไม่มีการยึดอำนาจการกระทำดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด  ดังนั้นการประกาศความผิดจึงเนื่องมาจากเหตุทางการเมือง  การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในฐานนี้จึงเป็นการดำเนินคดีอันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมืองโดยแท้                                                                                                       

เดิมคดีตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมที่เป็นศาลพลเรือน  แต่เนื่องจากมีการประกาศให้คดีทางการเมืองอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารดังกล่าว  ทำให้พลเรือนที่กระทำความผิดอาญาในคดีที่เกี่ยวเนื่องมาจากเหตุทางการเมืองต้องถูกพิจารณาพิพากษาโดยศาลทหาร  การกำหนดให้พลเรือนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาตามที่ระบุไว้ในประกาศทั้งสองฉบับต้องได้รับการพิจารณาจากกระบวนการพิจารณาอย่างอื่นแตกต่างออกไป  โดยมิอาจค้นหาเหตุที่สมควรได้ว่าเหตุใดบรรดาความผิดที่พลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดที่มีสาระสำคัญเป็นความผิดอาญาเช่นเดียวกันต้องได้รับการพิจารณาจากกระบวนการพิจารณาที่แตกต่างจากความผิดอาญาอื่นๆ  ในกรณีเช่นนี้จึงกล่าวได้ว่า ประกาศคสช.ทั้งสองฉบับเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเนื่องจากการแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่น    และเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยปราศจากเหตุที่เหมาะสม                                                                                             

จำเลยขอเรียนว่า  ความเสมอภาค  ซึ่งถือเป็นแก่นสำคัญของความยุติธรรม  หากจงใจละเลยหลักการดังกล่าวด้วยการบัญญัติเป็นกฎหมาย เช่นนี้แล้ว  กฎหมายดังกล่าวย่อมไม่ได้เป็นเพียงแค่ “กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง” เท่านั้น  แต่หาได้มีสภาพเป็นกฎหมายแต่อย่างใด  หากผู้พิพากษาและตุลาการจะบังคับใช้กฎหมายอันถือว่าเป็นบทบัญญัติที่ละเมิดหลักความเสมอภาคและหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี  การณ์จะกลับกลายเป็นว่า ผู้พิพากษาและตุลาการที่ใช้กฎหมายหรือยอมรับผลของกฎหมายอันละเมิดต่อหลักความเสมอภาค จะต้องตัดสินคดีไปตาม “ความอยุติธรรม” แทนที่จะเป็นการตัดสินคดีไปตาม “ความยุติธรรม”  การใช้กฏหมายที่อยุติธรรมพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามมาตรา  26 ของรัฐธรรมนูญจึงมิอาจเกิดขึ้นได้

ประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557  เป็นการบัญญัติกฎหมายอันเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพให้มีผลใช้บังคับกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกรณีใดกรณีหนึ่งโดยเฉพาะโดยเฉพาะ  เป็นเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเหตุทางการเมือง  จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  มาตรา 4 และมาตรา 26  และไม่อาจใช้บังคับได้

 

1.3  จากบทญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  มาตรา  4  และมาตรา  26  ประกอบกับบทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 2 (1) และข้อ 4 (1) และ (5)  ดังกล่าวที่ว่า  บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม  โดยคณะตุลาการที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลางในการพิจารณาวินิจฉัยคดี  และบุคคลที่ต้องคำพิพากษาลงโทษในความผิดอาญา  ย่อมมีสิทธิที่จะให้คณะตุลาการระดับเหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนคำพิพากษาโดยเป็นไปตามกฎหมาย  และผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรคดีให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย  แต่ปรากฏว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498  มาตรา  5 ประกอบมาตรา 10 ที่บัญญัติให้ศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม  โดยผู้บังคับบัญชาทหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนตุลาการศาลทหาร  โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากตุลาการศาลทหารก่อน   จึงขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  มาตรา 4 และมาตรา  26  และขัดกับหลักความเป็นอิสระของตุลาการตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ  ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร  นิติบัญญัติ  และตุลาการ  แยกขาดและเป็นอิสระจากกัน  เพื่อให้แต่ละอำนาจสามารถถ่วงดุลและตรวจสอบซึ่งกันและกัน  หากมีอำนาจใดอำนาจหนึ่งเหนือกว่าอำนาจอื่นๆ  อาจนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่มิชอบ  ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า  “อำนาจฉ้อฉลฉันใด อำนาจเบ็ดเสร็จฉ้อฉลเบ็ดเสร็จฉันนั้น” (Power tends to corrupt, absolute power corrupts absolutely.)

นอกจากนี้  พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498  มาตรา  61  วรรคสอง  ที่ห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารในเวลาไม่ปกติหรือเวลาที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก  ขัดกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  ข้อ  4 (5)  ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาในคดีนี้  อันเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของจำเลยอย่างชัดเจน  จึงทำให้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498  มาตรา  5 มาตรา 10 และมาตรา 61  วรรคสอง  จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับกับจำเลยในคดีนี้ได้                                                       

ข้อ 2.  แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  จะมิได้มีการบัญญัติถึงอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดแจ้ง  แต่หากพิจารณาตามมาตรา 5  วรรค  ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ที่ได้บัญญัติว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด  ให้การกระทำนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  แต่ประเพณีการปกครองดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนี้”  จำเลยจึงขอเรียนต่อศาลว่า  ตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยตั้งแต่ที่ได้มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540  สืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบันได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ   ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามประเพณีการปกครองประเทศไทย  ประกอบกับมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557  ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่  ดังนั้น  เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลใช้บังคับในคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องฉบับนี้ของจำเลยได้            จำเลยจึงขอศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดมีคำสั่งรับคำร้องของจำเลยไว้วินิจฉัยด้วย               

ด้วยเหตุดังกล่าว  จำเลยจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของจำเลยและวินิจฉัยว่าประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่  38/2557  ลงวันที่  25  พฤษภาคม  2557  และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 5 มาตรา 10  และมาตรา  61  วรรคสอง  ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 และมาตรา 26  และไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับกับจำเลยในคดีได้  ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท